KNOWLEGE

NODE หัวใจสำคัญ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”

กลไกสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยในการทำงานบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือ  คือ โหนด (NODE) หรือ “ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศกว่า 50 จังหวัด ซึ่งในศูนย์ประสานงานจะมี ผู้ประสานงานและผู้ช่วยผู้ประสานงาน ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นและโครงการวิจัยในพื้นที่ 

โดยบทบาทของโหนดจะเป็นทั้งผู้กำกับ สนับสนุน อำนวยความสะดวกในการทำวิจัยของชุมชนพื้นที่ ตั้งแต่การพัฒนาให้เกิดข้อเสนอโครงการ ด้วยการเข้าไปร่วมพัฒนาโจทย์ ทำอย่างไรปัญหาที่ชุมชนเสนอมาเป็นปัญหาที่มีความคมชัด เป็นปัญหาที่ตอบต่อทุกข์และค้นหารากเหง้าและสาเหตุแห่งทุกข์ของชุมชนได้ การให้แนวคิดและเครื่องมือในกระบวนการเก็บข้อมูล การนำข้อมูลมาช่วยกันวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและการวิเคราะห์ศักยภาพของท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางในการจัดการกับปัญหา การสรุปและถอดบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการวิจัยและปฏิบัติการเพื่อให้เห็นความรู้ที่เกิดจากกระบวนการทำงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นว่าเมื่อทำแล้วก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับชุมชนวิจัยในด้านการเรียนรู้ และจัดการกับปัญหา การส่งเสริมให้มีการแปรผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ อีกบทบาทคือการติดตามสนับสนุนในด้านการจัดการงานวิจัยด้านการใช้งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ ตรวจสอบและสรุปการเงินโครงการวิจัย การจัดทำเอกสาร การจัดประชุม รายงานในพื้นที่ เป็นต้น 

ด้วยลักษณะการทำงานดังกล่าว คุณสมบัติของโหนดประสานงานจึงค่อนข้างที่จะมีความแตกต่างจากนักบริหารจัดการงานวิจัยโดยทั่วไป คือต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ ทัศนคติและทักษะที่จำเป็นในการสนับสนุนงานในพื้นที่ อาทิ เป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีจุดยืนศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานกับคนเชื่อว่าคนมีศักยภาพและพัฒนาได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการทำงานวิจัย ด้านทักษะ เป็นคนที่ทำงานกับผู้อื่นได้ดี มีทักษะในกระบวนการวิจัยและการพัฒนาด้วยเครื่องมือในการทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม เป็นนักประสานที่ต้องประสานทั้งชาวบ้านผู้ที่ต้องการทำงานวิจัยและภาคีภายนอก เป็นนักจัดกระบวนการ เป็นผู้กระตุ้นให้กำลังใจ ทักษะในการจัดการความรู้ และการเขียนรายงาน ทักษะในการสื่อสารในรูปแบบใหม่ ๆ ในยุคสังคมออนไลน์ ด้านความรู้ เป็นผู้ที่สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่กับประเด็นเชิงยุทธศาสตร์การทำงานของโหนด การร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสถานการณ์ปัญหาใหม่ ๆ ที่ชุมชนสังคมเผชิญอยู่เพื่อเพิ่มเติมแนวคิดและให้มุมมองใหม่ ๆ หรือการประสานผู้รู้มาเพื่อช่วยเติมความรู้กับโครงการวิจัย นำไปสู่ความเท่าทันและจัดการกับปัญหาใหม่ ๆ ได้ ทำให้โครงการวิจัยได้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ 

+++