CBT.- การท่องเที่ยวโดยชุมชน

เหลียวหลังแลหน้า…การท่องเที่ยวโดยชุมชน : ชุมชนได้ประโยชน์จริงหรือ?

พจนา   สวนศรี

คำถามคลาสสิกของการพัฒนาโดยรัฐ  ไม่ว่าจะยุคเผด็จการ ประชาธิปไตย หรือประชานิยม คือ “พัฒนาแล้วประชาชนได้อะไร?”

เรื่องการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน  แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงาน  สร้างรายได้มากมายมหาศาล  ระหว่างปี 2540 ถึง 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 7.2 ล้านคนเป็น 13.8 ล้านคน  จากรายได้ 220,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น เป็น 487,100 ล้านบาท แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ล้วนแต่ถูกตั้งคำถามว่า “รายได้ที่ได้มาคุ้มค่ากับสิ่งที่สูญเสียไปหรือไม่” 

                นับตั้งแต่แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (2540-2544)  มีการปรับตัวของการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา  เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้มีส่วนร่วมรับผลประโยชน์จากการพัฒนานั้นด้วย  ได้เปิดพื้นที่ให้กับคนท้องถิ่นเข้ามากำหนดทิศทางการพัฒนาด้วยตนเอง  คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่  แต่ต้องเจาะลึกลงไปด้วยว่า กระบวนการมีส่วนร่วมได้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาตนเอง   บนพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมของตนเองหรือไม่

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism – CBT) เกิดขึ้นท่ามกลางการแสวงหาทางเลือกใหม่ของการท่องเที่ยวที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว  ในฐานะเจ้าของผู้บริหารงานท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในชุมชนด้วยตนเอง  ในปี 2537  ซึ่งในระยะแรกททท.และผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างก็ยังขาดความเชื่อมั่นว่าชุมชนจะทำได้หรือไม่   นอกจากความไม่มั่นใจในศักยภาพของชุมชนแล้วก็ยังไม่มั่นใจอีกว่าจะมีนักท่องเที่ยวสนใจการท่องเที่ยวที่ลงลึกไปในวิถีชีวิตชุมชนหรือไม่

                เมื่อการท่องเที่ยวโดยชุมชน กลายเป็นปรากฎการณ์ของทางเลือกใหม่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว  ที่ในระยะแรกวงการท่องเที่ยวไม่ยอมรับที่จะใช้ชื่อนี้   คำตอบคือชื่อมันขายไม่ออก  ผิดกับคำว่า “Ecotourism” (เริ่มเข้ามาในประเทศไทยประมาณ ปี 2537 แต่เริ่มเป็นที่แพร่หลายประมาณปี 2540) หรือ “Cultural Tourism” หรือแม้แต่สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว  ซึ่งรับภาระกิจเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยวก็ยังหันไปส่งเสริมเรื่อง “Homestay” (2546)  เพราะจับต้องได้ง่ายกว่า  และชื่อก็อาจจะ “ขาย” ได้มากกว่า

                ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร  สำคัญที่ “เนื้อแท้” ของการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นได้ “สะท้อนคุณค่า” อะไร  และมีการบริหารจัดการอย่างไรให้มีคุณภาพ  และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่ม/องค์กรชุมชน   ซึ่งตรงนี้เป็นจุดอ่อนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบท  เพราะนักส่งเสริมขาดความเข้าใจในเนื้อหา  กระบวนการทำงานทั้งกับชุมชนท้องถิ่นและอ่านตลาดการท่องเที่ยวไม่ออก  จึงพบเสมอ ๆ ว่า  การส่งเสริมการท่องเที่ยวในชนบทโดยหน่วยงานของรัฐ  มุ่งตัวเลขเชิงปริมาณ  มีการสำรวจล่าสุดโดยสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน  พบว่ามีชุมชน 460 แห่งที่มีการทำท่องเที่ยว  แต่มีชุมชนประมาณ 50 แห่งที่มีการดำเนินการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง  (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, กันยายน 2550)

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

                ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน  ผลงานที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นการสร้างรูปแบบการท่องเที่ยว  การปักป้าย และการให้มาตรฐาน ซึ่งการทำงานโดยปราศจากพื้นฐานความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวและความเข้าใจเรื่องชุมชน  แทนที่จะเป็นประโยชน์กับชุมชนกลับกลายเป็นการครอบงำ ทำให้ชุมชนอ่อนแอ  และอาจจะทำลายชุมชนไปในที่สุด 

                ปรากฎการณ์ของผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวโดยที่ขาดความพร้อมเพราะ “ผู้ใหญ่ขอมา”หรือ “ต้องเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” เป็นอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้การทำงานกับชุมชนเป็นการทำงานเพื่อ “คนนอก” ไม่ใช่เพื่อชุมชน  จนชุมชนเองก็เกิดความเคยชินกับการ “ทำให้” หรือ “ทำให้เสร็จ” มากกว่าทำเพราะความเข้าใจและเห็นคุณค่าและความสำคัญของการท่องเที่ยวที่จะเกิดประโยชน์หรืออาจเกิดผลกระทบหากชุมชนเองไม่เข้มแข็งหรือขาดการเตรียมความพร้อมคนและชุมชน

                การให้รางวัลไม่ว่าจะเป็น “Tourism Award” หรือให้มาตรฐาน “Homestay” แม้ว่าเจตนารมย์ของการสร้างรางวัลหรือมาตรฐานต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจชุมชนที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับหนึ่ง   สำหรับชุมชนที่มีความพร้อมและได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวหรือมาตรฐานโฮมสเตย์  การรับรองคุณภาพย่อมเสริมสร้างความภาคภูมิใจ  ให้กำลังใจและช่วยประชาสัมพันธ์ชุมชนให้เป็นที่รู้จัก 

อย่างไรก็ตาม  ต้องยอมรับว่ามีชุมชนหลายแห่งที่ขาดความพร้อมแต่กลับได้รางวัลหรือได้มาตรฐาน  ซึ่งแทนที่การให้การรับรองต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือในส่งเสริมความภาคภูมิใจ  ชุมชนบางแห่งสะท้อนว่าสิ่งที่ตนเองได้รับเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำที่ “กินไม่ได้”  เพราะไม่ได้ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด  หรือเกิดเป็นค่านิยมที่ถูกตีตราจากภายนอกที่คนในเองไม่ได้มีค่านิยมนั้นหรืออาจมีก็เฉพาะแต่ผู้นำ  เพราะคนในชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการท่องเที่ยวนั้นอย่างแท้จริง

                การแยกบทบาทของ 2 หน่วยงาน โดยให้สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว (สพท.) รับผิดชอบเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและพัฒนาบริการการท่องเที่ยว   ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รับผิดชอบเรื่องการตลาด   เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่สร้างความสับสนให้กับชุมชน  คำว่า “สินค้าพร้อมขาย” กับ “สินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน” ของชุมชน  เพราะคำว่าสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของ สพท. กลับยังไม่สินค้าพร้อมขายสำหรับความหมายของททท.

                ผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษการท่องเที่ยวโดยชุมชนยังล้มลุกคลุกคลาน  แต่ไม่ใช่จะมองไม่เห็นความหวังเสียทีเดียว   มีชุมชนตัวอย่างหลายแห่งที่ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน  เช่น บ้านห้วยฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน  บ้านแม่กำปอง จ.เชียงใหม่  บ้านลีเล็ด จ.สุราษฎร์ธานี มีความชัดเจนในเป้าหมายของการทำท่องเที่ยวโดยชุมชน  มีกระบวนการทำงานที่คนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม  มีการเตรียมความพร้อมชุมชนในการคัดเลือกจุดเด่น  ค้นหาเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น การเตรียมการด้านการให้บริการทั้งที่พัก อาหาร ยานพาหนะ มัคคุเทศก์ และระบบรักษาความปลอดภัย  การออกแบบโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น  ได้เข้าใจชุมชน เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับทรัพยากรธรรมชาติ   

                กลุ่มชุมชนและองค์กรพี่เลี้ยงไม่ได้ทำงานเพียงแค่ได้ทำอะไร  แต่ได้ลงลึกในกระบวนการทำงานจนเกิดบทเรียนและประสบการณ์ว่าทำอย่างไร      รวมทั้งค้นหาว่านักท่องเที่ยวที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชนคือใคร  และจะไปถึงนักท่องเที่ยวเหล่านั้นได้อย่างไร  ต่อเนื่องจนถึงต้องร่วมมือกับใครจึงจะทำให้การท่องเที่ยวต่อเนื่องและยั่งยืน

                การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ที่ทำด้วยความตั้งใจเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นเจ้าของ  มีส่วนร่วมในการพัฒนา  ทำให้คนในชุมชนได้ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตน  ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต  ได้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมรวมทั้งเผยแพร่ให้คนต่างวัฒนธรรมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้   เป็นงานพัฒนาคน พัฒนาชุมชน  มีกระบวนการทำงานที่ครบเครื่องทั้งมีการเตรียมการ มีการประสานงาน มีการดำเนินงาน และติดตามประเมินผล   การที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยชุมชนในการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการทำงาน 

                กระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน  เป็นงานที่ต้องการพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชน  ที่ผ่านมาองค์กรพัฒนาเอกชน  เช่น  โครงการท่องเที่ยวเพื่อชีวิตและธรรมชาติ (REST) หรืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำบทบาทนี้  จึงเป็นคำตอบหนึ่งว่า การส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ไม่ใช่แค่การทำให้เกิดกลุ่มหรือกิจกรรมท่องเที่ยว  แต่ต้องมองให้ออกตั้งแต่เริ่มต้นว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชนคืออะไร  ทำอย่างไรจึงจะใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนได้  และจะเชื่อมโยงการตลาดที่เหมาะสมได้อย่างไร  ทำอย่างไรที่จะสร้างองค์กรชุมชนให้เข้มแข็ง  และทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนได้สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าของบ้านกับแขกผู้มาเยือน  ชุมชนก็มีความสุข  ผู้มาเยือนก็สนุกสนานเพลิดเพลิน  เรียนรู้  และได้รับประสบการณ์ตรง

                ย้อนกลับมาสู่คำถามเริ่มต้น  “การท่องเที่ยวโดยชุมชน  ชุมชนได้ประโยชน์จริงหรือ?” เป็นคำถามที่อยากให้แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน  หน่วยงานสนับสนุน  และองค์กรพี่เลี้ยงได้คิดและทบทวน  การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว   แต่มันคือกระบวนการทำงานในการสร้างคน พัฒนาชุมชน  และสร้างมิติใหม่ของการท่องเที่ยวที่สร้างการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม  เป็นงานที่ประเมินได้ทั้งมูลค่าและคุณค่า  ผลกระทบเชิงบวกและผลกระทบเชิงลบ 

                คำถามต่อมาคือ“ชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมหรือไม่?”  เป็นเรื่องที่นักส่งเสริมจะต้องมองเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วม  และทำให้การมีส่วนร่วมมีหลายมิติมากขึ้น  มากกว่าการมาร่วมรับรู้หรือรับฟัง  แต่สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ  มีพันธะสัญญาและความผูกพันที่จะทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน  และร่วมรับประโยชน์หรือร่วมรับผิดชอบในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

                คำถามสุดท้ายคือ “กระบวนการมีส่วนร่วมได้ทำให้ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาตนเอง   บนพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรมของตนเองหรือไม่” เรื่องท่องเที่ยวไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่อยาก  ถ้าคำถาม 2 คำถามได้สร้างกระบวนการทำงานที่ละเอียดอ่อน และทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน  การพัฒนาบนพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน  เป็นข้อพึงระวังของ “คนนอก” ที่ต้องไม่ให้ทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนมีคำตอบสำเร็จรูป  แต่ละชุมชนควรจะมีเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์เป็นของตนเอง 

                ณ วันนี้แนวคิดและกระบวนการทำงานเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน  ไม่ใช่เรื่องใหม่  มีงานรูปธรรมที่จับต้องได้  มีบทเรียนและประสบการณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวให้ได้เรียนรู้   ชุมชนเรียนรู้และปรับตัวเร็วเมื่อเขารู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไร   ผู้ที่ปรับตัวช้าคือหน่วยงานของรัฐ  เพราะคนของรัฐขาดความรู้ ความเข้าใจ และความรักในงานที่ตนรับผิดชอบ นโยบายขาดความต่อเนื่อง  น่าจะมีการปฏิรูปองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้มีความชัดเจนในภาระกิจ  มีแนวคิดและกระบวนการทำงาน  ที่ต้องผสานทั้งศาสตร์และศิลป์เรื่องการท่องเที่ยวและกระบวนการทำงานกับชุมชนให้เกิดขึ้นให้ได้  อันจะเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยเกิดภาพลักษณ์ใหม่ที่ให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจท้องถิ่นและคนในท้องถิ่นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวอย่างมีชีวิตชีวา.