artical การจัดการน้ำ

“แอร์แว” การค้นพบที่เปลี่ยนชีวิตของคนบ้านผาชัน

การค้นพบที่ยิ่งใหญ่มักเริ่มต้นมาจากความบังเอิญ ดังเช่น “นิวตัน” พบแรงโน้มถ่วงของโลกใต้ต้นแอปเปิ้ล…กระทั่งนำไปสู่การพัฒนาอีกมายหลายอย่างดังที่เห็น ๆ กันอยู่ในปัจจุบัน

คล้าย ๆ กันกับคนบ้านผาชัน ที่ค้นพบ “แอร์แว”เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ ที่ช่วยให้ระบบการสูบน้ำจากบุ่งพระละคอนมีประสิทธิ์ภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องการค้นพบดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนบ้านผาชันอย่างสิ้นเชิง

เป็นการเปลี่ยนจากการที่ไม่ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปรอตักน้ำเพื่อนำมาใช้อุปโภค – บริโภค , เด็ก ๆ ในโรงเรียนได้เรียนหนังสืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะไม่ต้องมานั่งจัดเวรกันไปตักน้ำจากบ่อมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากบ้านผาชันซึ่งตั้งอยู่ติดแม่น้ำโขงมีสภาพพื้นที่ที่เป็นหิน มีความลาดเอียงของพื้นที่สูง ทำให้กักเก็บน้ำตามธรรมชาติไม่ได้ ชาวบ้านผาชันจึงขาดแคลนน้ำในการอุปโภค – บริโภค ในช่วงหน้าแล้งของทุก ๆ ปี

ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งชุมชนเองต่างก็ช่วยกันอย่างเต็มที่  ทั้งการขุดบ่อบาดาลแต่ไม่พบแหล่งน้ำเพราะพื้นด้านล่างเป็นหิน การขุดบ่อน้ำตื้นที่แม้จะพบแหล่งน้ำอยู่บ้างแต่ก็ได้ปริมาณไม่พอกับความต้องการของชุมขน รวมไปถึง สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท หรือ รพช. เข้ามาช่วยวางระบบประปาชุมชนด้วยการทำถังน้ำขนาดใหญ่กลางหมู่บ้าน  และสูบน้ำจากบุ่งพระละคอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำโขง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมอเตอร์สูบน้ำมีกำลังไม่สูงพอที่จะสูบน้ำได้…

เมื่อคนขาด “น้ำ” ไม่ได้ กระบวนการแสวงหาแนวทางเพื่อนำน้ำจากบุ่งพระละคร ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของความลาดชัน และระยะทางจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามามารถของคนผาชันมากพอสมควร

เพราะสังเกตจึงค้นพบ

สำหรับแอร์แว หรือ ศัพท์แสงที่ชาวบ้านเรียกกันขำ ๆ ว่า “แอแวะ”  นั้น คือการปล่อยให้อากาศ “แวะ”  เข้าไปในท่อน้ำเพื่อช่วยเพิ่มแรงดัน ซึ่ง ครูกล พรมสำสี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด : กรณีบ้านผาชัน ตำบลสำโรง  อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี  บอกว่าความบังเอิญอันเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบนวัตกรรมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ชาวบ้านผาชันนามว่า นายชรินทร์ อินทร์ทอง เข้ามาร่วมในเวทีประชาคมหมู่บ้าน….ซึ่งประเด็นหารือในวันนั้นคือการช่วยมาหาคำตอบว่าจะทำอย่างไรที่จะสูบน้ำจากบุ่งพระละคอนขึ้นมาเติมถังประปาที่ รพช.มาสร้างไว้ให้ได้โดยที่เครื่องสูบน้ำไม่ต้องชำรุดเสียหาย เนื่องจากควาลาดชันของพื้นที่ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายหลายครั้ง และชาวบ้านก็สูบเงินไปกับการซ่อมบำรุงหลายพันบาท

“ก็พอดีมีชาวบ้านคนหนึ่งเข้ามาในเวทีประชาคม เล่าว่าตอนเขาสูบน้ำรดต้นไม้ เห็นสายยางขาดทำให้สายยางมันสะบัดไปมา แล้วน้ำมันก็พุ่งแรงขึ้น….แกเลยเสนอให้เจาะรูแล้วลองต่อท่อ…ทีมวิจัยก็เลยเอาไปทดลองทำ…” ครูกลกล่าว

จากความบังเอิญอันเนื่องมาจากสายยางขาด…หากไม่ใช่คนที่สังเกต ย่อมไม่นำไปสู่การไขปมปัญหาในท้ายที่สุด…และจากข้อเสนอดังกล่าว ครูกลและทีมวิจัยก็ไม่ได้ละเลย กลับนำเอามาทดสอบทดลองอยู่หลายครั้ง…

“ซึ่งครั้งแรก ๆ เจาะรูเดียวแล้วก็ทดลองสูบก็ไม่ได้ผล น้ำไม่ขึ้น …จึงลองเจาะ 2 รู ดูเหมือนจะเริ่มได้ผล เราก็ลองขยับระยะห่างระหว่างท่อแอร์แวทั้งสองอัน….ทดลองอยู่หลายครั้ง เพราะมันต้องให้ได้ระยะของมัน  ห่างเกินไป หรือ ใกล้กันเกินไปก็สูบน้ำไม่ขึ้น ระยะห่างที่ลงตัวที่สุดคือ ตัวท่อแอร์แวยาว 1 เมตร และระยะห่างระหว่างท่อทั้ง 2 อันอยู่ที่ 30  เซนติเมตร”

ทุกวันนี้ คนผาชันมีน้ำใช้ทุกครอบครัว ซึ่ง “น้ำ” จะมาจาก 2 ส่วนคือ น้ำจากฝายหรือระบบประปาภูเขาที่จะถูกปล่อยลงมาในช่วงฤดูฝน อีกส่วนจะเป็นน้ำจากประปาชุมชน คือน้ำที่สูบขึ้นมาจากบุ่งพระละคอน ด้วยเครื่องสูบน้ำที่ถูกเสริมสมรรถนะด้วย “แอร์แว” อันเป็นนวัตกรรมการสูบน้ำซึ่งมาจากการค้นพบของชาวบ้านผาชัน

อันเป็นการค้นพบที่เปลี่ยนชีวิตของคนบ้านผาชันอย่างสิ้นเชิง