KNOWLEGE

“ชุมชนต้องร่วมกันเป็นเครือข่ายทางปัญญา

ดร.สมคิด แก้วทิพย์

++++

ในฐานะที่เป็น 1 ในผู้บุกเบิกงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา  อาจารย์ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ก็ยังคงเฝ้าติดตาม ถามไถ่ รวมทั้งสนับสนุน “ไอเดีย” ในบางโอกาส เพื่อให้ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ก้าวเดินไปข้างหน้าตาม เจตนารมณ์เริ่มต้น

“ซึ่งการเกิดขึ้นของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในขณะนั้น เกิดขึ้นด้วยเจตจำนงที่ต้องการให้ “งานวิจัย”  เป็นงาน “สร้างสรรค์ปัญญา”  เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้าน และเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย เป็นการลองทำโดยที่ให้ชาวบ้านเป็นคนตั้งปัญหา เป็นนักวิจัย และใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งงานนี้ต้องอาศัยปัญญาชนเป็นเพื่อนคู่คิด ร่วมกับชาวบ้าน โดยที่การตั้งโจทย์ก็จะขึ้นอยู่กับว่า ชาวบ้านเผชิญอยู่กับปัญหาอะไร กระบวนการที่เน้นอย่างยิ่งคือ ชาวบ้านต้องหาข้อมูล สืบค้นเอาองค์ความรู้เดิม บวกกับความรู้ใหม่ ใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจร่วมกัน สร้างทางเลือกที่เหมาะสมร่วมกัน จากนั้นก็ปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งผลสุดท้ายของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือ การพัฒนา 3 เรื่องหลักคือ 1.ระบบวิธีคิดของชาวบ้าน  2.พัฒนาการแก้ปัญหาที่เป็นอยู่  และ 3.พัฒนาความสัมพันธ์ของชาวบ้านเอง”

“ปัจจุบันงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้ดำเนินงานมา 10 กว่าปี…ซึ่งการออกแบบไว้แต่เดิมเป็นลักษณะของโครงการ  แต่ว่าผลที่ได้จากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นโดยภาพรวมคือ ชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการนี้ เป็นชาวบ้านที่มีกระบวนการเรียนรู้ และสังคมที่ชาวบ้านอยู่ก็เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้”

ทั้งนี้ อาจารย์สมคิดยังชีว่า  โจทย์ใหญ่ ๆ ของเครือข่ายวิจัย รวมทั้งคนสนับสนุนคือ จะทำอย่างให้กระบวนการเรียนรู้ที่ชาวบ้านเคยใช้ในระหว่างการวิจัย  มีการใช้อย่างต่อเนื่อง

“นั่นหมายความว่าจะทำอย่างไรให้วิธีวิทยางานวิจัยเข้าไปอยู่ในวิถีของชาวบ้านที่จะต้องใช้ปัญญารวมกันในการแก้ปัญหาที่จะต้องเผชิญกันอย่างต่อเนื่อง…

“อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “ชุดความรู้” หรือ “ชุดวิธีคิด” ทางการวิจัยที่มักถูกใช้ในแวดวงวิชาการ  ซึ่งระเบียบวิธี และกระบวนทัศน์ในการวิจัยแบบวิชาการนั้น อาจจะต้องเอามาผนวก ผสาน ให้เอื้อ ให้เหมาะสมกับวิธีการทำงานวิจัยแบบชาวบ้าน ส่วนฐานการวิจัยแบบชาวบ้านนั้น เน้นการสืบค้น การพูดคุย เพราะฉะนั้นเงื่อนไขชี้ขาดของความสำเร็จในเรื่องงานวิจัยชาวบ้านคือคุณภาพการพูดคุย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีงามของผู้คนที่เกี่ยวข้อง

“กลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน ปัญหาที่รุมเร้าสังคมไทยคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการแบ่งแยก ปัญหาการต้องต่อสู้ดิ้นรนแข่งขันกัน  เพราะฉะนั้นการนำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมาเป็นเครื่องมือในการทำให้เกิดความรู้ ความรัก และความสามัคคีของประชาชน ซึ่งต่างก็ดิ้นรนและเผชิญชะตากรรมร่วมกัน และเครื่องมือนี้เองที่จะนำมาซึ่งการแก้ปัญหาร่วมกัน…

10703447

และภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0  อาจารย์มองว่า “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญ” ดันนั้นชุมชนวิจัยต้องประสานการสร้างความรู้ใหม่ กับคนรุ่นใหม่ และการสร้างกำลังของคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นในกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“แนวทางนี้จะตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในความหมายระดับโลก และเพื่อตอบโจทย์ ของความมั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืนของรัฐบาลพร้อมกันไป  ในขณะเดียวกันที่ขาดไม่ได้ก็คือ 4.0 ต้องตอบโจทย์ชีวิตและสังคมที่ชุมชนนั้นกำลังเผชิญอยู่”

              “ในเชิงระบบแล้ว งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นต้องการการทบทวนและยกระดับการบริหารจัดการของท้องถิ่นเองที่จะตองมีความเข้มแข็ง นั่นหมายความว่า ระบบเศรษฐกิจในพื้นถิ่นต้องสามารถที่จะจัดการตัวเองได้ในระดับหนึ่งที่จะต้องต่อรองหรือจัดความสัมพันธ์กับทุนขนาดใหญ่ที่เข้ามาครอบงำวิถีชีวิตชุมชน  ตรงนี้ต้องการการทบทวนทั้งระบบเศรษฐกิจ ระบบการเมือง และระบบสังคม  เพราะฉะนั้น นอกจากเรื่องพวกนี้ แล้ว รูปแบบวิธีคิด และจิตสำนึกของคน ในชุมชนท้องถิ่นก็จำเป็นที่จะต้องยกระดับความคิดให้อยู่หรือวิถีแห่งโลก หรือ คิดร่วมกัน  นั่นหมายถึงว่า และประชาชนคนเล็กคนน้อย ทำอย่างไรจึงจะมีชัยโดยไม่ก่อเวร ต่อสิ่งที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าชาวบ้าน

ซึ่งนอกจากทำโครงการวิจัยแล้ว จะต้องใช้ปัญญาเหล่านี้กำหนดแผน ยุทธศาสตร์ ในระดับพื้นที่ เช่นระดับตำบล อำเภอ หรือ จังหวัดให้เข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในแผนและนโยบาย และนำแผนและนโยบายต่าง ๆ เหล่านั้นมาปฏิบัติการร่วมกันกับองค์กรภาคีอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายร่วมกันในพื้นที่ ขณะเดียวกัน ขบวนการของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ ก็จะต้องเชื่อมโยงกันในกลุ่มจังหวัดหรือ ในภาค หรือระดับประเทศชาติ

และที่สำคัญประชาชนท้องถิ่นก็จะต้องเรียนรู้อย่างลึกซึ่งถึงกระบวนวิธีคิดที่ไม่ใช่การทำวิจัยเพื่อตอบคำถามอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องร่วมกันเป็นสายธารทางปัญญา ต้องใช้ปัญญารวมหมู่ โดยเชื่อมโยงโครงข่ายความสัมพันธ์ทางปัญญาเหล่านี้ให้เป็นเอกภาพเสริมพลังซึ่งกันและกัน หรือผู้ร่วมในกระบวนงานวิจัยทั้งหมด ต้องสานใยกันเป็นเครือข่าย เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของสังคมชุมชนท้องถิ่นและสังคมไทย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ…