บ้านผาหมอน หมู่บ้านในหุบเขา
พลันที่ฝนแรกหล่นลงสู่พื้นดินไม่เฉพาะต้นไม้ใบหญ้าที่จะกลับมาชุ่มชื้น ชาวบ้านผาหมอนเองก็ยินดีปรีดา หนุ่มปกาเกอะญอหลายคนจะผละจากแปลงผักและแปลงดอกไม้ หญิงสาววางมือจากกี่ทอผ้า ต่างมุ่งหน้าสู่แปลงนา เพื่อเตรียมพร้อมฤดูทำนาที่หมุนเวียนมาอีกปี
‘หมุนเวียน’ ที่ไม่ใช่ ‘เลื่อนลอย’ นิยามนี้ใช้เวลานานหลายทศวรรษกว่าจะทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่ามันมีความหมายที่แตกต่างกัน หมุนเวียน คือ จะกลับมาใหม่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ขณะที่ เลื่อนลอย คือการปฏิบัติบางอย่างแบบไร้จุดหมาย
นาขั้นบันไดที่ชาวบ้านเพียรพยายามดูแล และกลับมาใช้ใหม่ในทุก ๆ รอบปีของช่วงฤดูฝนน่ายืนยันได้ว่า ปัจจุบันไม่มีการทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป มีแต่วิถีชีวิตที่หมุนเวียนไปตามฤดูกาล หน้าฝนทำนาปลูกข้าว หน้าหนาวปลูกผักปลูกดอกไม้ ระหว่างนั้นก็ทอผ้า ทำงานจักสาน ต้อนรับนักท่องเที่ยวจากแดนไกล และพอถึงช่วงฤดูแล้ง ก็เตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลผลิตถัดไป
หมู่บ้านในนิทาน ตำนานในชีวิตจริง
ผาหมอน เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซ่อนตัวเองอยู่ในป่าตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 23 ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 6 หมู่บ้านแห่งแคว้นมึกะคี ซึ่งหมายถึง ‘แคว้นแห่งสันติสุข’ อันประกอบด้วยบ้านผาหมอน บ้านแม่กลางหลวง บ้านหนองหล่ม บ้านอ่างกาน้อย บ้านม้งขุนกลาง และบ้านผาหมอนใหม่
ในอดีต บ้านผาหมอนเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนทั้ง 6 ในแคว้นมึกะคี ตั้งแต่ศูนย์กลางการปกครอง การค้าขาย อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการติดต่อกันระหว่างคนพื้นราบกับคนบนพื้นที่สูง แม้ว่าในเวลาต่อมาชุมชนต่างๆ ในเขตมึกะคีจะถูกแบ่งเป็นหมู่บ้านตามเงื่อนไขการแบ่งเขตการปกครองของทางราชการ แต่ชุมชนในแคว้นมึกะคีต่างไปมาหาสู่ระหว่างกัน มิได้แบ่งแยกแต่อยางใด
การคงสภาวะเดิม มิใช่แค่ความสัมพันธ์เท่านั้น สภาพป่า และน้ำ ก็ยังคงเป็นแบบนี้มาตั้งแต่คนรุ่นแรกที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2413 ซึ่ง บุญทา พฤกษาฉิมพลี แกนนำบ้านผาหมอนบอกว่า เพราะคนกะเหรี่ยงมีคำสอนที่ยึดถือและสืบทอดต่อ ๆ กันมาคือ “เอาะที เก่อตอที เอาะป่า เก่อตอปก่า อยู่กับป่า รักษาป่า อยู่กับน้ำ รักษาน้ำ” นั่นจึงทำให้วันนี้ ป่าที่รายล้อมหมู่บ้านอันสงบเงียบกลางหุบเขายังคงความอุดมสมบูรณ์ น้ำเต็มลำห้วยในหน้าน้ำ อาหารการกินก็อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้กัน ทั้งหมดเกิดจากความรักของคนที่นี่กับป่าที่พวกเขาที่อิงอาศัยอยู่ นานนับร้อยปี
คนปกาเกอะญอ มีหน้าที่ปกป้องรักษาป่าตั้งแต่เกิดผ่านพิธี ‘เดปอทู่’ คือ ภายใน 7 วันหลังจากที่เด็กคลอด พ่อจะต้องนำ ‘เด’ หรือ ‘รก’ ใส่กระบอกไม้ไผ่ไปผูกไว้ที่ต้นไม้ที่คิดว่าแข็งแรงที่สุดในป่า เหตุผลก็เพื่อให้เด็กและต้นไม้ดูแลซึ่งกันและกัน
“ต้นไม้ที่แข็งแรงจะทำให้ขวัญของเด็กแข็งแรง ต้นไม้จะดูแลเด็กไม่ให้มีการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าเราดูแลต้นไม้ ต้นไม้จะกลับมาดูแลชาวกะเหรี่ยงเรา และเมื่อเด็ก ๆ โตขึ้น พวกเขาก็จะต้องกลับไปดูแลต้นไม้ของตัวเอง” และเมื่อต้นไม้ที่แข็งแรงทุกต้นมีเจ้าของที่เป็นลูกเป็นหลานของคนในหมู่บ้านจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปตัดไม่ในป่าเดปอ
เมื่อฐานทุนของชีวิตคือ ดิน น้ำ ป่า และความจริงใจต่อธรรมชาติ ธรรมชาติเองก็มอบความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมาสู่ปกาเกอะญอบ้านผาหมอนเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บ้านผาหมอนมีความโดดเด่นในแง่ของการเป็นเป็นพื้นที่ทางการเกษตรอีกแห่งหนึ่งบนดอยอินทนนท์ ที่มีทั้ง กุหลาบ ดอกไม้เมืองหนาว เฟิร์น พืชผักอื่น ๆ และ ‘ข้าว’
พิธีกรรมข้าวไร่ วิถีปกาเกอะญอ
“ข้าวคือชีวิตของคนปกาเกอะญอ เราให้ความสำคัญกับข้าวมากกว่าเงินทอง” ประเด็นนี้น่าจะเป็นเรื่องจริงด้งที่ บุญทา พฤกษาฉิมพลี บอก เพราะทุ่งนาเหลืองอร่ามที่ไล่ระดับเป็นขั้นบันไดจากเนินเขาลงไปด้านล่าง บ่งบอกชัดเจนว่า คนบ้านผาหมอนดูแลต้นข้าวนับแต่เตรียมดิน หว่าน จนกระทั้งออกรวงเป็นอย่างดี ยังมิพักต้องเอ่ยถึงว่า ปกาเกอะญอมีพิธิกรรมและขั้นตอนการปลูกข้าวไม่น้อยกว่า 30 ขั้นตอน อีกทั้งยังมีเรื่องเล่าและตำนานว่าด้วยเรื่องข้าวอีกมากมายหลายเรื่อง
จริงๆ แล้ว ‘ข้าว’ ของคนปกาเกอะญอมิได้มีเม็ดเล็กๆ ดังที่เราเห็นกันทุกวันนี้ ในตำนานบอกว่า ต้นข้าวของคนกะเหรี่ยงต้นสูงเท่าต้นกล้วย และเม็ดใหญ่เท่าฟักเขียว กระทั่งมีเศรษฐีกับแม่หม้ายได้ถกเถียงกันว่าเงินหรือข้าวที่สำคัญที่สุด โดยเศรษฐีเชื่อว่าเงินสำคัญที่สุด ส่วนแม่หม้ายเชื่อว่าข้าวสำคัญมากกว่า ด้วยความโมโหแม่หม้ายจึงทุบเมล็ดข้าวจนแตกกระจายไปทั่ว บางส่วนกระจายเข้าไปในถ้ำซึ่งถ้ำแห่งนั้นมีประตูที่สามารถเปิดอยู่
“ถ้ำมันเปิดและปิดได้ สิบวันถึงจะเปิดครั้งหนึ่ง และก็ไม่มีใครสามารถลงไปเก็บข้าวในหน้าผาได้ มีแค่นกกระจิบตัวหนึ่งเท่านั้นที่สามารถลงไปเอาข้าวออกมาได้” พะตีย้อนตำนานนกกระจิบผู้อาสาลงไปเอาเมล็ดข้าวทีหน้าผา
เรื่องเกี่ยวกับข้าวยังไม่จบแค่นั้น อยู่มาวันหนึ่งลูกเศรษฐีที่ให้ความสำคัญกับเงินทองเกิดร้องไห้ไม่หยุด เศรษฐีจึงเอาเงินไปแช่น้ำให้ลูกกินแต่ลูกก็ยังไม่หยุดร้อง เศรษฐีเห็นเศษข้าวแช่อยู่ในหม้อจึงเอาไปให้เด็กกิน เด็กจึงหยุดร้อง ซึ่งทั้งสองกรณีชี้ให้เห็นว่า ‘ข้าว’ สำคัญกว่าทุกๆ สิ่ง
นับจากนั้น ปกาเกอะญอจึงเริ่มต้นปลูกข้าวและให้ความสำคัญกับทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของต้นข้าว ตั้งแต่การเตรียมนา ซึ่งต้องเตรียมให้พร้อมตั้งแต่เดือนมกราคม ด้วยการหาที่เหมาะๆ และดินดีๆ ทีสำคัญต้องเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินรังนก และจะต้องหมุนเวียนกันปลูก เพราะที่นาเป็นของทุกคน
จากนั้นมีการเตรียมเมล็ดพันธุ์ ปล่อยน้ำเข้านา เลี้ยงผีฝาย ระหว่างนั้นจะมีพิธีต้มเหล้าบือแซะคลีที่ใช้สำหรับพิธีมัดมือช่วงทำนา แล้วจึงลงแปลงไถนาเตรียมดิน หมักดิน ปั้นคันนา หว่านข้าว และเมื่อต้นข้าวงอกจากพื้นดินและโผล่พ้นน้ำก็จะมีพิธีมัดมือ เป็นเสมือนการขอบคุณเทวดาที่อำนวยพรอาหารมาให้
ขณะที่ปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโต ออกรวง จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปดูแล เพื่อป้องกันไม่ให้หนูหรือศัตรูมาทำลายต้นข้าว และเมื่อข้าวสุกเต็มที่เหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง ก็จะมีประเพณีเอามื้อ (ลงแขก) เกี่ยวข้าว เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวก็เป็นประเพณีกินข้าวใหม่ (เอาะบือไข่) และพิธีแซะพอโข่ หรือที่เรียกว่า พิธีเรียกขวัญข้าว เพื่อเป็นการขอบคุณเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองผูกข้อมือ ต้มเหล้า และเลี้ยงผี
การเลี้ยงผีนาชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอนจะประกอบด้วยพิธีกรรมสำคัญ 3 พิธีกรรม คือ พิธีต่าแซะ หรือการทำพิธีเพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ขับไล่สิ่งไม่ดีให้ออกจากท้องนา พิธีเต่อม้อชิ เป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ดูแลพืชพันธุ์ให้ต้นข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ พืชพันธุ์ที่เพาะปลูกเจริญเติบโตและงอกงามดี และ พิธีต่าหลื่อ เป็นพิธีกรรมเพื่อขอร้องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่ต่าง ๆ ให้ช่วยคุ้มครองดูแลนาข้าวให้อุดมสมบูรณ์ รวมถึงสรรพสิ่งในชีวิตของชาวปกาเกอะญอตั้งแต่ครอบครัว ทรัพย์สิน หรือสัตว์เลี้ยง โดยชาวบ้านผาหมอนประกอบพิธีกรรมทั้งสามพิธีกรรมร่วมกันในช่วงที่ต้นข้าวเริ่มเติบโต หรือในราวเดือนสิงหาคม เนื่องจากมีขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมคล้ายคลึงกัน
นอกจากพิธีกรรม ชาวบ้านผาหมอนยังมีภูมิปัญญาในการเลือกเพาะปลูกพันธุ์ข้าวได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคของคนในชุมชน ซึ่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากข้าวเพื่อการหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี และนอกจากปัจจัยในการเลือกพันธุ์ข้าว วิธีดูแลต้นข้าว ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเจริญเติบโตในแต่ละสายพันธุ์
‘แวโข่ สู่ลอบือ’ เรื่องเล่าคนปลูกข้าว
ก่อนเริ่มต้นปลูกข้าว ปกาเกอะญอจะคัดเลือกสมาชิกในครอบครัวเพื่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานเพาะปลูกในปีนั้น หรือเรียกว่า แวโข่สู่ลอบือ โดยคัดจากสมาชิกที่เชื่อว่าหากเป็นผู้นำในการเพาะปลูกแล้วจะทำให้ได้ผลผลิตดี โดยผู้ที่ได้รับเลือกจะเป็นผู้เริ่มต้นการปลูกข้าวทุกขั้นตอน และก่อนลงมือปลูกข้าว จะต้องเสี่ยงทายด้วยการเริ่มต้นปลูกข้าววันละต้นจนครบ 7 วัน และไปดูว่า ข้าวทั้ง 7 ต้น (พือโท่ลอ) ต้นไหนโตมากที่สุด ก็จะถือเอาวันนั้นเป็นวันดี และเริ่มต้นการเพาะปลูกข้าวในวันนั้นของสัปดาห์ถัดไป
ว่ากันว่า การปลูกข้าว 7 วัน เป็นไปตามตำนานที่ว่าด้วยเรื่องของการ ‘ปลูกข้าว’ เพราะข้าว 7 กอ เปรียบเสมือนเทพเจ้าทั้ง 7 ที่ประทานโดย เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งแปลงร่างเป็นหญิงชราลงมาเฝ้าดูชายกำพร้าชื่อ จอโผ่ แค ที่ปลูกข้าวแล้วโตเพียง 7 กอเท่านั้น และด้วยความเมตตาของเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในร่างของหญิงชรา ได้ดลบันดาลให้ข้าวทั้ง 7 ก่อของชายกำพร้า เจริญงอกงามกระทั่งทำให้ชายหนุ่มสามารถเก็บเกี่ยวข้าวทั้ง 7 กอนั้นจนเต็มยุ้งฉาง
จากนั้นหญิงชราก็บอกกับหนุ่มกำพร้าว่าเธอจะต้องกลับบ้านบนฟ้าแล้ว โดยเมื่อใดที่ชายกำพร้าเห็นตอไม้ถูกเผาเป็นสีดำทั่วไร่ให้เรียกหายายแล้วยายจะกลับมา เมื่อพูดจบหญิงชราได้กลายร่างเป็นนกวิเศษบินขึ้นสู่สรวงสวรรค์ ชาวปกาเกอะญอจึงถือว่า ‘โถ่ บี ข่า’ หรือนกขวัญข้าวเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
และเมื่อชาวบ้านเห้นนกชนิดนี้บินอยู่เหนือทุ่งนา นั้นหมายความว่าต้นข้าวจะเจริญเติบโตงอกงามให้ผลดี
และพิธีกรรมยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากเสร็จพิธีปลูกข้าวเสี่ยงทาย ผู้ชายในครอบครัวจะต้องมาทำหน้าที่ขุดหลุม ผู้หญิงจะเป็นคนหยอดข้าวลงหลุม ที่สำคัญต้องเป็นชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน หลังเสร็จพิธี ทุกคนก็จะมาเอามื้อปลูกข้าวจนเต็มนา จากนั้นก็จะมีพิธีกรรมบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ปกป้องคุ้มครองเมล็ดข้าวเพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี โดยจะอธิษฐานว่า “ขอให้ (ข้าว) ต้นใหญ่ เมล็ดใหญ่ ได้กินทั้งคนจน คนรวย ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง”
พันธุ์ข้าวของชาวผาหมอน
ข้าวที่คนผาหมอนนิยมกินกันมีอยู่หลายสายพันธุ์ เช่น บือพะโดะ หรือข้าวเมล็ดใหญ่ ที่เอาพันธุ์มาจากบ้านแม่แดด เพราะเป็นข้าวสายพันธุ์ที่เหมาะกับพื้นที่ ปลูกแล้วผลผลิตดี รสชาติอร่อย และอีกสายพันธุ์ที่นิยมปลูกคือ บือโปะโหละ หรือข้าวเมล็ดกลม เป็นข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศของหมู่บ้าน มีกลิ่นหอม รสอร่อยเช่นกัน ที่สำคัญคือให้ผลผลิตจากการปลูกต่อหนึ่งรอบเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์อื่นๆ
แม้จะเลือกปลูกข้าวเพียงสองสายพันธุ์ด้วยเหตุผลเพราะว่าข้าวทั้งสองชนิดมีรสชาติดี คนนิยม และให้ผลผลิตต่อการปลูก 1 รอบมากกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ แต่ชาวบ้านผาหมอนก็ยังคงเก็บรักษาข้าวสายพันธุ์ดั้งเดิม เช่น บือพะทอ หรือ‘ข้าวเมล็ดยาว’ ไว้และแม้จะเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ให้ผลผลิตน้อย ในหนึ่งรวงจะมีข้าวเมล็ดลีบจำนวนมากทำให้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน มีรสจืด แข็ง และไม่ค่อยหวาน
อีกสายพันธุ์ที่คนผาหมอนนำมาจากบ้านแม่แฮเหนือ เมื่อปี พ.ศ.2555 บือแหม่แฮคี เป็นพันธุ์ข้าวมีลำต้นค่อนข้างสูงใหญ่ ทนทานต่อสภาพอากาศที่หนาวเย็นได้ดี และเป็นข้าวที่มีความหอมมัน แม้แต่เมื่อข้าวเย็นความนุ่มก็ยังคงอยู่
บือโนมู เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกมาแต่ดั้งเดิมในพื้นที่เช่นกัน แต่ไม่ทราบประวัติความเป็นมาที่แน่ชัด ลักษณะลำต้นสูงใหญ่ หนึ่งกอจะมีประมาณ 13-15 ต้นหนึ่ง ในรวงจะมีเมล็ดประมาณ 200-250 เมล็ด ลำต้นทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็น เปลือกข้าวหนา ผลผลิตที่ได้ประมาณ 60 ถังต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ ปัจจุบันพันธุ์ข้าวชนิดนี้เริ่มสูญหายไปจากบ้านผาหมอน เนื่องจากบือโนมูเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความหอม รสชาติดี รับประทานได้ในปริมาณมาก จึงไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการบริโภค
นอกจากนั้นยังมีข้าว บือแม่ยะคี ที่เริ่มเอามาปลูกเมื่อ 20 ปีทีแล้วโดยชาวบ้านที่ชื่อว่าสมศรี ดำรงไพรพนาได้นำเมล็ดพันธุ์มาจากบ้านขุนยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีความอ่อนนุ่ม แต่ไม่มัน ไม่หวาน เหมาะกับการทำเมนูข้าวผัด
บือชอมี หรือ ข้าวไก่ป่า ที่ตั้งชื่อตามตำนานว่าวันหนึ่งไก่ป่าตัวหนึ่งได้ออกหากินในป่า ต่อมานายพรานคนหนึ่งได้มาพบไก่ป่ากำลังหากินจึงยิงไก่ป่าตัวนั้นแล้วนำกลับมาที่บ้านเพื่อนำไปเป็นอาหาร ขณะที่นายพรานเตรียมนำไก่ไปประกอบอาหารได้ตัดเหนียงของไก่ตัวนั้นออกมา และพบว่าภายในเหนียงไก่มีเมล็ดข้าวอยู่ภายใน นายพรานจึงนำเอาเมล็ดข้าวมาเพาะปลูก จึงเป็นที่มาของข้าวไก่ป่าที่ปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน โดยข้าวพันธุ์บือชอมีที่เพาะปลูกในพื้ที่บ้านผาหมอนได้รับการนำมาเข้ามาจากบ้านห้วยเกี๋ยง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยนางหม่อบือ ชาวบ้านหนองหล่ม
บือคะ เป็นพันธุ์ข้าวที่ นายตะกาเก ชีพดำรงวนา เอามาจากบ้านแม่แอบ เมื่อปี พ.ศ. 2557 เป็นข้าวที่ปลอดภัยต่อการคุกคามของนกและหนู เนื่องจากเมล็ดข้าวมีเปลือกสีคล้ำทำให้นกและหนูไม่รบกวน
นอกจากพันธุ์ข้าวข้างต้น ปัจจุบัน คนผาหมอนเริ่มปลูกข้าวพันธุ์ใหม่คือ ‘ข้าวพระราชทาน’ ที่ชาวบ้านนำมาเมื่อครั้งลงไปถวายความเคารพพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ในหลวงรัชกาลที่ 9)
“ได้มาประมาณ 10 เม็ด ปีทีแล้วเอาไปเพาะและเริ่มปลูก ปีนี่เรากำลังขยายข้าวพันธุ์นี้อยู่ คิดว่าถ้าได้ผลออกมาดีหลังเก็บเกี่ยวก็จะแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในชุมชน” พะตีบุญทากล่าวด้วยใบหน้าเปี่ยมสุข
การทำความเข้าใจ ‘การทำนา’ ของชาวปกาเกอะญอบ้านผาหมอนจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าใจการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ป่าได้เป็นอย่างดี
บ้านผาหมอน ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 100 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เชียงใหม่-จอมทอง ถึงหลักกิโลเมตรที่ 57 ก่อนถึงอำเภอจอมทอง 1 กิโลเมตร แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 สายจอมทอง-อินทนนท์ เป็นถนนลาดยางอย่างดีมุ่งสู่ยอดดอย บนเส้นทางนี้บ้านผาหมอนตั้งอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 23 ทางเข้าหมู่บ้านเป็นถนนดินแดงและคอนกรีตบางช่วง รถยนต์ทั่วไปสามารถเข้าถึงหมู่บ้านได้ ยกเว้นในฤดูฝนที่การเดินทางไม่ค่อยสะดวกนัก