บ้านผาสุข:แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการน้ำ
ที่บ้านผาสุข ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน มีลำห้วยน้อยใหญ่รายรอบหมู่บ้าน กว่า 20 ลำห้วย นอกจากนั้นยังมีลำน้ำว้าและลำน้ำมางไหลผ่าน ทำให้บ้านผาสุข เป็นอีกชุมชนหนึ่งทีมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ มากที่สุดแห่งหนึ่งในตำบลภูฟ้า
การมีน้ำท่าบริบูรณ์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากชาวบ้านร่วมกันดูแลรักษาป่าไว้เป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงมีน้ำสำหรับไว้อุปโภคบริโภค ทั้งการทำเกษตรและดื่มกิน ในแง่ของการจัดการ มีการทำระบบประปาภูเขาเพื่อแจกจ่ายไปจ่ายไปยังบ้านเรือนแต่ละหลังในชุมชน
ปัญหาของบ้านผาสุข
ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะมีการดูแลป่า และมีระบบการจัดการที่ดี บ้านผาสุกก็ยังประสบปัญหาเรื่องการใช้น้ำ ทั้งในหน้าแล้งและในหน้าฝน กล่าวคือขาดแคลนและไม่เพียงพอในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝน ชาวบ้านไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในยามขาดแคลนได้ เหตุผลเพราะแต่ละครัวเรือน ใช้น้ำไม่เท่ากัน บางครัวเรือนใช้มาก บางครัวเรือนใช้น้อย บางครัวเรือนปล่อยน้ำทิ้งอย่างไร้ค่า จากที่เคยมีใช้อย่างพอเพียง ก็เริ่มไม่เพียงพอ จนกระทั่งนำไปสู่ความขัดแย้งในที่สุด
จากปัญหาดังกล่าว นำไปสู่งานวิจัย โครงการวิจัย “พัฒนาระบบการจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรของชุมชน บ้านผาสุข ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน” เป้าหมายคือ “ลดความขัดแย้ง” สร้างจิตสำนึก เปลี่ยนวิธีคิด และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำของบ้านผาสุก ให้หันกลับมาใช้น้ำอย่างถูกวิธี รู้จักการฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน”
กระบวนการดำเนินงาน
- ทำความเข้าใจกับชุมชนเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้
- สำรวจป่าต้นน้ำเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง ซึ่งก็พบว่า เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการของชุมชน คือ ป่าเริ่มลดลง และเมื่อเก็บข้อมูลจำนวนครัวเรือน และปริมาณการใช้น้ำ ของแต่ละครัวเรือน ก็ทำให้ทราบว่า มีครัวเรือนเพิ่มขึ้น หลายครัวเรือนมีกิจกรรมทางการเกษตรที่ต้องใช้น้ำจำนวนมาก อาทิการขุดบ่อเลี้ยงปลา
และเมื่อทราบข้อมูลครัวเรือนและความต้องการใช้น้ำ ทีมวิจัยยังชวนชาวบ้านออกสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเติม สำหรับการรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต ซึ่งก็พบว่ามีลำห้วยอีกหลายสายที่ยังไม่มีการนำน้ำลงมาใช้ ซึ่งจำเป็นต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการของบประมาณสนับสนุน
จากข้อมูล สู่แนวทางแก้ปัญหา
ข้อมูลจำนวนครัวเรือน และปริมาณการใช้น้ำ ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ป่า และแหล่งน้ำ เมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกัน จะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องการแย่งน้ำ
มีการตั้งกฎกติกาชุมชน โดยเฉพาะการจัดสรรน้ำให้กับคนในชุมชนอย่างเป็นธรรม กำหนดอัตราการใช้น้ำใหม่ เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นสำหรับผู้ใช้มาก ใช้น้อย อีกทั้งยังร่วมกันตรวจสอบคุณภาพน้ำ เพื่อความปลอดภัยทางด้านสุขอนามัย ตรวจสอบระบบการติดตั้ง – บำรุงรักษา สัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยผ่านกลุ่มอาสาสมัครในชุมชนที่จะคอยผลัดเปลี่ยนตามวาระข้อตกในการเป็นอาสาสมัคร โดยทุกครัวเรือนจะจัดส่งคนในครอบครัวมาเป็นอาสาสมัคร
กระบวนการฟื้นฟูแหล่งน้ำ
ในแง่ของการฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำ และผืนป่า
- ใช้ความรู้ และความเชื่อเรื่องป่าศักดิ์สิทธิ์ จารีตประเพณี
- มีการและการปลูกป่าเสริมตามความเชื่อ
- แบ่งโซนพื้นที่ป่า ได้แก่ ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ ป่าใช้สอยผ่านการจัดทำโฉนดชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้รู้อาณาเขตพื้นที่ทำกินและพื้นที่ป่า และมีมาตรการในการดูแลรักษา ซึ่งแนวทางดังกล่าว ได้นำไปสู่การอนุรักษ์ และฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชน ชุมชนรอบข้างและหน่วยงานด้านป่าไม้ในพื้นที่ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำของหมู่บ้าน ที่คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำผ่านระบบประปาภูเขาของหมู่บ้าน
- สำหรับการลดความขัดแย้งการบริหารจัดการน้ำภายนอกชุมชน มีการบูรณาการร่วมกันระหว่าง บ้านผาสุก โครงการพระราชดำริศูนย์ภูฟ้า และหน่วยจัดการต้นน้ำ โดยใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ชาวบ้านเป็นผู้รวบรวม มาเป็นเครื่องมือการสร้างความเข้าใจ กระทั่งนำไปสู่เวทีการพูดคุยและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างสันติวิธี มีการจัดโครงสร้างการจัดการน้ำ ในรูปแบบคณะกรรมการที่มีความเหมาะสม คล่องตัว สามารถประสานงานกับคนในชุมชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ จนนำไปสู่การจัดสรรน้ำที่เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ
ซึ่งประสิทธิภาพที่กล่าวถึงคือ การเดินท่อส่งน้ำไปยังทุกครัวเรือน ผ่านระบบประปาภูเขา ปัจจุบันมีโครงสร้างของคณะกรรมการน้ำ เพื่อลดปัญหาการขาดเจ้าภาพหรือแกนหลักในการดำเนินกิจกรรมหรือการแก้ไขปัญหาในเรื่องน้ำ
จะเห็นว่า ผลจากการดำเนินการศึกษาวิจัย โดยผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทำให้ชุมชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของทุนเดิมและศักยภาพของชุมชน และเกิดความภาคภูมิใจ ที่ทุกคนในชุมชนได้ร่วมกันทำงานวิจัยเพื่อชุมชนของตนเอง โดยอาศัยองค์ความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนและความรู้ใหม่ ๆ จากภายนอก
+++++++++++