หนุนชาวบ้านทำบัญชี ขยายตลาด – พัฒนากลุ่มอาชีพ
“จุดอ่อน” ประการหนึ่งของการสนับสนุนให้ชาวบ้านร่วมกลุ่มพัฒนาอาชีพ และไม่สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ชุมชนได้คือ มาจากไม่มีการทำ “บัญชี” อย่างเป็นระบบนั้นเอง
เพราะจากการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลด้านการเงินในแต่ละกลุ่มอาชีพของ อ.จุฑามาศ พันธุ์ณรงค์ อาจารย์โปรแกรมบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาราชภัฎเชียงใหม่ ภายใต้โครงการวิจัย บูรณาการการจัดการศึกษาเพื่อท้องถิ่นในการเพิ่มศักยภาพของเกษตรกรโดยการนำวิธีการทางบัญชีเพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาคพบว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านประสบโดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ได้รับการหนุนเสริมจากภาครัฐ คือ นอกจากสินค้าที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่จะไม่มีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐานแล้วนั้น ปัญหาที่พบอีกประการคือ การขาดการบริหารจัดการด้านการเงินบัญชีที่เป็นระบบ จึงส่งผงให้ขยายตลาดไม่ได้เพราะ ขาดการคำนวณต้นทุนที่ถูกต้อง
“พอเห็นปัญหาก็เกิดแนวความคิดขึ้นมาว่า น่าจะมีการนำเอาความรู้ด้านบัญชีมาหนุนให้ชาวบ้านนำมาใช้ในการจัดระบบการบริหารจัดการภายในกลุ่ม อีกอย่างหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ผลิตบัณฑิตวิชาเอกบัญชี ซึ่งผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางด้านทฤษฎีเป็นหลัก แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ต่างมุ่งหวังที่จะทำงานด้านบัญชี ในภาครัฐและเอกชนเสียส่วนใหญ่ เช่น ธนาคาร สำนักงานตรวจสอบบัญชี สำนักงานบัญชี เอเมื่อเป้าของนักศึกษาออกมาในลักษณะนี้ก็พบว่า ที่ผ่านมามีอัตราการว่างงานสูง ทำให้มีการเปลี่ยนไปทำงานด้านอื่น ซึ่งไม่ได้ใช้วิชาที่ได้เรียนมาให้เป็นประโยชน์” อ.จุฑามาศ กล่าวถึงปัญหาที่นักศึกษาโปรแกรมบัญชีส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่
และจากปัญหาดังกล่าวนั้นเอง จึงทำให้เกิดโครงการวิจัยขึ้นเพื่อให้นักศึกษาโปรแกรมบัญชี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาราชภัฎเชียงใหม่ ได้มีส่วนในการนำความรู้จากการศึกษาไปร่วมสร้างความตระหนักให้ชุมชนเห็นถึงความสำคัญของบัญชีและนำวิธีการทางบัญชีไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ทราบการเคลื่อนไหวของเงิน รู้จักบันทึกรายรับ รายจ่าย รู้จักการจดบันทึกต้นทุนในการประกอบอาชีพต่าง ๆ ว่ามีต้นทุนอะไรบ้าง และทำให้ชาวบ้านสามารถแยกประเภทค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและการลงทุนประกอบอาชีพได้
“ซึ่งเมื่อชาวบ้านมีความรู้ความเข้าใจและมีการจดบันทึกบัญชีอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ก็จะสามารถช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีวินัยทางการเงิน รู้จักวิธีการบริหารการเงินการบัญชีของตน รู้จักการใช้จ่ายอย่างประหยัด และรู้จักการออม รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนประกอบอาชีพ สามารถสร้างรายได้อันเป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร ให้สามารถชำระหนี้ได้ และพึ่งตนเองได้ในที่สุด” หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวอีกครั้ง
สำหรับกระบวนการนั้น หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายกว่า เน้นการบูรณาการสามส่วนคือ อาจารย์ ชุมชน และตัวนักศึกษาที่ถูกคัดเลือก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาที่อยู่ห้องเดียวกันเท่านั้น แต่จะเลือกมาหลากหลายชั้นปี หลายภาค เช่น ภาคจันทร์-ศุกร์ ภาคปกติ และภาคบ่าย
“หมายถึงมันจะไม่ใช่การบูรณาการแค่ครั้งเดียว แต่เป็นบูรณาการที่ซ้อนบูรณาการ หลังจากนั้นเราก็เลือกชุมชนออกมา 5 กลุ่มที่เขาเต็มใจ และพร้อมที่จะพัฒนาและแก้ปัญหาของตนเอง ซึ่งพอได้ชุมชนที่จะใช้เป็นตัวตั้ง เราก็ประกาศรับสมัครนักศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาอยู่ 33 คนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการกับเรา โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ที่อยากกลับไปช่วยเหลือชุมชนของตนเอง เราก็ได้มา 10 คน จาก 5 กลุ่ม….”
หลังได้กลุ่มเป้าหมายก็มีการวิเคราะห์ปัญหาที่แต่ละชุมชนกำลังเผชิญอยู่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดทำบัญชีที่เหมาะสมตามรูปแบบที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน
“ไม่ได้บังคับว่ารูปแบบมันจะต้องออกมาเป็นอย่างไร สำหรับตัวนักศึกษานั้น ถ้าใช้ภาษาของ สกว. เขาบอกว่า “ถูกสะกิดให้เกาเอง” หมายถึงให้เขารู้จักพัฒนาความคิดทางบัญชีด้วยตัวเอง มีการตรวจสอบบัญชีได้ ถ่ายทอดความรู้ได้ ซึ่งพอถึงจุด ๆ หนึ่งทุกคนจะงงว่าถ่ายทอดได้อย่างไร นั่นเป็นเพราะเขาทำจริง เขาเอาไปทำต่อได้เลย แล้วก็ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ มีเทคนิคการบริหารงานอย่างอื่นได้ดี มีเครือข่ายที่จะสร้างกับแต่ละสถาบัน”
หลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้น แนวทางดังกล่าวถูกขยายผลต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นเช่น ธุรกิจชุมชนที่ชาวบ้านสังกัด ส่วนตัวนักศึกษานั้นก็มีโอกาสถ่ายทอดความรู้สู่นักศึกษาสถาบันอื่นในจังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนอื่น ๆ
ผลจากการดำเนินงานในครั้งนี้คือ ชาวบ้านเริ่มมีความรู้ด้านบัญชี มีการบันทึกอย่างสม่ำเสมอ การบันทึกจะทำให้ทราบต้นทุน ซึ่งสามารถนำไปคำนวณต้นทุน พอคำนวณต้นทุนได้ ก็สามารถที่จะคำนวณถึงราคาขาย รู้ว่าราคาขายก็จะทราบถึงประมาณการกำไรได้ในอนาคต พอมีข้อมูลทางบัญชี ก็สามารถที่จะเขียนแผนธุรกิจไปยื่นขอสินเชื่อได้
ซึ่งเห็นได้ว่า หากชาวบ้านมีความรู้ด้าน “บัญชี” ก็จะสามารถทำอะไรอย่างอื่นได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ชาวบ้านรู้ต้นทุน รู้จักคำนวณค่าทางการตลาด ซึ่งนำไปสู่การประกอบธุรกิจกาค้าที่มีผลกำไรอย่างสม่ำเสมอ
# # # # # # # # # # # # # # # # #