แหล่งเรียนรู้งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

บ้านดง  : แหล่งการเรียนรู้เรื่องการจัดการไฟป่าและหมอกควัน

————————————————————————————————–

            ท่ามกลางความพยายามหาทางออกและวางมาตรการแก้ไขปัญหาไฟป่าของทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน มีหมู่บ้านที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ในตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็น 1 ใน 9 จังหวัดวิกฤตฝุ่นควันของภาคเหนือ ชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้านในตำบลนายาง ได้ผนึกกำลังจัดการไฟป่า ภายใต้ โครงการควบคุมไฟป่าและการจัดการหมอกควัน ผลลัพธ์จากการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเข้มแข็งสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ภายในระยะเวลาเพียงปีครึ่ง จากที่เคยมีไฟป่าเกิดขึ้นในพื้นที่ 40 – 50 จุด บางปีเกิดขึ้นถึง 100 จุด กลับลดจำนวนลงเหลือแค่ 15 จุดทั้งอำเภอ

            การร่วมมือกันครั้งนี้ เริ่มต้นจากความกังวลเรื่องปากท้อง และความต้องการอนุรักษ์ต้นน้ำ เมื่อชาวบ้านเก็บของป่า เช่น ผักหวาน ไข่มดแดง เห็ดถอบ (เห็ดเผาะ) เห็ดชนิดอื่นๆ และของกินจากป่าได้น้อยลง เนื่องจากสภาพป่าที่ขาดความอุดมสมบูรณ์และผลกระทบจากไฟป่า

            จากปัญหาปากท้องทำให้มองเห็นปัญหาของทรัพยากรป่าไม้และธรรมชาติในภาพรวม เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการไฟป่าและหมอกควันที่ดูแลโดยชุมชนเพื่อชุมชน

ทีมงานวิจัยและอาสาสมัครจากทั้ง 10 หมู่บ้าน มีมาตรการและวิธีการอย่างไรในการลดไฟป่าให้คนทั้งอำเภอ?

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเผาป่า

  • ถ้าไม่เผา ต่อไปเมื่อใบไม้ทับถมเยอะขึ้น หากเกิดไฟไหม้จะยิ่งลุกลามมากขึ้น
  • ถ้าไฟไม่ไหม้ เห็ดถอบไม่ออก ชาวบ้านขาดรายได้

กระบวนการทำงานวิจัย

วิธีการทำงานของกลุ่มสร้างการมีส่วนร่วมของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านในตำบล เริ่มต้นระยะแรก 5 หมู่บ้านนำร่อง ได้แก่ บ้านนายางเหนือ บ้านแม่ยอง บ้านกาด บ้านดง และบ้านนาปราบ แล้วขยายรวมเป็น 10 หมู่บ้านในปีถัดมา (บ้านหนองวังแดง บ้านนาไม้แดง บ้านนายาง บ้านแก่น และบ้านไร่) ด้วยระยะเวลาการทำโครงการเพียง 1 ปี 6 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของตำบลนายาง อำเภอสบปราบ

  1. ชวนผู้นำชุมชนพูดคุยแบบไม่เป็นทางการ [1]เกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อหาแนว

ร่วมจัดตั้งทีมทำงานแกนนำ เป็นการสื่อสารโดยใช้ ‘กลไกท้องถิ่น’ ที่มีอยู่เดิม กล่าวคือ อาศัยผู้นำชุมชน ทั้งผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่มีบทบาทหน้าที่ดูแลความผาสุกของประชาชนในพื้นที่

  • จัดเวทีชี้แจงตามหมู่บ้าน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อ

เปลี่ยนวิธีคิดแล้วจึงเปลี่ยนพฤติกรรม กระตุ้นให้ชาวบ้านกลับมาเห็นความสำคัญของป่า จากที่มองข้ามหรือหลงลืมไปเพราะเป็นสิ่งใกล้ตัว โดยระยะแรกจัดเวทีในหมู่บ้านที่ผู้นำชุมชนให้ความสนใจและเห็นความสำคัญของปัญหาหมอกควันและไฟป่า

ขั้นตอนที่หนึ่ง ชี้แจง ชวนตั้งคำถามให้เห็นถึงผลกระทบและปัญหา เปรียบเทียบนำเสนอข้อมูลเชิงประจักษ์

ตัวอย่างคำถาม

  • ป่ามีประโยชน์ไหม? ให้อะไรกับเราบ้าง?
  • เก็บอะไรได้จากป่าบ้าง?
  • เราสามารถสนองคุณป่าด้วยวิธีการอย่างไรได้บ้าง?
  •  ไฟป่าเมื่อ 30 ปีที่แล้ว พอถึงสัก 4-5 ทุ่ม ไม่เกินเที่ยงคืนก็ดับหมด แต่ทุกวันนี้ไฟป่าไหม้ 7 วัน 7 คืน

ไม่ยอมดับ จนกว่าเชื้อเพลิงจะหมด เพราะอะไร?

ตอบ เพราะประเทศไทยในปัจจุบันมีพื้นที่ป่าคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ทั้งหมด หรือราว

102.49 ล้านไร่ ภายในระยะเวลาประมาณ 40 ปี พื้นที่ป่าลดลงจากเดิมถึงร้อยละ 20 เมื่อพื้นที่ป่าลดลงสภาพความชื้นในอากาศที่ลดลง ส่งผลให้การเผาไหม้ไฟป่าลุกลามรวดเร็ว ขยายเวลาและขยายวงกว้างได้มากขึ้น

การชี้ให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์

  • นำสถิติจากสาธารณสุขชุมชนแจ้งกรณีมีผู้เสียชีวิตจากโรคภูมิแพ้ในช่วงที่มีหมอกควันมาชี้ให้เห็น

อันตรายของภัยใกล้ตัว

ขั้นตอนที่สอง ชวนวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และดึงคู่ขัดแย้งมาเป็นแนวร่วม

เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล, หน่วยส่งเสริมควบคุมไฟป่า, อุทยานแห่งชาติดอยจง และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง) เป็นต้น

            ยกตัวอย่างเช่น เดิมบ้านแม่ยองมีอาณาเขตติดกับอุทยานฯ ก่อนทำงานวิจัยมีปัญหาขัดแย้งกับอุทยานฯ ทีมวิจัยจึงลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับอุทยานฯ ว่าชาวบ้านกำลังทำอะไร เพื่อจับมือทำงานร่วมกับอุทยานฯ ให้ได้ แล้วไปเจรจากับผู้ใหญ่บ้านแม่ยองต่อ

และ ขั้นตอนที่สาม ลงมติถามความเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่ว่ามีความประสงค์อยากทำโครงการหรือไม่

ทั้งนี้ ความสนใจของชาวบ้านวัดจาก แววตาของผู้เข้าร่วมและการตอบโต้ในเวทีแลกเปลี่ยน

  •  คัดเลือกตัวแทนจากแต่ละหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 คน โดยเน้นคุณสมบัติว่าต้องเป็นคนที่เข้าป่า

เป็นประจำ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นคนที่หากินกับป่า (คุณสมบัติอื่นๆ เช่น รู้หนังสือ เขียนอ่านได้ มีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ เป็นต้น)

  • การลงเก็บข้อมูล โดยตัวแทนแต่ละหมู่บ้านมาประชุมหารือกัน เช่น การเก็บสถิติไฟป่า (ไฟมา

จากทิศทางไหน มาจากภายในหรือภายนอกชุมชน) การเก็บข้อมูลอาหารจากป่าตามฤดูกาล การเก็บข้อมูลสัตว์ป่า และการสร้างความเข้าใจเพิ่มเติมแก่คนในชุมชนด้วยการลงไปพูดคุยและตอบแบบสอบถาม

  • การรวมทีมตัวแทนหมู่บ้านร่วมกันทำแนวกันไฟป่า  ออกบัตรประจำตัวนักวิจัยชุมชน

และอาสาสมัครดูแลป่าของหมู่บ้านในนามชุมชน

การทำแนวกันไฟ เป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงกันระหว่างคนที่เข้าป่า เพื่อบ่งบอกว่าพื้นที่ในเขตแนวกันไฟเป็นพื้นที่ที่จะต้องปราศจากการเผา (แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมลักลอบแอบเผา) จากเดิมการทำแนวกันไฟป่าของแต่ละหมู่บ้านจัดการกันเป็นเอกเทศ ต่างคนต่างทำไม่ข้องเกี่ยวกัน ทำให้แนวกันไฟป่าไม่เชื่อมต่อถึงกันจึงเป็นการยากที่แนวกันไฟป่าจะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเกิดภัยร้ายขึ้นมาตรงหน้า

ผลลัพธ์จากการดำเนินงานทำให้ทั้ง 10 หมู่บ้านทำแนวกันไฟป่าเชื่อมต่อถึงกัน เกิดชุดปฏิบัติการไฟป่าประจำแต่ละบ้าน และมีชุดปฏิบัติการไฟป่าเคลื่อนที่บ้านแก่น (ดูแลโดยผู้ใหญ่สุจินต์) วิ่งให้ความช่วยเหลือหมู่บ้านที่เหลือและโดยรอบเมื่อเกิดไฟป่า ทั้งหมดอาสาสมัครเสียสละกำลังกายและกำลังทรัพย์ของตัวเอง และได้รับการสนับสนุนจากชุมชน  เมื่อผลงานเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับความช่วยเหลือจากเอกชนและหน่วยงานอื่นๆ เป็นระยะ

  • การวางข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ป่าของแต่ละหมู่บ้าน หลายบ้านมีข้อตกลงเหล่านี้อยู่

แล้วก็นำมาปรับปรุง แล้วบังคับใช้ให้เป็นกิจจะลักษณะอย่างจริงจัง

ตัวชี้วัดการทำโครงการ

  1. ความร่วมมือจากภายใน เช่น แต่ละปีเมื่อทำแนวกันไฟร่วมกัน ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านเข้าร่วม

จำนวนกี่คน เพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่, แนวกันไฟแต่ละหมู่บ้านจากเดิมไม่เชื่อมต่อกันเพราะต่างคนต่างทำ ปัจจุบันแนวกันชนชนกัน ทำให้เกิดแนวกันไฟที่มีประสิทธิภาพ หรือ วัดความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมจากการแจ้งเหตุของชาวบ้าน จากเดิมที่มีเพียงผู้นำชุมชนเป็นผู้สอดส่องดูแล ปัจจุบันทุกคนร่วมกันดูแล เจอเหตุซึ่งหน้าดับไฟด้วยตัวเอง หรือโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทันที

  • ความสนใจและความร่วมมือจากภายนอก เช่น งบประมาณสนับสนุนเพื่อแบ่งเบาภาระของ

ตัวแทนอาสาสมัครในการปฏิบัติงานชุมชน

องค์ความรู้ที่ได้จากการทำงาน

ความรู้/ความเชื่อชุดเดิมความรู้ชุดใหม่
ถ้าไม่เผา ต่อไปใบไม้ทับถมเยอะขึ้น หากเกิดไฟไหม้จะยิ่งลุกลามมากขึ้น  ถ้าใบไม้ทับถมเยอะขึ้น จะซึมซับดิน ทำให้ตะกอนไม่ไหลลงมา ช่วยป้องกันหน้าดิน  
ถ้าไฟไม่ไหม้ เห็ดถอบไม่ออกถ้าไฟไม่ไหม้ ก็ยังมีเห็ดชนิดอื่นงอกงามขึ้นได้ อย่างไรก็ถาม แม้มีไฟไหม้เป็นปกติ บางปีเห็ดถอบก็ไม่ออกผลิตผลให้เก็บขายได้
องค์ความรู้อื่นๆ เช่น 
ครั่ง เป็นแมลงจากธรรมชาติอย่างหนึ่งที่เป็นรายได้หลักของพื้นที่ จะพบน้อยในช่วงหน้าแล้ง หรือหากได้รับปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ

ข้อเสนอแนะการเก็บข้อมูล

  1. ให้เก็บข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างผลผลิตเห็ดถอบกับเห็ดใบและเห็ดอื่นๆ ว่าเห็ดชนิดไหนให้

ผลตอบแทนมากกว่ากัน โดยวัดจากระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต เช่น เห็ดถอบระยะเก็บเต็มที่ประมาณ 2 เดือน แต่เห็ดใบหรือดอกเห็ดระโง และเห็ดอื่นๆ ให้ผลผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม แล้วนำปริมาณเห็ดแต่ละชนิดที่เก็บได้มาเทียบกับรายได้

  • สำรวจผลผลิตที่เกิดขึ้นตามแนวกันไฟว่ามีปริมาณมากน้อยต่างกันอย่างไรในแต่ละครั้ง

กลไกการทำงาน

            แหล่งการเรียนรู้เรื่องการจัดการไฟป่าและหมอกควัน ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทผู้นำชุมชนที่สามารถขับเคลื่อนชุมชนให้มีความเข้มแข็งจากภายในได้

            จากกระบวนการทำงาน เริ่มจากทีมนักวิจัย พูดคุยชักชวน ผู้นำชุมชน หลังจากนั้นจึงคัดเลือก คนเข้าป่า ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้าน แล้วเกิดความร่วมมือของ ชาวบ้าน ในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำแนวกันไฟป่า โดยมี อาสาสมัคร กลุ่มหนึ่งเป็นกำลังหลัก

            ระหว่างดำเนินงานทางชุมชนได้ดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ถึงแม้ความร่วมมือยังไม่เป็นรูปเป็นร่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เห็นความสนใจและการไม่คัดค้าน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ไม่ว่าจะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล ที่ให้สถานที่จัดประชุม, พระสงฆ์ บ้านแก่น, หน่วยส่งเสริมควบคุมไฟป่าลำปางโซนใต้, หน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าข้างเคียง ได้แก่ วังเหนือ แม่เมาะ และแม่กั๋ว, อุทยานแห่งชาติดอยจง และสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 (ลำปาง)

หลายหน่วยงานส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวที ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีความเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น และสามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้โดยไม่ต้องใช้กฎหมายบังคับเพียงอย่างเดียว

ปัจจัยความสำเร็จของตำบลนายาง อำเภอนาปราบ จังหวัดลำปาง

  1. ใช้คนได้ถูกงาน

ยกตัวอย่างเช่น การใช้กลไกท้องถิ่น โดยสร้างความเข้าใจกับผู้นำชุมชนเพื่อดึงผู้นำชุมชนมาเป็น

แนวร่วมในลำดับแรก เนื่องจากผู้นำชุมชนเป็นที่เคารพและได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้าน

การดึงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาเป็นทีม ได้แก่ การคัดเลือกตัวแทนหมู่บ้านละ 5 คน โดยระบุคุณสมบัติสำคัญ คือ ต้องเป็นคนที่เข้าป่า หรือ คนที่หากินกับป่า เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญเกี่ยวกับป่า อีกด้านหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดไฟป่าได้เช่นกัน

  • การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องที่ทำ ก่อนทำโครงการอย่างชัดเจน

ก่อนเริ่มโครงการ ทีมวิจัยใช้วิธีสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ผ่านเวที และการลง

พื้นที่ ใช้การพูดคุย ชวนตั้งคำถามให้คิด การตอบแบบสอบถาม และยกตัวอย่างเหตุการณ์เชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เพื่อทำให้ชาวบ้านเข้าใจวิกฤตที่แท้จริงของสถานการณ์ แล้วเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ

  • สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน จนเกิดการทำงานเป็นทีมอย่าง

เข้มแข็ง

โครงการนี้กระจายหน้าที่ให้แต่ละส่วนที่เกี่ยวข้อง ทำให้แต่ละคนเห็นความสำคัญใน

บทบาทของตัวเอง และเห็นว่าทุกคนมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรและเกิดความเสียสละ แรงกาย แรงใจและกำลังทรัพย์ของตนเอง

แม้ผู้ใหญ่บ้านจะเป็นแกนนำหลัก แต่ตัวแทนหมู่บ้าน (คนที่เข้าป่า) ก็เป็นกำลังสำคัญในการ

ขับเคลื่อนงาน ชาวบ้านที่มีความกระตือรือร้นก็สามารถช่วยกันสอดส่องดูแลระวังไฟป่า ฯลฯ

รูปแบบแหล่งเรียนรู้

            คาดว่าพื้นที่จัดตั้งแหล่งเรียนรู้อยู่ที่ บ้านนาดง ช่วงเวลาของการเข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการจัดการไฟป่าและหมอกควัน ณ ศูนย์นวัตกรรมหมอกควันและไฟป่า ตำบลนายาง อำเภอสมปราบ จังหวัดลำปาง ควรเป็นช่วงที่ชาวบ้านมีเวลาว่างเว้นจากการทำนา ราวเดือนมกราคมถึงมิถุนายน และ สิงหาคมถึงตุลาคม (เริ่มดำนาเดือนกรกฎาคม เก็บเกี่ยวพฤศจิกายนถึงธันวาคม)

            หากมีผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ สามารถติดต่อโดยตรงได้ที่ อิ่นแก้ว เรือนปานันท์ 084-986-7480 หรือเบอร์โทรสำรอง สำลี 098-815-2158, 086-188-1475 และวิไลวรรณ 089-9528799

องค์ประกอบของแหล่งเรียนรู้

             สื่อที่มีในปัจจุบัน ได้แก่ หนังสือ และ วิดีโอ ได้รับข้อเสนอแนะให้ปรับพื้นที่แหล่งเรียนรู้ให้น่าสนใจด้วยการเตรียม หนึ่ง วิทยากร หรือ ผู้เล่าเรื่อง เพื่อสื่อสารความเป็นมาเป็นไปของกลุ่ม และกระบวนการทำงานเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง

            สอง สื่อแผนภาพ แสดงแผนที่หมู่บ้าน อาณาเขตและจุดที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้ง เพื่อให้ผู้เรียนรู้เห็นภาพรวมของพื้นที่

ตัวแทนชาวบ้านทั้ง 10 หมู่บ้านของตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง แสดงให้เห็นศักยภาพของกำลังเล็กๆ จากคนในพื้นที่ว่า สามารถช่วยเบาบางปัญหาไฟป่า ที่ส่งผลกระทบต่อปากท้องและทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศได้ หากโมเดลการทำงานนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่อื่นๆ จากตำบลหนึ่งขยายวงกว้างออกไปยังตำบลข้างเคียง รวมกันเป็นจังหวัด เชื่อว่าปัญหาฝุ่นควันจะถูกปัดเป่าให้บรรเทาลงได้ ด้วยสำนึกและความเข้มแข็งของคนในชุมชน


[1] ทีมวิจัยใช้การไปเยี่ยมถามไถ่ทุกข์ สุข ความเป็นอยู่ และชวนคุยเรื่องการแก้ไขปัญหาหมอกควัน