สถานการณ์น้ำของไทยมีแนวโน้มเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ
ผลการศึกษาวิจัยสถานการณ์น้ำ พบว่า ไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง และเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ สาเหตุจากความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ และยังพบว่าคุณภาพน้ำมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง จากการระบายน้ำเสียจากชุมชน โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีน้ำเสียมากที่สุด
รศ.ดร.ทวนทัน กิจไพศาลสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยสถานการณ์น้ำของประเทศไทยในอดีตถึงปัจจุบันระหว่าง ปี พ.ศ. 2549 – 2558 ในโครงการรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำของประเทศไทย : ทรัพยากรน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ว่า จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลสภาพอุทกวิทยาของ 25 ลุ่มน้ำหลักของไทย ได้แก่ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำท่า น้ำบาดาล แหล่งน้ำต้นทุน สภาพปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง คุณภาพน้ำ และการใช้น้ำในภาคครัวเรือน บริการ อุตสาหกรรม และเกษตรกรรม รวมถึงดัชนีชี้วัดที่สำคัญ ทำให้สรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำของไทย พบว่า มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ เนื่องมาจากความต้องการน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และมีความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งน้ำฝนและน้ำท่ามากขึ้น จึงต้องการการศึกษาวิจัยและเครื่องมือใหม่ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมแก้ไขปัญหาน้ำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์
การศึกษาดังกล่าวทำให้เรียนรู้ถึงสถานการณ์น้ำตั้งแต่เริ่มต้นก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดเหตุการณ์วิกฤติน้ำว่าเป็นอย่างไร เช่น เหตุการณ์อุทกภัยในปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย พบว่ามีปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าสูงสุด ทำให้มีปริมาณน้ำมากถึง 147,110 ล้าน ลบ.ม. จุดเริ่มต้นเกิดจากมีพายุใหญ่เข้ามาถึง 3 ลูกในช่วงต้นปีถึงกลางปี นอกจากนี้ยังมีภัยแล้งเช่นในปี พ.ศ. 2557 – 2558 เป็นปีที่มีปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าต่ำที่สุด โดยมีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 93,537 ลบ.ม. และ 77,905 ล้าน ลบ.ม.ตามลำดับ และทำให้รู้ถึงพื้นที่เสี่ยงภัยวิกฤติน้ำในระดับต่างๆ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยภาครัฐและผู้บริหารชุมชนต่างๆ เห็นถึงวิกฤติน้ำ สาเหตุ ความถี่การเกิด ระดับความรุนแรงหรือความเสียหาย สามารถนำไปประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ว่า มีโอกาสหรือเป็นไปได้ที่จะเกิดวิกฤติน้ำมากน้อยเพียงใด เช่นฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมหรือฝนตกน้อยเกิดภัยแล้งในระดับไหน และใช้เป็นข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการน้ำ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับพื้นที่เหล่านั้นต่อไป
นอกจากนี้ยังพบว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำและสถานการณ์น้ำมีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาและแตกต่างกันตามพื้นที่ แม้แต่เป็นปีเดียวกันแต่ในช่วงเดือนต่างกันก็มีผลต่างกัน ตัวอย่างเช่นในบางพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง แต่พอเข้าฤดูฝนสถานการณ์น้ำก็เปลี่ยนเป็นน้ำท่วมได้ ในส่วนของปริมาณการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆ พบว่า ภาคเกษตรมีการใช้น้ำมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณการใช้น้ำทั้งหมด พื้นที่เกษตรที่อยู่ในเขตชลประทานมีประมาณ 29 ล้านไร่ ขณะที่พื้นที่เกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานมีมากกว่า 4 เท่าหรือประมาณ 120 ล้านไร่ ส่วนภาคบริการมีการใช้น้ำน้อยแต่สร้างรายได้และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น การท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังพบว่า ภาคการใช้น้ำในระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม มีสัดส่วนการใช้น้ำร้อยละ 17-18 มากกว่าปริมาณการใช้น้ำในภาคครัวเรือนหรือเพื่อการอุปโภคบริโภค ทั้งนี้ ผลการศึกษาข้อมูลปริมาณการใช้น้ำในช่วง 10 ปี พบว่าปริมาณการใช้น้ำในภาคเกษตรมีแนวโน้มมากขึ้น ลุ่มน้ำที่มีปริมาณการใช้น้ำต่อปีในภาคเกษตรโดยค่าเฉลี่ยมากที่สุด 3 ลำดับแรกได้แก่ ลุ่มน้ำมูล 18,800 ล้านลบ.ม. , ลุ่มน้ำชี 13,300 ล้านลบ.ม. และลุ่มน้ำเจ้าพระยา 10,200 ล้านลบ.ม.
ด้านคุณภาพน้ำพบว่า โดยภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง เนื่องจากการระบายน้ำเสียจากชุมชน และการชะหน้าดินที่มีปุ๋ยประเภทสารเคมีตกค้างจากการเกษตรและปศุสัตว์ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาน้ำเน่าเสียที่ผ่านมา เกิดจากชุมชน จากการพัฒนา และการเพิ่มขึ้นของประชากร โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำ ส่วนใหญ่จะระบายน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมไม่เพียงพอรองรับต่อการขยายตัวของชุมชน ซึ่งผลการศึกษาสภาพของแหล่งน้ำ พบว่า แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีร้อยละ 29 พอใช้ร้อยละ 49 และเสื่อมโทรมร้อยละ 22 โดยแหล่งน้ำภาคใต้มีคุณภาพน้ำดีกว่าภาคอื่นๆ และจังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีคุณภาพน้ำดีที่สุด ส่วนภาคกลางมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมมากกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีน้ำเสียมากที่สุด
สำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำรุนแรง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและทำนาที่ใช้น้ำมาก พบว่า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเป็นพื้นที่ที่ปริมาณฝนตกน้อยกว่าปีละ 1,000 มิลลิเมตร ขาดแคลนแหล่งเก็บกักน้ำประเภทอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่เป็นดินที่มีการระบายน้ำดีมาก สภาพดินไม่อุ้มน้ำ ทำให้เก็บกักน้ำไม่ดี เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก และมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี เช่น จังหวัดแพร่ สุโขทัย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เป็นต้น ส่วนพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งได้ระดับหนึ่ง เช่น ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และบางพื้นที่ที่มีปริมาณฝนมากทำให้มีปัญหาภัยแล้งน้อย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมนั้นมีปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วม เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นควรต้องมีมาตรการอื่นในการพัฒนาแหล่งน้ำ เช่นระบบแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำในฤดูฝนและใช้น้ำในฤดูแล้ง ช่วยบรรเทาสภาพปัญหาน้ำในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันแนวทางดังกล่าวได้ถูกกำหนดลงในแผนบริหารจัดการน้ำของชาติ
รศ.ดร.ทวนทัน กล่าวว่า “ หากเราสามารถประเมินความเสี่ยงวิกฤติน้ำได้ก่อนล่วงหน้าจะช่วยลดความเสียหายลงได้มาก ดังนั้น การศึกษาสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องเหมาะสม ถือเป็นงานวิจัยที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อสังคมและประเทศ เพราะสถานการณ์น้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์น้ำในอดีต ปัจจุบันและอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะแตกต่างกันมาก จึงต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุก 3 – 5 ปี เพื่อให้ทันกับสถานการณ์และนำมาพัฒนาปรับปรุงและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการน้ำต่อไป”
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำของประเทศไทยมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงทำให้ทราบถึงสถานการณ์น้ำจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง ยังทำให้ทราบว่าสถานการณ์วิกฤติน้ำของแต่ละพื้นที่มีระดับความเสี่ยงภัยที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับน้อย ปานกลาง และมาก รวมทั้งผลการศึกษานี้จะช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยภาครัฐและผู้บริหารชุมชนต่างๆ สามารถนำไปประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และใช้เป็นข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางการจัดการน้ำเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับพื้นที่เหล่านั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยนี้เป็นเพียงการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีที่บอกถึงสถานการณ์น้ำของไทยว่ามีวิกฤติน้ำเกิดขึ้นทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง มีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในเวลาและพื้นที่ แต่ไม่สามารถนำมาประเมินแนวโน้มในอนาคต เนื่องจากความรู้และเทคโนโลยีที่อยู่ใช้ในปัจจุบันไม่สามารถประเมินสถานการณ์น้ำล่วงหน้าด้วยความถูกต้องในระดับที่มีความน่าเชื่อถือยอมรับได้ ด้วยข้อจำกัดคือไม่สามารถประเมินแนวโน้มของสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำฝนและน้ำท่าในเวลาล่วงหน้า
+++++