CBT.- การท่องเที่ยวโดยชุมชน แหล่งเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

“บ้านผาหมอน” แหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวโดยชุมชนในเขตพื้นที่อุทยาน

…….

จากชุมชนที่ “ถูกเที่ยว” ลุกขึ้นมาจัดการเรื่องการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ผ่านการทำงานวิจัยภายใต้ชุดประเด็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตั้งแต่ปี  2544 และใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาศักยภาพของชุมชน กระทั่งปัจจุบันกลายต้นแบบ “การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน” ให้กับชุมชนอื่น ๆ อีกหลายพื้นที่

หากเป็นชุมชนอื่น การจัดการท่องเที่ยวคงไม่ยุ่งยากซับซ้อน แต่ที่บ้านผาหมอน เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ การจะทำกิจกรรมทางการท่องเที่ยวใด ๆ ก็ตาม ย่อมต้องดำเนินกิจกรรมที่เป็นไปตามกฎหมาย หรือ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเป็นไปตาม กติกา วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชน นั่นหมายความว่า “การจัดการท่องเที่ยว” ของบ้านผาหมอน ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน อีกทั้งต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอุทยานเช่นกัน

กระบวนการทำงาน

  • สร้างทีม
    “ทีม” เป็นกลไกสำคัญในการที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมขน ที่บ้านผาหมอนสร้างทีมผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการชุมชน โดยมีแกนนำหมู่บ้านนั่งเป็นประธานในการคัดเลือก ซึ่งในกระบวนการเลือก  มีการกำหนดคุณสมบัติของคณะทำงาน อาทิ ต้องมีเวลาในการทำงานเพื่อชุมชน เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน  จากนั้น “ทีม” หรือคณะทำงานหรือ ทีมวิจัยจะกำหนดบทบาท อาทิ หัวหน้าโครงการวิจัย เหรัญญิก หรือฝ่ายอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทีม
  • สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชน
    เนื่องจากเป็นงานใหม่ การทำความเข้าใจชุมชนในประเด็นการจัดการเรื่องท่องเที่ยวเป็นเรื่องสำคัญ และวิธีการที่บ้านผาหมอนใช้คือ
    1.อธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาและผลกระทบจากการท่องเที่ยวพร้อมยกตัวอย่างประกอบ เช่น ขยะจะเพิ่มขึ้น กลุ่มเด็ก ๆ หรือ คนรุ่นใหม่อาจจะรับเอาวิถีปฏิบัติของคนนอกเข้ามาหากไม่รีบจัดการ
    2.อธิบายแนวทางแก้ไขปัญหา และ ผลที่ได้จากการท่องเที่ยวหากมีการจัดการที่ดีพอ อาทิ เรื่องของรายได้ เรื่องของการสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอ
  • ร่วมกันกำหนดเป้าหมาย
    เมื่อได้ทีม และทุกคนเข้าในร่วมกัน จะมีการทำประชาคมเพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชุมชนต้องการจะไปถึง กรณีผาหมอน   “เป้าหมายคือเกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เกิดการฟื้นฟู วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมของชุมชน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนในชุมชนและผู้มาเยือนและสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน”  
  • ประสานหน่วยงาน
    เนื่องจากบ้านผาหมอนอยู่ในเขตอุทยานฯดังนั้นการจำดำเนินใด ๆ ต้องผ่านการเห็นชอบจากหน่วยงานที่รับผิดคืออุทยานแห่งชาติ ซึ่งทีมวิจัยบ้านผาหมอนมีการประสานไปยังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  เชิญมาเป็นที่ปรึกษาโครงการวิจัย และทุกครั้งที่มีการจัดประชุม หรือพูดคุย ก็จะมีการเชิญที่ปรึกษามาให้คำแนะนำ โดยเฉพาะเรื่องของกฏ กติกาของอุทยาน ฯ อีกด้านหนึ่ง ทางอุทยานเองก็จะได้ทราบว่าชาวบ้านกำลังดำเนินงานเรื่องอะไรอยู่
  • เก็บรวบรวม และ และวิเคราะห์ข้อมูล
    กระบวนการเก็บ และบันทึกข้อมูล เป็นทักษะใหม่ ซึ่งชาวบ้านไม่ถนัด หน่วยงานสนับสนุนงบประมาณในการวิจัย คือสถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะส่งคณะทำงานหรือเจ้าหน้าที่มาฝึกอบรมให้ความรู้ และวิธีการใช้เครื่องมือวิจัย อาทิ การทำแบบสอบถาม การจัดประชุมแบบมีส่วนร่วม  สำหรับข้อมูลที่บ้านผาหมอนร่วมกันศึกษาคือ จุดเด่นหรือจุดขายของชุมชน ในที่นี้คือวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชนเผ่ากะเหรี่ยง ข้อมูลด้านฤดูกาลเพื่อที่จะนำมาออกแบบเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว เช่น การปลูกข้าว ทำนา การเลี้ยงผี นอกจากนั้นยังมีเรื่องอาหารการกิน  เพื่อที่จะมาออกแบบเมนูอาหารไว้สำหรับต้นรับนักท่องเที่ยว
  • ออกแบบกิจกรรม
    การออกแบบกิจกรรมท่องเที่ยว แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยสำคัญด้านการท่องเที่ยวคือ ที่เที่ยว ที่กิน (อาหาร) ที่นอน (ที่พัก) ทีมวิจัยต้องร่วมกันศึกษา วิเคราะห์และหาร่วมกับชุมชนและพี่เลี้ยง เพื่อร่วมกันวางแผนและออกแบบกิจกรรมทางการท่องเที่ยว  ทั้งนี้การออกแบบกิจกรรมทางการท่องเที่ยว ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวต้องได้ความรู้ เกิดความเข้าใจในความเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานฯ และเกิดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย

  • ด้านการจัดกระบวนการพูดคุย
    เนื่องจากเป็นงานใหม่ อีกทั้งชาวบ้าน หรือ แม้แต่ทีมวิจัยเองก็ไม่คุ้นเคยจากการประชุมในลักษณะอย่างเป็นทางการ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ว่างในช่วงกลางวัน ทีมวิจัยจึงจัดประชุมหรือพูดคุยหารือในช่วงเย็นและช่วงค่ำ ส่วนเนื้อหา
  • การออกแบบการท่องเที่ยว
    การออกแบบตั้งอยู่บนฐานของการไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคนอื่น ๆ  และไม่สงผลกระทบต่อฐานทรัพยากรของชุมชน ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวก็ได้ความรู้ และได้ความประทับใจกลับไป
  • การจัดตั้งคณะทำงาน
    ในช่วงเริ่มต้น ของการเปิดหมู่บ้าน มีการจัดตั้งคณะทำงานที่แบ่งออกเป็นหลาย ๆ ฝ่าย มีฝ่ายประสานงาน ไกด์ กลุ่มทำอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยว กลุ่มผู้ดูแลบ้านพัก  
  • รูปแบบการจัดการรายได้
    กลุ่มท่องเที่ยวบ้าหมอนมีสมาชิก 68 คน  (ข้อมูลปี 2563) มีหุ้น 370 หุ้น เฉลี่ยรายได้ปีละประมาณหุ้นละ 300 บาทต่อหุ้น กระบวนการถือหุ้น ถ้าไม่ลงเงินก็ลงแรง ด้วยการใช้แรงงานเปลี่ยนเป็นหุ้น ทำงาน 1 วันก็ได้ 1 หุ้น ในส่วนของรายละเอียดการแบ่งอาจสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชน

ความน่าสนใจของแหล่งเรียนรู้

            บ้านผาหมอนเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่สามารถบริหารจัดการเรื่องการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับจากวันแรกที่เริ่มทำงานวิจัย จนกระทังเปิดเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว  ทุกครั้งที่ชุมชนเกิดสภาวะที่ต้องตัดสินใจรวมกัน กระบวนกลุ่ม คณะทำงานและผู้นำชุมชนจะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับคนทั้งหมู่บ้าน เพื่อที่จะนำไปใช้ในการตัดสินใจร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางของชุมชน

+++++

ติดต่อทีมงาน : facebook.com/baan.phamon
ได้ที่เฟสบุค บ้านผาหมอน