people

สุปอย บรรพตวนา : งานวิจัยทำให้เราไม่เกิดข้อผิดพลาด 

++++

บ้านผาหมอน เป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ หรือ กะเหรี่ยงแห่งแคว้นมึกะคี ที่ประกอบด้วยบ้านแม่กลางหลวง บ้านหนองหล่ม และผาหมอน  

สำหรับบ้านผาหมอน เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เหตุผลที่เรียกผาหมอนก็เพราะ ใกล้ ๆ ชุมชนมีภูเขาลูกย่อมๆ ลักษณะคล้ายหมอน ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านผาหมอน”  และด้วยความพิเศษของพื้นที่ที่อยู่บนต้นน้ำ ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีต้นไม้น้อยใหญ่หลายขนาดที่สมบูรณ์  และก่อนที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติในปัจจุบัน ชาวบ้านที่นี่ทำอาชีพเกษตรเป็นอาชีพหลัก ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9  ทำให้เกิดการส่งเสริมอาชีพเกษตรให้กับชาวบ้านผ่านการทำงานของมูลนิธิโครงการหลวง จึงทำให้ ชาวบ้านมีอาชีพ มีงาน และมีรายได้หลักจากอาชีพเกษตร ซึ่งมีทั้งพืชผลเมืองหนาว ไม้ดอก ไม้ประดับ ผัก ผลไม้ ที่มีการส่งเสริมทั้งด้านความรู้ วัสดุ อุปกรณ์และอื่นๆ อีกมากมายจากโครงการหลวง

เหมือนจะสงบสุข , แต่เปล่า  เพราะราว ๆ สิบกว่าปีที่แล้ว เทรนด์เรื่องการท่องเที่ยวเปลี่ยน ยุคนั้นเริ่มมีการท่องเที่ยวที่เรียกว่า “อีโค่ทัวร์ริซซึ่ม” หรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ คือการเที่ยวไปในหมู่บ้าน ขับรถประเภทโมโตครอส ออฟโรด เข้าไปในชุมชน หรือหมู่บ้านชาวเขาแบบไม่เกรงอกเกรงใจเจ้าของบ้าน  และผาหมอนก็เป็นหนึ่งในหมู่บ้านเป้าหมายที่กลุ่มนักเดินทางด้วยรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อนิยมขับกันเข้าไป  เพราะถนนที่มีระยะทางราว ๆ 7 กิโลเมตรจากปากทางเข้าไปในหมู่บ้านที่มีแต่เลนโคลนในฤดูฝนเป็นเรื่องเย้ายวนใจกลุ่มผู้พิศสมัยรถขับเคลื่อน 4 ล้อยิ่งนัก

แต่ชาวบ้านไม่ปลื้มด้วย เพราะแค่หล่มโคลนก็ทำให้การเดินทางออกนอกหมู่บ้านยากลำบากเต็มทนแล้ว มีออฟโรดที่ใส่ยาง MUD ไปตะกุยดินให้ถนนเป็นหลุมลึกยิ่งขึ้น ย่อมทำให้การเดินทางเข้าออกหมู่บ้านเพิ่มความลำบากเข้าไปอีก 

สำคัญกว่านั้น , สิ่งที่นักท่องเที่ยวทิ้งไว้นอกจากถนนที่เป็นหลุมบ่อ ชาวบ้านก็ไม่มีรายได้อะไรจากการเข้ามาของคนข้างนอก ไม่ได้แม้แต่สตางค์เดียว

ปัญหานี้อยู่ในสายตาของชาวบ้านผาหมอน หนึ่งในนั้นคือ สุปอย บรรพตวนา  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาหมอน

ตอนนั้นทำอะไรกันบ้าง

ก็หารือกันว่าจะทำการท่องเที่ยวแบบไหนดี ก็มีพี่เลี้ยงจาก สกว.มาชวนทำ  เราเริ่มต้นด้วยการพากันศึกษาและวิเคราะห์ถึงทรัพยากรทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่ในชุมชน  ก็เห็นว่าหมู่บ้านเรายังคงมีการดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอยู่ทั้งด้านความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ  และยังเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ ป่า น้ำตก มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติในชุมชน มีนกมากมายหลายชนิด  และมีเรื่องการทอผ้า และการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติแบบดั้งเดิม

จากนั้นเราประชุมร่วมกันว่า ต่อไปนี้ชาวบ้านจะต้องเป็นผู้จัดการเรื่องการท่องเที่ยวของชุมชนเราเอง และจะต้องเป็นการท่องแบบเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้  เพราะเป้าหมายของชุมชนที่ทำท่องเที่ยวคือรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่มีพวกนี้เราก็ไม่มีรายได้ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องได้รู้เรื่องของวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ข้อห้ามต่าง ๆ ตามแบบอย่างของวิถีชีวิตชาวปกาเกอะเญอ  ถ้าจะชมธรรมชาติก็มาเดินศึกษาตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติของหมู่บ้าน มาเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาการใช้สมุนไพร การทอผ้าย้อมผ้า การเกษตรที่มีชาวบ้านเป็นคนอธิบายด้วย

ใช้เวลานานแค่ไหนในการเตรียมความพร้อมก่อนเปิดหมู่บ้านตอนรับนักท่องเที่ยว

นานเหมือนกัน  เพราะปกาเกอะญอเราไม่คุ้นกับงานท่องเที่ยว ชาวบ้านต้องใช้เวลาหลังเลิกงานมาประชุมร่วมกันนานหลายเดือน เพื่อวางแผน และหาแนวทางรวมทั้งรูปแบบการท่องเที่ยวชาวบ้านพึงพอใจและยอมรับ  และต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านด้วย  จริง ๆ สมัยก่อนอาชีพหลักของปกาเกอะญอแถวนี้คือทำนา ทำไร่ ปีละครั้ง ถ้าพูดถึงรายได้ก็น้อยนะ เมื่อก่อนรายได้เสริมของชาวบ้านคือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย อาชีพหลักคือทำนา มีข้าวกินก็อยู่ได้ ไม่มีเงินก็หาอาหารจากป่า แต่ปัจจุบันสังคมเปลี่ยน เด็ก ๆ ไปโรงเรียน พอโตขึ้นก็ไปเรียนข้างล่าง ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่ม เราต้องทำงานทุกวัน ไม่มีใครอยูว่างเลยเพราะรายจ่ายมันเยอะ  และตอนนี้ค่านิยมเรื่องรถ ทุกคนอยากได้รถ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ รถจักรยาน   อยากส่งลูกไปเรียน สมัยก่อนทำนา ทำไร่อย่างเดียวก็อยู่ได้ อาหารก็หาเอาจากธรรมชาติ อยู่กับป่า อาศัยป่า ตอนนี้ต้องมีหมดทุกอย่าง ก็ต้องทำงานเยอะเยอะ พอโครงการหลวงเข้ามาก็ปลูกไม้ดอก พืชผัก ก็ทำเป็นรายได้หลักเป็นเลยนะบางคน 

 รูปแบบการจัดการเรื่องท่องเที่ยวของบ้านผาหมอนเป็นอย่างไร 

ในช่วงเริ่มต้น ของการเปิดหมู่บ้าน มีการจัดตั้งคณะทำงานที่แบ่งออกเป็นหลาย ๆ ฝ่าย มีฝ่ายประสานงาน  ไกด์  กลุ่มทำอาหารต้อบรับนักท่องเที่ยว กลุ่มผู้ดูแลบ้านพัก  ใครจะมานอนผาหมอนต้องผ่านการประสานงานกันอย่างเป็นทางการกับกลุ่มเท่านั้น เพราะเราทำงานผ่านกลุ่ม กลุ่มเราสมาชิกมี 68 คน มีหุ้น 370 หุ้น เฉลี่ยรายได้ปีละประมาณหุ้นละ 300 บาทต่อหุ้น ของผมมี 20 หุ้น ตอนที่เราสร้างที่พักเราไม่มีเงินเราก็ขอแรงจากชาวบ้าน ให้เอาแรงงานมาเปลี่ยนเป็นหุ้น ทำงาน 1 วันก็ได้ 1 หุ้น ของผมมาทำงาน 20 วันก็ได้ 20 หุ้น คิดเป็นหุ้นละ 100 บาท       เมื่อนักท่องเทียวเข้ามาก็แบ่งนักท่องเที่ยวให้ชาวบ้าน คนไหนต้องไปเอากระเป๋า คนไหนต้องไปเป็นไกด์นำทาง คนไหนต้องไปป่า เราทุกคนจะจัดเวรกัน สลับกันไป เพื่อให้ทุกคนได้ทำงานเท่า ๆ กัน  เพราะแต่ละวันเรารับนักท่องเที่ยวไม่ให้เกิน 25 คน  เฉพาะที่เข้าพักนะ แต่ช่วงกลางวันแบบที่ไม่ได้มาค้างก็เยอะอยู่เหมือนกัน นักท่องเที่ยวไทยชอบนาขั้นบันได ปี ๆ นึงก็มากันเยอะเหมื่อนกัน

รายได้จากการท่องที่เที่ยวไปไหน

รายได้ส่วนหนึ่งเราหักมาเป็นกองกลาง เช่นค่าไกด์  500 บาท เราให้ไกด์  450 ส่วนหนึ่งเรามาเป็นกองกลาง พวกค่าเช่ารถหัก 5 % ตรงนี่ที่หักน้อยกว่าไกด์เพราะมีค่าสึกหรอ ค่าน้ำมัน ส่วนไกด์ไม่มีค่าอะไรพวกนี้ และพอครบปี เราก็เอามาพัฒนาชุมชน  คือเอาเงินไปพัฒนาหมู่บ้าน เอาไปซ่อมแซม ทำถนนเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน อีกส่วนเอาไปทำแนวกันไฟ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม สนับสนุนค่าอาหารกลางวัน ถ้าสมาชิกท่องเที่ยวไม่สบายเราก็มีเงินให้ 500 – 1000 บาท ขึ้นอยู่กับอาการ และมันจะมีเงินอีกส่วนมาจากผู้ใจบุญเอามาบริจาค เราก็เอาไปเป็นกองทุนการศึกษาให้เด็ก ๆ  ส่วนคนที่เรียนต่อ ม.1 – ป.ตรี ถ้าเกรดเฉลี่ย 3 ขึ้นไปก็ให้ทุน  ถ้าดูจริง ๆ แล้วเงินที่แต่ละคนได้มันจะไม่มาก แต่ทึ่ทุกคนจะได้เท่า ๆ กันคือเงินกองกลางที่ไปลงกับหมู่บ้าน ทุกคนได้ประโยชน์ ปีนี้เราตั้งเป้าว่าเราจะดูแลผู้สูงอายุ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเหลือเงนเท่าไหร่ 

คิดว่างานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างไรบ้าง

งานวิจัยสำหรับผมเป็นเรื่องที่ดีที่สุดและสำคัญที่สุด คือมันยังไง มันดีตรงที่มันไม่ทำให้เราไม่เกิดข้อผิดพลาด มันให้ความรู้และเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงาน โดยเฉพาะกับคนที่อยากจะทำอะไรไปข้างหน้าและต้องการการตัดสินใจ นี่แหละข้อดี  ของบ้านผาหมอนก่อนเที่ราจะทำเรื่องท่องเที่ยว  ทำให้เรารู้จักการค้นคว้า รู้จักการแบ่งหน้าที่ รู้จักการวางแผน 

อีกอย่างคือ ปกาเกอะญอเรานี้ ความรู้หรือประสบการณ์ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาคือการอยู่กับป่า ใช้ป่า ใช้ภูมิปัญญา มันเหมือนกับว่า บางครั้งความรู้หรือภูมิปัญญาบางอย่างเราก็หลง ๆ ลืม ๆ ไป  แต่พอเรามาทำงานวิจัย มันก็เหมือนกับว่าเราได้รื้อฟื้นสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมา เช่น ความรู้เรื่องสมุนไพร  เขาใช้กันยังไง กินกันยังไง เราเองก็ไม่รู้ แต่เราทำวิจัย เราก็ไปค้นคว้า สอบถามคนเฒ่าคนแก่ เราก็ได้ความรู้พวกนั้นกลับมา  และเรื่องความรู้พวกนี้ พอมีนักท่องเทียวเข้ามาเราก็อธิบายหรือบอกเล่าเรื่องราวของเราแก่นักท่องเทียวได้ และในด้านการเกษตร ปกาเกอะญอเราเมื่อก่อนทำเกษตรแบบไม่ใช้สารเคมีอย่างไรเราก็ไปค้นคว้ามา มันก็ทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องของความเชื่อ และภูมิปัญญา และในเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา พอนักท่องเทียวถามเราก็เล่าได้ ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวเราก็เอาความรู้เหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันได้…..การทำวิจัยมันทำให้เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย  ขอบคุณ สกว.ที่มาสนับสนุนให้เราได้ทำงานวิจัย

+++++++++++