ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูล
จากที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยมีศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลเป็นองค์กรพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2544 ได้สนับสนุนการโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวนทั้งหมด 71 โครงการที่มีประเด็นงาน คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการทรัพยากร การจัดการศึกษา เป็นต้น โดยที่ผ่านมามีโครงการวิจัยได้รับงานวิจัยเด่นของ สกว. จำนวน 5 โครงการ ที่ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว ทรัพยากร การศึกษาและส่งเสริมอาชีพ
การดำเนินงานที่ผ่านมามีการยกระดับงานจากกลุ่มงานวิจัยที่มีการดำเนินงานมากในพื้นที่มารวมกลุ่มกันโดยใช้เนื้อหาประเด็นเป็นจุดรวม คือ กลุ่มงานวิจัยการท่องเที่ยวที่ศูนย์ประสานงานฯเริ่มต้นที่บ้านบ่อเจ็ดลูกเป็นพื้นที่แรกที่สามารขับเคลื่อน สามารถสร้างรูปธรรมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน และเป็นชุมชนต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆในจังหวัดสตูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน จนมีการนำกลุ่มงานที่ทำเรื่องการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง การจัดการป่าชายเลนกรณีชุมชนบ้านหัวทาง การจัดการทะเล และมารวมตัวเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล เพื่อทำงานขับเคลื่อนแนวคิกการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่จังหวัดสตูล เนื่องจากการจัดการทรัพยากรเป็นเรื่องพื้นฐานที่ต้องทำในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน
งานวิจัยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน
ซึ่งการขับเคลื่อนประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูลผ่านกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้เริ่มต้นที่ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในปี 2549 ภายใต้กลุ่มจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยองค์กรชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ทำให้ชุมชนสามารถจัดการและฟื้นฟูทรัพยากรที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของชุมชน วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวให้กับบุคคลภายนอก ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
จากรูปธรรมของชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก ในปี 2550 เป็นต้นมา ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ได้มีขยายผลการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปสู่ชุมชนอื่นๆ อทิเช่น บ้านหัวทาง บ้านโคกพะยอม บ้านบุโบย บ้านพญาบังสา หัวทางละงู บ้านบากันเคย บ้านทุ่งสะโบ๊ะ เป็นต้น และได้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสตูล ผ่านการจัดทำโครงการวิจัยศึกษาและพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวของเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล บนฐานแนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีทิศทางเดียวกัน และให้ชุมชนได้จัดการท่องเที่ยวที่ไปตอบเป้าหมาย หรือแนวคิดการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน 5 ข้อ ดังนี้
- อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
- ฟื้นฟู ประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิต เพื่อการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
- สร้างการเรียนรู้ และเผยแพร่สร้างการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
- สร้างกลไกการขับเคลื่อนกลุ่มองค์กรในชุมชน สู่การเป็นชุมชนจัดการตนเอง
- การสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน รายที่มากกว่าผลของจากการบริการการท่องเที่ยว
ซึ่งผลจากงานวิจัยช่วงระยะนั้นก่อให้เกิดการรวมตัวของเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูลที่ชัดเจน มีคณะกรรมการ มีรูปแบบการบริการจัดการ มีกฎระเบียบ มีแผนงานยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน และมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนของจังหวัดสตูล นอกจากนี้ยังถือได้ว่ามีหลายองค์กรหน่วยงานในจังหวัดเข้ามาสนับสนุนจำนวนมาก ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล วิทยาลัยชุมชนจังหวัดสตูล กรมท่องเที่ยว และสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล
ปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ถูกขยายแนวคิด รูปแบบ วิธีการไปอีกหลายๆชุมชน จนส่งผลให้เครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูลมีสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 23 ชุมชน และที่ผ่านมาคณะกรรมการเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังวัดสตูล ต้องทำงานร่วมภาคีสนับสนุน อย่างสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล ที่เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนเครือข่ายในด้านงบประมาณ การประสานงานกับจังหวัดสตูล องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กรมการท่องเที่ยว การสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชน และเครือข่ายมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นนโยบายหลักของจังหวัด มีการพัฒนาพื้นที่เพิ่มเติมของจังหวัดสตูลเพื่อดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชน จนมีหลักสูตรการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่พัฒนาร่วมกันระหว่างศูนย์ประสานงานฯ และวิทยาลัยชุมชนสตูล เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่มีแกนนำชุมชนในเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูลเป็นวิทยากร เช่น นายยูหนา หลงสมัน นายเผด็จ โต๊ะปลัด นายอับดุลเลาะห์ หมัดสิริ นายสุรัฐพงศ์ หมันใจดี นายมณัฐ ปลอดทอง และในบทบาทของวิทนากรจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลมีนายสมพงษ์ หลีเคราะห์ นายอับดุลอาสี หยีเหม
จัดการศึกษากับเครื่องมือการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
การศึกษา ซึ่งเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนงานวิจัยในชุมชน นักวิจัยชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เช่น ทักษะการพูด การนำเสนอ การเขียน การคิด และทักษะการทำงานที่เกิดขึ้นระหว่าง และหลังจากการทำการวิจัย จึงนำแนวทางไปใช้ต่อกับการศึกษา โดยมีการทำงานร่วมกับ ผอ.สุทธิ สายสุนีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล (ปัจจุบัน) เริ่มเข้ามาเรียนรู้งานวิจัยขนมพื้นบ้านมุสลิมบ้านท่ามาลัย โดยมีคุณบัดสาระ องศารา เป็นหัวหน้าโครงการ พัฒนาต่อยยอดเป็นงานการศึกษาทำที่โรงเรียนบ้านตะโละใส จนเป็นแหล่งเรียนรู้ในการจัดการศึกษาโดยใช้โครงงานฐานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียน
ก้าวย่างของโรงเรียนบ้านตะโละใสได้ถอดองค์ความรู้การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยระหว่างครูกับนักเรียน ภายใต้ประเด็นคำถามเล็กๆที่ว่า“ถ้าเด็กนักเรียนมาใช้เครื่องมือวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการเรียนรู้จะเป็นอย่างไร?”ออกเป็น 10 ขั้นตอน ภายใต้ฐานคิดการเรียนรู้แบบชุมชนเป็นฐาน และมีนิยามเรื่องใกล้ตัว ที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกเรื่อง คือ น่าสนใจ เกี่ยวกับปัญหาสังคมใกล้ตัว มีผลประโยชน์ต่อคนอื่น มีวิทยากรหรือแหล่งข้อมูลที่สามารถไปเรียนรู้ได มีความเป็นไปได้ มีเวลาเพียงพอ และเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับคุณธรรมจริยธรรม นอกจากนี้เรื่องที่เรียนต้องนำสู่การแก้ปัญหาภายในสังคม ในนิยามของโรงเรียนและหมู่บ้าน อันเป็นแหล่งเรียนรู้หรือแหล่งข้อมูล
ปี 2550 เป็นต้นมา ได้มีการขยายการจัดการเรียนรู้มาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนุรูลอิสลาม โรงเรียนชายคามัสยิด ตาดีกาสันติสุขมุสลิมศึกษา บ้านควนโพธิ์ โรงเรียนสตูลวิทยา โรงเรียนจริยะธรรมอิสลามมูลนิธิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลท่าแพ โรงเรียนอนุบาลสตูลเริ่มจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยหลักสูตรมาตรฐานสากล และขยายผลสู่เครือข่ายโรงเรียนวิจัย 11 โรงเรียน ประกอบด้วย และในช่วงปี 2556 ปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ 11 โรงเรียน จากรายโรงเรียน เป็นคู่เครือข่าย โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขยายโอกาส และเพิ่มเติมรูปแบบการจัดการเรียนรู้สู่โรงเรียนทางเลือก คือ ศูนย์เรียนรู้คลองโต๊ะเหล็ม บ้านเรียนชุมชนบ้านท่ายาง และศูนย์การเรียนรู้วังเจริญราษฎร์
หลายปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ การจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยในหลากหลายโรงเรียน หลายขนาด หลายบริบท หลายกลุ่มคน ว่ากระบวนการวิจัยสามารถจัดการเรียนรู้ได้ในทุกสภาวะ
ปัจจุบัน ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดสตูล ยังคงดำเนินการหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัย ทั้งโรงเรียนในระบบ และโรงเรียนนอกระบบ โดยนำกระบวนการวิจัยท้องถิ่นเป็นฐานการจัดการเรียนรู้ ทั้งนี้โดยในส่วนโรงเรียนในระบบมีผู้อำนวยการสุทธิ สายสุนีย์ เป็นแกนนำ ในส่วนโรงเรียนนอกระบบมีคุณศักรินทร์ สีหมะ จากโรงเรียนคลองโต๊ะเหล็ม เป็นแกนนำ ในส่วนโหนดรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และร่วมออกแบบ เทรนนิ่งการจัดการเรียนรู้ สำหรับทิศทางอนาคตจะพัฒนาประเด็นการศึกษา เป็นศูนย์นวัตกรรมการศึกษา ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้เพื่อการศึกษาที่สมบูรณ์
จากผลการดำเนินงานข้างต้นศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล ได้มีการนำกระบวนการสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นไปใช้ในการสร้างการเรียนรู้กับหน่วยงาน อบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่องค์กรในเรื่องการทำงานชุมชน เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณะสุขในพื้นที่อำเภอละงู เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลละงู และรพสต.ในเขตพื้นที่อำเภอละงู
นอกจากด้านสาธารณะสุขนำกระบวนการเคลื่อนงานไปใช้กับแหล่งทุนงบประมาณที่มาขับเคลื่อนงานในพื้นที่จังหวัดสตูล เช่น โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิ สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพานิชย์ ที่นำกระบวนกาตัดสินใจภายใต้ข้อมูล หรือการวิจัยไปใช้เป็นตัวนำก่อนการตัดสินใจการพัฒนา
บทบาทใหม่ที่ท้าท้าย…ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูล
จากการดำเนินงานทั้งหมดศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล (โหนดสตูล) มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เช่น การพัฒนาโจทย์วิจัย การสนับสนุนและติดตามงานวิจัย การพัฒนาศักยภาพนักวิจัย ที่สามารถนำกระบวนการไปพัฒนาทักษะกับคนทำงานที่เป็นหน่วยงาน แกนนำชุมขนในการขับเคลื่อนเพื่อต้องการตัดสินใจผ่านข้อมูล และการสร้างการมีส่วนร่วมการพัฒนาจากฐานรากอย่างแท้จริง
การพัฒนาตัวเองจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูลที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มาเป็นศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูล โดยในระยะแรกปี2560-2561 มีเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ
1. การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการของศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชน เพื่อหารูปแบบที่สามารถขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นผ่านบทบาทเดิมของศูนย์ประสานงานฯ และสามารถที่จะทำการวิจัยเกี่ยวกับชุมชนเพื่อพัฒนานวัตกรรม การฝึกอบรมกับความรู้ที่มีอยู่ เช่น การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการเรียนรู้โครงงานฐานวิจัย การจัดการเรียนรู้นักจัดการสุขภาวะชุมชน จึงเสนอโครงการการศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูล เพื่อค้นหานวัตกรรมการวิจัยชุมชน ซึ่งในปี 2560 นี้ เริ่มต้นจากประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นลำดับแรก ที่ต้องมีการค้นหาบทเรียนองค์ความรู้การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน กระบวนการสนับสนุน รูปแบบ วิธีการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูลที่ผ่านมา นำมาออกแบบสร้างนวัตกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล ให้มีการยกระดับกระบวนการหนุนเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนผ่านศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูลประเด็นนวัตกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และนวัตกรรมอื่นๆในระยะต่อไปและนำนวัตกรรมที่ได้ไปพัฒนาส่งเสริมการพัฒนาในจังหวัดสตูล และหน่วยงานที่สนใจ
2. การหนุนเสริมเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้บทบาทศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนผ่านชุดโครงการวิจัย“การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่รับผิดชอบต่อสังคม ของเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล” เนื่องด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดสตูล ที่ต้องการยกระดับการพัฒนาตามโมเดล “ไทยแลนด์4.0” คือการพัฒนานวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs)แล้ว การดำเนินการของการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้นสามารถตอบโจทย์ของพัฒนาระดับชาติ บนพื้นฐานความเป็นชุมชนที่สอดคล้องกับแนวทางของกับพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนสตูล ที่มีเป้าหมายทั้งด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูวัฒนธรรม วิถีชีวิต สร้างการเรียนรู้ เกิดกลไกการจัดการชุมชน และสร้างรายได้เสริมให้คนในชุมชน ทั้งนี้เป้าหมายในระยะเริ่มต้นที่ต้องการยกระดับสู่ความเป็นมาตรฐาน คือในส่วนของสินค้า และบริการการท่องเที่ยว สู่ระบบการตลาด โดยใช้สิ่งใหม่ๆ ในการสร้างคุณค่า ความหมาย ต่อกลุ่มนักท่องเที่ยว และหน่วยงานต่างๆ นอกจากนั้นเป็นการเรียนรู้รูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน และขยายแนวคิดผ่าน“การท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคม” ประการนี้ไม่ได้หมายความเพียงแค่การท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่รวมไปถึงการท่องเที่ยวกระแสหลักในพื้นที่ โดยการสร้างการเรียนรู้ผ่านผู้ประกอบการท่องเที่ยว ให้ได้ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของการจัดการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงปัจจัยของสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และประการสำคัญคือการพัฒนากลไกจัดการในระดับชุมชนและเครือข่ายให้เพิ่มขีดความสามารถ ทั้งด้านทักษะความรู้ต่างๆ การจัดการปัญหาอื่นๆในชุมชน สู่การเป็นชุมชนบริหารจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของศูนย์นวัตกรรมการวิจัยจังหวัดสตูลให้บรรลุความสำเร็จได้นั้นจะประกอบไปด้วยหลายส่วน ทั้ง ในส่วนของแกนนำชุมชน นักวิชาการ ผู้ประกอบการ องค์กรภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วิทยาลัยชุมชน และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ศูนย์นวัตกรรมการวิจัยชุมชนจังหวัดสตูลนี้ประสบความสำเร็จ
ทว่าระยะยาวในการขับเคลื่อนของศูนย์นวัตกรรมในอนาคตจากผลความสำเร็จที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการขยายสู่การสร้างนวัตกรรมอื่นๆในระยะต่อไป อาทิ นวัตกรรมด้านการศึกษา นวัตกรรมการพัฒนาเยาวชน นวัตกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาวะ ซึ่งจะนำนวัตกรรมทั้งหมดเหล่านี้ที่ได้ไปพัฒนาส่งเสริมการพัฒนาในจังหวัดสตูล สู่ความเป็น “สตูล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
++++++++