KNOWLEGE

แนวทางลดปัญหาเด็กเสพยา

อาจารย์ฝ่ายปกครองเผย เด็กติดยา ไม่ได้มีสาเหตุมาจากครอบครัวขาดความอบอุ่น  ชี้เด็กส่วนใหญ่  พ่อแม่เลี้ยงดูดีเกินไป  อีกทั้งยังซื้อง่ายขายคล่อง บางรายซื้อขายกันข้างรั้วโรงเรียน   ด้านผู้ใหญ่บ้านออกกฏเหล็ก หากพบใครเสพ อาจถูกโดดเดียว  บางรายไม่เชื่อฟังอาจถึงขั้นขับออกนอกหมู่บ้าน 

  นายนพรัตน์  อ่อนคำ อาจารย์ 2 ระดับ 7 หัวหน้าฝ่ายปกครองในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดชียงใหม่ กล่าวในเวทีสัมมนา “การจัดการเรียนการสอนหลักสูตรท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน”  เกี่ยวกับผลดำเนินการวิจัยโครงการ แนวทางการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดของนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและ ชุมชน ว่า  จากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นในการดำเนินการวิจัยพบว่า สาเหตุหลักที่ชักนำให้เด็กหันไปเสพยานั้นเนื่องจาก เด็กมีความอยากรู้ อยากลอง ประกอบกับถูกเพื่อนชักชวน  และเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง จะถูกพ่อแม่เลี้ยงดูเป็นอย่างดี  

                “เด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ยากจนแร้นแค้น  บางรายพ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ขับ งานการก็ไม่ต้องทำ หวังให้ลูกเรียนหนังสืออย่างเดียว เพราะจะได้ไม่ต้องลำบากเหมือนตัวเอง แต่ท้ายที่สุดเพราะความที่ว่างกันมาก ๆ  จึงทำให้เด็กเกาะกลุ่มกันเที่ยวเล่น  หนักเข้าก็เลยชวนกันไปติดยา ”  หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว 

                หัวหน้าฝ่ายปกครองยังกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านั้นที่โรงเรียนแห่งนี้ไม่เคยมีเด็กที่มีพฤติกรรมเสพยา แม้โรงเรียนจะตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อหรือเป็นทางผ่านของเส้นทางลำเลียงสาเสพติดประเภทยาบ้าก็ตาม กระทั่งโรงเรียนมีนโยบายรับเด็กจากที่อื่นเข้ามาเรียน ปัญหาเรื่องยาเสพติดจึงตามมา

                “เริ่มจากปี พ.ศ. 2540 มีเด็กพฤติกรรมเสพยาย้ายมาจากที่อื่น  คณะครูก็มานั่งประชุมันว่าจะเอาอย่างไร ครั้นจะไม่รับไว้เข้าเรียนก็คงไม่ได้ จึงตัดสินใจรับเข้ามาเรียน  แต่ก็ควบคุมดูย่างใกล้ชิดมาตลอด  จนกระทั่งระหว่างปี 2542 – 2543 จำนวนเด็กเสพยาเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  พัฒนาการในการซื้อขายยาของเด็ก ๆ เร็วมากจนเราตามไม่ทัน”  นักวิจัยสรุปทิ้งท้ายก่อนอธิบายเพิ่มว่า                

                ประกอบกับยาเสพติดต่างซื้อง่ายขายคล่อง เพราะผู้ค้ามาเปิดตลาดอยู่ข้างรั้วโรงเรียน ขณะที่ตัวเด็กเองแม้จะได้เงินมาโรงเรียนไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่ก็จะรวบรวมเงินกัน และนำไปซื้อยามาเสพ

                นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการระดมสมองในการแก้ปัญหาในท้ายที่สุด  ครูในโรงเรียนจึงจับมือกับตำรวจท้องที่ และตำรวจตระเวนชายแดน  รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านในการแก้ปัญหายาเสพติดที่กำลังลุกลามเข้าไปในรั้วโรงเรียน

                “ตอนแรกที่คิดจะแก้ปัญหานี้  เราคิดถึงเรื่องของการปราบปรามเพียงอย่างเดียว  ผมเคยตะครุบจับเด็กหน้าเสาธง พาเข้าไปคุยให้ห้องฝ่ายปกครอง เรียกผู้ปกครองมารับรู้ปัญหา  บางครั้งระหว่างนั่งทำงานอยู่ในห้องก็จะมีชาวบ้านมาตะโกนบอกข้างรั้วว่าเด็กไปจับกลุ่มเสพยากันตรงไหน  ก็ออกไปจับ นำกลับเข้ามาในโรงเรียน  หรือไม่ก็นำเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้  ไปเข้าค่าย นิมนต์พระมาเทศน์   แต่กิจกรรมทั้งหมดล้วนมาจากความคิดครูทั้งสิ้น ไม่เคยถามเด็ก ๆ เลยว่าต้องการอะไร” 

อาจารย์นพรัตน์อธิบายต่อว่า  การเอาเด็กไปเข้าค่ายนั้นไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เมื่อกลับมาเรียนหนังสือ ก็ยังคงหันกลับมาเสพยาเหมือนเดิม  และรูปแบบในการหลบซ่อน หรือแอบเสพ หรือพฤติกรรมของเด็กก็เปลี่ยน ไปจากเดิม 

                “จึงเปลี่ยนความคิด ทำอย่างไรจึงจะให้แก้ปัญหาได้จริง ๆ  เพราะช่วงแรกที่เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ทีมที่ทำงานร่วมกันก็เปลี่ยนมาแล้วหลายรอบ  หลายคนถอย เพราะกำลังเป็นเล่นกับสิ่งที่มองไม่เห็น โดยเฉพาะเรื่องของการปราบปราม…จากนั้นจึงเปลี่ยนแนวคิด หันมาเน้นกิจกรรมด้านอื่น ๆ ให้มากขึ้น   เข้าชุมชนให้มากขึ้น เน้นการสร้างความเข้าใจ ประสานงานร่วมกันระหว่างครู ผู้ปกครอง และโรงเรียนให้มากขึ้น “

                ทั้งหมดเป็นกิจกรรมในโครงการวิจัย   แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของนักเรียน โดยการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและชุมชน

                “เราเน้นกิจกรรมที่เป็นความต้องการของเด็ก ๆ มากขึ้น  เริ่มจากสิ่งที่เขาชอบ เขาอยากทำ ขณะเดียวกันครูก็ต้องร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นด้วย อย่างเช่น ช่วงบอลโลกที่ผ่านมา ผมกับครูคนอื่น ๆ ต้องลงไปเตะบอลกับเด็ก ๆ  พอเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งก็เห็นความเปลี่ยนแปลง และคิดว่าวิธีการที่ทำอยู่นั้นได้ผล เราเดินมาถูกทางแล้ว เพราะสถิติของเด็กเสพยาลดจำนวนลงไปมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว ”  อาจารย์นพรัตน์กล่าว

                สำหรับกิจกรรมด้านอื่น ๆ นั้น อาจารย์นพรัตน์เปิดเผยว่า ทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วยผู้ใหญ่บ้าน และครูคนอื่น ๆ จะลงชุมชนเพื่อไปเยี่ยมบ้านเด็กกลุ่มเสี่ยง พบปะพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้น  และอธิบายถึงแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเวทีให้ผู้ปกครองของเด็กแต่ละคนมาเแลกเปลี่ยนแนวคิด และวิธีการดูแลเด็ก

                ด้านนายบุญทา แสนคำอิน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งมีพื้นที่ติดกับโรงเรียนเปิดเผยว่า ได้ประชุมลูกบ้านเพื่อหารือในการแก้ปัญหาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้าที่กำลังระบาดหนักในหมู่บ้านและลุกลามเข้าไปในโรงเรียนว่า ตอนนี้ได้ร่างกฎร่วมกับชุมชนเพื่อจะประกาศใช้เป็นการภายใน  ซึ่งกฎที่กำหนดขึ้นมานี้ น่าจะเป็นการลดการระบาดของยาเสพติดได้ในระดับหนึ่ง

                “เป็นกฎที่คิดร่วมกันกับคนทั้งหมู่บ้าน  เป็นต้นว่า หากพบใครเสพ ถ้าจับได้ครั้งแรกอาจมีการว่ากล่าวตักเตือน ครั้งต่อไปจะใช้วิธีการโดดเดียวห้ามคนในหมู่บ้านพูดคุยด้วย  หากยังไม่เลิกและพบว่าเสพอีกจะตัดชื่อออกจากหมู่บ้าน” 

+++++++++++