KNOWLEGE โครงการวิจัย-2547

บ้านสามขา : กระบวนการสู่ความเป็นไท

               ———-

เกือบจะทุกเช้าที่ลุงหว่างต้องจูงวัวนับสิบตัวออกจากบ้าน เดินไปตามซอยเล็ก ๆ ลัดเลาะไปตามรั้วไม้ไผ่ ก่อนข้ามลำเหมืองขนาดเล็ก เพื่อตัดทะลุสู่ผืนนากว้างที่เพิ่งสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว 

ไม่มีใครรู้ว่า…ในระหว่างตอนฝูงวัว  ในใจลุงหว่างคิดอะไรอยู่  แต่ที่แน่ ๆ คือยอดหนี้ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน  และแม้ว่าแกจะพยายามเข้าไปสังกัดกลุ่มอาชีพที่ร่วมกับชาวบ้านคนอื่น ๆ จัดตั้งเพื่อใช้เป็นแหล่งออมเงิน  และปล่อยกู้  หากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา  นอกจากจะไม่ได้กำไรจากการลงทุน..  อาจจะต้องขาดทุนเพราะไม่มีลูกหนี้รายใดนำเงินมาใช้คืน  

หมอกเริ่มจาง เมื่อแดดเช้าอาบไล้ทั่วท้องทุ่ง ไกลออกไปเป็นตาลยืนตายเพราะความแล้งร้อน   ลุงหว่างยังคงต้อนฝูงวัวข้ามทุ่ง ก่อนที่จะปล่อยฝูงวัวกระจายกันออกเล็มหญ้าอย่างลำพัง

ลุงหว่างนั่งมองวัวตัวเขื่องเล็มยอดหญ้าด้วยแววตาเหนื่อยล้า…ขายวัวทั้งฝูงก็ไม่รู้ว่าจะใช้หนี้หมดหรือไม่ เพราะแกพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อ “ปลดหนี้”  ไหนจะหนี้จากกลุ่มออมทรัพย์ที่แกไปยืมมาเพื่อลงทุน เงินกู้จาก ธกส.ที่จำไม่ได้แล้วว่าเริ่มต้นไปยืมมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แกรู้แต่เพียงต้องหาเงินไปจ่ายดอกเบี้ยปีละหลายพัน จ่าย..จ่าย…และจ่าย จนกว่าจะครบทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะลุงหว่างเท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ … คนสามขาอีกกว่า 200 ครัวเรือนต่างก็ล้วนตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน 

ทุกคนล้วนเป็นหนี้…

ที่นี่….สามขา 
ย้อนหลังไปราวปี 2508  เป็นช่วงเวลาที่บ้านสามขายังสงบนิ่งอยู่ท่ามกลางขุนเขาในป่าลึก…ช่วงนั้น ที่นั่นไม่มีถนน  ชาวบ้านติดต่อสื่อการกับผู้คนภายนอกด้วยการเดินเท้า  ที่ไกลหน่อยก็อาจใช้เกวียนเทียมวัว แต่ก็เป็นโอกาสที่ไม่บ่อยมากนัก 

“เมื่อก่อนเราอยู่กันอย่างสุขสบาย  แม้การเดินทางเข้าไปในเมืองจะยากลำบาก เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 สมัยนั้นไฟฉายก็ยังไม่มี ต้องใช้ไม้แคร่ เอาไม้ไผ่มาฉีกเป็นซีก ๆ แล้วจุดไฟ  เดินเท้าเกือบ 7 กิโลเมตร …ดูเหมือนจะลำบากในการติดต่อสื่อสารกับผู้คนภายนอก  แต่เราคิดว่าเป็นความลำบากที่มีความสุข”  ชาญ อุทธิยะ  หรือที่คนบ้านสามขาเรียกกันอย่างติดปากว่า “หนานชาญ”  พยายามรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต…อดีตที่เขาบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านดำรงชีวิตกันอย่างมีความสุข

ความสุขอันเกิดจากการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และเพียงพอ  ชาวบ้านมีป่าเป็นแหล่งอาหาร  มีลำห้วยลำธารเป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ไพศาล ฝูงปลาไม่เคยหมดไปจากลำห้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลุ่มชาวบ้านร่วมแรงกันนำไม้ไผ่มาทำเป็นท่อต่อตรงจากลำห้วยบนเขา กระทั่งกลายเป็นต้นแบบของ “ประปาภูเขา” มาจนถึงทุกวันนี้

 กระทั่งวันหนึ่ง….

“มีพระมาทำนายและบอกว่า วันข้างหน้าจะมีรถยนต์แล่นเข้ามาในหมู่บ้าน  ชาวบ้านเราก็มองว่าเป็นเรื่องตลก เป็นไปไม่ได้แน่นอน  มองไม่เห็นว่ามันจะมีรถยนต์แล่นเข้ามาได้ยังไง  เพราะถนนหนทางในตอนนั้นเป็นแค่ทางเท้ากับทางเกวียน”

และท้ายที่สุด เหตุการณ์ที่พระรูปนั้นทำนายไว้ก็เป็นความจริง เมื่อพระสงฆ์อีกรูปนามว่า “พระครูแก้ว” ซึ่งเป็นพระนักพัฒนาเดินทางเข้ามาในบ้านสามขา

“ท่านทำหลายอย่าง ทั้งพัฒนาวัด เอาพันธุ์ถั่วลิสงจากเมืองเแพร่มาปลูกจนกระทั่งเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งของบ้านสามขา  และพระครูแก้วอีกเช่นกันที่เป็นแกนนำชาวบ้านช่วยกันพัฒนาถนนหนทาง สุดท้ายก็กลายเป็นถนนเข้าหมู่บ้าน ก่อนที่ รพช. จะเข้ามาตัดทาง และเป็นถนนดังทุกวันนี้”  หนาญชาญย้อนอดีต

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีถนนที่ตัดตรงจากเมืองเข้าสู่หมู่บ้าน นำเอาคนในชุมชนออกไปเรียนรู้โลกนอกหมู่บ้าน แต่ในด้านกลับกัน “ถนน” ก็นำเอาเรื่องราวและสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในชุมชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง รถยนต์คันแรกเริ่มเข้ามา แม้จะเป็นเพียงรถที่ต้องใช้เหล็กหมุนสตาร์ทที่หัวรถ  แต่มันก็เป็นรถที่เข้ามาตามคำทนาย 

และจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อผู้นำในยุคนั้นเห็นว่า พื้นที่อื่นเริ่มมีไฟฟ้าใช้  แต่ ณ ตำบลหัวเสือต้นสังกัดบ้านสามขายังไม่มีไฟฟ้า  จึงมีความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเอาไฟฟ้าเข้าไปในตำบล  มีการเกณฑ์ชาวบ้านให้ไปตัด และลากไม้เพื่อนำมาทำเสาไฟฟ้าถึง 2 ครั้ง…ครั้งแรกตัดไม้เหียงต้นใหญ่ แต่เมื่อชาวบ้านตัดเสามาปักรอไว้  ไฟฟ้าก็ยังไม่เข้าหมู่บ้าน เสาไฟชุดนั้นต้องตากแดดตากลม และต้องผุเปื่อยไปตามกาลเวลา

เมื่อล้มเหลว ชาวบ้านพยายามอีกครั้ง คราวนี้ตัดไม้เนื้อแข็ง เช่นไม่เต็ง รัง  และชักลากไปไว้ตามถนนจนถึงบ้านห้วยมะเกลือ…แต่ระหว่างรอกระแสไฟฟ้า  เสาไฟที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันตัดเตรียมไว้ก็ถูกขโมยไปทั้งหมด

ปี 2529 ไฟฟ้าก็เข้ามา หากไม่ได้ใช้เสาไม้ที่ชาวบ้านตัดเตรียมไว้ แต่เป็นเสาคอนกรีตอย่างดี ..และไฟฟ้าวิ่งเข้าไปทุกบ้านที่มีคนต้องการ 

“ไม่มีใครคิดว่าจะมีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง”  หนานชาญพูดพลางถอนหายใจ ก่อนกล่าวถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวบ้านสามขาภายหลังที่เริ่มมีถนน และไฟฟ้าเข้าสู่ชุมชน

“บางบ้านที่มีทีวีขาวดำก็เปลี่ยนเป็นทีวีสี  เริ่มมีการซื้อตู้เย็น  ซื้อเตารีด และอีกสารพัดเท่าที่อยากได้…บางครอบครัวเริ่มกู้เงินเพื่อที่จะเอามาซื้อข้าวของเครื่องใช้ เพราะว่าช่วงนั้น ธกส.เริ่มเข้ามาเสนอเงินให้กู้  ซึ่งก็เป็นการปล่อยกู้โดยที่ไม่ได้ติดตามเลยว่า ชาวบ้านใช้เงินไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่ ธกส.ก็เปิดวงเงินกู้ให้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ส่งเสริม  หรือพัฒนาทักษะในด้านการบริหารจัดการเรื่องเงินให้แก่ชาวบ้านเลยแม้แต่น้อย”  

กว่าสามทศวรรษที่เริ่มต้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจ เกือบทุกฉบับล้วนพุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนรูปแบบการผลิตภาคพลเมืองด้วยการสูบเอาทรัพยากรออกมาจากชนบท  มีแนวทางและนโยบายให้การเกษตรแบบยังชีพมีราคาต่ำ หนุนการผลิตปลูกพืชเชิงเดียวที่เน้นปริมาณ โดยอาศัยแรงงานในชนทบทเป็นสำคัญ

บ้านสามขาก็ไม่ต่างอะไรกับชุมชนอื่น ที่ต้องเริ่มต้นผลิตพืชการเกษตรแบบเข้มข้น  และผลของการผลิตพืชเชิงเดียว ก็คือการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น  ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เหล่านี้คือเงินทุนที่เพิ่มขึ้น รูปแบบการทำเกษตรแบบยังชีพเริ่มเปลี่ยนเป็นการผลิตที่มุ่งการตลาด ชาวบ้านเริ่มพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกมากกว่าการพึ่งพาปัจจัยภายใน  ขณะที่ผลผลิตกลับมีราคาต่ำ และไม่แน่นอน  ประกอบกับค่านิยมใหม่ ๆ ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ  ชาวบ้านเริ่มรู้จักธนาคาร และการกู้ยืม กลายเป็นหนี้สิน…เหล่านี้ต้นตอแห่งความทุกข์ยาก

ลุงหว่างปาดเหงื่อ เอนหลังพิงต้นตาลยืนตาย ก่อนที่จะเผลอหลับไปในที่สุด

ประสบการณ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง
เมื่อเป็นหนี้ ชาวบ้านต่างต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหาเงิน  และเมื่อไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงหันไปพึ่งพาเงินทุนนอกระบบ วิถีชีวิตเริ่มเปลี่ยน…เปลี่ยนจากหลายครัวเรือนเริ่มออกไปขายแรงงานต่างพื้นที่   

อย่างไรก็ตามในระหว่างที่กำลังหลงไหลกับมายาภาพของการพัฒนา  บ้านสามขาภายใต้การนำของ จำนงค์  จันทร์จอม  พ่อหลวง หรือ ผู้ใหญ่บ้านสามขาก็ได้ก่อพยายามก่อร่างสร้างกลไกขึ้นมาเพื่อคลี่คลายปัญหา มีการจัดตั้งกลุ่มหรือกองทุนต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนในชุมชนที่บางครั้งก็เหมือนจะเป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหา แต่ก็กลายเป็นการทำให้ปัญหาเกิดการสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“เพราะตอนแรกเรามองว่ากลุ่มที่ตั้งขึ้นมันน่าจะเป็นแหล่งเงินทุนของชาวบ้าน เช่นต้องมีแหล่งเงินกู้โดยไม่คำนึงว่าจะมีการกู้เงินไปใช้ทำอะไร ไม่มีการตรวจสอบ  ไม่มีคณะกรรมการใด ๆ ทั้งสิ้น…ทีนี้ปัญหาเริ่มเกิดขึ้น เพราะคนกู้เยอะ แต่ไม่มีคนนำเงินมาคืน”

ความสำเร็จคือการร่วมแรงกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ และกลุ่มอาชีพขึ้นมามากกว่ากว่า 39 กลุ่ม  แต่ความล้มเหลวคือ  แต่ละกลุ่มขาดประสบการณ์ในการบริการจัดการ มีบางกลุ่มที่บริหารงานและประสบความสำเร็จ  บางกลุ่มล้มเหลว  โดยในช่วงเวลา 3 – 4 ปีแรก กิจการของแต่ละกลุ่มล้วนดำเนินไปได้ด้วยดี  แต่ 8- 9 ปีต่อมา เริ่มประสบปัญหา เพราะลูกหนี้ไม่สามารถนำเงินมาชำระคืนตามข้อตกลง  กลายเป็นหนี้เสียกว่า 600,000 บาท   

และแม้จะไม่ประสบความสำเร็จจากการก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ย่อย ๆ  แต่คนในบ้านสามขายังไม่ลดความพยายาม…รวมกันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์อีกครั้งในนามของ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ทิพย์ปละสามขา โดยใช้รูปแบบจ่ากกลุ่มออมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน ปตีโณ จากจังหวัดตราด ผสมผสานกับแนวคิดจากกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของครูชบ ยอดแก้ว  จังหวัดสงขลา 

เบื้องต้นมีสมาชิก 553 คน ปีแรกให้สมาชิกถือหุ้นได้ตั้งแต่ 1 ถึง 10 หุ้น ๆ ละ 10 บาท นอกจากนั้นกลุ่มออมทรัพย์ยังได้ไปกู้เงินจากธนาคารออมสินมาลงทุนในกิจการร้านค้าสของชุมชน เพื่อเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสินค้าอุปโภค และบริโภคที่จำเป็นแทนการซื้อหาจากภายนอก  โดยแบ่งรายได้ออกเป็น 2 ส่วน…ส่วนแรกเป็นเงินปันผล อีกส่วนนำมาใช้เป็นสวัสดิการแก่สมาชิดที่เจ็บป่วยและเสียชีวิต 

ด้านหนี้เสียกว่า 600,000 บาท ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาแนวทางแก้ไข โดยคณะกรรมการแต่ละคนที่ได้รับการแต่งตั้งมีหน้าที่เข้าไปช่วยเจรจากับลูกหนี้ที่ไม่สามารถส่งเงินคืนด้วยวิธีการต่าง ๆ  นานา ทั้งลดดอกเบี้ย  ผ่อนชำระเป็นงวด ๆ  ทำหลาย ๆ อย่างจนกระทั่งสามารถเรียกเงินคืนได้ 102,580 บาท   

แต่เมื่อมาประเมินตัวเลขเมื่อต้นปี 2543 พบว่า ภาวะหนี้สินรวมภายในหมู่บ้านยังไม่ลดลง แม้จะพยายามแก้ไขมานาน นั่นดูเหมือนว่ากลุ่มสัจจะออมทรัพย์ฯ ที่ชาวบ้านรวมกันตั้งขึ้นมานั้นน่าจะเป็นความหวังของการปลดเปลื้องหนี้สินให้กับชาวบ้านได้  แต่เมื่อมีการสำรวจยอดหนี้ของแต่ละครัวเรือนในทุก ๆ เดือนปรากฏว่า ยอดหนี้ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

จึงมีคำถามที่คนทั้งหมู่บ้านต่างก็สงสัย “หนี้” เหล่านั้นมาจากไหน และจะแก้ปัญหา หรือ “ปลดหนี้” ด้วยวิธีการใด

เป็นคำถามที่ชาวบ้านต้องค้นหาคำตอบร่วมกัน

 เรียนรู้และปรับตัว ด้วยกระบวนการวิจัย
“สามขานี่เขาได้เปรียบอยู่อย่างหนึ่งคือ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวมีคนไปเรียนหนังสือมากขึ้น เอาวิชาการใหม่ ๆ มาผสมผสาน กระตุ้นให้ชาวบ้านเขาคิดเป็นทำเป็น ในที่สุดการจัดระเบียบหนี้เสียก็เป็นเรื่องจริง ตอนนี้เขาเรียกเงินได้ 200,000 บาท คนที่ดื้อดึงที่สุดในหมู่บ้านที่คิดจะเบี้ยวจริง ๆ เขาก็บอกว่าจะไปฟ้องศาลที่ไหนก็เชิญ อย่างไรก็ไม่จ่าย ก็มีการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไข ในทีสุดก็มีคนส่ง ไม่มีใครเบี้ยวเลย กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ก็บริหารงานมานาน มีเงินทุนสะสม หลายล้าน กรรมการที่บริหารกลุ่มออมทรัพย์สัจจะนี้ค่อนข้างจะเป็นนักวิชาการการเงิน การธนาคารไปแล้ว พอถึงวันที่ 5 ของทุกเดือนสมาชิก 600 กว่าคน ก็จะนำเงินมาออม กรรมการจะใช้เวลา 2 ชั่วโมงในการรับฝากเงินทั้งเงินกู้และเงินออม ไม่มีการบอกว่าลืม หรือบอกว่าไม่มี เขาสามารถจะจัดระบบของเขาได้อันนี้เป็นข้อดี….    “สามขามีโครงสร้างของชุมชนที่เข้มแข็งและเหนียวแน่น มีแกนนำที่พยายามเรียนรู้และทำงานเพื่อชุมตลอดเวลา  โดยเฉพาะเวทีประชาคมของหมู่บ้านซึ่งเป็นที่ ๆ ชุมชนมักจะใช้เป็นเวทีในการประชุม หารือ นำเสนอปัญหา  และร่วมกันหาแนวทางคลี่คลาย และแก้ปัญหาไปพร้อม  ๆ กัน นี่คือสิ่งที่พบได้น้อยมากในชุมชนอื่น ๆ …ผมเลยชวนอ้ายชาญ….สนใจทำวิจัยมั๊ย”    

 “ตอนแรกก็ยังไม่กล้ารับปาก”  หนาญชาญพยายามนึกย้อนกลับไปในวันที่เขาได้รับคำเชิญชวนจากอ้านนพพร….ก่อนให้เหตุผลว่า  

“คิดว่างานวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของนักวิชาการ พอได้ยินคำว่า “วิจัย” ก็จะทำให้นึกถึงนักวิชาการที่เขาทำมานานแล้ว เพราะมันค่อนข้างจะเป็นของคู่กัน มันไม่ใช่จะลงมาคู่กับชาวบ้าน นี่เป็นครั้งแรกที่ถูกชวนให้ไปทำวิจัย เลยไม่กล้ารับปาก แต่ก็ถามอ้ายนพพรว่า งานวิจัยเป็นอย่างไร ชาวบ้านอย่างเรา ๆ ทำได้เหรอ อ้ายนพพรแกก็บอกว่า เป็นการสืบเสาะหาเหตุ คุยเรื่องการดำเนินชีวิต วิถีชีวิต รวมถึงการที่จะทำอะไรเกี่ยวกับบ้านของเรา…แก้ปัญหาของพวกเรา พอคุยเสร็จก็กลับบ้าน กลับไปทำไร่ทำนาตามปกติ  แต่ก็เอาเข้ามาคุยกันในเวทีประชาคม ถามความเห็นของชุมชนว่ามีคนมาชวนทำวิจัยเราจะทำหรือไม่….”

ตอนนั้นบ้านสามขามีปัญหาใหญ่ ๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ ยาเสพติด ซึ่งแก้ปัญหาไปบ้างแล้ว  โดยเอาเด็กและเยาวชนไปอบรมเข้าค่ายพุทธบุตร เพื่อสร้างจิตสำนึกเป็นระยะเวลาติดต่อกันถึง 3 ปี  โดยปีแรกชาวบ้านหางบประมาณเอง  อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัญหาเรื่องยาเสพติดมันจะไม่หมดไปจากหมู่บ้าน แต่มันก็ลดน้อยลง อีก ปัญหาหนึ่งคือ…เพราะฉะนั้น ปัญหาที่ชาวบ้านต้องการแก้ไขร่วมกันก็คือ…ปัญหาหนี้สิน

และ จำนงค์  จันทร์จอม ผู้ใหญ่บ้านสามขา ก็นำทีมชาวบ้านอีก 13  คนร่วมค้นหาคำตอบโดยเฉพาะยอดรวมของหนี้ ภายใต้โครงการวิจัย : รูปแบบการแก้ปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา  ภายใต้กระบวนการวิจัยในโครงการรูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชนบ้านสามขา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและทบทวนภาวะหนี้สินของชุมชนให้ชุมชนได้ตระหนักในปัญหาหนี้และร่วมกันหาแนวทางป้องกันค้นหาปัจจัย เงื่อนไขของการก่อนเกิดและการเพิ่มพูนของหนี้สินในชุมชน

กิจกรรมแรกของทีมวิจัยคือ “สำรวจหนี้” โดยจำแนกคำถามออกเป็นหมวด เช่น หนี้ของ ธกส.  หนี้กลุ่มต่าง ๆ ในหมู่บ้าน  หนี้ที่เกิดจากการส่งลูกเรียน  ในกรณีที่เป็นข้าราชการจะมีคำถามว่าเป็นหนี้จากสหกรณ์เท่าไหร่   ซึ่งก่อนหน้านั้น ชาวบ้านต่างประเมินกันว่าหนี้สินของหมู่บ้านไม่น่าจะสูงเกิน 7 ล้านบาท และไม่น่าจะต่ำกว่า 5 ล้านบาท

“ชาวบ้านก็มีการประเมินกันไปต่าง ๆ นานา บางบอกว่า 5 ล้าน บ้างก็ว่าแค่ 7 ล้าน …แต่หลังจากรวบรวมมาจนครบ และเราก็ทำกันทุกวิธีเพื่อให้คนเป็นหนี้ยอมเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงออกมา ผมในฐานะผู้ใหญ่บ้านก็ต้องยอมเปิดเผยว่าเป็นหนี้เท่าไหร่   เพื่อสร้างมั่นใจให้ชาวบ้าน…สุดท้ายเราก็ได้ตัวเลขที่แท้จริงออกมา”

             18 ล้านบาท !!!  คือยอดหนี้ ที่ชาวบ้านสามขาล้วนร่วมแรงร่วมใจกันก่อขึ้น เป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

ในความอึกทึก…ท่ามกลางกลิ่นควันธูปคล่ะคลุ้งของวันงานออกพรรษา  ผู้ใหญ่จำนงค์ เดินถือเอกสารที่รวบรวมยอดหนี้ หลังจากถูก “สรุป” ร่วมกับทีมวิจัยแล้วว่ามันเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย  และข้อมูลเหล่านี้ก็น่าจะถูกเปิดเผยให้ชาวบ้านรับรู้เช่นกัน  

  โบสถ์เล็กไปถนัดเมื่อชาวบ้านเกือบทุกคนไปแออัดยัดเยียดอยู่ในนั้น  มีเพียงเด็ก ๆ ที่เล่นสนุกอยู่บนล้านกว้างด้านนอก  ส่วนชาวบ้านที่ล้อมวงคุยกันอย่างออกรส เมื่อเห็นพ่อหลวงของพวกเขาเดินมาอย่างร้อนรนจึงพากันลุกขึ้น และทะยอยกันเดินตามเข้าไปสมทบกัน ในโบสถ์…

  พ่อหลวงจุด ธูป เทียน เพื่อนมัสการพระพุทธรูปตามปกติ…บรรยากาศเงียบสงบในท่ามกลางกลิ่นควันธูป  พ่อหลวงยืนอ่านเอกสาร และอธิบายอีกหลายอย่าง  ทั้งขั้นตอนการเก็บรวบรวมหนี้สินที่เป็นความร่วมแรงร่วมใจกันของคนทั้งชุมชน…กิจกรรมด้านการออมทรัพย์ รวมทั้งสถานการณ์ด้านอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนตลอดช่วงที่ผ่านมา

 “หลังจากทีมวิจัยได้ออกสำรวจหนี้สิน….ตอนนี้ได้ข้อสรุปออกมาแล้วว่า พวกเรา….เป็นหนี้อยู่ 18 ล้าน”  

 ชาวบ้านทุกคนนั่งนิ่งอยู่ในท่ามกลางความเงียบ พร้อมกับครุ่นคิดถึง  18 ล้าน 

“หนี้ก้อนใหญ่ที่สุดคือหนี้จาก ธกส.ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านบาท”  พ่อหลวงทำลายความเงียบด้วยการบอกให้ชาวบ้านทุกคนรู้ 

“ที่เป็นหนี้มากมายขนาดนั้นเพราะส่วนใหญ่เวลาเขียนโครงการขอกู้ มักจะบอกว่าเอาไปทำการเกษตร  แต่พอถึงเวลาก็ไม่ได้เอาไปทำตามวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดรายได้…แต่กู้มาทำอย่างอื่น ทั้ง มอเตอร์ไซค์ ซ่อมบ้าน  น้อยมากที่จะเอาไปทำตามวัตถุประสงค์ ”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 18 ล้านบาท นอกจากจะทำให้คนทั้งหมู่บ้านพากันตกใจ  ยังทำให้คนบ้านสามขาเริ่มฉุกคิด และตั้งคำถามต่อว่า “หนี้” เหล่านั้นมาจากไหน …

พึ่งพาตนเอง ปัจจัยแรกแห่งการลดหนี้

 “มีเครื่องมือที่สำคัญคือการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนต้องจดบันทึกทุกวันว่ารายรับ – รายจ่ายมีอะไรบ้าง  อะไรที่มีรายจ่ายมากที่สุด  ซึ่งจริง ๆ ก็มีการจดบันทึกกันมาเป็นปีสองปีแล้วเหมือนกัน…แต่ก่อนหน้านั้นยังไม่มีการวิเคราะห์ และสรุปร่วมกัน…”จำนง จันทร์จอม หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว

 “บัญชีครัวเรือนบอกอะไรเราหลายอย่าง…”  หนานชาญหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวเสริม

“เพราะบางสิ่งที่ไม่คาดฝันมันก็มาปรากฏอยู่ในบัญชีครัวเรือน ยกตัวอย่างเรื่องการซื้อหวยของบ้านสามขา …หลังจากทีมวิจัยทั้ง 14 คนลงไปเก็บข้อมูล  และประชุมกลุ่มย่อยของตัวเองก่อนที่จะมาประชุมกลุ่มใหญ่ก็ได้ตัวเลขมาว่า ชาวบ้านเสียเงินไป 60,000 บาท ทั้งปีคนบ้านสามขาซื้อหวย 320,000 บาท ….ถูก 170,000 บาท…เราพยายามที่จะเสนอข้อมูลตรงนี้ให้ชาวบ้าน  แล้วก็มาคิดร่วมกันว่าจะจัดการกับหนี้สินตรงนี้อย่างไร”

นอกจากยอดหนี้จากการซื้อหวย  ข้อมูลรายรับ รายจ่ายที่ปรากฏออกมาบนบัญชีครัวเรือนของชาวบ้าน ทำให้แต่ละคนทราบว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ผลจากการวิเคราะห์ตัวเลขในบัญชีครัวเรือนพบว่า…หนี้ส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งมาจากภาษีสังคม อาทิ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานบวช , ซื้อหวยใต้ดิน  เล่นแชร์…รวมถึงการลงทุนเรื่องปุ๋ย อาหารสัตว์ ขณะเดียวกันก็บริโภคสินค้าจากนอกชุมชนเกินความจำเป็น

“ต้องทำให้เห็นว่าหนี้สินที่พอกพูนอยู่นั้นมันมีทางออก และแก้ไขได้  หากเราร่วมมือกัน…” หนานชาญกล่าวพร้อมทั้งอธิบายต่อว่า

“เริ่มมีการรวมกลุ่มทำแชมพูสระผม  ตอนแรกทำขายกันเองในหมู่บ้านแต่ขายไม่ได้ เพราะคุณภาพสู้ของที่ขายตามท้องตลาดไม่ได้ เลยเลิกขาย แต่ก็ยังทำใช้กันภายในกลุ่ม   นอกจากนั้นมีการเลี้ยงไก่เพื่อกินไข่  ถ้าเราเลี้ยงไก่ และขายกันเองในหมู่บ้านได้ ก็น่าจะลดรายจ่ายได้ประมาณ 90,000 บาท “

  “ถ้าพวกเราได้ทำวิจัยกันก่อนหน้านี้ซัก 5 ปี…พวกเราคงไม่เป็นหนี้” 

 ลุงโม๊ะ หรือ “บุญหลง ปิงไฝ” หนึ่งในชาวบ้านสามขาสะท้อนความในใจหลังเข้าร่วมในกระบวนการวิจัยมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี

 วันแรกที่ลงมือทำบัญชีครัวเรือน ทำให้ลุงโม๊ะเห็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นมากมายหลายอย่าง ทั้งรายจ่ายโดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน

 “สองเดือนแรกก็เห็นว่ามันติดลบ เดือนที่ 3 ก็ยังติดลบ เลยมาศึกาษาดูว่าอะไรที่สูงบ้าง ก็พบว่าเป็นเงินที่ต้องให้ลูกเดือนละ 300 บาท เลยเรียกลูกมาคุยว่าค่าขนมมันสูงอยากให้ลดลง ลูกก็เชื่อ เลยเอาเงิน 200 ที่เหลือไปเป็นเงินออมในกลุ่มออมทรัพย์ หลังจากนั้นก็มาดูรายจ่ายด้านอื่น มันก็มีผักอยู่สองสามชนิดที่ผมไม่กินก่อนทำบัญชีครัวเรือน  หลังจากนั้นก็กลับมากิน เพราะต้องเสียค่าผักไป 70 บาท ตอนหลังกินกับข้าวทุกอย่าง…ไม่อร่อยก็ต้องกิน ซึ่งมันก็ได้ผล…ตอนนี้ไม่ติดลบแล้ว และยังมีเงินเหลือไปฝากไว้ที่กลุ่มออมทรัพย์”

 ลุงโม๊ะซึ่งมีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร และรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้าน เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของชาวบ้านสามขาที่พยายามจะปรับตัวเองเพื่อลดหนี้ด้วยตัวเอง

 ————————

อย่างไรก็ตามการลดหนี้ภายในครัวเรือนเป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านทุกครัวเรือนถือปฏิบัติ แต่หนี้รวมของทั้งหมู่บ้าน โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมจาก ธกส. แนวทางที่แกนนำและชาวบ้านร่วมกันคิดก็คือ การ โอนหนี้จาก ธกส.มาไว้ที่กลุ่มออมทรัพย์ เนื่องจากในแต่ละปี ชาวบ้านต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารปีละกว่า 800,000 บาท การโอนหนี้มาไว้ที่กลุ่มออมทรัพย์จึงเป็นความพยายามที่จะสกัดกั้นการไหลออกของเงินภายในหมู่บ้าน

 “เพราะยังไงชาวบ้านก็ต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร เกือบแปดแสนบาท เราไม่อยากให้เงินแปดแสนบาทออกนอกหมู่บ้านจึงคิดกิจกรรมนี้ขึ้นมา อีกประเด็นก็คือ ดอกเบี้ยจากเงินกู้ก็จะย้อนกลับสู่ชุมชนและสมาชิกในรูปของสวัสดิการต่าง ๆ เช่นเวลาเจ็บป่วย และเสียชีวิต…แต่หากเราจ่ายดอกเบี้ยให้ธนาคาร เงินที่เสียไปจะไม่ย้อนกลับมาสู่ชุนเลยแม้แต่น้อย”  ชาญ อุทธิยะ อธิบายอีกครั้งถึงแนวคิดเรื่องการโอนหนี้ของชาวบ้านเข้ามาสู่กลุ่มออมทรัพย์ก่อนอธิบายเพิ่มว่า

“สิ่งที่จูงใจเราตลอดเวลาคือการลดหนี้สินที่มีอยู่กว่า 18 ล้านให้หมดไป  เพราะการที่จะทำให้หนี้คลี่คลายได้คือต้องมีทุน ผมอยากจะถ่ายหนี้ของชาวบ้านทั้งหมดมาไว้ที่ในกลุ่มออมทรัพย์ ในจังหวะนี้ธนาคารกรุงไทยจะเข้ามาตั้งธนาคารชุมชน “กรุงไทย – สามขา”  โดยมีงบประมาณให้ 3,000,000  บาท ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นความหวังของชาวบ้านได้” 

————–

กระบวนการวิจัยทำให้ชาวบ้านเริ่มคิดว่าจะปรับกระบวนท่าอย่างไร…พยายามลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น…มีการวางแผนการใช้เงินมากขึ้น ระมัดระวังมากขึ้น ลดการใช้ของฟุ่มเฟือยและที่ไม่จำเป็นออก รู้ว่าช่วงไหนต้องใช้จ่ายอะไร  พยายามระมัดระวังตัวเองไม่ให้เป็นหนี้ถลำมากไปกว่านี้

ฉะนั้นกิจกรรมภายใต้กระบวนการวิจัยนอกเหนือจากจะเป็นการค้นหาปัญหา  ค้นแนวทางในการแก้ปัญหา  กระทั่งนำไปสู่การคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง  สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ภายในก็คือ ชาวบ้านมีกระบวนการคิด มีกระบวนการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูลที่มีอยู่กับข้างนอก กับสังคมโดยรวมมีมากขึ้น…  มีแกนนำหมู่บ้านที่มีวิสัยทัศน์และสามารถบริหารชุมชนได้อย่างเป็นระบบ มีการบริหารงานที่โปร่งใส สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ มีการจัดเวทีประชาคมพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง มีระบบการสื่อสารที่ดีโดยการใช้หอกระจายข่าวให้เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ

 ที่สำคัญคือ มี ธนาคารสมอง เป็นเสมือนคลังข้อมูลของหมู่บ้าน ซึ่งดูแล และบริหารจัดการโดยกลุ่มเยาวชนที่ต้องการเรียนรู้กระบวนการทำงานของผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันก็เพื่อสนับสนุนงานด้านข้อมูลทั้งในเรื่องการจัดทำบัญชี  และฐานข้อมูลด้านอื่น ๆ ของหมู่บ้าน

 และกลุ่มเยาวชนยังมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่เหลือจากการจัดกิจกรรมกว่า 30,000 บาท  จึงนำเงินจำนวนนี้ไปให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านกู้  โดยกำหนดทั้งกติกาในการขอกู้  การพิจารณาโครงการในการปล่อยเงินกู้  รวมถึงติดตามการดำเนินงานในโครงการของผู้ใหญ่  ซึ่งการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนในลักษณะดังกล่าวก็เพื่อให้เยาวชนในหมู่บ้านเห็นภาพได้กระบวนการทำงานของผู้ใหญ่ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

…………………………….

 ปรากฏการณ์ลด  “หนี้” ก้อนใหญ่ที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้น สะท้อนให้เห็นถึง “กระบวนการมีส่วนร่วม” อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่และกลุ่มเยวาชนภายในหมู่บ้าน   ปัจจัยภายนอกด้านอื่น ๆ  เป็นเพียงการเข้าไปหนุนเสริมให้ชาวบ้านมีแนวทางในการสร้างกระบวนการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเท่านั้น  หากคนทั้งชุมชนไม่ลุกขึ้นมาด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ขาดแกนนำที่เข็มแข็ง ย่อมไม่สามารถปลดเปลื้องพันธนาการที่ร้อยรัดคนทั้งชุมชนเอาไว้ได้  

 “บ้านสามขา” จึงน่าจะเป็นคำตอบของ “ชุมชนเข้มแข็ง”  ที่ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเอง  หน่วยงานรัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเพียงแต่เข้ามาเสริมในส่วนที่ชาวบ้านขาดเพื่อให้ครบองค์ประกอบแห่งชุมชนพึ่งตนเองอย่างแท้จริง

+++++++++++