artical โครงการวิจัย-2547

อนุรักษ์หอยขาวที่แหลมกลัด พลังร่วมของชาวบ้านและ อบต.

ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด  เป็นพื้นที่ติดชายแดนไทย–กัมพูชา มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกมานอกทะเลฝั่งอ่าวไทยด้านทิศตะวันตกส่วนด้านทิศตะวันออกอยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัดที่ทอดยาวไปจดสุดชายแดน

และด้วยสภาพพื้นที่ที่อยู่ติดกับทะเลและภูเขา จึงอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันหลากหลาย บนเทือกเขามีป่าไม้ที่แน่นหนา  และสัตว์ป่าชุกชุม  ขณะที่ในทะเลก็มีกุ้ง หอย  ปู ปลา สัตว์หายากหลากพันธุ์อันมีคุณค่าต่อวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวชายหาดที่ยาวกว่า 22 กิโลเมตร

แต่สมบัติจากทะเลที่ขึ้นชื่อ ณ บ้านแห่งนี้ก็คงหนีไม่พ้น “หอยขาว”  สัตว์น้ำเล็ก ๆ  ที่ชาวบ้านนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ หอยขาวทอดกรอบ หอยขาวอบสมุนไพร  ซึ่งปัจจุบัน ได้รับการยกย่องให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่สามารถสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับคนในตำบลแห่งนี้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

เมื่อมีความต้องการ “หอยขาว”  เพื่อไปผลิตสินค้าป้อนตลาดในปริมาณมาก รูปแบบ และกรรมวิธีการเก็บหอยจึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อสนองตอบ เริ่มมีการใช้เครื่องมือผิดประเภทในการเก็บ ทั้งอุปกรณ์คราดหอย  รถแมคโครมาตักหอยที่หมกตัวอยู่กับผืนทรายซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมัน  และคนที่เข้ามาเก็บส่วนใหญ่เป็นนายทุนซึ่งจ้างคนจากภายนอกข้ามาเก็บ

“เวลาเก็บพวกเขาจะใช้เครื่องมือที่ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเอา หรือไม่เอาตัวไหน  ซึ่งจะต่างจากชาวบ้านที่ใช้เพียงสองมือเปล่า และอุปกรณ์ง่าย ๆ อีกไม่กี่ชิ้น   แต่กลุ่มของนายทุนจากด้านนอกจะเข้ามาเก็บโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “คราด”  ซึ่งเวลาเก็บแต่ละครั้ง  หอยตัวเล็กตัวน้อยมันก็ติดมาทั้งหมด บางที่ใช้เรือซึ่งเป็นอุปกรณ์เฉพาะสำหรับลากโดยตรงมาลากเอาหอยบนหาด  ชาวบ้านก็เห็น แต่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ไม่มีใครสนใจ เพราะถือว่าไม่ใช่ปัญหาของตัว…” 

ไพวัลย์ สิอิ้น ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัดถ่ายทอดวิธีการเก็บหอยขาวที่ผิดวิธีจนกระทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่หอยขาวลดปริมาณลงไปจากเดิม

แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเก็บหอยที่ผิดวิธีก็ดำเนินอยู่ได้ในเวลาที่ไม่นานนัก เมื่อคนกลุ่มหนึ่งในชุมชนแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด  ได้ลุกขึ้นมาหาแนวทางการอนุรักษ์ร่วมกัน…โดยทีมงานเริ่มต้นเดินสายพูดคุยกับชาวบ้าน  กระตุ้นเตือน สร้างแรงจูงใจให้ชาวบ้านได้รู้สึกไปในทิศทางเดี่ยวกันว่า “หอยขาว” ที่ฝังตัวอยู่บนผืนทรายที่ทอดตัวเป็นแนวยาวกว่า 22 กิโลเมตรนั้นเป็นทรัพย์สมบัติของทุกคน

“พยายามเน้นให้ชาวบ้านรู้จักหวงแหนทรัพยากร …ก็คือการสร้างเจ้าของ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของหาดทรายแห่งนี้  พอหวงแล้วก็รู้จักวิธีการในการอนุรักษ์ … เช่นเรามีอะไร  คุณค่าของมันเป็นอย่างไร   และถ้าไม่ร่วมกันดูแลรักษา ผลกระทบมันจะเกิดขึ้นอย่างไร จากนั้นก็มานำเสนอเรื่องวิธีการใช้ ใช้อย่างไรจึงจะเกิดคุณค่ามากที่สุด  และเมื่อครบขั้นตอน  ก็จะมาถึงประเด็นสำคัญคือ มันมีบางอย่างเริ่มหายไปแล้วนะ พอพูดแบบนี้ชาวบ้านก็เอะใจ…เขารู้สึกว่ามันมีอะไรหายไปจริง ๆ  และเราจะทำอย่างไรกับของที่เรามีอยู่” 

วิธีการดังกล่าว อยู่ภายใต้กระบวนการวิจัย โครงการวิจัย “ศึกษาสถานการณ์เพื่อหาแนวทางอนุรักษ์หอยขาวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแหลมกลัด อ.เมือง จ.ตราด”   โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค   และมีประธานองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด  ไพวัลย์  สีอิ้น เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยร่วมกับทีมจากองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด    

“พอชาวบ้านรู้แนวคิดแบบนี้ก็จะมีการบอกต่อ ๆ กันไป….ผมพยายามเดินไปตามบ้านก็เพื่อจะตั้งคำถามว่า…เครื่องมือที่ใช้กันอยู่เราน่าจะห้ามกันหรือไม่   ส่วนใหญ่ก็จะบอกว่าวิธีเดิมมันไม่ได้แล้ว….พอมีแนวร่วมก็เริ่มมีความมั่นใจในกฏ เพราะการออกกฏ กติกา ก็เป็นบทบาทหนึ่งของ อบต…สามารถออกข้อบัญญัติของท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อมาปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้  ซึ่งเป็นกฏหมายเฉพาะพื้นที่   แต่ท้ายที่สุดต้องถามชาวบ้าน  ซึ่งต้องให้ออกมาเป็นสัญญาประชาคม เป็นกติกาที่คนทั้งหมู่บ้านสามาระบุได้…”

สำหรับกติกาที่ประธานองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัดกล่าวถึงคือ  การห้ามใช้เครื่องมือบางประเภทเก็บหอย   หรือแม้แต่การขอความร่วมมือจากคนในชุมชนให้เป็นหูเป็นตา กรณีพบเห็นคนภายนอกเข้ามาเก็บหอยผิดวิธี

“ปัจจุบันเรามีชาวบ้านที่มีอาชีพเก็บหอยโดยตรง  ซึ่งพวกเขาจะต้องลงทะเลทุกวันคอยเป็นหูเป็นตา  คอยแนะนำให้ให้ข้อมูลแก่คนข้างนอก ทั่งเรื่องที่คนมั้งหมู่บ้านกำลังอนุรักษ์หอย การออกกฏห้ามเก็บหอยผิดไปจากรูปแบบที่ชาวบ้านร่วมกันกำหนด”   ประธานอบต. กล่าว 

ประธาน อบต.แหลมกลัดยังเล่าอีกว่า นอกเหนือจากการพูดคุยสร้างความเข้าใจ   และพยามให้ชาวบ้านได้ตระหนักเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ จนกระทั้งเข้ามาเป็นแนวร่วมในการกระจายแนวคิดออกไปสู่คนนอกชุมชนแล้วนั้น  กิจกรรมที่คนทั้งชุมชนคิดร่วมกันคือ “ประเพณีงมหอย”  ซึ่งจะมีขึ้นทุกวันที่ 1 และ 2 เดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัดเป็นผู้รับผิดชอบจัดงาน

ภายในงานจะมีส่วนของนิทรรศการงานวิจัย ซึ่งทีมวิจัยได้นำผลงานจากการที่ได้เก็บข้อมูลจากชาวบ้านในพื้นที่ ภาพถ่ายจากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัย และความรู้ด้านทรัพยากรทางทะเลต่างๆ มาจัดแสดง ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม  ทำให้มองเห็นแนวโน้มการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐกับการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเองมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังแสดงให้เห็นว่าความพยายาม และพลังของประชาชนมีผลหากแสดงออกอย่างถูกต้อง มีหลักฐานและเหตุผลน่าเชื่อถือที่สามารถอธิบายได้จริง …

“เมื่อเราทำงาน  เราต้องเอาข้อมูลไปแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดเวลา ประเพณีงมหอย ก็ถือว่าเป็นเวทีกลางที่หลาย ๆ หน่วยงานจะเอาข้อมูลมานำเสนอ  และแลกเปลี่ยนกับชาวบ้าน   ซึ่งกิจกรรมนี้ต้องการเน้นให้คนในชุมชนหันมาสนใจ ตระหนักและเล็งเห็นในคุณค่าของทรัพยากรชนิดนี้”

และสิ่งสำคัญที่สุดที่หัวหน้าโครงการวิจัยได้สะท้อนออกมานั่นก็คือ ความสัมพันธ์ของทีมวิจัยซึ่งส่วนเป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 

“หากคนในพื้นบ้านไม่ต่อต้านเรา เห็นด้วยกับเรา ทุกย่างมันก็จะดำเนินไปได้  เพราะฉะนั้นเราก็จะพยายามสื่อให้คนพื้นบ้านรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ปัจจุบันก็เกือบทั้งตำบลที่รู้ว่าเราศึกษาข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อหาแนวทางในการนุรักษ์  แต่ก็มีคำถามว่าทำตรงนั้นหรือยัง เมื่อไหร่จะดำเนินการตามนั้น…แม้ว่าเราจะบอกเรื่องกฏ กติกาที่เป็นตัวหนังสือ แต่มันก็ยังต้องมีสัญญาประชาคม ว่าตรงนั้นเหมาะ ตรงนี้ไม่เหมาะ เป็นการดูแลกับแบบธรรมชาติ…..จริง ๆ ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่มี สกว. ช่วยหนุน  ช่วยคิดเรื่องกระบวนการและแนวทาง มันก็ไม่มีคนมาทำงานแบบนี้ตรง ๆ   การเก็บข้อมูลเราก็คงทำแบบไม่ได้เก็บ ไม่ได้บันทึก ไม่ได้สืบค้นอะไรกันจริง ๆ จัง” 

————