ABOUT CBR.

เครื่องหมายตะกร้อที่สานไม่เสร็จ หมายถึงภารกิจพัฒนาชุมชนไม่มีวันจบ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เริ่มสนับสนุน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เมื่อเดือนตุลาคม 2541 โดยจัดตั้งสำนักงานภาค (สกว.สำนักงานภาค ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญเน้นที่การมุ่งเข้าไปเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น โดยเน้นให้ “คน” ในชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์จากงานวิจัยด้วยการเข้าร่วมกระบวนการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ชุมชนเพื่อกำหนดโจทย์ / คำถามวิจัย การทบทวนทุนเดิมในพื้นที่ การออกแบบการวิจัยและการวางแผนปฏิบัติการวิจัย การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล การทดลองปฏิบัติจริงเพื่อสร้างรูปธรรมในการตอบโจทย์วิจัยหรือแก้ปัญหาในพื้นที่วิจัย การประเมินและสรุปบทเรียน เน้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างนักวิจัยชาวบ้าน คนในชุมชนท้องถิ่น นักวิชาการ ข้าราชการ นักพัฒนา และผู้ทรงคุณวุฒิที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้และกลไกการจัดการปัญหาและการพึ่งตนเองของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่การวิจัย


++++++++++

แนวความคิดและเป้าหมายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  

(Concept and Target Of Community-Based  Research  Management)


งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมีแนวความคิดและเป้าหมายหลักๆ  อยู่ 3 ประการ คือ
              1.  คน (Man) เป็นเรื่องของ การสร้างคน การพัฒนาศักยภาพบุคคล (Human Resource Management) ในแง่การพัฒนาความคิด ทั้งมโนทัศน์ วิสัยทัศน์และกระบวนทัศน์ใหม่ต่อการพัฒนาสังคม ที่มีพื้นฐานสอดรับกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการมองมนุษย์ทุกคนอย่างมีคุณค่า มีศักยภาพมากกว่าการยึดถือปัจเจกชนเป็นที่ตั้ง การมองเรื่องการพัฒนาแบบองค์รวม (Holistic approach) มากกว่าการแยกส่วน การให้ความสำคัญในการระดมความคิดเห็นร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร หรือการให้ความสำคัญกับข้อมูลความรู้ความจริงอย่างเป็นเหตุผลในการตัดสินใจมากกว่าการใช้ความรู้สึกส่วนตัว การทำงานเป็นทีมรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการวิจัย (research process) เช่น การวิเคราะห์ปัญหา (problem analysis) และการวางแผน (planning) การประชุมอย่างมีส่วนร่วม (Participation process) การบันทึกข้อมูล การจับประเด็นและการเชื่อมโยงข้อมูล การวิเคราะห์และการสรุปข้อมูล (Analysis and Conclusion) การจัดระบบฐานข้อมูลเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการประสานศักยภาพภายนอกมาหนุนเสริมการทำงาน เป็นต้น


2. ความรู้ (knowledge) เป็นเรื่องของการสร้าง สังคมความรู้แห่งอนาคต ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน (sustainability) หมายถึง กระบวนการตัดสินใจหรือดำเนินการใดๆ ของท้องถิ่น สังคมและประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล (knowledge-Based) และการมีส่วนร่วมจากทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มคนระดับรากหญ้า (grass root) ไม่ใช่มาจากการใช้ความคิดเห็นส่วนตัวของคนบางกลุ่ม ในการตัดสินใจหรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับเรื่องของส่วนรวม โดยอาศัยอำนาจหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน  ขณะเดียวกันเป็นการสร้างความรู้ให้เกิดขึ้นอย่างหลากหลายเพื่อนำไปแก้ไขปัญหาท้องถิ่นและสังคม ตลอดจนเป็นการยกระดับความรู้สู่การสร้างแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ จากฐานราก (Grounded Theory)  เพื่อเป็นต้นแบบในการศึกษาวิจัยและการกำหนดทิศทางการพัฒนาสังคมแห่งอนาคต  
ดังนั้น แหล่งความรู้ใหม่จะไม่ใช่มาจากตำราต่างชาติแต่เพียงแหล่งเดียว หากแต่จะมาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) เป็นพื้นฐานสำคัญจากการเรียนรู้ของสังคมทุกระดับผ่านกระบวนการศึกษา กระบวนการวิจัย และกระบวนการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญเป็นกระบวนการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแห่งการค้นหาความรู้ความจริงของคน  เนื่องจากความรู้ในความจริงเป็นความหมายใหม่แห่งความเท่าเทียมกัน ของคนในสังคมแห่งอนาคต เพราะเป็นที่มาของการรักษาผลประโยชน์และการได้มาซึ่งผลประโยชน์ของตัวเองและส่วนรวม


3. เครือข่ายกับการเรียนรู้ (Learning Network) เป้าหมายระยะยาวแล้วก็เพื่อที่จะพัฒนาสังคมใหม่ให้เป็น สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นการสร้างสังคมแห่งความจริงที่มีความเป็นเหตุเป็นผล เป็นสังคมแห่งการค้นหาและค้นพบความรู้ความจริงอย่างมีส่วนร่วมจากกลุ่มคนอย่างหลากหลาย ทั้งในกระบวนการศึกษารวบรวมข้อมูล การวิพากษ์วิจารณ์ การหาข้อสรุป และการตัดสินใจ โดยเน้นการพัฒนาจากฐานข้อมูลท้องถิ่นของคนท้องถิ่น เพื่อคนท้องถิ่น และโดยคนท้องถิ่นอย่างหลากหลายเป็นสำคัญ  ซึ่งจะนำไปสู่การหนุนช่วยระหว่างกัน การดึงศักยภาพที่หลากหลายมาหนุนเสริมการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศ การมองเป้าหมายส่วนรวมมากกว่าเป้าหมายของบุคคลและคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ลดช่องว่างและข้อขัดแย้งอันเกิดจากข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ ในกระบวนการพัฒนาของแต่ละองค์กรและหน่วยงาน

++++++++


กระบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน กล่าวคือ ขั้นตอนแรกเป็นการเตรียมชุมชนวิจัย ขั้นตอนที่สองเป็นการออกแบบและกำหนดแผนงานวิจัย ขั้นตอนที่สามเป็นการปฏิบัติการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหา และขั้นตอนสุดท้ายเป็นการวิเคราะห์ สรุปบทเรียนเพื่อสร้างทางเลือก