โครงการวิจัย-2547

ฟื้นภาษาชอง สะท้อนการดำรงอยู่ของคนชอง

เอ่ยนาม  “เฉิน   ผันผาย”  แน่นอนคงไม่มีคนรู้จัก  แต่ชาวบ้านธรรมดาซึ่งเป็นอดีตกำนันคนนี้ คือผู้ริเริ่มปลุกจิตสำนึกของผู้คนที่มีเชื้อสาย “ชอง” ในตำบลตะเคียนทอง ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชกูฎ จังหวัดจันทบุรี ให้หันมาตระหนักและร่วมกันรื้อฟื้นภาษาอันทรงคุณค่าและกำลังมีลมหายใจที่รวยรินให้กลับคืนชีวิตอีกครั้ง

“ทำไมคนข้างนอกมาสนใจภาษาของเรา แสดงว่ามันต้องมีอะไรดี…มันต้องมีค่ามาก ภาษาเราต้องมีค่า…ก็เริ่มคิดตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา  ตอนนั้นก็คิดว่าภาษาที่เราก็กำลังใช้ ๆ กันอยู่อาจจะหายไป  มันก็เริ่มมืดมน และคิดว่าเราจะมีปัญหาอะไรไปรื้อฟื้นภาษาชองกลับมา…”

“คนข้างนอก”  ที่กำนันเฉินกล่าวถึงนั้นคือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบทมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ “จุดคบเพลิง” แห่งความมุ่งมั่นให้แก่กำนันเฉินชายร่างเล็กผิวคล้ำกร้านแดด

เมื่อคบเพลิงแห่งความมุ่งมั่นถูกจุดขึ้น กำนันเฉินเริ่มเอาความคิดของตนเองออกขายแก่ผู้คนในชุมชน  เขาพูดเสมอ ๆ ว่านี่ไม่ใช่การฝัน และการโหยหาอดีตที่ไม่รู่ว่าจะนำมันกลับมาในช่วงอายุของตนเองหรือไม่  แต่เขายืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ “ความเป็นชอง” กลับมามากที่สุดโดยเฉพาะเรื่องของภาษา เพราะภาษาชองที่พวกเขาใช้สื่อสารกันในสังคมเล็ก ๆ นั้นเป็นภาษาพื้นเมืองที่กำลังจะสูญหายไปจากเมืองจันทน์…และแม้ว่าจะมีชาวบ้านเชื้อชาติชองจะใช้ดั้งเดิมกันเป็นการภายในแต่ก็ตาม  แต่เขาเชื่อว่า ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง “มรดกทางภาษา”  ที่บรรพบุรุษถ่ายทอดมาให้อาจสูญหายไปในที่สุด

เหตุผลแค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้กำนันเฉินรวบรวมผู้คนเข้ามาร่วมกันทำวิจัยโครงการ “การอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง ตำบลตะเคียนทอง ตำบลคลองพลู กิ่งอำเภอเขาคิชกูฎ จังหวัดจันทบุรี”  โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค เพื่อให้คนในชุมชนกลับมาพูดคุยด้วยภาษาชองอีกครั้ง ก่อนที่จะเลือนหายไปตามกาลเวลา

และเมื่อชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น ทีมวิจัยที่นำโดยอดีตกำนันจึงแบ่งกลุ่มออกสำรวจหาผู้รู้ภาษาชองในพื้นที่ตำบลตะเคียนทองและตำบลคลองพลู  พร้อมทั้งตรวจสอบความสามารถการใช้ภาษาชองในชีวิตประจำวันของคนทั้งสองตำบล  ตลอดจนความสนใจและความต้องการเกี่ยวกับชั้นเรียนภาษาชอง 

 “เราพบว่าเมื่อก่อนเด็กแถวนี้พูดชองหมด  แต่เมื่อทางราชการออกกฎหมายเกี่ยวกับระบบการเรียนภาษา ครูจึงบังคับเด็กไม้ให้พูด…ใครพูดก็ตี เพราะจะทำให้เรียนภาษาไทย และพูดภาษาไทยไม่ชัด…นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ภาษาชองของเราลดถอยลง และทำให้เด็กไม่สนใจภาษาท้องถิ่นของตัวเอง…” กำนันเฉินอธิบายถึงสาเหตุบางประการที่ทำให้ภาษาชองหายไปจากชุมชนเร็วขึ้น และเมื่อบวกรวมกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่ต้องเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ภาษาชองเลือนหายไป…

 “โดยเฉพาะตั้งแต่เปลี่ยนหลักสูตร โดยให้ลดการสอนวิชาศีลธรรม และวิชาหน้าที่พลเมืองลง ทำให้ปัญหาเรื่องการภาษาถิ่นลดตามลงไปด้วย  เพราะทั้งสองวิชาทำให้เด็กรู้ว่าท้องถิ่นของตนเองมีอะไรบ้าง และเมื่อตัดหลักสูตรนี้ออกเด็กก็เริ่มพูดภาษากลางมากขึ้น  ชาวบ้านก็หันมาพูดภาษากลางตามลูก”

เมื่อค้นพบปัญหา รวบรวมได้ทั้งคน ,องค์ความรู้  และภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวชอง ทีมวิจัยชาวบ้านซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น คณะกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษาชอง  ลงความเห็นว่าควรจะทดลองจัดทำเป็นหลักสูตรเพื่อใช้สอนเด็ก ๆ เพราะหากเด็กอ่านภาษาชองได้แล้วก็น่าจะสามารถเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ต่อไปด้วยเช่นกัน

“เป็นความคาดหวังขั้นต้นที่จะให้เด็ก เยาวชนในหมู่บ้านมารถพูดภาษาชองได้  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่จะทำให้เด็กพูดชองได้  มันต้องทำอย่างต่อเนื่อง เช่นการให้เข้าเรียนในโรงเรียน โดยมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนในห้องเรียน จากนั้นก็พุ่งเป้าไปที่เด็กนอกห้องเรียน “ หัวหน้าทีมวิจัยอธิบาย

กิจกรรมนอกห้องเรียนของกำนันเฉินคือการร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชนฟื้นฟูวัฒนธรมดั้งเดิมของชาวชองให้กลับมา เอาเด็ก ๆ มาร่วมเรียนรู้กับผู้ใหญ่ ศึกษาให้ครบว่าในรอบ 1 ปี ชาวชองมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้านไหนบ้าง

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยมิได้หยุดอยู่เพียงแค่การผลักดันให้โรงเรียนจัดทำเป็นหลักสูตรในโรงเรียน ชาวบ้านยังได้ร่วมกันก่อตั้ง “ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวชอง” ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรมของชาวชอง  อันเป็นความคาดหวังประการหนึ่งว่า ชาวชองจะลุกขึ้นมาดูแลภาษาและวัฒนธรรมอันเป็นรากเหง้าของตนเอง

“ตอนนี้ผมก็กำลังคิดค้นตัวหนังสือชองอยู่ พอดีไปเจออาจารย์ท่านหนึ่งเป็นนักภาษาศาสตร์  ท่านก็แนะนำว่า ไม่ควรมีตัวสระอยู่ข้างล่างและข้างบน ออกแบบให้เป็นแนวเดียวแบบภาษาอังกฤษ เพราะพื้นฐานภาษามันง่าย …ภาษาชองก็เลยมีฐานร่วมกันระหว่างภาษาไทยและภาษาอังกฤษ…โดยภาษาไทยนั้นจะยึดจากบางส่วน เช่น ก.ไก่ ก็เอามาครึ่งตัว และถ้าลบบางส่วนออกก็จะเป็นก.ไก่ อย่างตัว ระ…ในภาษาชอง ถ้าลบบางส่วนทิ้งไปก็จะเป็นตัว ร.เรือของภาษาไทย ตัวหนังสือใช้พื้นฐานจากภาษาไทย และการสะกดคำ จะใช้หลักในภาษาอังกฤษมาใช้  ซึ่งจะไม่มีวรรณยุกต์ข้างล่าง และข้างบน” 

และกำนันเฉินยังกล่าวด้วยความมุ่งมั่นว่า เมื่อเขาสามารถคิด ประดิษฐ์ตัวหนังสือ หรือพยัญชนะที่เป็นภาษาชองออกมาจนครบและประสบความสำเร็จเป็นทมี่ยอมรับของชุมชน ก็จะนำเอาไปสอนแก่คนรุ่นแรกซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่ในหมู่บ้านที่พอจะมีเวลาและให้ความสนในประมาณ 10 คน 

“ทางอบต.อยากให้ผมไปสอน…ในเบื้องต้นอาจจะรวมกลุ่มผู้สนใจรุ่นแรก ๆ ซัก 10 คนก็น่าจะพอ หัดเขียน หัดเรียนให้เก่ง แล้วเขียนจดหมายหากัน อาจจะแต่งเป็นเพลง ทดลองสื่อการกันด้วยภาษาเขียน…แต่ตอนนี้ยังไม่คิดลงมาถึงเด็ก ๆ สอนพวกโต ๆ ก่อน ถ้าพวกผู้ใหญ่สนใจ  อ่านเข้าใจง่ายเหมือนหนังสือไทย เด็ก ๆ ก็ต้องอยากเรียน เราก็จะให้กลุ่มผู้ใหญ่รุ่นแรกลงมาเป็นแนวร่วมในการสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ  “

                ————-

จะไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ทำให้กำนันเฉินทุ่มเทเวลาที่เหลืออยู่ในชีวิตหมดไปกับการรื้อฟื้นภาษาที่หลาย  ๆ มองว่าไร้คุณค่า และกำลังจะหายไปจากเมืองจันทบุรี แต่สิ่งหนึ่งซึ่งมีอยู่ในตัวกำนันเฉิน  และเขาได้ถ่ายทอดออกมาทุก ๆ ครั้งที่มีโอกาสไปอวดผลงานของเขาในเวทีวิชาการทั้งเล็กและใหญ่ นั่นคือ  ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ  การเห็นคุณค่า และความภาคภูมิใจที่ตัวเองเกิดในหมู่ของชนชาติชอง

 “ผมรักบรรพบุรุษ รักมาก รักเสียงของปู่ย่าตายายให้กับพวกเรามา ผมจะทำเพื่อตอบแทนบรรพบุรุษโดยให้ภาษาคงอยู่ต่อไป…จะรื้อฟื้นคำพังเพย คติเดือนใจ  หรืออะไรก็แล้วแต่ให้คืนกลับมาให้มากที่สุด เราต้องทำไว้…ก่อนที่มันจะไม่เหลืออะไรที่เป็นของเรา….เป็นของชอง”  

**************