CBT.- การท่องเที่ยวโดยชุมชน people

ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ : ผู้นำไม่ต้องเก่ง แต่ต้องเข้าใจ

+++++++++

หลายคนคงคุ้นเคยกับการเรียก “พ่อหลวงพรมมินทร์ พวงมาลา” มากกว่า “ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์”  เพราะ ชื่อ “พ่อหลวงพรมมินทร์” เป็นเสมือนตราประทับของบ้านแม่กำปอง แหล่งท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของเชียงใหม่  

อดีตผู้ใหญ่บ้านและเป็นแกนนำคนสำคัญแห่งบ้านแม่กำปอง คนนี้ คือผู้ริ่เริ่มใช้ “กระบวนการวิจัย”  เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับ “การท่องเที่ยว” ของหมู่บ้านเมื่อพบว่าหลังเปิดชุมชนสู่สายตาคนนอก และหลายคนในชุมชนยังขาดความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องของ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ขณะนั้น  

และหลังจากนั้นอีกเกือบ 2 ทศวรรษ บ้านแม่กำปองก็ยังคงรักษาวิถีชิวิตอันเรียบง่ายของชุมชนไว้อย่างเหนี่ยวแน่น 

ซึ่งคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์”  หรือ  “พ่อหลวงพรมมินทร์”  คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านี้

———————–

แม่กำปองอยู่มาถึงวันนี้ได้เพราะอะไร

ผมว่าอยู่ที่คน อยู่ที่ความสามัคคีของชาวบ้าน อยู่ที่ความเข้าใจของคนทั้งชุมชนนะ เราต้องทำความเข้าใจกับคนทั้งชุมชน ทำอย่างไรให้เขามีความเข้าใจในเรื่องของการท่องเที่ยว วิธีการสร้างความเข้าใจของผมคือการใช้กระบวนการวิจัย ผมพึ่งพางบวิจัยของ สกว.มาถึง 4 ครั้ง ครั้งแรกหารูปแบบการจัดการการท่องเที่ยว หลังจากนั้นมาก็เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวบ้านที่เคยปลูกผักกินเองก็ซื้อ ท้ายที่สุดรายได้ก็หมดไปกับการซื้อของที่เคยทำเองได้ และยังมีเสียเงินเสียทองกับการรักษาตัวเองก็คือโรคภัยไข้เจ็บจากการบริโภค โจทย์คือทำอย่างไรเราจะไม่หลวมตัวไปกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ งานวิจัยเป็นเรื่องของการค้นหาเศรษฐกิจชุมชนจากการท่องเที่ยว ความสำเร็จตรงนี้คือชาวบานมีความเข้าใจในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม และเรื่องการทำเศรษฐกิจตนเองโดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ผมใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยอยู่หลายปึเหมือนกัน

งานวิจัยเข้ามาตอนไหน

เริ่มทำงานวิจัยปี 2545 หลังจากที่เปิดหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ปีกว่า เพราะเริ่มมองเห็นปัญหา คือเกิดความไม่เข้าใจกันของคนในชุมชน  โดยเฉพาะเรื่องกฏ กติกา ระเบียบ เรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ ซึ่งในตอนนั้นเรายังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการจัดการท่องเที่ยวมากพอ  พอมีปัญหา ผมก็มองหาช่องทางในการแก้ไปปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชน  ให้มีความเข้าใจในเรื่องของการท่องเที่ยว  เรื่องของกฏ กติกาต่าง ๆ ก็มองหาช่องทางว่าจะทำยังไง ก็มานึกได้ว่าชาวบ้านต้องมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ต้องมีการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานบ้าง หรือจะต้องค้นหาปัญหา หรือ ค้นหาเรื่องความต้องการของชุมชนจริง ๆ ว่ามีอะไร 

ซึ่งการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างทีมวิจัยและชุมชน โดยมีพี่เลี้ยงจาก สกว.มาสนับสนุน ในเรื่องกระบวนการเก็บข้อมูล  กระบวนการทำงาน ทำให้บ้านเราประสบความสำเร็จได้ดีมากนะครับ เพราะชาวบ้านได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

งานวิจัยไปช่วยคลี่คลายปัญหาตรงไหน

กระบวนการวิจัยทำให้ชาวบ้านได้ค้นหาปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาให้กับตัวเอง รวมไปถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการของคนในหมู่บ้านว่าเขาต้องการอะไร และถ้ามีปัญหาเขาจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร มันเป็นเหมือนโจทย์ให้เขาได้คิดออกมา ซึ่งในท้ายที่สุดก็ทำให้เราทราบปัญหา สาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ไขปัญหา ที่ชุมชนจะต้องมาหาทางออกรวมกัน เช่นกำหนดทิศทางการท่องเที่ยวร่วมกัน กฏ กติกาต้องเป็นแบบไหน ผลประโยชน์จะแบ่งกันอย่างไร 

เรามีวิธีการเอาข้อมูลมาจัดการปัญหาอย่างไร

เราไปเปิดเวทีสร้างความเข้าใจในแต่ละป๊อก  หรือแต่ละปางเพื่อทำความเข้าใจ อธิบายที่มาที่ไป  ก็อธิบายว่าโครงการที่เราทำอยู่ตอนนั้นเป็นอย่างไร เป้าหมายของเราคืออะไร  สร้างความเข้าใจและรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะของแต่ป๊อกบ้าน และหลังจากที่เขาสะท้อนปัญหา และแนวทางการแก้ปัญหา ทางกรรมการ หรือ ทีมวิจัยก็รวบรวมเอาข้อมูลทั้งหมด ทั้งที่เป็นข้อเสนอแนะ แนวทาง หรือความต้องการมาทำเป็นแผนการทำงาน เช่นเรื่องการจัดการขยะ ตอนนั้นเราก็ตกลงกันว่า ให้แต่ละปางหรือแต่ละครอบครัวจัดการปัญหาขยะในครัวเรือนตัวเองก่อน เช่น รีไซเคิลภายในครัวเรือน  บางอย่างก็เอาไปขาย ต้องแยก ต้องคัดออกมา นี่คือกติการ่วมกัน

ทำอย่างไรให้เขาทำตามเรา หรือทำตามกฏ กติกา 

ความสำคัญมันอยู่ที่การสร้างความเข้าใจของแกนนำในแต่ละป็อกบ้าน  เพราะถ้าในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกัน ยอมรับในกติกากลาง ก็มีการประกาศใช้  ก็ต้องมีการปฏิบัติร่วมกัน  ผมยอมรับว่าคนในชุมชนเราไม่ค่อยจะมีปัญหาในการคัดค้าน ต่อต้าน และการมีส่วนร่วมค่อนข้างสูง ตรงนี้นับเป็นโชคดีของหมู่บ้าน บวกกับกระบวนการสร้างความเข้าใจ และการอธิบายที่อยู่บ้านฐานข้อมูลความต้องการของส่วนร่วมมันเลยไม่ค่อยเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมยึดเป็นหลักในการทำงานมาตลอดคือ “ถ้าจะทำอะไรต้องสร้างความเข้าใจก่อนเสมอ”  เพราะถ้าทุกคนเข้าใจ ยอมรับ มีความเห็นตรงกัน เห็นแย้งได้ แต่สุดท้ายต้องทำให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน การมีส่วมร่วมก็จะเกิดขึ้นเอง 

หมายความว่า งานวิจัยทำให้เห็นที่มาของปัญหา และรู้ความต้องการของชุมชน 

ใช่ครับ มันก็เลยออกมาเป็นแผนการทำงานและโครงการที่ขับเคลื่อน ท้ายที่สุด กฏ กติกาที่เรากำหนดกันตั้งแต่ปีแรก ๆ ของการทำวิจัย ก็ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลทรัพยากร มีกฏ กติกาชัดเจนว่าจะใช้ไม้อย่างไร ต้องขออนุญาติจากใคร หรือเรื่องค่าบริการ ค่าที่พัก ก็มาจากที่ประชุมประชาคม ของแต่ละป๊อก คณะกรรมการก็ไปทำรายละเอียด และเอาเข้าเวทีใหญ่ แสดงความคิดเห็น และประกาศเป็นกติกร่วม ซึ่งระเบียบต่าง ๆ ก็ออกมาจากแต่ละป็อก หลังจากสรุป ก็เอาคนทั้งหมูบ้านมาประชุม หารือ และลงประชามติร่วมกัน 

ระบบบริหารเป็นอย่างไร    

ระบบบริหารจัดการตอนนี้เป็นในรูปสหกรณ์ ในการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว เราแบ่งเป็น 4-5 อย่างคือค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าบริการ ค่ากิจกรรมพาชม ค่าบริการหมู่บ้าน ค่าที่พัก ค่าบริการ ค่าอาหาร … 3 อย่างที่เจ้าของบ้านจะได้ไปเลยโดยไม่ต้องหักค่าอะไร สมมติมีแขกมานอน 1 คนอาหาร 3 มือ ค่าใช้จจ่าย 580 เจ้าของบ้านได้ 400 บาท ส่วน 180 นำมาจัดสรร ทุกวันที่ 1 เรามาสรุปค่าใช้จ่ายร่วมกัน รายรับ ร่ายจ่ายเท่าไหร่ เอาไปใช้จ่ายตรงไหนบ้าง มันมีรายละเอียดการใช้จ่ายอยู่ เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน กรณีเกิดใหม่ เสียชีวิต ป่วยหรือนอนโรงพยาบาล และจบการเรียนการศึกษา  ค่าน้ำค่าไฟ และส่วนที่ต้องเอาเข้าสหกรณ์ และทุนดำเนินงานของคณะกรรมการ นี่คือการบริหารกำไรที่ได้จากการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน เราทำตามกติกานี้ ชาวบ้านก็ไม่มีปัญหา อีกอย่างคือเราดำเนินงานในรูปของสหกรณ์ ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมบัญชีกลางมาตรวจสอบเรื่องการทำบัญชี  

ราเน้นที่ความโปร่งใส ไม่ให้มีปัญหาเรื่องคนไปโกงใด ๆ ทั้งสิ้น  เพราะฉะนั้นตลอดระยะเวลาที่เราเปิดการท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ยังไม่มีการท้วงเรื่องเรายได้ ยังไม่มีประวัติการทุจริต

“ธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์” 

ในด้านการดูแลสถานที่ ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว เรามีวิธีการจัดการอย่างไร 

เราเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มักเกิดขึ้นจากคน เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นเราก็ต้องทำความเข้าใจกับคน  และเมื่อคนเข้าใจเราก็ต้องมีทำความเข้าใจในเรื่องระเบียบกติกา เมื่อทุกคนเห็นชอบในระเบียบมันก็เหมือนกับเป็นกฏหมายของหมู่บ้าน หมายถึงว่าเวลาร่างออกมามันก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการหมู่บ้านก็คือรัฐมนตรี  แต่ที่นี้ความตกลงในการใช้ระเบียบกติกานี้มันไม่ได้อยู่เฉพาะรัฐมนตรี มันทั้งหมู่บ้านที่ยอมรับ นั่นหมายความว่ากติกานี้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก่อนที่จะประกาศใช้สมาชิกในหมู่บานต้องรับรู้และเห็นชอบก่อนถึงจะประกาศใช้ ถ้ามีตรงไหนยังไม่เข้าใจ คณะกรรมการก็ต้องทำความเข้าใจ เราจะไม่ปล่อยให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเข้าใจคลาคดเคลื่อน ไม่อย่างนั้นปัญหาจะตามมาแน่นอน   

อย่างกรณีซื้อขายที่ดินที่มักเป็นปัญหาในหมู่บานท่องเที่ยว ของแม่กำปองจัดการอย่างไร 

 คนที่เป็นคนกลางในการซื้อขายคือผู้ใหญ่บ้าน  ก่อนมีการซื้อขายผู้ใหญ่บ้านต้องถามก่อนว่าจะซื้อไปทำอะไร สร้างบ้านอยู่หรือสร้างที่พักรับนักท่องเที่ยว  ถ้าอยู่อย่างเดียวซื้อได้  แต่ถ้าจะทำเป็นธุรกิจหรือบ้านพัก ไม่ได้ เป็นข้อห้าม การห้ามก็คือ การไม่เซนต์อนุมัติหรือยอมรับในการซื้อขายนั้น  แต่ถ้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยก็ต้องทำในกรอบของหมู่บ้านเช่นแบบบ้านวัสดุที่ปลูกต้องกลมกลืนกับหมู่บ้าน… 

 จริง ๆ แล้วระเบียบนี้ออกมาตอนที่มีบ้านแปลก ๆ โผลออกมาสองสามหลัง เมื่อนานมาแล้ว เป็นของคนนอก หลังจากเราเห็นปัญหาเราก็มาออกกติกา เพราะตอนแรกเราก็ไม่คิดหรอกว่ามันจะมีคนอยากมาอยู่แบบเรา หลัง ๆ คนที่มาซื่อแล้วทำอะไรไม่ได้ เขาก็ไม่มาซื้อแล้วเหมือนกัน ตรงนี้ก็สะท้อนว่าถ้าเราไม่ไหวตัวกับเรื่องแบบนี้ มันก็จะมีความเปลียนแปลงไปมากกว่านี้ ก็เพียงแต่มีร้านค้าเพิ่มมากขึ้นเท่านั้นเอง  แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นร้านของชาวบ้าน 

ส่วนการสร้างบ้านใหม่ เพื่อปรับเป็นโฮมสเตย์ ก็ขอความมมือในเรื่องให้มีความกลมกลืนกับชุมชน แต่ถึงกระนั้นก่อนขออนุญาติปลูกก็ต้องมีแบบแปลน ที่ต้องไปขออนุญาติจากคณะกรรมการชุมชน เพราะฉะนั้นก่อนที่อบต.จะเซนต์อนุญาติก็ต้องเห็นว่าก่อนว่าคณะกรรมการหมู่บ้านเซนต์อนุมิติมาหรื่อยัง ถ้าไม่มี ทางอบต.ก็ไม่รับรองให้  ตรงนี้เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างชุมชนกับท้องที่ ท้องถิ่น เราต้องหาตัวช่วย  เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการสร้างที่เปลียนแปลงไปมากกว่านี้ 

คณะกรรมการมาจากไหน

โครงสร้างกรรมการ ทั้งหมดมี 18 คน ประธานกรรมการคือผู้ใหญ่บ้านโดยตำแหน่ง นอกนั้นก็เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สอบต. และประธานกลุ่มต่าง ๆ อีกส่วนหนึ่งคือเข้ามาด้วยการเลือก คือให้ช้าวบ้านเลือกจาก 6 ป็อก โดยแต่ละป๊อกจะเลือกกันเข้ามาเอง วิธีนี้จะเป็นการสร้างคนหรือพัฒนาคนไปในตัว เพราะคนที่ถูกเลือกมาเป็นผู้นำหรือตัวแทนจะต้องเข้ามาทำหน้าที่แทนชุมชนในแต่ละป๊อกของตัวเอง เราได้สร้างคนที่เป็นผู้นำเพิ่มขึ้น  ผู้นำในที่นี้ไมได้หมายถึงผู้ใหญ่บ้าน อาจจะเป็นผู้นำกลุ่ม ผู้นำป๊อกบ้าน เมื่อเข้ามาทำงานก็จะได้รับการพัฒนาศักยภาพไปในตัว เป็นการส้รางคน สร้างกลุ่ม และเป็นตัวแทนของผู้ใหญ่บ้านได้เป็นอย่างดี และในระยะยาวจะได้ทั้งคนทำงานและแกนนำในอนาคต และคนกลุ่มนี้สามารถจะมาทำงานแทนกันได้ เหมือนเป็นทายาทในการทำงานรุ่นต่อ ๆ ไป เหมือนผมสร้างคนไว้ตอนเป็นผู้ใหญ่บ้าน พอผมหมดวาระก็มีคนอื่นขึ้นมารับช่วงต่อ และหลังจากนี้ก็จะมีคนรุ่นต่อ ๆ ไปทำหน้าที่แทน ตรงนี้เป็นเรื่องของความยั่งยืนที่เราต้องให้ความสำคัญ      

ในแง่ของนักท่องเที่ยว เราดูแลอย่างไร

 นักท่องเทียวมาที่นี่อย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยไม่มีคำว่าโลว์ หรือ ไฮ มันมีปัจจัยหลายอย่าง มันไม่ได้มีเฉพาะจุดเด่นหรือจุดขายอย่างเดียว คนในหมู่บ้านก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่รู้จักไม่ทักทาย ยิ้มให้กันก็ยังดี  อีกอย่างคือกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ดิน น้ำ ป่า อากาศ ก็เป็นเรื่องสำคัญ แหล่งท่องเที่ยว และตัวช่วยที่สำคัญคือสื่อ ที่นำเสนอเรื่องความประทับใจ เมื่อเกิดความประทับใจก็จะเกิดการบอกต่อกันไปเรื่อย ๆ แบบปากต่อปาก เมื่อมีนักท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง มันก็เกิดการดูแลทรัพยากร  จริง ๆ แล้วการท่องเที่ยวมันมาที่หลัง เรามีดิน น้ำ ป่า อากาศที่เย็นสบายแบบนี้เพราะอะไร ก็เพราะเรามีกฏ กติกาในการดูแลรักษาป่า มีทุนทางวิถีชีวิต ทำอย่างไรไม่ให้วิถีชีวิตเปลีย่นแปลง  เอาเข้าจริง ๆ ทุกวันนี่ชาวบ้านก็ยังเก็บเมี่ยงเก็บชาอยู่นะครับ  เวลามีแขกมาแม่บ้านก็มารับนักท่องเที่ยว ไม่มีก็ไปไร่ไปสวน เมื่อความเปลี่ยนแปลงไม่เกิด คำว่ายั่งยืนก็เป็นไปได้  และมันก็ถึงอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ 

 อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของการบริหารจัดการ เช่นรายได้ ก็พยายามให้มันถูกต้องไปตามกติกาที่ชุมชนกำหนด มันก็จะช่วยทำให้คนเข้าใจ ทำให้ความเข้มแข็งมันก็เกิดขึ้น เมื่อมีความเข้าใจ ความทะเลาะเบาะแว้งมันก็ไม่เกิด การมีส่วนร่วมมันก็สูง  การมีส่วนร่วมในที่นี่คือมีจิตมีใจสาธารณะร่วมกันทำเพื่อชุมชน รักษาสิ่งแวดล้อมไว้ไม้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ย้อนกลับไปสู่ชุมชนก็คือพวกสวัสดิการต่าง ๆ ที่บอกไว้ตังแต่ตอนตั้น หลักการณ์คือ เข้าใจ ตังเกณฑ์ ทุกคนอยู่ในครรลองของกติกานั้น มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม  มีหลักคุณธรรมในการที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่เรียกว่า หลักธรรมาภิบาล เมื่อทุกคนได้รับอานิสงค์เหมือนกันหมด ความร่วมไม้ร่วมมือมันก็เกิด  หลายคนก็เคยถามว่าบ้านแม่กำปองจะรักษาสิ่งนี้ไว้ได้อีกนานแค่ไหน ผมเคยตอบไปว่าอย่างน้อยก็สิบปี และจะมีคนรุ่นใหม่ ๆ มารับช่วงต่อซึ่งเราเองก็ได้สร้างไว้แล้ว ก็คงจะดูแลรักษาสืบต่อไปได้ 

ถ้ามองถึงความยั่งยืนหลายคนมองไปที่การท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ผมว่าท่องเที่ยวมันจะยิ่งยืนได้มันต้อง ทำให้สิ่งที่เป็นปัจจัยนั้นอยู่ได้ก่อน เช่นป่าไม่เหลือจะยั่งยืนได้อย่างไร และใครล่ะจะทำให้ป่าไม่เหลือก็คือคนนั่นเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องไปทำความเข้าใจกับคนก่อน พอเข้าใจก็ต้องสร้างกติกาออกมาร่วมกัน และปฏิบัติร่วมกัน

จริง ๆ แล้ว ผู้นำต้องเก่งแค่ไหน

ผมว่า ไม่ถึงกับต้องเก่ง แต่ต้องเข้าใจ ถ้าคิดถึงเรื่องความยั่งยืน ก็ต้องเข้าใจว่าจะป้องกันมันอย่าง จะจัดการอย่างไร แรก ๆ ผมก็ไม่ทราบหรอก แต่งานวิจัยทำให้เราเข้าใจ การลงไปเก็บข้อมูลก็ทำให้เกิดความเข้าใจ กิจกรรมเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนของเราเน้นเร่องการพัฒนาคนเป็นหลัก งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นก็เน้นเรื่องการพัฒนาคน เมื่อคนได้รับการพัฒนา มีความเข้าใจ ก็จะสามารถไปพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ได้ แม้แต่ไปพัฒนาคนด้วยกันเอง 

ผมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน ส่วนผู้นำจะเก่งหรือไม่เก่งนั้นไม่เป็นไร ขอให้คิดเป็นก็พอ อย่าเห้นแก่ตัว อย่างโลภเกินไป เราได้ เขาได้ให้เกิดความสมดุล ผู้นำเองก็ต้องพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง หมั่นเรียนรู้อยู่เสมอ 

+++++++