การจัดการน้ำ

“สืบชะตาแม่น้ำมางน้ำว้า” กุศโลบายในการดูแลแหล่งน้ำ

อภิสิทธิ์ ลัมยศ

ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดน่าน

              ในยามที่เห็นว่าแม่น้ำกำลังเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือแม้แต่ปลาลดลง ชาวบ้านก็จะจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำ ชาวบ้านเชื่อว่าการสืบชะตาหมายถึง การต่ออายุให้ยืนยาวออกไป

           ความเชื่อของพี่น้องอำเภอบ่อเกลือ ในเรื่องการต่อชะตามีหลายอย่าง และนิยมทำในหลายกรณี ชาวบ้านบางกลุ่มที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำชาวบ้านก็นิยมจัดพิธีสืบชะตาให้กับแม่น้ำเพื่อต่ออายุ และความเป็นสิริมงคลจะได้เกิดขึ้นกับแม่น้ำรวมทั้งผู้คนในชุมชนไปด้วยการสืบชะตาให้กับแม่น้ำจึงเป็นการแสดงความศรัทธา ความเคารพ และเหนือสิ่งอื่นใดคือการร่วมกันแสดงออกถึงความห่วงใยต่อแม่น้ำ โดยพิธีสืบชะตาแม่น้ำนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นการต่อชีวิตให้กับแม่น้ำ และเป็นการขอขมาต่อแม่น้ำ สายน้ำที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งมวลรวมถึงผู้คนทั้งสองฝั่งแม่น้ำและเป็นการกระตุ้นเตือนให้คนที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำมีจิตสำนึกช่วยกันรักษาสายน้ำแห่งนี้ให้ยืนยาวอย่างยั่งยืน เพราะลำน้ำว้าและลำน้ามาง เปรียบเสมือนแม่คนที่ 2 ของคนบ่อเกลือ

           พิธีสิบชะตาแม่น้ำ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน ซึ่งมีรากฐานจากพิธีสืบชะตาบ้านเมือง และชะตาคน อันเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าและความหมาย นอกจากเป็นการเรียกขวัญกำลังใจกลับคืนมาแล้ว ยังเป็นการใช้กุศโลบดังพระราชดำรัส ในหลวง ร. 9  ที่ทรงพระราชทานแก่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและคณะ ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙ ว่า  “หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูกเพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ “

          ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวสอดคล้องกับวิถีชุมชน ก่อให้เกิดความร่วมมือ ความสามัคคี เกื้อกูล ช่วยกันแก้ไขปัญหา และเกิดความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลแม่น้ำ ส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาแม่น้ำ และประการสำคัญที่สุด เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความยั่งยืน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยส่วนรวม

         การสืบชะตาแม่น้ำ หรือการเลี้ยงผีขุนน้ำ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันในการรักษาทรัพยากรน้ำ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรของเรานี้  ควรจะเกิดจากความร่วมมือของทุกส่วน ทั้งชาวบ้าน หน่วยงานต่างๆภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมทั้งการร่วมมือของคนทั้งสายน้ำ จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถป้องกันและบรรเทาภัยธรรมชาติได้

       ในอนาคตการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เราจะต้องดูแลทั้งระบบ ดิน น้ำ ป่า และย้อนดูประวัติศาสตร์ชุมชน ถึงการจัดการระบบลุ่มน้ำ การจัดการระบบเหมืองฝายที่มีภูมิปัญญาเป็นต้นทุนที่มีคุณค่าของชาวบ้านในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน เราต้องรื้อระบบเก่าและฟื้นภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นรากเหง้าแท้จริงของชาวบ้านขึ้นมา จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง

       งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการวิจัยบ้าน ผาสุข ต.ภูฟ้า โครงการวิจัยการจัดการทรัพยากรบ้านนากอก โครงการวิจัยการจัดการ”ปลาน้ำว้า” เพื่อความมั่นคงทางอาหาร บ้านนาบง โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูลำน้ามาง และโครงการวิจัย ดงพญาโมเดล ที่ว่าด้วยการจัดการทรัพยากรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จึงได้จัดให้มีกิจกรรมวิจัย “การใช้องค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ” เพื่อเป็นแนวทางการเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและใช้องค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อสร้างพลังท้องถิ่นในการเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าเอนกอนันต์ต่อทุกชีวิตและสรรพสิ่ง เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ทั้งคนและธรรมชาติ

+++++++++++