เมื่อ “ต อ ง เ ห ลื อ ง ” ทำวิจัย
สุนทร ศรีชาวป่า สลัดผ้าผืนเดียวที่เคยห่อหุ้มร่างกายมานุ่งห่มเสื้อผ้าแบบที่คนพื้นราบใส่ , เขาเดินทางมาพร้อม ๆ กับ “มลาบรี” หมู่บ้านเดียวกันอีก 6 คน นั่งรถตู้ เดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อมานำเสนอผล “งานวิจัย” โครงการระบบตัวเขียนเพื่อบันทึกความทรงจำทั้งชีวิต ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น
“ชีวิตผมดั้งเดิมอยู่ในป่า หากินอยู่ในป่า ขุดมัน ขุดเผือก ล่าสัตว์ ได้อะไรมาก็ฆ่ากิน ได้อะไรก็มาแบ่งกับญาติพี่น้องด้วยกัน บ้านเรือนก็สร้างแบบง่าย ๆ อยู่กับดิน เมื่อสัตว์ตรงบริเวณนั้นหายากขึ้นก็ออกเร่ร่อนและย้ายไปเรื่อย ๆ คนเลยเรียกว่า “ผีตองเหลือง” แต่ไม่ใช่ผีนะครับ….ถ้าใช้ก็คงกินพวกท่านไปหมดแล้ว…จริง ๆ แล้วพวกผมก็เป็นคนเหมือนกัน…และการมาในครั้งนี้ก็ทำให้รู้จักเพื่อน ๆ ในกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ อีกมากมาย และก็คิดว่าจะเอาเรื่องราวที่เห็นกลับไปบอกญาติพี่น้อง และก็คาดหวังว่าสิ่งที่พวกเรานำเสนอน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย … โอกาสนี้ผมก็อยากขอบคุณอาจารย์สุวิไล เปรมศรีรัตน์ (ชุดประเด็นการศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเซีย มหาวิทยาลัยมหิดล) ที่เปิดโอกาสให้พวกทำได้ทำงานวิจัยในด้านระบบตัวเขียนขึ้นมา เพื่อที่เราจะได้อนุรักษ์ภาษา และรู้เรื่องภาษาของเรามากขึ้น”
“ก่อนหน้านี่พี่น้องมลาบรีเราไม่เคยได้เขียนหนังสือมาก่อน จะทำกันก็เฉพาะลวดลายบนกล้องสูบยา ตัวหนังสือเป็นเรื่องใหม่กับเรา….แม้พวกเราจะไม่ถนัดในการอ่าน การเขียน แต่ผมก็ต้องให้กำลังใจพี่น้องและช่วย ๆ กันหนุนเสริมเพื่อที่จะให้พวกเราสามารถเก็บข้อมูล และบันทึกเรื่องราวของพวกเราเอง…”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชาวมลาบรีบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา เทศบาล ต.บ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ จะมีการใช้ภาษาในครอบครัวอย่างเข้มข้น แต่ประชากรมลาบรีกลับมีอยู่จำนวนน้อยมากท่ามกลางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งอาหารรอบตัวค่อยๆ ลดหายไป ในขณะที่วิถีการดำรงชีวิตของชาวมลาบรีในปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงคล้ายคลึงกับคนเมืองมากขึ้น ทั้งการแต่งกาย บ้านเรือนที่เป็นหลักแหล่ง มีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น เป็นต้น ที่ผ่านมา (พ.ศ.2550-ปัจจุบัน) ชาวมลาบรี (ตองเหลือง) ที่หมู่บ้านแห่งนี้ได้ทำโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เรื่อง “สร้างระบบตัวเขียนภาษามลาบรีเพื่อบันทึกความทรงจำทั้งชีวิตของชาวมลาบรี” โดยได้มีการพัฒนาระบบตัวเขียน จัดเก็บเรื่องราวต่างๆ ของชาวมลาบรีเพื่อเป็นการฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมของตน โดยมีนายวีระ ศรีชาวป่า เป็นหัวหน้าโครงการ และมีคณะทำงานซึ่งเป็นเยาวชนและชาวมลาบรีอื่นๆ ในชุมชนบ้านห้วยฮ่อมเป็นทีมวิจัย
ผลจากการดำเนินงาน ที่โครงการวิจัยสามารถร่วมกันสร้างตัวเขียน ระบบภาษาและองค์ความรู้ได้ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมพัฒนา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้โรงเรียนบ้านห้วยฮ่อมพัฒนาจัดการเรียนการสอนตามนโยบายการสอนภาษาท้องถิ่นให้กับเด็กในกลุ่มชาติพันธุ์ในเขตพื้นที่พิเศษ 1 ใน 500 โรงเรียน ภายใต้โครงการ “พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทยภายใต้โครงการสร้างจิตสำนึกความเป็นเพื่อพัฒนาเด็กไทยอย่างยั่งยืน” ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งได้สนับสนุนให้มีการสอนภาษาท้องถิ่นในโรงเรียน โดยมีเจ้าของภาษาท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้สอน สำหรับชาวมลาบรี (ตองเหลือง) ก็ได้มีการคัดเลือกครูภูมิปัญญาของตนเองให้เข้าสอนในโรงเรียนตามโครงการของสพฐ.ด้วยเช่นกัน โดยได้คัดเลือกให้ นายพินิจ เจริญคีรีพนา เป็นครูภูมิปัญญามลาบรีวัยเยาวชนให้สอนภาษามลาบรีแก่เด็กชาติพันธุ์มลาบรีในโรงเรียนบ้านห้วยฮ่อม โดยสอนในชั้นอนุบาล 1 และได้เริ่มมีการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2553 เป็นปีการศึกษาแรก