KNOWLEGE การศึกษา

การสังคายนาองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านล้านนา (หมอเมือง)

 ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ

    จากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและโครงสร้างระบบบริการสุขภาพของรัฐที่เน้นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนมากขึ้น หรือเน้นการสร้างมากกว่าการซ่อมสุขภาพ ทำให้จำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้เดิมให้ร่วมสมัย ด้วยความร่วมมือร่วมแรงกันทุกฝ่าย ร่วมกันศึกษา ฟื้นฟู และพัฒนา เพื่อยกระดับองค์ความรู้ทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพของหมอพื้นบ้านและเสริมบทบาทให้เป็นทางเลือกในการดูแลรักษาและสร้างเสริมสุขภาพของประชาชน ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ

    วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มหมอพื้นบ้านล้านนา (หมอเมือง) ในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ทำการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2543 แต่เพื่อที่จะพัฒนาองค์ความรู้หมอเมืองให้เป็นตำรากลางอ้างอิงของระบบการแพทย์พื้นบ้านล้านนา และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายหมอเมือง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จึงได้พัฒนามาเป็นชุดโครงการวิจัยองค์ความรู้หมอเมืองตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถสรุปความก้าวหน้าได้ดังนี้

แนวคิดของการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง

เป็นการระดมเกจิอาจารย์ ผู้รู้ และผู้เชี่ยวชาญ จากทั่วภาคเหนือตอนบน หรือล้านนา มาช่วยกันรวบรวมและจัดระบบองค์ความรู้และประสบการณ์ของหมอเมือง รวมทั้งตรวจสอบ เทียบเคียงและชำระให้เกิดความถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งจากผู้รู้ด้วยกันเองและจากบันทึกของบรรพชน (ใบลาน-ปั๊บสา) จนสามารถสังเคราะห์องค์ความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่กับหมอเมือง หรืออยู่ในปั๊บสา ขึ้นเป็นระบบที่เทียบเคียงได้กับความรู้สมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่ ปรัชญา แนวคิด และทฤษฎีที่อธิบายถึงสุขภาพและสมุฏฐานโรค การตรวจวินิจฉัย การจัดระบบโรคที่หมอเมืองรู้จัก และกระบวนวิธีในการสร้างเสริมป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งการรักษาสุขภาพทางกาย (กายบำบัด) และทางจิต(พิธีกรรมบำบัด) รวมไปถึงการรักษาสุขภาพด้วยยาสมุนไพร ด้วยอาหารการกิน การอยู่และการประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ในทำนองครองธรรม

ซึ่งการดูแลรักษาสุขภาพของคนในสังคมไทยยังอยู่บนพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยความคิด ความเชื่อ อันเป็นบรรทัดฐานของวิถีชีวิตในการดูแลรักษาสุขภาพที่เรียกว่า วัฒนธรรมสุขภาพ การแพทย์พื้นบ้านจึงยังเป็นระบบการแพทย์ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการดูแลสุขภาพของคนในสังคมที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ดั้งเดิม และเกิดการผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ หล่อหลอมจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน 

ความก้าวหน้าและผลการวิจัย

    ผลจากการระดมเกจิอาจารย์จากเครือข่ายหมอเมืองภาคเหนือประมาณ 60 ชีวิต มาช่วยกันเล่าประสบการณ์และตรวจทาน ถกเถียง เปรียบเทียบ ตลอดจนปริวรรตใบลาน-ปั๊บสาที่เป็นอักขระล้านนามาเป็นตำรากลางในภาษาไทยปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี มีการประชุมปฏิบัติการกันไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง จนทำให้สามารถเขียนเป็นตำรากลาง (คู่มือการสร้างเสริมและดูแลรักษาสุขภาพ) รวม 25 เรื่อง นอกจากนั้น ยังมีการสนับสนุนให้กลุ่มหมอเมืองและนักวิจัยพี่เลี้ยงที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทำการศึกษาเจาะลึกและติดตามตรวจสอบผลการนำองค์ความรู้หมอเมืองไปใช้เป็นรายกรณี รวม 10 เรื่อง จึงทำให้ชุดโครงการนี้สามารถจัดทำเป็นคู่มือการสร้างเสริมและดูแลรักษาสุขภาพ รวม 35 เรื่อง แต่เพื่อความสะดวกในการศึกษาและง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นระบบ ตลอดจนเข้าใจง่ายและเทียบเคียงได้กับการแพทย์ระบบอื่นๆ จึงได้บูรณาการเป็นตำรากลางที่จะใช้อ้างอิงได้รวม 4 เล่ม คือ

    1 ตำราทฤษฎีการแพทย์พื้นบ้านล้านนา  เป็นตำรากลางที่ว่าด้วย ความเชื่อและแนวความคิดในการอธิบายเกี่ยวกับสุขภาพของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งที่สืบเนื่องมาจากอดีตชาติ ผลกรรมในปัจจุบัน และส่งผลต่อไปในภพหน้า โดยมีวิธีการอธิบายสาเหตุของโรค หรือสมุฏฐานโรค จัดสาระบบของโรคออกเป็น 11 ระบบ มีกระบวนการตรวจและวินิจฉัย รวมทั้งมีกระบวนการสร้างเสริม ป้องกัน บำบัด รักษา และดูแลอย่างเป็นระบบ ทั้งสุขภาพทางกาย สุขภาพทางใจ สุขภาพทางสังคมและจิตวิญญาณ เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวมโดยไม่แยกเป็นส่วนๆ เหมือนระบบการแพทย์แผนปัจจุบัน

    2 ตำราเภสัชกรรมการแพทย์พื้นบ้านล้านนา  เป็นตำรากลางที่ว่าด้วย การดูแลรักษาสุขภาพด้วยอาหารและตำรับยาสมุนไพร ประกอบด้วยตำรับอาหารรักษาโรคกว่า 10 ตำรับ ข้อมูลสมุนไพรในล้านนากว่า 400 ชนิด หลักเภสัชกรรมและวิธีการปรุงยาของหมอเมืองกว่า 25 วิธี รวมทั้งตำรับยาอีกมากมายที่แทรกอยู่ในวิธีการบำบัดรักษาของแต่ละโรค

    3 ตำรากายภาพบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา  เป็นตำรากลางที่ว่าด้วย การดูแลรักษาสุขภาพด้วยการบำบัดทางกายมากว่า 23 วิธี เช่น การนวด เอาเอ็น ดัดดึง ตอกเส้น เช็ดแหก ย่ำขาง เหน่น เข้าเฝือก ขวากซุย ลั่นม่าน ฝังดิน จอบพิษ แช่น้ำร้อนน้ำเย็น ลาบสาร สับสาร เช็ดไข่ แทงมือ บ่งก้น เผาเทียน โฮมไฟ ขูด ปัด เป่าห่า เป็นต้น

    4 ตำราพิธีกรรมบำบัด/จิตบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา  เป็นตำรากลางที่ว่าด้วย การดูแลรักษาสุขภาพทางใจ ทางสังคมและจิตวิญญาณ กว่า 35 วิธี แบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพิธีกรรมด้านการทำนายทายทัก เช่นการดูหมอดูเมื่อ กลุ่มพิธีกรรมด้านการขจัดปัดเป่า เช่นส่งเคราะห์ส่งจน กลุ่มพิธีกรรมด้านการสร้างขวัญกำลังใจ เช่นสู่ขวัญ สืบชะตา กลุ่มพิธีกรรมด้านการเจริญสติ เช่นทำสมาธิ เทศน์มหาวิบาก และกลุ่มพิธีกรรมด้านการสร้างความร่มเย็นและสิริมงคล เช่นทำบุญ สูตรถอน ขึ้นท้าวทั้งสี่ เป็นต้น

การขยายผลการวิจัยทั้งเชิงนโยบายและการนำผลไปปฏิบัติ

    เนื่องจากการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองเป็นกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการของพหุภาคีที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างมีพลวัตร โดยเฉพาะร่วมกับสำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติในขบวนการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม หรือสมัชชาสุขภาพในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ประกอบกับกระแสนิยมในภูมิปัญญาท้องถิ่นและสุขภาพแนวธรรมชาติค่อนข้างแรง ซึ่งขบวนการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง เป็นทั้งผู้มีส่วนกระทำ (Actor) และผู้มีส่วนถูกกระทำ (Receiver) จึงส่งผลกระทบเชิงนโยบายและการนำผลไปใช้ตามนโยบายได้อย่างกว้างไกลเกินกว่าที่เคยคาดคิด เช่น

    3.1 การสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองทำให้เกิดความชัดเจนเชิงระบบของภูมิปัญญาท้องถิ่นและเกิดการยอมรับในความหลากหลายของระบบการดูแลรักษาสุขภาพ ทำให้การแพทย์พื้นบ้านถูกบรรจุเป็นทางเลือกหนึ่งของระบบสุขภาพของชาติในธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขมีการปรับโครงสร้างระบบบริการสุขภาพ โดยการจัดตั้งกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกขึ้นรองรับ รวมทั้งกำหนดเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติในการนำเอาระบบการแพทย์พื้นบ้านไทยเข้าไปเป็นทางเลือกหนึ่งในสถานบริการสุขภาพของรัฐ ในทุกระดับตั้งแต่สถานีอนามัยตำบลจนถึงโรงพยาบาลระดับจังหวัด รวมทั้งสร้างกลไกขึ้นรองรับการใช้และการคุ้มครองภูมิปัญญาไทยด้วยการรับรองสิทธิ์ในการทำหน้าที่ของหมอพื้นบ้าน เพื่อเปลี่ยนหมอพื้นบ้านจากหมอเถื่อนเป็นหมอที่ถูกกฎหมายและได้รับการส่งเสริมคุ้มครองตามกฎหมาย

    3.2 ความรู้เชิงระบบและเชิงวิชาการที่เกิดขึ้นจากการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง ทำให้สถาบันการศึกษาตื่นตัวจนหลายมหาวิทยาลัยได้นำภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้านไทยไปพัฒนาเป็นหลักสูตรการศึกษาในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา โดยเฉพาะสถาบันราชภัฏเชียงรายได้จัดตั้งคณะเฉพาะทางขึ้นใหม่ คือ วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน เปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยการแพทย์พื้นบ้านล้านนาและการแพทย์ชนเผ่า ทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งในระดับโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาก็ได้นำไปจัดสอนในหลักสูตรท้องถิ่นด้วย

    3.3 การสังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง ทำให้เกิดเวทีกลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเหล่าหมอพื้นบ้านในทุกภูมิภาค รวมไปถึงหมอชนเผ่าบนพื้นที่สูงด้วย ทำให้เกิดเครือข่ายหมอพื้นบ้าน ทั้งเครือข่ายหมอเมือง เครือข่ายหมอพื้นบ้านในภูมิภาคอื่น และเครือข่ายหมอชนเผ่า ทำให้ชุมชนทั้งบนพื้นราบและบนที่สูง ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ การนำไปใช้และการสืบสานภูมิปัญญาของตนสู่คนรุ่นใหม่

 +++++++++++++++