people

บิน คงทน : “ผมได้เป็นกำนัน เพราะงานวิจัย”


จากเกษตรกรธรรมดา ๆ และขยับขึ้นมาเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่บ้านนาห้าง ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี  การทำงานรับใช้ชาวบ้านเป็นที่เข้าตา และได้รับการคัดเลือกให้เป็น ผู้ใหญ่บ้าน ในที่สุด

“ผมทำงานจริงจัง ทำเพื่อชาวบ้าน เขาก็ให้ความสำคัญ เลยเลือกให้ผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็เป็นอยู่ 11 วัน เมื่อกำนันคนเก่าเกษียณอายุ ชาวบ้านก็เลือกผมเป็นกำนัน เพราะผลงานเข้าตา”


ผลงาน “เข้าตา” ที่กำนันบอก คือเรื่องของการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำแล้ง ที่ชาวบ้านในตำบลสำโรงได้รับความเดือดร้อนมานาน แม้ตำบลแห่งนี้จะตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในอำภอโพธิ์ไทร แต่พอถึงหน้าน้ำ น้ำจากแม่น้ำโขงก็เอ่อขึ้นมาท่วมชุมชน แต่พอถึงช่วงแล้ง ชาวบ้านทั้งตำบลกลับไม่มีน้ำใช้

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
พื้นที่บ้านเรามันลาด ๆ เอียง ๆ ส่วนใหญ่เป็นหิน  ไม่เหมาะสมกับการกักเก็บน้ำ และช่วงที่มีการบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ก็แผ้วถางป่าไปเยอะเหมือนกัน มันเลยไม่มีแหล่งน้ำ ภาครัฐก็มาทำฝาย ทำอ่างเก็บน้ำให้ แต่ก็ไม่มีน้ำเก็บ ส่วนบนเขาก็พอจะมีลำห้วยลำธาร แต่มันก็ไหลลงแม่น้ำโขงหมด ไม่ได้ไหลลงมาทางหมู่บ้าน  

ช่วงวิกฤตสุดคือช่วงปีไหน
วิกฤตทุกปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป  หว่านกล้าไว้แล้วรอดำ ไม่มีน้ำเลย แต่บางพื้นที่ก็ได้ดำนะ บางพื้นที่เป็นดินชุ่มน้ำ มันมีน้ำเก็บได้นานก็จะได้ดำ แต่บางพื้นที่เป็นดินไม่อุ้มน้ำก็ไม่ได้ดำนาเลย จะได้ดำตกประมาณเดือนสิงหาคม รอฝน


เริ่มทำงานวิจัยปีไหน
ปี 2551  คือโครงการวิจัยน้ำเพื่อการเกษตร เป็นโครงการที่ทำต่อเนื่องจากโครงการวิจัยเรื่องรูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดที่บ้านผาชัน  เพราะผมเป็นผู้นำก็ต้องมารับผิดชอบงานต่อ เพราะมันยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีหลายหมู่บ้านที่ยังไม่มีน้ำใช้ ก็ต้องขยายผลไปเรื่อย ๆ  เป้าหมายคืออยากได้รูปแบบการบริหารจัดการน้ำเหมาะสมกับพื้นที่  เนื่องจากตอนนั้น เราคุยกันอยู่ว่าแก้ปัญหาแล้วแก้ปัญหาอีกก็ไม่จบ ทางหน่วยงานราชการก็ขุดสระอยู่บนโคก บนที่ดอน มันก็เลยเป็นอนุสาวรีย์ ไม่มีน้ำจะเก็บกัก ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ว่าต้องขุดตรงไหน  ก่อนทำงานวิจัยก็ไปปรึกษาอาจารย์กล (กล พรมสำลี)   อาจารย์กลก็แนะนำว่า เราต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ เราต้องเอาองค์ความรู้จากในอดีตมาดูก่อน เช่นการทำนา คนสมัยก่อนทำนากันอย่างไร ทำเกษตรกันแบบไหน เพื่อที่เราจะเอามาวิเคราะห์ปรับใช้ในปัจจุบัน  
พอมาทำวิจัยแล้วไปถามคนเฒ่าคนแก่ เขาก็บอกว่าตรงที่จะขุดสระได้ต้องมีสิ่งบ่งบอกเหมือนต้นไม้ ต้นเอนอ้า มันจะซับน้ำดี มันจะเก็บน้ำได้นานตลอดทั้งปี เพราะคนสมัยก่อน ถ้าจะขุดบ่อเอาน้ำมาใช้ก็ต้องขุดตรงที่มีต้นเอนอ้า จุดไหนมีต้นเอนอ้าก็จะมีน้ำตลอดปี แต่บังเอิญว่าหน่วยงานราชการที่ไปขุดสระ เขาไม่ไปขุดตรงนั้น เพราะที่มันต่ำ รถลงไปไม่ได้ เลยมาลงที่ดอน มันก็เลยเจอปัญหาอยู่ตลอด เมื่อเค้ามาขุดให้ ชาวบ้านก็เอา เพราะได้ฟรี โดยไม่คำนึงเลยว่าจะได้ประโยชน์ไหม

พอได้ข้อมูลเรื่องน้ำ เรื่องการเกษตร ก็มาวิเคราะห์ เพื่อให้รู้ว่าน้ำมีเท่าไหร่ การปลูกการเกษตรใช้น้ำเท่าไร มันเหมาะสมกันไหม  ถึงได้รู้ว่ามันไม่เหมาะสม น้ำมีน้อยกว่า พื้นที่เยอะ เลยลดพื้นที่ลงมาให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ แล้วก็มีผลผลิตมีรายได้ที่มากกว่าเดิม ไม่ใช่ว่าลดลงแล้ว รายได้ลดก็ไม่เอา ลดพื้นที่การทำนาลง ไปทำเกษตรอย่างอื่น รายได้ต้องเพิ่มด้วย

เพิ่มรายได้ด้วยวิธีการอะไร
ไปดูงานว่าพืชชนิดไหนที่ปลูกโดยใช้น้ำน้อย ตอนแรกผมไปขอคำแนะนำจากกรมพัฒนาที่ดิน เขาบอกว่ามีการทดลองปลูกมันสำปะหลังอยู่ที่จังหวัดมุกดาหาร ผมก็เลยพาทีมงานไปดู ไปกันสี่ห้าคน เขาบอกว่า ปลูกมันสำปะหลัง ไร่หนึ่งได้ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ถ้าทำดี ๆ ก็จะตกไร่ละหมื่น ผมก็เลยเอามาลองทำดู ฝนตกลงมาชื้น ๆ ก็ปลูกได้ ไม่เหมือนข้าว เราต้องมีน้ำขังในทุ่งนาถึงจะปลูกได้ มันก็จะแตกต่างกัน ผมก็เลยเอามาให้สมาชิกทดลองปลูกดู เขาก็ไม่อยากปลูกนะ มันเป็นความเชื่อของคนโบราณ ปลูกมันมันกินไม่ได้ อีกอย่างตอนนั้น ตลาดรับซื้อมันก็อยู่ไกล ต้องเอาไปขายต่อที่เสียมราฐ หรือที่อำนาจเจริญ มุกดาหาร ผมก็ยืนยันว่าปลูกเลย เดี๋ยวเอาไปขายให้ เพราะผมมีเพื่อนคนหนึ่งมีรถหกล้อ  เดี๋ยวขนไปหายให้  แต่ก็บังเอิญว่าพอปลูกแล้ว เหมือนโชคเข้าข้าง โรงงานมาเปิดลานมันรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน  เหมือนกับว่ามีแหล่ง มีแรงดึงดูด พอคนอื่น ๆ เห็นว่าปลูกมันแล้วมีรายได้เยอะ ก็ปรับที่นามาปลูกมันเกือบหมด


เลิกทำนาไปปลูกมันแทน
นาก็ยังทำกันอยู่ แต่ทำในพื้นที่ที่เหมาะสมเท่านั้น และตอนนี้เรารู้แล้วว่า พื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำนามันมีไม่กี่ไร่  ซึ่งต่างจากที่ผ่านมา คือที่ดอนก็ทำนา ที่โคกก็ต้องทำนา มันก็เลยเจอปัญหาไม่มีน้ำทำนา  ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าพื้นที่ดอนเหมาะกับปลูกพืชอย่างอื่น มันไม่เหมาะกับทำนา จึงร่วมกันทำแปลงทดลอง เอากลุ่มชาวบ้านมาทดลองร่วมกันว่าพื้น ที่ของตนเองเหมาะสมกับการปลูกพืชแบบไหน  เช่น ที่โคก ที่ดอน ที่ราบลุ่ม เหมาะกับการปลูกอะไร   และอีกการทดลองคือ เป็นการทดลองปรับปรุงดินว่าทำนาได้ไหม ถ้าทำไม่ได้ก็ไปปลูกพืชอย่างอื่นที่มันใช้น้ำน้อย พอทดลองทำแล้วก็ต้องเอาผลผลิตมาเทียบระหว่างพื้นที่ทำนา พื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ก็รู้ว่าผลผลิตมันแตกต่างกัน พื้นที่ดอนก็ได้ผลผลิตเหมือนกัน ทำให้มีรายได้เหมือนกัน เยอะกว่าการทำนาอีก ตอนนี้ชาวบ้านเข้าใจแล้วว่าพื้นที่ของตนเอง เหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดไหน รู้จักวิธีการปรับปรุงดิน ก็เท่ากับว่าโครงการวิจัยประสบความสำเร็จ พืชเศรษฐกิจก็เลยหลากหลาย มีทั้งข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา

แนวทางในอนาคตเป็นอย่างไร มีการวางแผนกันบ้างหรือยัง
 ตอนนี้ชาวบ้านและคนในชุมชนเริ่มเข้าใจและปรับตัวได้แล้ว และก็มีการเพิ่มพื้นที่การเกษตร เข้าใจว่าอีกหน่อยคนคงมาทำเกษตรเยอะขึ้นทางผู้นำก็ต้องหาแนวทางในการนำน้ำมาใช้เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เกษตร

จะเอาน้ำมาจากไหน
มันมีลำห้วยแซใหญ่ อยู่บนเขา ตรงนั้นเราเห็นว่ามันไหลลงน้ำโขงหมด ตอนนี้กำลังของงบประมาณสนับสนุนอยู่ แต่ก็มีแนวทางแล้วว่า จะทำฝายต่อท่อ และกระจายไปยังชุมชนด้านล่าง คาดว่าถ้าประสบความเร็จ ตำบลสำโรงจะมีน้ำเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี


ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือกระบวนการจากงานวิจัย
จริง ๆ แล้วผมไม่รู้เลยนะ ว่างานวิจัยจะตอบโจทย์ได้ไหม เพราะงบประมาณที่ได้รับมามันไม่มีงบประมาณก่อสร้าง มีเฉพาะงบเก็บข้อมูล งบจัดประชุม ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตอบแทน แค่นั้น  พองบออกมาเป็นแบบนี้มันจะแก้ได้อย่างไร ผมก็งงอยู่  แต่พอทำไปทำมาแล้วรู้สึกว่า พอมันมีข้อมูลมันก็มีทางออก มันมีทางออกเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ บริหารจัดการดิน บริหารจัดการการเกษตร และข้อมูลที่เก็บมา ก็เอาไปต่อยอดได้ในเรื่องของงบประมาณในส่วนอื่น ๆ ได้   เพราะหลังจากที่เราทำวิจัย และปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกได้แล้ว ก็มีคณะคาราวานแก้จนจากจังหวัดมาที่อำเภอ ชาวบ้านก็ไปร่วมด้วย ท่านปลัดอำเภอก็ถามว่าตำบลสำโรงมีปัญหาเรื่องอะไรบ้าง ก็เป็นจังหวะที่ กำนันปวดท้องไปเข้าห้องน้ำ ผมเป็นผู้ช่วยก็เลยตอบแทนว่า เราขาดแคลนน้ำ  น้ำไม่พอใช้  ปลัดถามว่า พื้นที่ไหน ทั้งหมดกี่ไรที่เดือดร้อน  ผมบอกว่า ผมมีงานวิจัยของผม ผมเก็บข้อมูลมาหมดแล้ว  ท่านปลัดก็เอางานวิจัยของพวกเราไปดู จากนั้นอีกประมาณ 6 เดือน  ทางจังหวัดก็ลงมาดูพื้นที่  และอนุมัติงบประมาณ 12 ล้านบาท ขุดลอกลำห้วย ทำฝาย ทำอ่าง มีชุมชนได้รับประโยชน์ประมาณ 300 ไร่  

พอมีฝาย มีอ่างเก็บน้ำ ตำบลรอบ ๆ ก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย
ก็ได้ในเชิงแนวคิด ตำบลรอบ ๆ ได้แนวคิด และสามารถนำไปทำเป็นแบบอย่างได้  เราเองก็มีแนวคิดจะขยายไปทั้งทั้งตำบล  เลยชวนกลุ่มผู้ใหญ่บ้านมาประชุมวางแผน ทำแบบสอบถาม ว่าเราจะเอาอะไรเพิ่มเติม ผมก็อธิบายโครงการที่หนึ่งที่ผมทำอยู่ เขาก็บอกว่ามีส่วนหนึ่งที่ยังตกอยู่ก็คือพื้นที่มันไม่เหมือนนาห้างนะ ผมก็บอกว่าอย่างไรก็ตามให้เก็บข้อมูลแหล่งน้ำ มีน้ำกี่บ่อ มีสระกี่บ่อ มีน้ำเท่าไร พื้นที่ที่มีน้ำตลอดปีเท่าไร กี่ไร่ ให้คำนวณออกมาเลยว่ามีน้ำเท่าไรทั้งตำบล ในหมู่บ้านมีปัญหาอะไรบ้าง ถ้ามีปัญหามาคุยกันหาทางออก แล้วไปชี้แจงให้ชุมชนทราบด้วยกัน


มีอะไรดลใจให้เราต้องไปทำเพื่อคนอื่น
เพราะเราเป็นผู้นำ  ที่ผมได้เป็นกำนัน เพราะผมเติบโตมาจากงานตรงนี้ เมื่อก่อนผมไม่มีความรู้อะไรเลย พอมาทำตรงนี้ก็มาทำเพื่อชาวบ้าน เขาก็เห็นความสำคัญ เลยยกให้ผมเป็นกำนัน  เราเป็นผู้นำ มีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะพอเขามีโครงการมา ผมจะรู้ก่อนเพื่อน ผมก็จะไปแนะนำ เพราะเราจะรู้ข้อมูลก่อนคนอื่น รู้ข้อมูลหน่วยงาน มีข้อมูลวิจัยอยู่ในหัว ประกอบกับข้อมูลทุกวันนี้จะมีโฆษณาอะไรต่าง ๆ โฆษณาเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงที่ดิน มีหน่วยงานราชการบ้าง ไปอบรม ไปชี้แนะแนวทาง ให้ความรู้ ข้อมูลทุกอย่าง ส่วนหนึ่งไม่ให้เชื่ออย่างเดียวนะ ต้องวิเคราะห์ดูก่อนว่าเป็นไปได้ไหม ถ้าพอเป็นไปได้แล้วต้องทดลองดู เพื่อเป็นความรู้และแนวทางการพัฒนาให้เรา ผมจะแนะนำอย่างนี้ ส่วนหนึ่งเราทำงานวิจัย เราไม่ได้ทำเพราะคิดว่าเราได้แค่ข้อมูลเท่านั้น เราเป็นผู้นำ เหมือนกับว่าถ้าเราช่วยคนอื่นแล้ว เราจะสบายใจ ได้บุญ ประมาณนี้

มีทีมทำงานกี่คน
46 คน  มีกำนัน มีผู้ช่วย มีผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยหมู่บ้านละ 3 คน ทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านอีก 11 คน เป็น 45 รวมทั้งสารวัตรกำนัน ต้องสนับสนุนกลุ่มที่มีตำแหน่งมาทำงานให้หมด สร้างพาวเวอร์ให้กับผู้ช่วย ให้กับผู้ใหญ่บ้านให้เขาทำงานเป็น เพราะเราอยู่ในตำแหน่งไม่กี่ปีเราก็ออก ให้เขาทำงานต่อ เราจะอาศัยเขาได้

สรุปแล้วจนถึงทุกวันนีผ่านการทำวิจัยมากี่โครงการ ทำเรื่องอะไรบ้าง
4 โครงการ กำลังจะขึ้นโครงการที่ 5 โครงการแรกทำเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร  ต่อยอดโครงการแอร์แวของบ้านผาชัน ด้วยการ ทดลองทำฝายแก้มลิง ทำฝายไว้ข้างบน เวลาอยากได้น้ำก็ปล่อยลงมา

อีกโครงการ เป็นเรื่องของการจัดการน้ำในตำบลสำโรง เพราะในตำบลสำโรงมีหลายหมู่บ้านที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำ มีนาห้าง การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร มีผาชัน การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค มีโนนศาลา การจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค มีนาขาม การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร นาเจริญ การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เอาข้อมูลตรงนี้มารวมกันแล้วขยายผล

และอีกโครงการที่กำลังจะทำคือ จะรวบรวมข้อมูลที่เรามีอยู่ประจำในหมู่บ้าน เช่น การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการการเกษตร องค์ความรู้ต่าง ๆ มารวม เอามาทำเป็นโมเดล เป็นหลักฐานไว้ว่าผู้นำยุคนี้เขาทำอะไรไว้บ้าง ทำเป็นประวัติตำบลไว้ ทำไว้เพื่อให้ผู้นำคนอื่นได้อ่าน จะได้รู้ช่องทางบริหารจัดการน้ำต่อ เหมือนกับเราเชื่อองค์ความรู้ของคนโบราณ ที่สมัยนั้นท่านยังไม่มีเครื่องมือ แต่ท่านเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาจนถึงปัจจุบันนี้ได้สำเร็จ เขาทำวิจัยเหมือนเรานี่แหละ แต่ทำวิจัยแบบประสบการณ์จริง แต่พอเสียชีวิตก็จบไป ไม่ได้บันทึกอะไรไว้เลย ผมก็เลยว่าไม่อยากให้มันจบไป อยากให้มีคนอื่นสืบสานต่อ เลยคิดว่าจะทำตำราไว้หนึ่งเล่ม เป็นตำราเรื่องการจัดการน้ำของตำบลสำโรง

ทำไมกำนันคิดว่าเวลาจะคลี่คลายปัญหาสักเรื่องหนึ่งต้องใช้งานวิจัยเข้ามาช่วย
ผมมองว่าเราคนเดียวแก้ปัญหาไม่ได้ งานวิจัยเราเอาข้อมูลทั้งหมู่บ้านทั้งตำบลมาวิเคราะห์ ปัญหาแต่ละปัญหามันมีคนเจอ และมีคนแก้ได้  แม้กระทั่งปัญหาเรื่องความแตกแยก ผมก็ยังเอามาทำ ทำเป็นโครงการหมู่บ้านจัดการตนเอง ทำให้งานแต่ละงานที่อยู่ในชุมชน คนทั้งชุมชนมาทำร่วมกัน ทำไมเขาถึงมา ผมอำนวยความสะดวกให้มา ถ้าไม่มาก็ให้ตั้งกติกาขึ้นให้สังคมลงโทษเขา หลายคนไม่เชื่อ แต่เวลาทำก็ทำไม่ได้ในครั้งเดียว ต้องทำหลายครั้ง เหมือนกับงานศพ ให้ทุกคนมาร่วม ในงานผมให้ลงทะเบียน ลงทะเบียนแล้วทุกคนก็ต้องลง ใครขาดถึงสามครั้ง ถ้าบ้านเขาเสียชีวิต ผมจะให้คนทั้งชุมชนไม่ต้องไป ไม่ต้องไปร่วม เขาบอกว่าทำได้ไหม จะลองดู จะเก่งจริงไหม บังเอิญคนนั้นโดนก่อนเพื่อน ครัวเรือนนั้นโดนก่อนเพื่อน ไม่มีใครไปร่วมงาน พอดีแม่บ้านเลยมาหาผม จะให้ทำอย่างไร ยอมทุกอย่าง ผมบอกว่าผมไม่ปรับอะไรไม่ทำโทษอะไร ถ้าท่านยอมทุกอย่าง ผมก็จะเอาชุมชนเข้าไปช่วย ขอให้มาทำงานร่วมกันนะต่อไป บ้านเขาทำอะไรก็ต้องทำร่วมกับเขา เขาก็ยอมรับ ผมก็ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย คนก็มา พอเห็นตัวอย่างครัวเรือนเดียวเท่านั้น ครัวเรือนอื่น ๆ มีประกาศงานอะไรก็ต้องมาลงทะเบียนก่อนค่อยลา แล้วจะไปอย่างอื่นก็ให้ไป ไม่ได้บังคับถึงขนาดนั้น แค่ให้รู้ร่วมกันหน่อยในงานแต่ละงาน ต้องมาดูก่อนว่าหมู่เพื่อนเขาทำอะไรกันบ้าง ทั้งตำบลผู้นำเขาก็มีกติกากันนะ งานศพนี้ก็ต้องไปร่วมกัน ครอบครัวของผู้นำทุกคนก็ไป

มีเหตุผลอะไรที่ต้องใช้งานวิจัยในการแก้ปัญหา
เพราะหลายคนหลายความคิด ปัญหาต่าง ๆ ส่วนมากจะคลี่คลายได้ ถ้าเรามาร่วมกันคิดร่วมกันทำ ผมว่าทุกอย่างมันต้องสำเร็จ

ทำไมมั่นใจว่ามันต้องสำเร็จ ตอนแรกกำนันบอกว่าไม่รู้ว่างานวิจัยมันคืออะไร
ผมไม่รู้จริง ๆ พอมาทำก็รู้แล้ว งานวิจัยมันยาก ยากตรงที่จะทำให้คนเราเข้าใจกันมันยากอยู่



แต่กำนันก็ทำได้
ผมถึงบอกว่ามันยากกว่าจะทำได้ ตั้งกี่ปี ก่อนจะทำได้มันยากหลายปีอยู่ พอเราทำมาสักประมาณนี้ก็สบายใจขึ้น มันช่วยเราได้หลาย แก้ปัญหาแม้ว่าจะไม่ 100% ให้มันได้สัก 80% 90% ผมก็พอใจแล้ว

นอกจากทำหน้าที่นี้แล้ว กำนันต้องทำอะไรบ้าง
มีเยอะแยะ ตอนนี้ทางอำเภออยากให้รวมกลุ่มแปรรูป ตอนนี้ทางเกษตรเห็นว่าเรามีลานมันก็ให้งบประมาณไปสร้างโรงเรือนให้โรงสีงบประมาณล้านสอง มีการสีข้าวกล้อง คัดข้าวที่หนึ่งที่สองได้ ตอนนี้ทางเกษตรอำเภอให้ตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผมตั้งอยู่แล้ว จากปีที่แล้วผมตั้งวิสาหกิจชุมชนลานมัน ปีนี้ให้ต่อเติมเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตเพื่อการเกษตรทั้งข้าวทั้งมัน ตั้งกลุ่มเยอะแยะ กลุ่มข้าวอินทรีย์

กำนันคิดว่าคุณสมบัติของนักวิจัยต้องมีอะไรบ้าง
สำหรับผม คือเรื่องแบ่งปัน เพราะผมเป็นผู้นำ พอเราไปรู้อะไรมาเราต้องเอามาบอก มาเล่าให้คนอื่นฟัง  ถ้าไม่บอกมันอึดอัด มันต้องขยายผลออกไปเรื่อย ๆ อันนี้รู้แล้วก็มาแบ่งปัน ต้องรู้จักสังเกต ขวนขวายหาความรู้  อย่างตอนที่ชวนชาวบานปลูกมัน ปลูกพืชแบบอื่น ผมเองก็ต้องไปหาความรู้เรื่องการปลูกพืชพวกนี้มาแบ่งปันให้คนอื่นเหมือนกัน

มีอะไรจะพูดเพิ่มเติมไหม ตั้งแต่ทำวิจัยมาหลายโครงการ
สิ่งที่ผมภาคภูมิใจนะ ก็คือผมได้ชุมชน ได้ผู้นำทั้งตำบล คือเราเอาเขามาเป็นเพื่อนเราได้ เราแนะนำอะไรเขาไปเขาก็เชื่อ เราได้ความเชื่อถือ เราได้เพื่อนเพิ่มขึ้น ชุมชนพึ่งพาเราได้ ผมก็ภูมิใจ ถ้าชุมชนพึ่งพาเราไม่ได้ เราจะเป็นผู้นำไปเพื่ออะไร



+++++++++++