การท่องเที่ยวชุมชนบนฐานการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นในอนาคต โดยที่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ถูกคาดหวังว่าเป็นการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและก่อประโยชน์แก่คนในท้องถิ่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา หากมองในแง่ของการตลาดด้วยแล้วตลาดของการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังเป็นกลุ่มเฉพาะ และบ่อยครั้งคำว่า “Community Based Tourism” หรือ “Ecotourism” ถูกนำมาใช้เพียงการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาพพจน์ของการท่องเที่ยวแต่กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่น
สำหรับประเทศไทยแล้วแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 1 เป็นต้นมามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและถือได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากร สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศและส่งผลให้เกิดการปรับตัวของระบบการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและหากพิจารณาถึงองค์ความรู้ทางด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนแล้วพบว่าหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวในรูปแบบดังกล่าว รวมทั้งผู้ประกอบการเองกลับยังมีความไม่ชัดเจนในด้านแนวความคิดและหลักการ ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างทางเลือกให้กับระบบการท่องเที่ยวแนวใหม่ ที่เรียกว่า“การท่องเที่ยวโดยชุมชน” และ “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” โดยเน้นพัฒนาให้ “คน” เป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงแต่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่เน้นถึงการสร้างศักยภาพของคนในท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ทั้งนี้ได้ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการการท่องเที่ยวของชุมชน เพื่อนำไปสู่การดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีความสมดุลกับภูมิปัญญา อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และเกื้อกูลต่อเศรษฐกิจของชุมชนต่อไปในอนาคต
ภายใต้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นจึงต้องเป็นเจ้าของโจทย์วิจัย เป็นนักวิจัย และเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการก่อนจะสรุปผลเป็นความรู้จากการวิจัย การวิจัยแบบนี้จึงเป็นรูปแบบของการปฏิบัติการทางสังคมของคนในชุมชนท้องถิ่น เพื่อมุ่งหวังจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และในท้ายสุดจะนำสู่การสร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้กับกลุ่มคนเล็กคนน้อยในสังคม
การท่องเที่ยวชุมชนบนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงเป็นการปฏิบัติการทางสังคมของคนในชุมชน โดยใช้ประเด็นการท่องเที่ยวเป็นตัวเชื่อมร้อยการปฏิบัติการ การปฏิบัติการทางสังคมโดยทั่วไปมักจะมีการปฏิบัติการ 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นการปฏิบัติการวิจัยพื้นฐาน ระยะนี้นักวิจัยในชุมชนท้องถิ่น รวมถึงคนอื่น ๆ ในชุมชนท้องถิ่น และอาจจะมีคนอื่น ๆ ที่ร่วมอยู่ในภาคีการวิจัยจะร่วมในการค้นหาความรู้พื้นฐานเพื่อนำสู่การปฏิบัติการจัดการท่องเที่ยว โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับต้นทุนสำคัญที่จะใช้ในการจัดการท่องเที่ยว เช่น ทุนทางนิเวศน์ ทุนทางวัฒนธรรม ทุนการจัดการ ทุนทางสังคม ฯลฯ กระบวนการทำความเข้าใจทุนร่วมกันนี้มักจะส่งผลได้ 2 ประการ คือ ประการแรก ได้ร่วมเรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวและความเป็นมาของชุมชนท้องถิ่นเอง ซึ่งจะเป็นข้อมูลความรู้พื้นฐานสำคัญสำหรับการออกแบบการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในระยะต่อไป ประการที่สอง นักวิจัยและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่น
ระยะที่ 2 เป็นการทดลองปฏิบัติการและสรุปผลการปฏิบัติการ ระยะนี้การวิจัยเป็นการค้นหาความรู้จากการปฏิบัติการรูปแบบต่าง ๆ ที่ออกแบบกันไว้ ซึ่งการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติการร่วมของกลุ่มคนต่าง ๆ และสุดท้ายก็ต้องมีการสรุปและถอดบทเรียนการปฏิบัติการการปฏิบัติการร่วมระยะนี้ก่อผลสำคัญคือ ได้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติการ และได้ปฏิสัมพันธ์ใหม่ของคนร่วมปฏิบัติการ
ผลจากการดำเนินการวิจัยทั้ง 2 ระยะ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ คือ นักวิจัยและคนในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องในกระบวนการวิจับเชิงลึกและต่อเนื่องจะเกิดสำนึกตระหนักในพลังและคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น มองเห็นพลังอำนาจของชุมชนท้องถิ่นผ่านกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ และถ้าความตระหนักและสำนึกนี้เข้มข้นพอก็จะเป็นพลังสำคัญที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอื่น ๆ ของชุมชนต่อได้ นั่นคือชุมชนท้องถิ่นจะมีปัญญาเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นต่อเนื่องได้ และที่สำคัญกลุ่มคนนำส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ของกลุ่มร่วมวิจัยมักจะเกิดสิ่งที่เรียกกันว่าจิตสำนึกสาธารณะเห็นคุณค่าของการทำงานเพื่อประโยชน์สุขของคนทั้งหมดในชุมชนและสังคม
ดังนั้นผลของการวิจัยการท่องเที่ยวชุมชนบนฐานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจึงมิใช่เพียงความรู้ที่ว่าด้วยการจัดการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจและรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น แต่เป็นการจัดการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นชีวิตชุมชนท้องถิ่นในทุกด้าน ซึ่งอาจจะเป็นการฟื้นนิเวศชุมชนทั้งดิน น้ำ ป่า การฟื้นวัฒนธรรมชุมชนทั้งวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญา การเกื้อกูลแบ่งปัน ให้เกิดขึ้นในชุมชน พร้อมกับการฟื้นปัญญาให้เห็นหนทางการค้นหา การพัฒนา และการประยุกต์ใช้ความรู้ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
การท่องเที่ยวชุมชนในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยใช้ระบบการจัดการประยุกต์ของชุมชนในการจัดการแหล่งท่องเที่ยว และจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยว ของชุมชนท้องถิ่น ส่วนระยะต่อมาได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวชุมชน และการเชื่อมร้อยเครือข่ายการท่องเที่ยว รวมถึงในระยะหลังมีบางโครงการมุ่งใช้การท่องเที่ยวชุมชนสร้างพลังให้กับชุมชนท้องถิ่นในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวชุมชนในระยะที่ผ่านมาก็มีประเด็นปัญหามากมาย การท่องเที่ยวบางแห่งเติบโตเร็วเกินศักยภาพของชุมชน ชุมชนไม่ได้เตรียมการรองรับเชิงศักยภาพการจัดการ ก็มีแนวโน้มว่าการท่องเที่ยวจะสร้างปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นมุ่งจัดการท่องเที่ยวเพื่อรายได้ แต่ก่อให้เกิดปัญหาการทำลายนิเวศวัฒนธรรมทีดีงามของชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่น
ดังนั้นการจัดการท่องเที่ยวชุมชนจึงควรก้าวเดินอย่างระมัดระวัง วิเคราะห์และตรวจสอบตลอดเวลาว่าการท่องเที่ยวช่วยเสริมสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อป้องกันมิให้การท่องเที่ยวย้อนมาทำลายชุมชนได้
++++++++++++