“บ้านดง,จ.ลำปาง” ต้นแบบ “ลดเหล้างานศพ”
“ปัญหาสำคัญคือการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของชาวบ้าน มากที่สุดตอนนี้ก็คืองานศพ ซึ่งเจ้าภาพต้องแบกค่าใช้จ่ายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายเรื่องปราสาท โลงศพ ค่าเหล้า เพราะกลัวถูกชาวบ้านตำหนิ อย่างคนที่ร่ำรวยก็คิดว่าเลี้ยงเพื่อทำบุญ แต่ในรายที่ฐานะไม่ดีกลับต้องมีภาระมากขึ้น คนตายก็ไม่รับรู้อะไรแล้ว แต่คนเป็นกลับต้องก้มหน้าใช้หนี้กันต่อไปไม่จบสิ้น …แบบนี้เขาเรียก คนตายขายคนเป็นจริง ๆ” ที่เป็นทั้งโจทย์และปัญหา ทีทำให้ ลุงอิ่นแก้ว เรือนปานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง “การจัดระเบียบสังคมบ้านดง ตำบลนายาง อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง” ใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการหันมาลดภาระค่าใช้จ่ายมี่มากมายเกินตัวจากการจัดงานศพ
“เริ่มด้วยการพูดคุยอธิบายเรื่องการลดค่าใช้จ่าย พยายามชี้ให้เห็นว่าการกินเหล้าเป็นการฟุ่มเฟือย และเกิดความเจ็บป่วย” ลุงอิ่นแก้วเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการชักชวนชาวบ้านให้ขบคิดถึงปัญหาที่กำลังบั่นทอนสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของในชุมชน ขณะเดียวกันก็ยังชวนให้ชาวบ้านช่วยกันคิดว่า อะไรคือสาเหตุของความฟุ่มเฟือย การเล่นการพนันมีผลดี ผลเสียหรือไม่ อย่างไร และจะลดความฟุ่มเฟือยในพิธีศพได้อย่างไรโดยไม่มีผลเสียต่อวัฒนธรรม และ ประเพณีอันดีงามของชุมชน…
แต่อย่างไรก็ตามการ “ชวนชาวบ้าน” ให้เห็นพ้องต้องกันในเรื่องลดค่าใช้จ่ายในงานศพที่เป็นเรื่องใกล้ตัวนั้นลุงอิ่นแก้วบอกว่า ไม่ใช่ทำง่าย ๆ ซึ่งก็เป็นจริงดังคิด มีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า หากไม่มีการเลี้ยงเหล้าก็จะไม่มีคนมาร่วมงาน แต่เมื่อลุงอิ่นแก้วและแกนนำชาวบ้านคนอื่นที่มีแนวคิดเดียวกันช่วยอธิบาย ด้วยการผูกเอาเรื่องศาสนา และเรื่องของบาปบุญเข้ามาอธิบาย ซึ่งวิธีการนี้ได้ผล และชาวบ้านเริ่มเห็นด้วยกับแนวทางการลดค่าใช้จ่ายในงานศพที่ทีมลุงอิ่นแก้ว นำเสนอ
จากนั้นจึงช่วยกันคิดแบบฟอร์มเพื่อใช้ในการบันทึกค่าใช้จ่าย สำหรับเก็บข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอาหาร ค่าเหล้า หรือค่าจ้างอื่น ๆ ทั้งที่จำเป็น และไม่จำเป็นในการประกอบพิธีศพ
ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลซึ่งประมวลจากค่าใช่จ่ายในช่วงที่ผ่านมา พบว่าตลอดทั้งงานศพมีค่าใช้จ่ายโดยรวมไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท ลุงอิ่นแก้วพร้อมกับกลุ่มแกนนำจึงเอาข้อมูลเหล่านี้มาเปิดเผยต่อเวทีประชาคมของหมู่บ้าน เพื่อให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะว่า มีหลายอย่างที่ชาวบ้านสามารถช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
“แล้วเราจะลดค่าใช้จ่ายอะไรก่อน?” คือคำถามที่ทำให้ชาวบ้านต้องมาช่วยกันคิด และเริ่มค้นหาองค์ความรู้ในการจัดงานศพของหมู่บ้าน
สอบต.บุญรัตน์ ยะธะนะ หนึ่งในผู้เข้าร่วมกระบวนการหาแนวทางลดความฟุ่มเฟือยในงานศพ พยายามชักชวนให้ชาวบ้านย้อนกลับไปศึกษารูปแบบ และพิธีกรรมในงานศพของคนในอดีต
“สมัยก่อนเวลามีงานศพ ผู้ชายจะเป็นคนไปหาไม้ เอามาทำโลงศพ ส่วนผู้หญิงก็จะมาช่วยกันห่อขนม ทำของที่จะใช้ถวายทาน…แต่ปัจจุบัน มันมีเหตุผลเรื่องของหน้าตาเข้ามาเกี่ยวข้อง ลูกหลานก็อยากจะทำอะไรให้คนตายเป็นครั้งสุดท้าย เป็นการให้เกียรติคนตาย ทุกอย่างเลยกลายเป็นการลงทุนไปหมด โลงศพถ้าเป็นไม้ธรรมดาก็ 2,500 บาท ถ้าอย่างดีก็ห้าพัน ส่วนปราสาทอย่างดีก็ประมาณสองหมื่น ส่วนค่าอาหารเมื่อก่อนไม่ค่อยมีค่าใช่จ่ายมากนัก เพราะมีการเอาพริก เอาข้าว เอาผักไปทำกับข้าวร่วมกัน ที่สำคัญคือจะไม่มีการเลี้ยงเหล้า และจะตั้งศพไว้อย่างมาก 2 คืน เมื่อถึงวันเผา ก็จะช่วยกันนำศพใส่ล้อเลื่อนที่ทำขึ้นเอง จูงไปเผาที่ป่าช้า และขณะที่ทำพิธีที่ป่าช้า จะมีเพียงน้ำเปล่าเท่านั้นที่ใช้เลี้ยงแขกที่มาร่วมงานศพ ไม่มีดอกไม้จันทน์ เมื่อกลับจากป่าช้าก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน”
ชาวบ้านอาศัยเหตุผลและแนวทางข้างต้นมาหารือ พร้อมกับทำข้อตกลงร่วมกันว่า เมื่อมีคนตายเจ้าภาพจะต้องแจ้งแก่คณะกรรมการประจำแต่ละหย่อมบ้านทราบ และให้หัวหน้ากรรมการเป็นผู้บริหารจัดการเงินทั้งหมด ในกรณีนี้อาจจะยกเว้นเรื่องอาหารโดยให้เจ้าภาพเป็นผู้จัดการเองเพื่อให้ประหยัดที่สุด ขณะเดียวกันก็ขอความร่วมมือกันเป็นการภายในเช่น งดเลี้ยงเหล้าภายในงาน และหากคณะกรรมการพบว่ามีการเลี้ยงเหล้า จะใช้มาตรการทางสังคมคือจะไม่ไปช่วยงานศพ และจะถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกสงเคราะห์ 5 ปี และจะไม่ได้รับเงินค่าทำศพ 50,000 บาท นอกจากนั้นยังมีการเสนอให้ลดระยะเวลาการจัดงานศพจากเดิม 3 – 5 วัน เหลือเพียง 1 วัน ประกอบกับช่วงเวลานั้นมีคนตายในหมู่บ้านพร้อมกัน 2 ศพ ทีมชาวบ้านจึงใช้เป็นกรณีศึกษาในการลดค่าใช้จ่ายในงานศพร่วมกัน เริ่มมีการเก็บข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันก็ “ลดเลี้ยงเหล้า” แขกเหรื่อที่มาร่วมในงาน
ผลของการจากการทดลองรณรงค์การลดเหล้าในงานศพทั้งสองกรณี พบว่า ค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 15,000 – 16,000 บาท ซึ่งลดลงจากเดิม ที่ต้องใช้จ่ายเงินในงานศพครั้งละประมาณ 30,000 บาท และตัวเลขที่ลดลงเป็นตัวอย่างอันชัดเจนที่ทำให้ชุมชนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี และเห็นควรให้ทำกันอย่างจริงจังมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลุ่มแกนนำชาวบ้าน จึงนำข้อมูลรายจ่ายทั้งหมดในการจัดงานมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้งว่า มีค่าใช้จ่ายอะไรมากที่สุด และมีรายจ่ายใดที่สามารถลดลงไปได้อีก เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการจัดงานศพครั้งต่อไป และใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการทำงาน โดยยกเรื่องของโลงศพ และปราสาทใส่ศพ มาเป็นประเด็นที่จะเคลื่อนงานต่อ ซึ่งมีเหตุผลสำคัญอยู่ที่การดึงความร่วมไม้ร่วมมือของคนในชุมชนที่มีมาแต่อดีตให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ผู้ชายอาจจะช่วยกันทำโลงศพ ปราสาทใส่ศพ โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในแต่ละบ้านมาช่วยกันทำ ซึ่งการทำแบบนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อโลงศพในราคา 2,500 บาท เหลือเพียง 1,000 บาท และลดรายจ่ายการซื้อปราสาทในราคา 3,000 บาท เหลือเพียง 1,000 บาท ซึ่งนัยยะที่แฝงไว้ของการช่วยต่อโลงศพ และทำปราสาทคือช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนให้กลับคืนมา
ถึงตรงนี้ ความพยายามในการลดค่าใช้จ่ายในงานศพของคนบ้านดง ทั้งเรื่องของการลดเหล้า การทำโลงศพ และการทำปราสาทด้วยตนเองมากกว่าการซื้อ นอกจากจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายในงานศพลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยังช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เป็นจุดที่กระตุ้นให้ชาวบ้านร่วมกันสอดส่องดูแลชุมชนมากขึ้น
ภาพของความสมัครสมานสามัคคีเริ่มเกิดขึ้น ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และความประหยัดไม่ฟุ่มเฟือยดังเช่นอดีต เริ่มปรากฎภาพให้เห็นอยู่ลาง ๆ แม้จะยังไม่แจ่มชัดเท่าใดนัก หากแต่วันเวลา และพลังกายพลังใจของคนในชุมชนที่มุ่งมั่น จะช่วยสร้างให้ภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ
ความสำเร็จในครั้งนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วนเกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวิเคราะห์ ของชาวบ้านทั้งชุมชนบนฐานของ “ข้อมูล” หรือ “ความรู้” ที่คนบ้านดงช่วยกันค้นหา และนำมาใช้
++++++++