ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้วย “อาชีพ” ที่มี “ชุมชนเป็นฐาน”
สมคิด แก้วทิพย์
——
ในทุก ๆ ภาวะวิกฤติ ใครปรับตัวได้ก่อนย่อมอยู่รอด แต่คนที่อยู่รอดจากการปรับตัวได้ในทุก ๆ วิกฤติมักเป็นกลุ่มคนอยู่ตรงกลาง ไล่ขึ้นไปจนถึงชั้นบนสุดของสังคม
นั่นเป็นเพราะ กลุ่มคนเหล่านั้นมี “โอกาส” เข้าถึงหลาย ๆ ปัจจัยในการปรับตัว ทั้งเงินทุน ความรู้ ตลอดจนกติกาและเงื่อนไขหลากหลายที่มักเอื้อให้กับกลุ่มคนเหล่านี้
การเข้าไม่ถึงปัจจัยต่าง ๆ เราเรียกมันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” และความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ก็นำไปสู่การละเมิดสิทธิ์ การแย่งชิงฐานทรัพยากร ฯลฯ ซึ่งผลของความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏชัดเจนที่สุดคือ “ความยากจน”
และความยากจน ย่อมส่งผลกระทบเชิงลบในทุก ๆ มิติ โดยเฉพาะการศึกษา ปัจจุบันเรามีเด็กมากกว่า 8 ล้านคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือด้วยเหตุผลมาจากความยากจนของพ่อแม่ และ ครอบครัว
เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ปี 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) องค์กรรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พบว่า “ความเหลื่อมล้ำ” เกิดขึ้นเพราะ “ขาดโอกาส” ในการเข้าถึงปัจจัยต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพ อาทิ ขาดทักษะ และความรู้ใหม่ ๆ ขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ฯลฯ จึงได้สนับสนุน “ทุน” เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ภายใต้โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยมี ดร.สมคิด แก้วทิพย์ จาก วิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้จัดการโครงการ เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือเข้าไป จัดทำระบบสนับสนุนและพัฒนาแรงงาน ที่จะนำไปสู่การสร้างชีพ ให้แก่กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนยากคนจน และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
“โครงการนี้แม้ว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องเงินทุน แต่สิ่งที่ให้ควบคู่ไปด้วยคือ ทักษะ และวิธีคิดในการพึ่งพาตนเองโดยใช้ฐานทรัพยากรทั้งในเรื่องของคน ความรู้ ภูมิปัญญา เมื่อแนวคิดออกมาแบบนี้ ก็ต้องมีกระบวนการหรือแนวทางในการยกระดับศักยภาพให้กับชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้เขาได้มีทักษะ และความรู้ในการค้นหาต้นทุนที่มีในชุมชน” ดร. สมคิด ชี้ว่า เมื่อวิเคราะห์เป้าหมายของโครงการ คือ “ระบบสนับสนุนและพัฒนาแรงงาน” กระบวนการทำงานที่ตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวที่ดีที่สุดคือ “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น”
“กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นกระบวนการที่สร้างเงื่อนไขให้ผู้ที่ประสบปัญหาลุกขึ้นมาตั้งคำถาม วิเคราะห์หาสาเหตุ มีการค้นหาข้อมูลความรู้ นำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาพบว่า หลายโครงการในหลายชุมชนสามารถใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอดเป็นอาชีพได้ เป็นการใช้ ชุมชนเป็นฐาน ในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ดร.สมคิด ยังบอกอีกว่า “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ดำเนินงานในรูปของเครือข่าย มีองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้ภาคีที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชุมชน เข้าไปดำเนินงานสร้างเงื่อนไขให้ชุมชนได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อนำมาใช้เป็นฐานในการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งโดยผลที่เกิดขึ้น นอกจากปัญหาจะคลี่คลาย กลุ่มคนยังมีทักษะติดตัวสามารถใช้วิธีการดังกล่าวไปจัดการปัญหาอื่น ๆ ได้อนาคต
สร้างระบบ ให้ระบบไปสร้างอาชีพ
และเนื่องจากเป็นการทำงานกับชุมชนเป็นเป็นหลัก โครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจึงใช้ฐานการสร้าง “ระบบสนับสนุน” หรือ “กลไกกลาง” ทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และ ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานด้านพัฒนาอาชีพให้กับภาคีเครือข่าย โดยมีทีม “พี่เลี้ยง” จาก “ศูนย์ประสานงาน” หรือ Node กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยแต่ละศูนย์ประสานงานฯ หรือ NODE ก็จะมีภาคีเครือข่ายการทำงานในแต่ละพื้นที่ มีชุมชนเป้าหมาย อีกทั้งมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน
และกลุ่ม NODE ก็จะทำงานผ่าน “หน่วยพัฒนาอาชีพ” เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาอาชีพเช่น ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วิทยาลัยชุมชน (วชช.) หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดย NODE จะทำหน้าที่ สร้างกระบวนการเพื่อกระตุ้น และยกระดับการทำงานที่หนุน หรือ เสริมพลังให้กับหน่วยพัฒนาอาชีพในแต่ละภาค ให้ลงไปทำงานกับ “ชาวบ้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส มีรายได้น้อย
โดยเรียกการทำงานร่วมกันของ ทีมกลาง ศูนย์ประสานงานฯ และหน่วยพัฒนาอาชีพ ว่า ระบบสนับสนุน หรือ ระบบนิเวศน์ทางปัญญา
“บทบาทแต่ละทีมคือ ต้องไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ และเสริมพลัง บทบาทก็ไล่ตั้งแต่การที่จะทำอย่างไรให้ได้ข้อเสนอโครงการดี ๆ เข้ามาสู่กระบวนการพิจารณา พอได้โครงการมาแล้ว ก็ต้องมาปรับให้มันมีแนวคิดในเชิงวิเคราะห์ ข้อเสนอโครงการที่ไม่ได้เอาทักษะของหน่วยพัฒนาอาชีพเป็นตัวตั้งอย่างเดียว ต้องเอาความต้องการของผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเป้าหมายและชุมชนเป็นตัวตั้งแล้วค่อยมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้อง หลังจากนั้นบทบาทของทีมงานของพวกเราคือการไปเป็นเพื่อนคู่คิด ไปเป็นกระจกสะท้อนส่องทำให้เขาเรียนรู้อย่างมีพลังมากขึ้น รู้จักที่จะสรุปบทเรียน รู้จักที่จะจัดการ เขาเรียกว่าให้เป็นไปตามแนวทางของการเรียนรู้โดยเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางหรือ Active Learning
พลังชุมชน พลังของความอยู่รอด
เพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันเข้าไปทำลายระบบดั้งเดิมของชุมชนคือการพึ่งพาอาศัยกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำมาหากิน ทางออกทางเดียวของการสร้างพลังชุมชน คือการทำให้ชุมชนกลับมามีบทบาทในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ภายใต้แนวคิด “ชุมชนเป็นฐาน”
ดร.สมคิด ในฐานะผู้จัดการโครงการ อธิบายว่า แนวคิดของชุมชนเป็นฐานคือหาแนวทางเอาคนมาร่วมกัน เพราะคนในชนบท หรือคนโดยทั่วไป โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยนั้น “พลัง” อยู่ที่การได้เข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังทางสติปัญญา พลังในเรื่องของการทำมาหากิน และโดยเฉพาะในภาวะวิกฤติแบบนี้ ถ้าต่างคนต่างอยู่ มันไม่รอด
“เพราะฉะนั้น งานนี้จำเป็นที่จะต้องใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยเฉพาะในมิติของการทำมาหากิน ฐานสำคัญที่ต้องมีคือฐานความสัมพันธ์ ฐานทรัพยากร ฐานสิทธิ คือมีสิทธิ์ที่จะเอาไปใช้ทำมาหากินในพื้นที่ตรงนั้นได้ หรือรวมกระทั่งฐานในเชิงของการเรียนรู้ด้วย” ดร. สมคิด ยกตัวอย่างที่บ้าน แม่แดดน้อย อำเภอกัลยานิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านที่นั่น มี “ฐาน” ความทุกข์ร่วมกัน ชุมชนเผชิญชะตากรรมเดียวกันซึ่งก็คือความยากลำบาก กล่าวคือ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรีที่เป็นปกาเกอะญอหรือ ชาวกะเหรี่ยง ประสบปัญหาหย่าร้าง ไม่มีอาชีพ หลายคนมีปัญหาซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย ทำให้แกนนำคือผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้หญิงมีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหานี้ด้วยการรวมกลุ่มกัน ปรึกษาหารือกัน และมาช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา
“จะเห็นว่าฐานปัญหาก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันเป็นปัญหาร่วม พอมีปัญหาร่วมกัน ก็ต้องการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน”
เมื่อประสบปัญหาร่วม และคิดว่าต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา ก็ต้องหาศักยภาพหรือ “ทุน”
“กรณีนี้ ทุนเดิมที่สำคัญคือความสามารถ และทักษะพื้นฐานด้านการทอผ้า ด้านการเกษตร เพราะโดยวัฒนธรรมแล้วเขาจะต้องทอผ้าใส่เอง การเอาทักษะ และความรู้ที่ติดตัวมาแต่เดิมมาร่วมกันแล้วเอามาสร้างกลุ่มก้อนของคนเพื่อที่จะมาทำพัฒนาอาชีพในสิ่งที่ตัวเองพอมีทักษะแล้วสนใจที่จะพัฒนาร่วมกัน อันนี้คือการเอาปัญหาร่วม จุดร่วม ทักษะร่วม และความสนใจร่วม มารวมกันแล้วจัดตั้งเป็นวิสาหกิจ จากนั้นก็ยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน จุดร่วมที่สำคัญอีกอย่างคือจุดร่วมในมิติของจิตวิญาณก็คือความเชื่อในเรื่องของธรรมชาติ เรื่องเดปอทู เรื่องป่าสะดือ เขาก็เอามาเป็นแบรนด์แล้วก็สร้างสินค้านี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้นสินค้าก็เลยเป็นตัวแทนของความเชื่อ เป็นความแข็งแกร่งทางจิตวิญญาณที่เขามีร่วมกัน กลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้า พอเห็นแบรนด์นี้ก็เชื่อมั่นว่ามาจาก ความเชื่อเดียวกัน จึงให้การสนับสนุน และก่อให้เกิดรายได้” ดร. สมคิด ย้ำว่า ผลทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นเพราะกระบวนการทำงานกันร่วมระหว่าง ทีมกลาง ทีมศูนย์ประสานงาน และหน่วยพัฒนาอาชีพ ที่เรียกว่า “ปัจจัยภายนอกเชิงบวก”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงบวกไม่ได้มีเฉพาะแค่ระบบ หรือ กลไกสนับสนุน แต่ยังมีฐานของหน่วยงาน องค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชนในพื้นที่ รวมไปถึง สถาบันการศึกษา
กลไก+ปัจจัยเชิงบวก = อาชีพและรายได้
ดร.สมคิด ระบุว่า การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีคือใส่ปัจจัยเชิงบวกให้กับผู้ด้อยโอกาส เมื่อเขาได้รับโอกาส ต่อไปเขาก็จะเป็นผู้ที่ส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่น ๆ กลายเป็นสังคมที่ให้โอกาสซึ่งกันและกัน
“สุดท้ายมันไม่ใช่เป็นมิติของการพัฒนาอาชีพ แต่เป็นการยกระดับการศึกษา เป็นการศึกษาเพื่ออาชีพ สำหรับกระบวนการทำงานเพื่อสร้าง หรือ ค้นหาปัจจัยภายนอกเชิงบวก คือ การเสาะแสวงหาเพื่อน ภาคี การแสวงหาทำได้ด้วยการวิเคราะห์หน่วยพัฒนาอาชีพที่เสนอตัวเข้ามา เช่น ความเป็นทีม เขามีวิธีคิดหรือฐานคิดอะไร เขามีจุดอ่อนอะไร มีจุดแข็ง หรือจุดเด่นอะไร หรือเขายังติดอยู่กับการเอาความรู้ของเขาเป็นตัวตั้ง ซึ่งกระบวนการวิเคราะห์ จะทำได้ด้วยการเรียนรู้ร่วม ผ่านการใช้เกม ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ชุมชน วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เครื่องมือการถอดบทเรียน สุดท้ายกระบวนการเหล่านี้จะค่อย ๆ เข้าไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในส่วนของทั้งหน่วยพัฒนาอาชีพและกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ
เมื่อกลไกทำงานอย่างเป็นระบบ สามารถค้นหาปัจจัยเชิงบวกและใส่เข้าไปในระบบ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะแค่การที่ชุมชนมีอาชีพ และมีรายได้
“ผลลัพมันมีหลายชั้น ชั้นของบุคคลหรือชั้นในระดับชุมชนก็สิ่งที่น่าชื่นใจก็คือ ผู้ยากลำบากเขา
มีอาชีพ มีความภาคภูมิใจ มีเพื่อน แล้วก็รู้สึกตัวเองมีความสุข มีศักดิ์ศรีมากขึ้นตรงนี้สำคัญมาก ที่สำคัญก็คือเขามีความหวังในการทำมาหากิน”
สำหรับในระดับชุมชน เกิดการยึดโยงเกิดกลุ่ม เกิดการทำงานร่วม เกิดการเรียนรู้ร่วม ในหลายชุมชนสามารถผลิตสินค้าได้ มีตลาดใหม่ ๆ มีรูปแบบการขายใหม่ ๆ เช่นออนไลน์ มีการใช้ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาสนับสนุนการประกอบอาชีพ
ในระดับท้องถิ่น พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องท้องถิ่นหลายแห่งเข้ามาร่วมสนับสนุน กรณีของ องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังพบอีกว่า หน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานตามหน้าที่ไม่ว่าเกษตร สาธารณสุข หรือ กศน. ที่ต่างคนต่างเคยทำงานต่างคนต่างทำ ก็มาร่วมมือกันทำให้กลไก และระบบสนับสนุนครบองค์ประกอบมากขึ้น
สำหรับภาพของการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่านั้น คือหน่วยงานที่เข้ามาเสนอทุนในช่วง 2 ปีทีผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองภายใน ทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน ไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง
“บางอาชีพหลักสูตรวิชาการที่คนด้อยโอกาสเข้าไม่ถึง เช่นโครงการเยาวชนบริบาลของ มอ.หาดใหญ่ เห็นชัดว่า ภาควิชาการ หรือ มหาวิทยาลัยพยายามปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ หรือ วิกฤติที่เกิดขึ้น เป็นการนำความรู้ทางวิชาการมาซอยย่อย ย่อส่วน ทำให้คนเล็กคนน้อยได้มีโอกาสเรียนรู้ในสิ่งที่เขาไม่คิดว่าชีวิตนี้จะได้รับโอกาสนั้น ผมมองว่า การเรียนรู้และปรับตัวใหม่ของคน เป็นหัวใจเลยของโลกยุคใหม่ มันจะเป็นคำตอบว่านี่คือการสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับชีวิตให้กับชุมชนให้กับสังคมในระดับท้องถิ่น ถ้าชีวิต ชุมชน และท้องถิ่นมั่นคง เข้มแข็งแล้ว ประเทศชาติคงน่าจะดี น่าจะมั่นคงด้วย ถ้ามีรูปธรรม แบบนี้เยอะขึ้น น่าได้รับการถอดแล้วเอาไปขยายในเชิงนโยบาย คิดว่าปีหน้าเรื่องนี้น่าจะขยับต่อไปได้ ด้วยการทำให้มันเร็วขึ้น และเยอะขึ้น นับเป็นความท้าทายในเชิงนโยบายที่จะใช้บทเรียนและรูปธรรมของการทำงานไปผลักการทำงานของกลุ่มนโยบาย”
ผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา ย่อมพิสูจน์ชัดว่า ทั้งระบบ กลไก ที่หมุนอย่างต่อเนื่องได้สร้าง “นิเวศน์แห่งการเรียนรู้ใหม่” เป็นการยกระดับการเรียนรู้ร่วมกัน ที่ทำให้เกิดระบบการเรียนรู้และดูแลกัน เป็นการเรียนรู้ที่สามารถทำให้คน หน่วยงาน และองค์กรรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เช่นเมื่อเกิดวิกฤติ กระทบต่ออาชีพ จะแก้ปัญหาอย่างไร
“เรื่องอย่างนี้มันพลิกความเชื่อว่าเดิมที่เวลาเราไปพัฒนาอาชีพเราไปติดอยู่ที่อาชีพ แต่งานนี้มันเป็นการยกระดับการเรียนรู้ เพราะหลายชุมชนพบว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จะทำอาชีพเดิม แบบเดิมไม่ได้แล้ว ต้องแสวงหาแนวทางและอาชีพใหม่ ๆ ภายใต้วิธีการใหม่ ๆ
ดังนั้น สำหรับการต่อยอดและขยายผลเราอยากจะเห็นการยกระดับระบบการจัดการเรียนรู้และดูแลตัวเองทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยไป start จากผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน เพราะถ้า start จากจุดดังกล่าว เส้นชัยที่เราจะไปถึงคือ ชุมชนจะสามารถร่วมกันออกแบบ วางระบบเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา หรืออะไรก็ตามที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการฐานทรัพยากรที่เหมาะสมของชุมชนได้ในที่สุด
+++++++++++