สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ : ผมโตมากับงานวิจัย
จากเด็กชายที่มีความฝันในอยากเป็นรั้วของชาติ เพื่อมาทดแทนอารมณ์ความรู้สึกในวัยเด็กที่อยากแสดงออกถึงความรักแผ่นดินบ้านเกิด รักแผ่นดินไทย รักประเทศไทย มิใช่เป็นเพียงส่วนเกิน ตัวถ่วง ตัวปัญหา ที่สร้างภัยต่อชาติแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม มีความยีนดีและพร้อมที่จะตอบแทนคุณแผ่นดินทุกยามเมื่อมีโอกาส การรับใช้ชาติโดยการเป็นทหารเป็นสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้เป็นรูปธรรมมากที่สุดที่จะแสดงออกมา ตามความคิดในวัยมัธยม มิได้เพียงแค่คิดแต่มุ่งหาทางเพื่อไปสู่เป้าหมายให้ได้
เมื่อจบมัธยมต้นจากบ้านเกิดซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น มุ่งหน้าสู่เมืองพร้อมสมัครเรียน รด.หรือนักศึกษาวิชาทหาร สภาพในเมืองมิทำให้รู้สึกแปลกแยกเพราะคาดคะเนไว้ตั้งแต่ต้น กอปรกับได้รับรู้รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับในเมืองบ้างทำให้มิได้มีปัญหาในการปรับตัวเท่าใดนัก
ในชั้นเรียนที่ต้องยู่ร่วมกับเพื่อนที่จะมาจากหลากหลายพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่เป็นในพื้นที่ราบที่มีความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าไม่ชัดเจนมาก เมื่อประกาศตัวเองในชั้นเรียนว่าเป็นคนปกาเกอะญอ จึงกลายเป็นคนที่แปลกแยก (Alienation) ขึ้นมาทันที ท่าทีท่าทางของเพื่อนร่วมชั้น ของครู เริ่มเปลี่ยน มีคำถามถาถมมามากขึ้น ส่วนใหญ่จากมายาคติที่เพื่อนร่วมชั้นและครูได้รับรู้จากประสบการณ์เดิม (Pre perception) ไม่โทษเพื่อน ไม่โทษครู
“สิ่งที่ว่ามาทั้งหมดนี้ รับรู้มาจากไหน?” เริ่มถามคืนบ้าง
“ได้ยินเขาเล่ามา!! ได้อ่านมา ได้ดูจากสื่อ” คำตอบที่ได้จากเพื่อน เริ่มเกิดคำถามขึ้นในใจเกี่ยวกับที่มาของข้อมูลจนทำให้เพื่อนในห้อต่างเชื่อและคิดว่าคนปกาเกอะญอเป็นไปแบบนั้น เช่น เรื่องการทำไร่เลื่อนลอยทำลายป่า การค้ายา ความสกปรก และการล้อเลียงพูดไทยที่ไร้ตัวสะกด คำถามในใจยังมาอีก การรับรู้ของโลกภายนอก คนปกาเกอะญอเป็นเช่นนี้เองหรือ มีเพียงภาพเหล่านี้เท่านั้นหรือ คำถามยังคงเกิดขึ้น ถ้าจะให้อคติทางชาติพันธุ์ (Prejudice) เหล่านี้ลดลงควรมีแนวทางอย่างไร?
เมื่อได้ยินงานวิจัยท้องถิ่นจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ครั้งแรก ยังไม่เข้าใจ ยังมองไม่ออกว่าจะเป็นประโยชน์อะไรกับชุมชน แต่พอเริ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนกับทีมพัฒนาโครงการ พบเห็นโอกาสในกระบวนการวิจัยท้องถิ่นว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้การพัฒนาตนเอง ชุมชนได้ จึงได้ตัดสินใจทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเพื่อรื้อฟื้นวิถีชุมชนปกาเกอะญอ ณ บ้านเกิดของตนเอง เริ่มตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์ร่วมกับชุมชน การวางแผนโครงการ การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการทบทวนโครงการ ได้เห็นศักยภาพของชุมชน ได้เห็นประโยชน์จากกระบวนการวิจัยที่ทำให้คนในชุมชนได้ร่วมกันลงมือทำกิจกรรมที่ตนเองรู้สึกอยากทำจริงๆ ได้แก่ การสอนภาษาปกาเกอะญอแก่เยาวชนในชุมชน การเรียนรู้เรื่อง ธา หรือบทกวี การเรียนรู้การจักสาน การทอผ้า จากนั้นทดลองขยายผลในโรงเรียน จากกระบวนการได้เห็นผลผลิตที่เป็นชุดภูมิปัญญาของชุมชน เป็นข้อมูลองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ มีความภาคภูมิใจในเผ่าพันธุ์ จนนำไปสู่ความมั่นใจ ทำให้เกิดความตระหนักในการต้องสืบสาน สืบทอดและเผยแพร่ โดยใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมที่มีอยู่นำไปสู่การสร้างความเข้าใจแก่โลกภายนอกให้รู้จักคนปกาเกอะญอในภาพอีกมิติหนึ่งของคนปกาเกอะญอที่มิใช่มีเพียงภาพในแง่ลบอย่างเดียว
จากตรงนี้ทำให้เห็นภาพภารกิจในการทำงานเพื่อเผ่าพันธุ์ในการนำวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชนเผ่าเดินทางสื่อสารทำความรู้จักผู้คนมากขึ้น ด้วยความเชื่อมั่นว่า “ การพูดคุยเป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจ ความเข้าใจเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพ” แล้วทำอย่างไร? นี่เป็นโจทย์ใหม่ การเรียนรู้การตั้งโจทย์จากประสบการณ์กระบวนการวิจัย ทำให้การตั้งโจทย์ ตั้งคำถาม คิดเชิงกระบวนการมากขึ้น
เริ่มจากการเรียนรู้ ทำความเข้าใจความเป็นตนเอง ความเป็นตัวตนของเผ่าพันธุ์ก่อนเป็นอันดับแรก(Who am I) ในกระบวนการค้นหารากเหง้าตนเองนี้ ได้นำใช้กระบวนคิดและกระบนการที่ได้จากประสบการณ์ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมา ยิ่งเรียนรู้ยิ่งรู้ว่ามีองค์ความรู้มากมายที่มีคุณค่า มีองค์ความรู้มากมายที่กำลังจะสูญหาย และบางอย่างก็สูญหายไปแล้ว ทำให้เรียนรู้ว่างานวิจัยมิใช่สิ่งที่ยาก แท้ที่จริงแล้ววิถีชาวบ้าน วิถีชุมชนเองมันเป็นกระบวนวิจัยอยู่แล้ว เพราะเขาทำในสิ่งที่เป็นความต้องการพื้นฐานที่เพื่อสนองวิถีของตนเอง ก่อนทำชุมชนจะอะไรอย่าหนึ่งได้สังเกตสถานการณ์ ว่าเกิดอะไรขึ้น เช่น ผลผลิตข้าวในนาได้ผลน้อยลง ชุมชนได้ตั้งข้อสันนิษฐาน ถึงความผิดปกติอะไรบางอย่างเกิดขึ้น จากนั้นได้มีการแลกเปลี่ยนซักถามกันภายในชุมชน และนอกชุมชน ถามประสบการณ์เดิมที่เคยผ่านมาของคนในชุมชน จากนั้นได้มีการลองใช้ประสบการณ์เดิมให้ชุมชนในการแก้ไขปัญหา เช่น การเปลี่ยนพันธุ์ข้าวใหม่ การใส่ปุ๋ยขี้ค้างคาว เป็นต้น เมื่อทำแล้วชาวบ้านจะติดตามดูว่าผลเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่ได้ผลอย่างที่หวัง ชาวบ้านก็พยายามหาทางอื่นๆ จนกว่าจะตอบสนองความต้องการได้ นี่มิใช่กระบวนกาวิจัยหรือ อีกความเชื่อมั่นหนึ่งที่เกิดคือเชื่อมั่นในชาวบ้าน แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคน
จากความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชน ทำให้เริ่มเปลี่ยนวิธีคิดในการทำงานแบบกระบวนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเน้นที่การสร้างพื้นที่ สร้างบรรยากาศให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ มากกว่ามุ่งนี้แต่ผลผลิตของงานอย่างเดียว ให้ได้กระบวนการ ได้คนและได้งาน จากกระบวนการวิจัยท้องถิ่นทำให้เห็นพลังของกระบวนการมีส่วนร่วมที่นำไปสู่ความเข้มแข็งของคนในชุมชน แต่ไม่ใช่เพียงความยั่งยืนของโครงการ ความเข้มแข็งของชุมชนหมายถึง การที่ชุมชนมีศักยภาพ(Capacity) มีอำนาจ (Power) ในการตัดสินใจจะเลือกรับและเลือกปฎิเสธการนำเข้าได้อย่างเท่าทัน โดยการให้โอกาสชุมชนได้ลองผิดบ้าง (Learning with mistakes) ในเมื่อการพัฒนาที่ผ่านมาก็ล้มเหลวมาไม่น้อย ถ้าชาวบ้านจะผิดอีกสักครั้งแล้วทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการที่ทำไปแล้วผิดพลาด แล้วลองถูกบ้าง (Leaning with the corrections) แล้วมาทบทวนกระบวนการที่ทำลงไปร่วมกัน
เมื่อได้มีโอกาสร่วมเรียนรู้กับชุมชนมากขึ้น ได้เรียนรู้เครื่องมือของชุมชน กระบวนการของชุมชนมากขึ้นเช่นกัน ในสังคมชุมชนปกาเกอะญอเองยังคงมีควันหลงเรื่องมายาคติทางชาติพันธุ์ตกค้าง มิใช้เพียงจากคนภายนอกเท่านั้น กับคนภายในเองกลับพบว่า เยาวชนชนเผ่าหลายคนรู้สึกไม่มีความมั่นใจในการเป็นเผ่าพันธุ์ปกาเกอะญอ เพราะถูกทำให้รู้สึกว่าการเป็นคนชนเผ่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทย นี่เป็นอีกโจทย์ที่ท้าทายถึงกระบวนการสร้างความมั่นใจกลับคืนสู่คนรุ่นใหม่ ถึงตอนนี้แนวคิดการเป็นรั้วของชาติเริ่มเลือนรางจากความตั้งใจ กลายเป็นรั้วทางวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์
กระบวนการวิจัยชาวบ้านช่วยให้การค้นคว้าข้อมูลของชนเผ่าตนเองได้ลื่นไหลขึ้น นำข้อมูลมาแปลงเป็นบทเพลง ตัวหนังสือ งานวิชาการแบบชาวบ้าน ค้นหาเครื่องมือสื่อสารที่เป็นทุนเดิมทางวัฒนธรรมของชุมชนสู่กระบวนการไปเผยแพร่เพื่อเกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยน สร้างพื้นที่ความเข้าใจคนภายนอก(External Space) และสร้างพื้นที่ความภูมิใจ (Self Esteem) และความมั่นใจ (Self confident) ให้กับคนภายใน (Internal Space) โดยการถ่ายทอด เอื้อพื้นที่และเป็นแรงบัลดาลใจคนรุ่นใหม่ ดังภาษิตปกาเกอะญอที่ว่า “ต้นไม้แก่ ทิ้งเมล็ด ตอไม้ตาย ทิ้งหน่อ”
ในยุคปัจจุบันแม้สิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าจะเริ่มเป็นกระแส โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวที่นำเอาศิลปะวิถีวัฒนธรรมคนชนเผ่าไปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการขายอย่างมากมาย ในมุมหนึ่งเหมือนว่าเกิดการยอมรับวิถีวัฒนธรรมของคนชนเผ่าว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แต่ถ้ามองลึกๆจะพบว่าคนที่นำผลิตภัณฑ์ชนเผ่าไปแปรรูปจำหน่ายมุ่งหวังประโยชน์เพื่อการค้า(Sale) แต่ไม่ได้มีความเข้าใจในคุณค่าทางจิตใจ (Soul) ของผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมนั้นๆ ไม่ได้ใส่ใจและไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง สืบทอดคุณค่า ความหมายแต่ประการใด ทำให้ขาดการต่อยอดการสร้างสรรค์คุณค่าทางจิตใจ มุ่งแต่สร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า ถือเป็นการฆ่าความคิดสร้างสรรค์คุณค่าทางวัฒนธรรม (Cultural Soul curatives thinking killing) จึงเกิดโจทย์ใหม่ เกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาตามแนวภูมิวัฒนธรรมชุมชนควรเป็นอย่างไร กระบวนการ(Process)ควรเป็นอย่างไร รูปแบบ(Form)ควรเป็นอย่างไร เนื้อหา(Context) ควรเป็นอย่างไร ผมยังคงต้องเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัยทั้งที่เป็นการวิจัยแบบชาวบ้านและการวิจัยแบบทางการ
กระบวนการวิจัยท้องถิ่นทำให้มั่นใจว่าในชุมชนยังคงศรัทธาในคุณค่าความหมายของวัฒนธรรมตนเองอยู่ ทำให้ผมไม่ลอยจากชุมชนมากนัก เชื่อมั่นกับชุมชน(แต่ไม่ทุกที่ ไม่ทุกคน) รักภูมิใจในเผ่าพันธุ์ และมั่นใจที่จะยกระดับต่อยอดภูมิปัญญาชนเผ่าผสมผสานกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้รับใช้สังคมตามบริบทฐานภูมิวัฒนธรรมของชนเผ่า
#################