KNOWLEGE people

ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง : ผู้ริเริ่ม  “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”

                                                                                                           

“คำถามคือเวลาลงชุมชน เราเห็นผลของงานวิจัยจากส่วนกลางทีเป็นประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ น้อยมาก  พอไม่เห็นก็มาคุยกัน ทำอย่างไรจะให้งานวิจัยมันมีประโยชน์กับชุมชนจริง ๆ  เราก็วางฐานงานวิจัยในแบบใหม่ก็คือ ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำวิจัยในลักษณะที่มี Action”

ข้างต้นคือข้อสังเกตสำคัญที่ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง  ผู้ริเริ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ตั้งขึ้นระหว่างการลงพื้นที่ เพื่อชักชวนชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงการผลิตทางการเกษตรรูปใหม่ กระทั่งนำมาสู่การก่อเกิดของ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ที่ปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 3  ซึ่งกว่า 2 ทศวรรษผ่านไป มีงานวิจัยที่ดำเนินโดยชาวบ้านเกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 4,000  โครงการ สร้างนักวิจัยมากกว่า 31,000 คน และพบว่ากระบวนการที่เกิดในแต่ละพื้นที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคน ทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาและค้นหาทางออกจากปัญหาได้ด้วยตัวเอง  ขณะเดียวกันงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิปัญญาเดิมกับความรู้สมัยใหม่และสถานการณ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี  

วันนี้ Admin  จะพาย้อนไปที่จุดเริ่มต้น เพื่อที่จะก้าวต่อไปในทศวรรษที่ 3 ที่การเดินทางอาจจะไม่เหมือนเดิม

———–

อาจารย์เคยพูดว่า ตอนนั้นเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ฝั่งวิชาการมีงานวิจัยเยอะมาก ผลงานความรู้ที่มีอยู่น่าจะช่วยชุมชนได้ แต่ปรากฏว่าพบน้อยมาก  

อาจต้องเล่าย้อนไปไกลอีกหน่อย  ก่อนหน้านั้นผมอยู่ที่ส่วนกลาง พบว่างานวิจัยเกษตร หรืออุตสาหกรรมมันก็แก้ปัญหาได้เป็นเรื่อง ๆ เพราะงานพวกนั้นมี user (ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย)  เขาเข้ามาให้โจทย์และเราก็ให้นักวิจัยไปทำ  มันก็แก้ปัญหาได้เป็นเรื่อง ๆ  แต่ว่าพอเข้าไปดูตามชุมชนไม่เห็นร่องรอยของงานเหล่านี้ ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน รวมทั้งงานวัจัยของคนอื่น ๆ ที่เข้าไปทำ ก็ไม่มี

ตอนนั้นตั้งใจไปดูอะไร

ตอนนั้นมีหัวข้ออยู่ในใจคือเรื่อง การปรับปรุงการผลิตทางการเกษตรรูปใหม่  ๆ จะเป็นอย่างไร  ก็มีความคิดว่าจะลองชวนชาวบ้านทำ เพราะคิดว่าเรามีคำตอบเยอะแยะ  และน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ก็ไปดูว่าที่ไหนจะเหมาะ  เราเอาเทคโนโลยีไปก่อน คำถามสำคัญก็คือว่างานวิจัยที่มีอยู่เป็นร้อยเป็นพันเรื่อง เวลาเข้าไปอยู่ในชุมชน มันไม่เห็นผล หรือแทบจะไม่เห็นแม้แต่ร่องรอยของมันเลยแม้แต่นิดเดียว ชาวบ้านก็ดำเนินชีวิตไปตามปกติ ไม่ว่าเป็นเรื่องการจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย หรือเรื่องอะไรต่อมิอะไรอีกหลายเรื่องที่งานวิจัยสนับสนุนอยู่ มันไม่เห็นในชุมชนแม่แต่เรื่องเดียว ไปหลายที่  เพราะเจตนาก็คือว่าจะไปดูว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วจะทำอะไรกับชุมชนได้บ้าง แล้วมันหาไม่เจอ  

พอไม่เห็นก็มาคุยกัน ทำอย่างไรจะให้งานวิจัยมันมีประโยชน์กับชุมชน มันก็จะมีรูปแบบงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานอยู่แล้วคือ  PAR  เราก็วางฐานงานวิจัยในแบบใหม่ก็คือ ถ้าอย่างนั้นก็ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ทำวิจัยในลักษณะที่มี Action คือ การทดลอง ก็ยังติดว่าโจทย์มันไปจากเรา บางเรื่องน่าจะทำแบบนี้ เพียงแต่ดึงชุมชนเข้ามาร่วมและลองปฏิบัติการดู เพราะฉะนั้นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในช่วงแรก ๆ ก็จะเป็นรูปแบบ par โดยมีนักวิชาการจากข้างนอกที่มีบทบาทสูงเวลาเข้าชุมชน โจทย์ที่ขึ้นก็เป็นความคิดเห็นจากตัวนักวิชาการว่าน่าจะทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ หรือเรื่องอะไรบ้าง ก็ไปชวนชุมชนทำ และมันก็เป็นโครงการที่ให้ทุน เพราะตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่ามันมีอะไรดีกว่านี้มันก็ขยับไปอีกก้าวหนึ่ง ก็คือการดึงเอาชุมชนเข้ามามาส่วนในงานวิจัย ตั้งแต่ตั้งโจทย์ มันก็ยังดีกว่าตรงที่ว่าโจทย์ไปจากนักวิชาการ แล้วเขาไปเก็บข้อมูล หรือให้ชาวบ้านช่วยเก็บให้หน่อย

นี่คือที่มาว่าทำยังไงจะให้งานวิจัยเข้าถึง และเป็นประโยชน์กับชุมชน

ใช่ ตอนนั้น ตอนที่ลงชุมชน เราก็คิดกันในพื้นที่ แล้วก็กลับมาคิดกันที่คณะเกษตรฯ  (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)  เอาผู้รู้มาสองสามคน มาช่วยกันคิด ตอนนั้นระเบียบวิธีที่เรารู้จัก คือ PAR เราก็เอารูปแบบนั้นมาใช้ มีผม ท่านอาจารย์อาวรณ์ (รองศาสตราจารย์ ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ที่ได้สำทับว่า “วิธีการที่เราใช้อยู่มันใหญ่เกินกว่าที่ชุมชนจะเอามาใช้ได้ ตั้งแต่วิธีการตั้งโจทย์ วิธีการหาคำตอบ หมายถึงวิธีการที่นักวิชาการใช้อยู่มันไม่สามารถใช้กับชาวบ้านได้  เพราะโจทย์ของชาวบ้านอาจจะมากจากการตั้งวงเล็ก ๆ คุยกัน ปัญหาก็เป็นปัญหาที่เห็น ๆ กันอยู่ อาจจะออกมาเป็นโจทย์เล็ก ๆ ในชุมชน ที่นี้นักวิชาการมักจะตั้งโจทย์ใหญ่ ๆ  ก็ลองให้ทุนไป มันก็มาหลาย ๆ โครงการ จากนั้นก็พยายามลงลึกไปเรื่อย ๆ จากปี หรือ 2 ปีแรกก็จะเริ่มเห็นสัดส่วนของโจทย์ที่ชุมชนคิดเองมากขึ้น อาจจะเป็นโจทย์ประเภทที่นักวิชาการไม่ค่อยสนใจ หรือเป็นโจทย์พื้น ๆ  ตรงนั้นเราก็เริ่มเห็นว่าโจทย์ดี ๆ มันมาจากไหน จากนั้น งานชาวบ้านก็เริ่มโผล่ออกมาเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะเราไปพื้นที่บ่อยขึ้น เราไปคุยกับชาวบ้านเยอะขึ้น  เพราะไม่เคยพอใจกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว ผมว่ามันต้องมีอะไรดีกว่านี้ เราก็หาไปเรื่อย ๆ  แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้รอ เราก็ให้ทุนนักวิชาการทำงานอยู่  แล้วมันก็ค้นพบ

สมัยนั้นเราไปสร้างความมั่นใจ ให้ชาวบ้านได้อย่างไร เพราะมันยังมีความเชื่อฝั่งลึกว่า ชาวบ้านจะทำวิจัยได้เหรอ

เราพบตั้งแต่ตอนแรกเลยว่าไม่ต้องใช้คำว่าวิจัยก็ได้ แล้วก็ไปคุยกันว่า ปัญหามันมีอะไรบ้างที่อยากจะลองแก้กันดูมั๊ย ลองเช็คดูซิว่าใครรู้อะไรบ้าง แทบจะไม่ต้องพูดคำว่าข้อมูลออกมาด้วยซ้ำ  — เช่นเรื่องเด็กติดยา ติดกี่คน ทำไมถึงติด มีใครติดบ้าง ใครรู้ นั่นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเรียนรู้ว่าหน้าที่พี่เลี้ยง ไม่ต้องไปคิดแทน เพียงแค่ตั้งคำถาม แล้วคำถามก็จะนำไปสู่แผนงาน

และเราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า “ชาวบ้าน” ทำวิจัยได้

เรายังไม่คาดหวังว่าชาวบ้านจะทำได้หรือไม่ได้ แต่ต่อมาเราก็พบว่าชาวบ้านสามารถเป็นนักวิจัยได้  บ้านสามขานี่เป็นการค้นพบว่า โครงการแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเขาไม่มีทุนเดิมอยู่แล้ว แล้วหนานชาญหรือชาวบ้านที่นั่นเขาก็ผ่านการทำงานกันมาค่อนข้างหนัก  เพียงแต่เข้ามาเจอวิธีแบบที่เรียกว่า “งานวิจัย” ที่ไปตรงจริต และเข้าใจว่าสามารถแก้ปัญหาให้พวกเข้าได้ ก็คล้าย ๆ กับโครงการแพรกหนามแดงของคุณปัญญา หรืออื่น ๆ ที่เขามีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหากันมาแล้ว เครื่องมือนี้ก็จะเป็นประโยชน์  มันก็เป็นอีกข้อค้นพบหนึ่ง ว่า โครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ถ้าจะเริ่มได้ และเข้าถึงแก่นจริง ๆ ชาวบ้านต้องมีทุนเดิม ต้องทำงานมาเยอะพอสมควร  เป็นนักแก้ปัญหา เค้าแก้ปัญหามีเรื่อย ๆ จนมาพบว่างานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้เป็นเครื่องมือที่ดีในการจัดการแก้ปัญหา ซึ่งพอเราทำซัก 2 ปี เราก็เห็นข้อเปรียบเทียบว่างานที่นักวิชาการเข้าไปทำ กับงานที่ชาวบ้านคิด มันต่างกันเยอะ

ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้น 4 – 5 ปีแรก เราค่อย ๆ เทนำหนักไปที่งานชาวบ้านมากขึ้น นักวิชาการรอก่อน งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นมันดีอย่างหนึ่งตรงที่ว่ามันเกิดขึ้นเป็นหน่วยงานเล็ก ๆ  แล้วก็เทียบกับ สกว.ทั้งหมดแล้วงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้นเล็กนิดเดียว  เพราะฉะนั้นเราก็มีเวลาที่จะค่อย ๆ ทำ ไม่มีใครมาเร่งเราว่าเมื่อไหร่จะเกิดผลซักที เมื่อไหร่จะมีจำนวนโครงการเท่านั้น เท่านี้ นี่เป็นจุดเด่นมากของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ และค่อย ๆ โตขึ้นอย่างเงียบ  ๆ เพราะไม่มีใครมาจี้ และเราก็ไม่พยายามที่จะชูว่า ดีอย่างไร หรือ เรียกให้คนนั้นคนนี้มาดูว่างานเราดีแบบไหน                                                                                                              

คำว่าวิจัยเพื่อท้องถิ่นมันออกมายังไง

ตอนนั้นแรก ๆ ก็เรียกกันหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม งานวิจัยชุมชน  และคนที่ให้คอนเซปต์คนสำคัญเลยก็คตือท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ท่านบอกว่า ชุมชนมันอยู่โดด ๆ ไม่ได้มันต้องเป็นท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมันต้องประกอบไปด้วยหลาย ๆ ชุมชนที่แชร์อะไรบางอย่างร่วมกันไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ที่ดินหรือความเชื่อ เช่นวัด  เจ้าพ่อ มันก็เลยมีคำสำคัญคือคำว่า “ท้องถิ่น” อยู่ด้วย คิดไปก็คิดมาก็ไปเติมคำว่า “เพื่อ” เข้าไป แค่นี้ก็จบ — คือเราไม่อยากไปตีกรอบว่าเป็นงานวิจัยที่ทำโดยชุมชน เพราะว่าชุมชนอาจจะไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือจากข้างนอกก็ได้ตราบใดที่เขายังต้องการความช่วยเหลือ ก็เลยเอาคำว่า “เพื่อท้องถิ่น”  

ที่นี้ก่อนหน้านั้มันก็มีคำถามว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ต่างจากงานฝ่าย 4 คืองานชุมชนอย่างไร   จุดต่างน่าจะอยู่ตรงที่ วิจัยเพื่อท้องถิ่นขึ้นไปจากข้างล่าง คำถามหรือโจทย์มาจากชุมชน ขณะที่งานของฝ่าย 4 เน้นงานวิชาการเป็นส่วนใหญ่  2 อันนี้อาจจะลงชุมชนเดียวกันก็ได้

ตอนนั้นอาจารย์วางเส้นทางของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นไว้อย่างไร

ความคิดผมก็คือ เราไม่น่าจะทิ้งจุดแข็งของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือการทำงานเล็ก ๆ  ให้ลึก แต่เราเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นพอที่จะเป็นพลังในพื้นที่ได้มากกว่าการยกระดับขึ้นมาให้เป็นโจทย์ใหญ่แล้วผลักสู่นโยบาย  แต่เราควรยื่นยันแบบเดิม แบบเดิมหมายความว่า ทำกับชุมชนหรือในหมู่บ้าน แต่ทำอย่างลึก อย่างชัด และคนที่อยู่ในชุมชนเป็นคนทำ มากกว่าที่จะเอางานวิจัยที่มีอยู่แล้วไปขยายหรือทำนโยบาย หรือว่าทำงานกับใครต่อใครที่เป็นโจทย์ใหญ่ เพราะการจะผลักงานให้ไปถึงข้างบนได้เราต้องมีกำลังที่มากพอ หรืออาจจะทำคู่ขนานกันไป ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด  ซึ่งเราอาจจะถอดสิ่งที่ทำมา หรือ เชื่อมโยงสิ่งที่ทำมาเข้าไปในระบบใหญ่  อีกอย่างหนึงกลับไปที่จำนวน ผมมีความเชื่อว่างานแบบนี้มันจะพลิกสถานการณ์ได้ถ้ามีจำนวนมากพอในพื้นที่  ถ้าดูจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยจำนวน 80,000 หมู่บ้าน ถ้าตั้งเป้าซัก 5 % หรือ  4,000 หมู่บ้าน  ที่ไม่ใช้ 4,000 โครงการ ก็น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้  และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดที่สุดในชุมชนคือ ความสามารถในการที่เลือก หรือไม่เลือกรับความช่วยเหลือตามที่คิดว่าเหมาะสม นี่คือสิ่งสำคัญ เพราะความสามารถในการเลือกที่จะปฏิเสธบางอย่าง เป็นความสามารถที่ไม่ง่าย โดยเฉพาะเงิน – เพราะคนที่ปฏิเสธเป็น แสดงว่ามองยาว เราต้องเข้าใจว่า ตัวเองเป็นอย่างไร แล้วต้องการจะไปทางไหน เหมือนโครงการที่บ้านดง จังหวัดจะให้ล้าน หนึ่ง แต่แกเอาแสนเดียว นี่คือความสามารถในการปฏิเสธที่ตั้งอยู่บนฐานของศักยภาพตัวเอง กรณีแบบนี้ชาวบ้านรู้สึกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว หรือกรณีบ้านผาหมอนที่ปฏิเสธการสนับสนุนจากโครงการท่องเที่ยว

 งานท้องถิ่น เป็นงานทีเรียกว่า “งานสร้างฐานรากของประเทศ” เพราะหากฐานรากดี เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะว่าฐานที่แข็งแรง เข้มแข็ง จะปลูกศาลา จะสร้างตึก หรือจะทิ้งไว้เป็นสนามหญ้าก็ แล้วแต่ แล้วมันจะเป็นทางเดียวทีทำให้เกิดหลาย ๆ อย่างที่คนกำลังพูดถึงเช่นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องของการสร้างสังคมความรู้ หรือว่าเรื่องของประชาธิปไตยจากรากหญ้า พวกนี้มันมีฐานอยู่บนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพราะเป็นงานแบบมีส่วนร่วม ให้คนคิด ตัดสินใจด้วยเหตุผล และข้อมูล เพราะถ้าทำได้มันก็ต่อไปจนถึงระบอบประชาธิปไตยทีมีผู้ออกเสียงที่มีศักยภาพ หรือเลือกเศรษฐกิจที่ตัวเองอยากทำได้ เช่นนำมันแพง ก็รู้ว่าตัวเองควรจะเลือกทางไหน หรือควรจะไปทางไหน

รู้สึกอย่างไรที่งานวิจัยเพือท้องถิ่นเดินทางมาได้จนถึงวันนี้

อันแรกรู้สึกภูมิใจแน่นอน และสอง ก็รู้สึกด้วยว่าเราเริ่มต้นด้วย “เราไม่รู้” เรายอมรับว่าเราไม่รู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงานหรืออะไรก็แล้วแต่นั้น  ชาวบ้านมีส่วนในการคิดแทบทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะรูปแบบที่มันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นั้นมันเกิดจากการทำงานจริง ๆ และเราไม่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง เราเห็นว่ามันเป็นแบบนี้ดีแล้ว และเราก็หนุนให้ชาวบ้านทำงานต่อ—เราทำงานในลักษณะที่ไม่มีความคิดไปกำกับ เราไม่มีทฤษฎีเดียวไปกำกับว่าต้องทำแบบไหน อย่างไร  และนี่เป็นข้อสำคัญมากในการทำงานคือ “บริหารโดยไม่ต้องบริหาร” ซึ่งจริง ๆ แล้วยากมาก (เพราะต้องคิดตลอดเวลา….) และยืนยันได้เลยว่าอะไรที่เราเข้าไปทำงานเอง มันมักจะไม่ประสบความสำเร็จ อะไรที่ชาวบ้านทำมันมักจะไปได้ นี่คือข้อสรุปที่น่าสนใจ แต่ชุมชนที่ทำต้องเข้าใจความรู้สมัย และต้องทำความเข้าใจด้วยว่าไม่สามารถจะอยู่ได้ตลอดไปโดยใช้ภูมิปัญญาเดิมที่มีอย่างเดยว เพราะฉะนั้นหลายชุมชนเริ่มพบว่า การแก้ปัญหาโดยชุมชนเองถึงจุดนึงแล้วมันต้องการคนนอกเข้ามาช่วย นี่ก็จะเป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญมากของการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี่และคำตอบสมัยใหม่ แต่เอามันมาเป็นเครื่องมือเพื่อตอบคำถามของชาวบ้าน อย่าให้เทคโนโลยี่มากำหนดว่าจะต้องไปทางไหน หมายความว่า ชาวบ้านมีคำถาม และเอาเทคโนโลยี่มาตอบ เช่นถามว่าจะจัดการชายฝั่งอย่างไร ทำอยางไรให้ทรัพยากรชายฝั่งมีอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม ภูมิปัญญาก็อาจจะเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งมันอาจจะต้องการความรู้ทางประมง หรือสัตว์นำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกัน เพราะว่าสถานการณ์ปัจจุบันมันไม่เหมือนอดีต แต่ก่อนชายฝั่งมันอาจจะอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ตอนนีมันมีปัญหาเข้ามาเยอะแยะ และต้องการความรู้สมัยใหม่เข้ามาช่วย  นี่ก็เป็นอีกขั้นหนึงของงานวิจัยพื่อท้องถิ่นที่ต้องใช้เทคโนโลยี่สมัยใหม่  มาเอื้อประโยชน์ได้อย่างไร ใช้มันเป็นเครื่องมือที่ดี

ชาวบ้าน ชุมชนและพี่เลี่ยง ต้องทำงานของตัวเองให้แม่น คือรู้จักชุมชนดี  ทางหนึ่งต้องเงี่ยหูฟังว่าข้างนอกมันมีอะไรบ้าง มันมีเทคโนโลยีอะไรที่ต้องเอามาใช่ได้ มันต้องทำทั้ง 2 อย่าง  พี่เลี่ยงไหนที่หมกมุ่นกับงานของตัวเองหรือจังหวัดของตัวเองอย่างเดียว ในที่สุดมันก็จะตัน  เพราะมันก็แก้ปัญหาได้จำนวนหนึ่งซักพักมันก็จะติด ในขณะที่มันอาจจะมีคำตอบอยู่ที่อื่น…

++++++++++++++++++++++