ผาชัน : แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการน้ำ
ภัยแล้ง – น้ำท่วมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยเผชิญกับปัญหานี้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ รวมทั้งภาคกลาง ซึ่งยังคงเป็นเรื่องยากที่จะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวได้ และในปี 2563 นี้กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาภาวะภัยแล้งยาวนานถึงกลางปี ทั้งยังมีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปี ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยแล้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรตระหนักและตื่นตัวกันในขณะนี้ รวมถึงการหาวิธีจัดการกับปัญหาภัยแล้งในระยะยาวด้วยเช่นกัน แม้ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในระยะยาวนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นจริง แต่ความหวังได้เกิดขึ้นเมื่อหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีอย่าง “ผาชัน” พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการแก้ไขปัญหาน้ำในระยะยาวสามารถเกิดขึ้นได้ และเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพด้วย “เครื่องมือ” ของคนในชุมชน
ทำความรู้จักกับ “ผาชัน”
หลายคนรู้จัก “ผาชัน” จากแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “เสาเฉลียงใหญ่” “ผาเลข” หรือ “สามหมื่นรู” แต่คงไม่ทราบเรื่องราวในเชิงลึกว่าชุมชนที่รุ่มรวยทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติอย่างผาชันนั้น กลับเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำมาเป็นระยะเวลายาวนาน
ผาชันเป็นหมู่บ้านริมแม่น้ำโขง ตั้งอยู่ในตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี แม้จะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขง แต่ด้วยพื้นที่ของหมู่บ้านที่มีลักษณะเป็นภูเขาและหิน ลาดเอียงลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ไม่สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำไว้ได้ จึงเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภคและบริโภคทั้งในครัวเรือนและการเกษตรระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำในชุมชนบ้านผาชันนั้นเป็นปัญหาที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาและปริมาณการเพิ่มขึ้นของประชากร แม้ชาวบ้านจะแก้ปัญหาด้วยการขุดบ่อน้ำตื้นไว้ใช้เอง นำกระสอบทรายกั้นลำห้วยเพื่อกั้นน้ำไว้ใช้ ระดมทุนและแรงงานในการทำฝายกั้นลำห้วย หรือแม้แต่มีหลายหน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาวได้
เมื่อชุมชนบ้านผาชันทำความรู้จักกับ “เครื่องมือ” ชนิดหนึ่ง จากที่ประสบกับปัญหาน้ำมาตลอดหลายปี และไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดลงง่าย ๆ ร้ายแรงถึงขนาดที่ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภคจนต้องซื้อน้ำจากชุมชนข้างเคียง แต่ผาชันในวันนี้กลายเป็นชุมชนที่ยืนหยัดได้ด้วยตนเอง เปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ สถานการณ์น้ำของชุมชนเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด น้ำเพียงพอต่อการบริโภคและอุปโภค ไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานภายนอกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป และกลายเป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องให้แก่ชุมชนอื่นจนเกิดศูนย์การเรียนรู้ขึ้น ซึ่งเครื่องมือที่ทำให้ผาชันก้าวผ่านปัญหาขาดแคลนน้ำไปได้คือ “งานวิจัย” อันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน
ที่มาของงานวิจัย
ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานีได้เข้ามาอธิบายแนวคิดการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้แก่ชุมชนบ้านผาชัน แม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่ชาวบ้านให้ความสนใจและอยากทดลองทำ ในตอนแรกกลุ่มผู้นำในชุมชนเล็งเห็นถึงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงต้องการทำงานวิจัยเพื่อศึกษาการจัดการการท่องเที่ยว แต่ภายหลังจากการจัดประชาคมกับชาวบ้านกลับเกิดการตั้งคำถามว่าจะจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างไรในเมื่อทรัพยากรน้ำในชุมชนมีไม่เพียงพอ นำไปสู่การตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน และเกิดโจทย์งานวิจัยเรื่องการศึกษาการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำ ประโยชน์จากงานวิจัยนี้จะเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาที่มีอยู่ และเป็นข้อมูลในการของบประมาณจากหน่วยงานราชการเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนต่อไป
นอกจากนี้กลุ่มผู้นำชุมชนยังตระหนักว่า ชุมชนขาดความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาน้ำของตนเอง และพึ่งพาหน่วยงานภายนอกมากจนเกินไป อีกทั้งทางชุมชนยังนำเสนอโครงการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำจากหน่วยงานทั้งหลายได้ไม่ดีพอ เนื่องจากขาดข้อมูลรองรับ งานวิจัยนี้จึงเป็นวิถีทางของการพึ่งตนเอง และเป็นการยกระดับโครงการของชุมชนให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
กระบวนการทำงานวิจัย
- การประชาคม – จัดประชาคมกับทุกภาคส่วนในชุมชนเพื่อระดมข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องปัญหาน้ำ เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะสมที่สุด
- การสำรวจ – การจัดการน้ำขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ จึงต้องสำรวจพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน ทั้งที่ดิน แหล่งน้ำ และพื้นที่การเกษตร โดยสำรวจที่ดินเพื่อหาแหล่งกักเก็บน้ำเพิ่มเติม สำรวจเรื่องน้ำทุกมิติในชุมชน เช่น แหล่งน้ำ ปริมาณน้ำที่มี ปริมาณน้ำที่ใช้ ความต้องการใช้น้ำ เป็นต้น สำรวจพื้นที่การเกษตร แม้กระทั่งชนิดพืชที่ปลูก รวมถึงสำรวจประชากร ซึ่งทุกเรื่องที่สำรวจจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำทั้งหมด และจะนำไปสู่วิธีบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชาวบ้าน
- การนำเสนอ – นำเสนอแผนที่ได้จากการประชาคมผ่านตัวแทนชุมชนเข้าสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยข้อมูลที่นำเสนอคือปัญหาเรื่องน้ำ ปัญหาการจัดการน้ำ ความต้องการการจัดการน้ำของชุมชน ทั้งแผนที่ชุมชนสามารถดำเนินการได้เองและแผนที่ต้องการให้หน่วยงานสนับสนุน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างครบถ้วน ก่อนจะเข้ามาจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาชุมชนตามแผนที่วางเอาไว้ต่อไป
กลไกของความสำเร็จ
กลไกที่ทำให้ระบบการบริหารจัดการน้ำในชุมชนบ้านผาชันประสบความสำเร็จ และเป็นไปอย่างยั่งยืน แบ่งออกเป็น 2 กลไก ดังนี้
- การกระจายอำนาจ – ผู้นำชุมชนกระจายอำนาจให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ มีหน้าที่และได้รับผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน โดยแบ่งเขตพื้นที่รับผิดชอบตามครัวเรือนออกเป็น “คุ้ม” หรือกลุ่ม เพื่อเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างผู้นำและชาวบ้าน การเข้าถึงและการสื่อสารภายในชุมชนจึงง่ายขึ้น ผู้นำให้ความสำคัญและทำความเข้าใจกับลูกบ้านที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบมากขึ้น รวมถึงแบ่งหน้าที่ให้คนในชุมชนดูแลเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ สำรวจการใช้น้ำในชุมชน และดูแลความเรียบร้อยของการบริหารจัดการน้ำ นอกจากเพื่อเป็นการดูแลชุมชนอย่างทั่วถึงแล้ว ยังเป็นการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งภายในชุมชนด้วยเช่นกัน
- การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน – จัดประชาคมกับทุกภาคส่วนในชุมชนเพื่อให้ทุกคนได้ระดมความคิดเห็น ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบของปัญหาอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อผู้นำหรือหน่วยงานภายนอกขอความร่วมมือในเรื่องใด ชาวบ้านจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ นอกจากให้โอกาสฝ่ายชุมชนแล้ว ยังให้โอกาสหน่วยงานเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอหลักการปฏิบัติ ร่วมทำกิจกรรม และร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การกำหนดข้อตกลงร่วมกันเป็นที่ยอมรับและเต็มใจที่จะร่วมมือกันระหว่างฝ่ายชุมชนและหน่วยงาน ถือเป็นการแสวงหาความร่วมมือที่เหมาะสมของชุมชนกับหน่วยงาน และการที่ชุมชนมีหลักคิดและแนวทางแก้ปัญหาของตนเอง จะทำให้ชุมชนเข้าใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง รู้ถึงศักยภาพที่ชุมชนมีอยู่ แล้วดำเนินการพัฒนาตนเองตามสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนได้ตรงจุด
การแก้ไขปัญหาใดก็ตามในสังคม “ประชาชน” หรือ “ชุมชน” เป็นรากฐานสำคัญของการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เมื่อชุมชนมีความเข้าใจในปัญหาน้ำและรู้วิธีจัดการน้ำเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะสามารถขับเคลื่อนให้ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นและเป็นไปอย่างยั่งยืน
จุดเด่นของแหล่งเรียนรู้
“แหล่งเรียนรู้คู่แหล่งท่องเที่ยว” คือคำนิยามจุดเด่นของแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชนบ้านผาชัน เพราะแหล่งเรียนรู้แห่งนี้ผสานการศึกษาดูงานและการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากการศึกษาดูงานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ทางชุมชนยังพาไปชมแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางบกและทางน้ำอีกด้วย ทำให้การศึกษาดูงานไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป และนอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแล้ว ยังได้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนบ้านผาชันด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ทางชุมชนยังมีการให้ความรู้ในเรื่องการรวมกลุ่ม เนื่องจากทางชุมชนเล็งเห็นว่าการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่เพียงเกี่ยวข้องแค่เรื่องน้ำอย่างเดียวเท่านั้น เพราะการจัดการน้ำให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จะต้องผนึกกำลังหลายภาคส่วนและหลายองค์ประกอบเข้าไว้ด้วยกัน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำงานวิจัย
จากงานวิจัยเรื่องการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งผลให้ชุมชนบ้านผาชันเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน ทั้งในด้านนวัตกรรม เศรษฐกิจ การเกษตร และสังคม ดังนี้
- แอร์แว – นวัตกรรมที่ช่วยเสริมแรงส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพขึ้นโดยใช้หลักการแรงดันอากาศ สิ่งประดิษฐ์อย่างง่ายที่ใช้ประกอบกับเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ในชุมชนได้ดี เป็นการลดพลังงานเครื่องสูงน้ำและเสริมแรงส่งน้ำจากบุ่งพะละคอนซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญในชุมชน จนสามารถนำน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวมาใช้ได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของชุมชน
- ธุรกิจน้ำบรรจุขวด – แม้มาถึงจุดที่ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคแล้ว แต่ชาวบ้านยังไม่หยุดคิดต่อยอดเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ หาวิธีลดรายจ่ายในการซื้อน้ำดื่ม และสร้างรายได้ภายในชุมชนไปในคราวเดียวกัน จึงเกิดการผลิตน้ำบรรจุขวดจำหน่ายภายในหมู่บ้านและส่งออกไปยังหมู่บ้านข้างเคียง ผลของการผลิตน้ำบรรจุขวดจำหน่ายภายในหมู่บ้านเองนี้ จากที่ชาวบ้านเคยซื้อน้ำจากนอกหมู่บ้านในราคา 10 – 15 บาท ในตอนนี้เหลือราคาเพียง 7 บาทเท่านั้น ถือเป็นการลดค่าใช้จ่ายในชุมชนที่ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม
- การเกษตร – ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงพันธุ์พืชในการเพาะปลูกให้เป็นไปตามกลไกของการเก็บข้อมูล โดยเปลี่ยนเป็นปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง ได้แก่ มันสำปะหลังและถั่วลิสง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านว่าพื้นที่แบบใดควรปลูกพืชชนิดใด ถือเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งในช่วงฤดูแล้ง
- งบประมาณ – การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือเมื่อชุมชนยื่นเรื่องหรือข้อเสนอโครงการแก่หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กรมทรัพยากรน้ำของจังหวัด กรมทรัพยากรบาดาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล หน่วยงานเหล่านี้ต่างพร้อมที่จะสนับสนุน เพราะชุมชนมีข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจนว่าปัญหาของชุมชนคืออะไรและใครได้ประโยชน์ ทั้งยังมีแหล่งอ้างอิงที่ทำให้โครงการมีความน่าเชื่อถือ ชุมชนบ้านผาชันจึงประสบความสำเร็จในการพัฒนาเรื่องงบประมาณ อันเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน
- คนและชุมชน – งานวิจัยได้พัฒนาคนและชุมชนจนเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบความคิดตั้งแต่ผู้นำไปจนถึงชาวบ้าน พัฒนาความรู้ รู้จักวิธีคิดวิเคราะห์ เกิดความคิดต่อยอด สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงสร้างธุรกิจภายในชุมชน ชาวบ้านมีความกล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ เกิดความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน จนบ้านผาชันกลายเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งและสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นได้อีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าชุมชนบ้านผาชันสามารถสร้างองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำของตนเองได้สำเร็จ และความรู้นั้นสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาได้จริง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ด้วยข้อมูลที่ได้จากกระบวนการ “งานวิจัย” เพื่อท้องถิ่นที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
“เครื่องมือ” ที่คลี่คลายปัญหาเรื่องน้ำของชุมชนบ้านผาชัน คือ “งานวิจัย” ที่เกิดจากสมองและสองมือของชาวบ้าน งานวิจัยนี้ได้สร้างความรู้ความเข้าใจในบริบทชุมชนแก่ชาวบ้าน จนนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ นโยบายใหม่ ธุรกิจใหม่ วิธีคิดใหม่ รวมถึงงบประมาณที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน และทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ ชุมชนบ้านผาชันจึงเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นเยี่ยมในเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาศักยภาพตนเอง อันจะเป็นประโยชน์ให้แก่ชุมชนอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานราชการ และประชาชนทุกคนในสังคมไทย