artical

 “โรงสีข้าวชุมชน” 

            โครงการพี่เลี้ยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นอำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ และอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยนายชาญ อุทธิยะ เป็นพี่เลี้ยงหนุนเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง ได้หนุนเสริมติดตามการดำเนินงานของโครงการวิจัย “การพื้นฟูและอนุรักษ์อาหารพื้นบ้านของบ้านแป้นใต้ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง” โดยมี นางจริยา จิตใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านแป้นใต้ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการในการสร้างคุณค่า การยอมรับ และเห็นประโยชน์ของอาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ร่วมกันพื้นฟูและอนุรักษ์อาหารพื้นที่บ้านที่มาจากธรรมชาติ คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในด้านอาหารและมีความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมการอนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในที่สุด โดยโครงการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากบริษัทปูนชิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด และการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจากหนุนเสริมของพี่เลี้ยงงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

            ในการดำเนินงานวิจัย ทีมวิจัยได้ศึกษาบริบทของชุมชน ตลอดจนถึงฐานทรัพยากรอาหารในท้องถิ่น การเก็บข้อมูลในด้านต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งตัวภูมิปัญญาและชนิดของอาหารในธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน ประโยชน์ทางโภชนาการและสรรพคุณทางยา การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของอาหารชุมชนบ้านแป้นใต้ตั้งแต่อดีต –ปัจจุบัน โดยการเก็บข้อมูลอาหารในธรรมชาติ การทำปฏิทินอาหารในธรรมชาติรวมถึงการวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มของการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอาหารจากธรรมชาติ เช่น ชนิดของสัตว์บก ชนิดของสัตว์น้ำ ชนิดของสัตว์ปีก ชนิดของแมลง ชนิดของพืชพันธุ์ ศึกษาข้อมูลภูมิปัญญา ในด้านคนในชุมชนที่ทำอาหารเก่ง คนเขียนบทกวีหรือร้อง จ้อย ค่าวได้ การบันทึกรายรับรายจ่ายภายในครอบครัวแต่ละวันต่อมื้อในเรื่องอาหาร การบันทึกพฤติกรรมการกิน และการตรวจสารตกค้างในเลือด โดยนักวิชาการสาธารณสุข จากสาธารณสุขจังหวัดลำปาง พบว่าคนในชุมชนที่เข้ารับการตรวจสารพิษตกค้างในเลือด ร้อยละ 90 ของคนที่ได้รับการตรวจ 

ประกอบกับจากผลการศึกษาและสำรวจข้อมูลฐานการบริโภคภายในชุมชนพบว่าอาหารหลักของคนในชุมชนที่บริโภคตลอดทั้งปีคือ “ข้าว” ซึ่งที่ผ่านมาในกระบวนการวิจัยได้ตั้งสมมุติฐานว่าสาเหตุของสารเคมีตกค้างในเลือดอาจจะเกิดจากข้าวที่บริโภค จึงมีการนำข้าวที่ผลิตในชุมชน ส่งให้ทางจังหวัดตรวจหาสารเคมีตกค้างในเมล็ดข้าว พบว่าอยู่ในขั้นปลอดภัย แต่คำถามบางข้อในวงวิเคราะห์ว่า ข้าวที่คนในชุมชนบริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อยลง กว่าในอดีตหรือไม่ เพราะในอดีตเรากินข้าวที่ตำจากครกกระเดื่องที่ปัจจุบันเรียกว่า “ข้าวซ้อมมือ”ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่ปัจจุบันคนในชุมชนบริโภคข้าวขาวที่ผ่านการสีจากโรงสีข้าวขาวที่รับจ้างสีทั่วไป หากจะบริโภคข้าวกล้องต้องซื้อจากตลาดทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทั้งที่แต่ละบ้านก็มีการทำนาปลูกข้าวไว้บริโภคกันภายในชุมชน หลังจากโครงการวิจัยสิ้นสุดลง ทำให้คนในชุมชน นำโดยนางวริษา จิตใหญ่ ผู้ใหญ่บ้านแป้นใต้และหัวหน้าโครงการวิจัย เกิดความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการหารือเรื่องการจัดตั้งโรงสีข้าวของชุมชนที่สามารถสีข้าวได้ทั้งข้าวขาวและข้าวกล้อง โดยเริ่มจากการรับสมัครสมาชิกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 100 กว่าคน มูลค่าโรงสีราคา 200,000 บาท เป็นการระดมทุนในชุมชนจำนวน 80,000 บาท ในส่วนที่เหลือทางมูลนิธิบริษัทปูนซิเมนต์ (ลำปาง) จำกัด ได้สนับสนุนเพิ่มเติมจำนวน 120,000 บาท และทางชุมชนได้ทดลองเปิดให้คนในชุมชนนำข้าวมาทดลองสีข้าวฟรีเป็นครั้งแรกในวันที่ 13 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากจะทำให้คนในชุมชนมีข้าวกล้องเพื่อบริโภคแล้ว ยังจะมีการแปรรูปข้าวในชุมชนให้เป็นข้าวกล้องจำหน่ายตามหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นผลิตภัณฑ์ภายในชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่า ที่ได้ทั้งสุขภาพและผลผลิตทางการเกษตรได้อีกทางหนึ่ง 

            จากรูปธรรมความสำเร็จ ของโครงการ “พื้นฟูและอนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน บ้านแป้นใต้” ได้สร้างความตระหนักในการเชื่อมโยงประเด็นอาหารไปสู่ ทั้งมิติของสุภาพ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานวิจัย ชุมชนได้รู้ข้อมูลพื้นฐานของอาหารในชุมชนบ้านแป้นใต้ ตั้งแต่ อดีต –ปัจจุบัน ชุมชนสามารถนำภูมิปัญญาในด้านอาหารที่มีอยู่ในชุมชน ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ได้รู้เทคนิคในการทำอาหารแบบมืออาชีพ เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายทางอาหาร มีอาหารที่ปลอดภัย มีความมั่นคงทางอาหารโดยการพึ่งพาและมีการจัดการการผลิตภายในชุมชน โดยเฉพาะการจัดตั้ง “โรงสีข้าวกล้องชุมชน” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักในเรื่องของสุขภาพกับอาหารและข้าวที่บริโภคเข้าไป นำมาซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ปลอดภัยและได้คุณค่าทางโภชนาการอาหารและข้าวอย่างยั่งยืน

+++++++++++++++++++