ระบบวิจัยใหม่ของไทยเก้าอี้สี่ขา
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง , ผู้ริเริ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ตั้งแต่เริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า “งานวิจัย” ก็เริ่มคำพูดว่า “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” ซึ่งแปลว่านักวิจัยมักทำวิจัยอยู่ในโลกของตัวเอง ทำเองรู้ เองไม่เกิดประโยชน์กับคนทั่วไป จึงไม่ควรสนับสนุน
ปัญหาอย่างนี้เป็นเฉพาะประเทศไทยหรือไม่? ถ้ามองไปที่ประเทศอื่นๆ ว่าเขาทำอย่างไร ก็พบว่างานวิจัยของเขาก็ขึ้นหิ้งเหมือนกัน แต่ขึ้นชั่วคราวเท่านั้น เพราะเขามีงานวิจัยอยู่ใน 3 ภาคพร้อมๆ กัน ที่จะนำงานวิจัย “ลง” มาจากหิ้ง คือ
งานวิจัยในภาครัฐ ตามกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะเป็นแหล่งสร้างเทคโนโลยีสำหรับการทหารก่อน แล้วเทคโนโลยีเหล่านี้จะถูก “เหวี่ยงออก (Spin – off)” มาใช้ สำหรับพลเรือนต่อไป เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตและการหาตำแหน่งด้วยดาวเทียม (GPS) ก็เริ่มจากงานวิจัยทหาร
งานวิจัยในภาคเอกชน ซึ่งบริษัททำวิจัยเองหรือจ้างสถาบันวิจัยทำ งานแบบนี้มักเริ่มจากปัญหาของภาคอุตสาหกรรมเอง ทำเป็นความลับขอบริษัท โดยสถาบันการศึกษาผลิตนักวิจัย และรัฐสนับสนุน โดยลดหย่อนภาษีให้
งานวิจัยในภาคสถาบันการศึกษาและองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งทำงานวิจัยประเภทที่รัฐและเอกชนไม่ทำ คืออาจเป็นเรื่องที่ระยะยาวหน่อย 10 – 20 ปีข้างหน้า หรือได้ประโยชน์กว้างๆ กับคนทั่วไป ไม่เฉพาะกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
งานประเภทนี้แหละที่มักถูกกล่าวหาว่า “ขึ้นหิ้ง”
ระบบวิจัยที่ดีต้องมีความเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน ระหว่างทั้งสามส่วน คือ เอกชนมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ก็ป้อนโจทย์ให้นักวิชาการ นักวิชาการคิดอะไรได้ใหม่ก็มีเอกกชนมารับไปพัฒนาต่อ ภาครัฐก็สร้างงานวิจัยเพื่อใช้เองจ้างเอกชนทำวิจัยบางเรื่องและให้ทุนนักวิชาการด้วย ระบบวิจัยในประเภทเหล่านั้นจึงก้าวหน้าไปได้ มีการส่งงาน “ขึ้น” หิ้งและมีการนำ “ลง” มาจากหิ้งไปใช้ต่อ หรือบางเรื่อง อาจจะยังไม่ทันขึ้นหิ้งก็มีคนคว้าเอาไปแล้ว
แต่เมื่อเรานำระบบวิจัยของเขามา เรามักเห็นแต่ส่วนที่ 3 คือ งานวิชาการในสถาบันการศึกษา ก็เลยเอาส่วนนั้นมาใช้เพียงอย่างเดียวและทุ่มเงินพัฒนาส่วนนั้น โดยหวังว่าผลงานวิจัยจะเผยแพร่ออกไปได้เอง ทั้งๆ ที่เมืองไทยไม่มีส่วนที่ 1 และ 2 อยู่ก่อน
ผลก็คือ งานวิจัยเสร็จแล้วใช้อะไรไม่ได้ ถ้าเปรียบเหมือนเก้าอี้ที่ควรจะมีสามขาก็มีขาเดียว ก็ตั้งอยู่ไม่ได้ คงไม่ใช่ความผิดของขาเดียวนั้น นักวิจัยถึงแม้จะตั้งใจทำงานและภูมิใจที่ได้ทำงานเสร็จ แต่ผลงานวิจัยก็ต้อง “ขึ้นหิ้ง” อยู่ดี เพราะทั้งระบบยังขาดอีก 2 ส่วน ซึ่งจะไปโทษนักวิจัยฝ่ายเดียวก็ไม่ได้
เป้าหมายของระบบวิจัยใหม่ของประเทศจึงควรเน้นทุกส่วน ให้มีการวิจัยในอีก 2 ส่วนที่เหลือ ควบคู่ไปกับการวิจัยในสถาบันการศึกษา และจะต้องให้ความสนใจที่ภาครัฐกับภาคเอกชนเป็นพิเศษ เพราะยังขาดแคลนมาก ต้องจัดสรรงบประมาณและเสริมสร้างความสามารถในการวิจัยให้กับหน่วยงานเหล่านี้อย่างเร่งด่วน
ในส่วนที่ 1 คือภาครัฐนั้น งานวิจัยที่กำลังต้องการอย่างยิ่งคืองานสนับสนุนหน่วยปฏิบัติกระทรวงต่างๆ ที่รับผิดชอบยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศนั้นได้รับงบประมาณวิจัยน้อยมาก เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งงานของผู้ว่าราชการจังหวัด ซีอีโอ และเอกอัครราชทูต ซีอีโอ เป็นต้น
แต่ในขณะเดียวกันภารกิจเหล่านั้นเป็นภารกิจที่ซับซ้อน และต้องการความรู้ช่วยในการทำงานมาก หากจะให้หน่วยงานเหล่านี้ทำงานให้ได้ผลสูงสุดให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นบนเวทีโลก และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบำบัดทุกข์บำรุงสุขของประชาชนได้จริง จะต้องมีหน่วยทำวิจัยที่มีความสามารถสูง อยู่ใกล้ชิดกับหน่วยปฏิบัติเหล่านี้ เพื่อรับโจทย์วิจัยมาทำ เสนอทางเลือกด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง และสะสมความรู้ให้พอเพียงสำหรับปัญหาอนาคตด้วย
สำหรับส่วนที่ 2 คือการวิจัยในภาคเอกชนนั้น ต้องมุ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยและเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะใช้งบประมาณวิจัยในเรื่องใด (ภายใต้กรอบกติกาของรัฐ) มากกว่าให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้เสนอดังที่เป็นมาในอดีต
งานนี้ควรเน้นการวิจัย “ต่อยอด” จากฐานเทคโนโลยีที่เอกชนใช้อยู่แล้ว แล้วศึกษาเชิงลึกย้อนกลับไปสู่พื้นฐาน มากกว่าการเริ่มจากงานวิจัยพื้นฐานไปสู่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะใช้เวลายาวนานมาก โดยต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลางทำหน้าที่บริหารจัดการงบประมาณวิจัยนี้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับเอกชนทุกฝ่าย และต้องมีหน่วยงานที่รับรองว่างานนั้นเป็นงานวิจัยจริง มิใช่การแก้ปัญหาแบบงานที่ปรึกษาหรือคอนซัลแตนท์เท่านั้น
ในส่วนที่ 3 คือภาคสถาบันการศึกษาและองค์กรไม่แสวงหากำไรนั้น ในปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องการวิจัยมากอยู่แล้ว แต่นักวิจัยจำนวนมากยังขาดประสบการณ์ ขาดทิศทางและการหนุนเสริมที่ดีจึงเป็นโอกาสทองของประเทศที่จะหาโจทย์วิจัยที่ตรงกับความต้องการให้นักวิจัยทำ สนับสนุนเรื่องวิธีการทำวิจัยและกำกับการทำงานให้ใกล้ชิด ค่อยๆ สร้างความสามารถไปทีละขั้น ก็จะได้ผลงานวิจัยที่ดี และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ในระยะยาวได้ด้วย
นอกจากนี้ ผลงานเหล่านี้ก็ควรจะป้อนกลับไปเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ตั้งแต่ระดับโรงเรียนมัธยมขึ้นมาจนถึงสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสร้างเด็กและเยาวชนไทยให้เป็นนักวิจัยต่อไป
โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาตามภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลยิ่งต้องเน้นภารกิจนี้เป็นพิเศษ
นอกจากทั้ง 3 ส่วนที่มีอยู่ในประเทศพัฒนาดังที่กล่าวแล้ว สำหรับประเทศไทยนั้นยังมีงานวิจัยส่วนที่ 4 เป็นพิเศษคือ “งานวิจัยโดยชุมชน” ซึ่งชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้กำหนดหัวข้อวิจัยเอง เก็บข้อมูลเอง ทดลองปฏิบัติเอง และแก้ปัญหาของตัวเอง
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีชุมชนทำงานวิจัยแบบนี้อยู่หลายร้ออยแห่งทั่วประเทศ ทั้งที่ สกว.สนับสนุนและที่องค์กรอื่นๆ สนับสนุนและทำให้งานวิจัยอีก 3 ส่วนของระบบวิจัยเป็นงานที่ “ติดดิน” เป็นประโยชน์กับคนในชุมชนด้วย
หากขยายผลงานวิจัยแบบนี้ ให้กว้างขวางก็จะทำให้ระบบวิจัยของประเทศยิ่งมั่นคงขึ้นไปอีก คือในที่สุดจะเป็น “เก้าอี้สี่ขา” และแต่ละขามีขนาดเท่าๆ กัน ไม่ใช่ขาหนึ่งใหญ่ ขาหนึ่งลีบ
ทั้งหมดนี้เป็นตามหลักการว่าต้องเริ่มจาก “ปัญหาจริง” ของแต่ละฝ่าย ไม่ใช่เริ่มจากโจทย์ลออยๆ และต้องพยายามแก้ “ปัญหาจริง” นี้ก่อน จากปัญหาจริงนี้ ก็เชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ แตกกิ่งก้านสาขาออกไปเพื่อให้การพัฒนาของประเทศนั้นมั่นคง วิ่งได้เร็วและสมดุลไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ถ้าเราอดทนทำอย่างต่อเนื่องก็จะเกิดทั้งความลึกและความกว้างทั้งติดดินและลอยฟ้า คือมีผลงานวิจัยที่แก้ปัญหาจริงได้ออกมาสม่ำเสมอ นำผลงานไปขายเชิงพาณิชย์ได้ ในขณะที่สร้างความรู้ใหม่และสร้างความยั่งยืนของชุมชนไปด้วย แทนที่จะคิดเดินทางลัดบริหารงานแบบโยนเงินก้อนใหญ่ๆ ให้นักวิจัยไปแก้ปัญหาเอาเอง ซึ่งเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว สาเหตุที่ล้มเหลวก็เพราะทำงานแบบ “เก้าอี้ขาเดียว”
เราจึงควรเติมเก้าอี้ให้ครบ 4 ขาเสียที มิฉะนั้นอีก 40 ปีข้างหน้าเราก็ยังจะถามกันอยู่อย่างเดิมว่า “ทำอย่างไรวิจัยจึงจะไม่ขึ้นหิ้ง? อยู่นั่นเอง
+++++++++++