งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น…เครื่องมือสู่การตัดสินใจ
บัญชร แก้วส่อง
การตัดสินใจของคนในชุมชนท้องถิ่นหลายเรื่องมักจะวางบนฐานความเคยชินหรือความรู้เบื้องต้นที่เคยรับรู้มา และในหลายครั้งวางบนฐานเฉพาะหน้าของการชี้นำจากผู้มีอำนาจ ทั้งผู้มีอำนาจทางวิชาการ ผู้มีอำนาจทางการเมืองการปกครอง ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือผู้มีอำนาจทางสังคม
การตัดสินใจของคนปฏิบัติการมักจะติดสินใจตามนโยบายหรือตามวิธีการของหลักวิชาการที่เป็นศาสตร์ที่ร่ำเรียนมา
การตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายมักจะตัดสินใจตามวิสัยทัศน์ของตนเอง หรือ ยึดฐานความรู้เชิงวิชาการเชิงประจักษ์ที่ตนเองเชื่อ
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นช่วยสร้างมิติใหม่แห่งการตัดสินใจได้โดยเฉพาะการตัดสินใจร่วมกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง คนที่มีอำนาจในชุมชนและคนธรรมดาสามัญในชุมชนมีโอกาสร่วมกันเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาของชุมชนด้วยกัน ก่อนจะตัดสินใจร่วมในการแผนการแก้ปัญหาและลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน การตัดสินใจร่วมแบบนี้ช่วยให้ชุมชนมีพลังในการแก้ปัญหาทั้งพลังความคิดที่มาจากหลายส่วนและพลังการปฏิบัติการที่มาจากหลายคน ผลจากพลังดังกล่าวทำให้ชุมชนขับเคลื่อนการแก้ปัญหาไปได้ และขณะเดียวกันมีพลังที่แฝงอยู่ที่ทำให้ชุมชนเกาะเกี่ยวเป็นพลังที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเด็นปัญหาอื่นที่เกิดขึ้นมาใหม่ด้วย
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ดำเนินการร่วมระหว่างนักพัฒนาที่ปฏิบัติงานการพัฒนาตามภารกิจของหน่วยงานตนเอง กับคนในชุมชนนั้น ๆ ก่อให้เกิดการตัดสินใจใหม่ร่วมกันบนฐานของวิธีการที่เหมาะสมกับชุมชนท้องถิ่นแต่ยังตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาของหน่วยงานได้
ความรู้และกระบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นถึงแม้เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ ในสถานการณ์และบริบทเฉพาะแต่ถ้าสังเคราะห์และประมวลออกมาหรือไตร่ตรองอย่างพินิจพิเคราะห์ก็จะเป็นบทเรียนหรือแนวทางที่สำคัญของผู้กำหนดนโยบายที่จะช่วยให้กำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์และมีความเป็นไปได้ ตลอดจนเกิดความยั่งยืนในการจัดการกับปัญหาด้วย
คาถาสำคัญของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 3 คาถา ที่นักวิจัยเพื่อท้องถิ่นรับรู้กันโดยทั่วไปอันประกอบด้วย
คาถาแรกโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นที่แท้จริง
คาถาที่สองคนในชุมชนต้องเป็นนักวิจัยหรือมีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัย
คาถาที่สามการวิจัยต้องมีการปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ
ดังนั้นในเบื้องต้นคนในชุมชนต้องลุกขึ้นมากำหนดโจทย์ของชุมชนเอง และบางส่วนร่วมในการเป็นนักวิจัยและบางส่วนร่วมในการปฏิบัติการต่าง ๆของการวิจัย การดำเนินการเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ชุมชนรู้จักตนเอง ช่วยให้นักพัฒนาที่เข้ามาร่วมในการปฏิบัติการวิจัยเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของชุมชน เข้าใจสถานการณ์และข้อจำกัดของชุมชน และช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายเห็นการเกี่ยวโยงของนโยบายกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชนการมีส่วนร่วมของคนที่เกี่ยวข้องตลอดถึงวิธีการที่จะช่วยให้ความคิดเชิงนโยบายบรรลุผล
++++++++