“บานหับ-เผย” จากเทคโนฯ ชาวบ้าน สู่ “แบบมาตรฐาน” กรมชลฯ
“บานหับ- เผย” เป็นชื่อเรียก แบบประตูระบายน้ำ กั้นน้ำจืด-น้ำเค็ม ที่ชาวบ้านตำบลแพรกหนามแดงร่วมกันคิดค้นขึ้น โดยมี “อุมา ศิลาวงษ์” ช่างศิลป์ฝีมือดีของชุมชนเป็นผู้แปลงแนวคิดในจินตนาการออกมาเป็น ภาพร่างต้นแบบ…
“บานหับ-เผย” เป็นแบบประตูระบายน้ำ ที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในการ ปิด-เปิด ประตูระบายน้ำ ระหว่างคนฝั่งน้ำจืด และฝั่งน้ำเค็มที่ยืดเยื้อยาวนานมาเกือบ 20 ปี ความขัดแย้งที่นับวันจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้กระทั่งญาติมิตรก็ไม่เว้น
“ประตูระบายน้ำแบบเดิม” ซึ่งออกแบบโดยกรมชลประทานอันเป็นสาเหตุของปัญหา มีลักษณะเป็นบานทึบ ปิดตาย การเปิดใช้วิธีการบังคับจาก้านบนแล้วดึงบานประตูขึ้นทั้งบาน ซึ่งในช่วงน้ำมากฝั่งน้ำจืดจะเกิดภาวะน้ำท่วม ในขณะเดียวกันเมื่อใดที่มีการเปิดประตูระบายน้ำของเสียที่สะสมอยู่เหนือประตูก็จะไหลทะลักออกไปยังฝั่งน้ำเค็มซึ่งมีอาชีพทำนากุ้งได้รับความเสียหาย
“เราต้องการให้น้ำมีการไหลเวียนตามธรรมชาติ เพราะที่จริงแล้วกุ้งชอบน้ำกร่อย ต้องมีน้ำจืดมาผสมน้ำเค็มบ้าง…”
“เป็นไปได้ไหมที่ประตูน้ำจะปิด-เปิด เองได้”
“ทำยังไงจะไม่ต้องยกประตูขึ้นทั้งบาน เพื่อไม่ให้ตะกอนของเสียทะลัก…”
ฯลฯ
คำถามเหล่านี้เอง เป็นที่มาของ“บานหับ-เผย” มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำที่มี บานสวิง เปิดเองอัตโนมัติเมื่อน้ำสูงเกินกว่าระดับ และปิดเองเมื่อน้ำเค็มขึ้น มีบานเลื่อน ปรับระดับความสูงต่ำ ของระดับน้ำในฝั่งน้ำจืด และมีบานทึบ อยู่ด้านล่างเพื่อกักตะกอนของเสียก้นคลอง
เมื่อได้แบบประตูระบายน้ำในฝัน ชาวบ้านพยายามนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้รวมทั้งขอให้มีการสร้างประตูตามแบบจำลองที่พวกเขาคิดขึ้น ซึ่งต่อมาทางรองผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณมีการออกแบบประตูตามแนวคิดของชาวบ้าน พร้อมทำการทดลองติดตั้งเพื่อติดตามประเมินผลในเบื้องต้น 2 ประตู ซึ่งแม้ว่า ในเชิงเทคนิคอาจจะมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่บ้าน แต่ในส่วนของกลไกการทำงานของประตูน้ำสามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้พื้นที่ได้จริง และไม่เพียงลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนน้ำจืด และน้ำเค็มลงได้เท่านั้น หากแต่ยังช่วยฟื้นฟูให้ระบบนิเวศในคลองอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ทางสำนักงานกรมชลประทานได้นำหลักคิดของชุมชนแพรกหนามแดงไปออกแบบในการสร้างประตูระบายในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดงเพิ่มเติมอีกหลายแห่ง แต่กลับพบว่ากลไกการทำงานประตูระบายน้ำที่สร้างขึ้นใหม่มีปัญหาในเชิงเทคนิคค่อนข้างมาก…
ปัญญา โตกทอง หัวหน้าโครงการวิจัย รูปแบบการจัดการน้ำในคลองตำบลแพรกหนามแดง :งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยถึงสภาพปัญหาของประตูระบายน้ำที่ชุมชนจัดเก็บข้อมูลว่า ปัญหาหลัก การทำงานของบานประตูไม่สามารถแก้ปัญหาของพื้นที่ได้ โดยแต่ละประตูมีรายละเอียดแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ประตูระบายน้ำคลองกำนันสมบูรณ์ มีการออแบบบานสวิง 2 ชั้น และขนาดหูช้างของประตูมีขนาดใหญ่ ทำให้บานประตูไม่สามารถปิดสนิท ทำให้น้ำเค็มไหลย้อนกลับไปฝั่งน้ำจืดได้ ในขณะที่บางแห่งขอบบานประตูด้านล่างที่กั้นน้ำไหลผ่านอยู่ในระดับต่ำ และบานประตูไม่สามารถปรับเลื่อนระดับบานได้ ทำให้ปริมาณน้ำจืดถูกระบายออกไปฝั่งน้ำเค็มปริมาณมาก ทำให้คลองฝั่งน้ำเค็มน้ำไม่แห้งคลองทำให้คนน้ำเค็มเปิดกุ้งไม่ได้ ในทางกลับกันปริมาณน้ำจืดเหนือประตูมีน้อย ไม่พอใช้ในหน้าแล้ง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ทำให้กลไกการทำงานของประตูมีปัญหา อาทิ การใช้ยางรองขอบบานสวิงชำรุดเสียหายง่ายทำให้บานประตูปิดไม่สนิทจึงป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่น้ำจืดไม่ได้ ตัวปรับระดับบานประตูใช้งานไม่ได้ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยกบานประตูขึ้นเพื่อระบายน้ำช่วงหน้าน้ำได้ ทำให้น้ำท่วมฝั่งน้ำจืด บานประตูเหล็กขึ้นสนิมทำให้บานประตูไม่ปิด-เปิดเองได้ ชาวบ้านต้องปีนลงไปใช้เท้าถีบ สำหรับบานประตูที่คลองสัมงา ซึ่งเป็นประตูที่สร้างตรงตามแนวคิดของชาวบ้านมากที่สุดนั้น มีปัญหาในการปรับระดับบานประตู ซึ่งทำด้วยไม้ เมื่อไม้แช่น้ำจะบวมดึงออกไม่ได้ หรือดึงออกอย่างยากลำบาก ที่สำคัญคือ ในการลงไปดึงไม้กระดานเพื่อปรับระดับน้ำ ชาวบ้านต้องลงไปดึงออกด้วยมือในขณะที่แรงดันน้ำแรงมาก จึงเสี่ยงต่อการพลัดตก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
“…เมื่อมีปัญหาแบบนี้ สิ่งที่ชาวบ้านพยายามทำก็คือ การรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาของประตูน้ำแต่ละคลองว่ามีปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งข้อเสนอแนะถึงแนวทางการแก้ไขของชุมชน นำเสนอต่อสำนักงานชลประทานจังหวัดสมุทรสงคราม รวมทั้งประสานหน่วยงานออกแบบกรมชลประทาน ซึ่งรับผิดชอบการออกแบบประตูระบายน้ำเพื่อเปลี่ยนแปลงแบบร่างการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ทั้งที่มีอยู่เดิม และกำลังจะก่อสร้างต่อไปในอนาคต คือเราคิดว่าเรื่องแบบนี้เราคนพื้นที่ก็ต้องช่วยกันสะท้อน กลับไป..” ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. พื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ชี้ให้เห็นถึงบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งกระบวนการทำงานที่ต่อเนื่อง และเป็นระบบเช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
“…การลงมาเห็นพื้นที่จริง ทำให้เราได้รู้ว่า การที่เรานั่งออกแบบอยู่ในห้องแอร์โดยใช้ความรู้จากทฤษฎีที่เราเรียนรู้มานั้น พอมาถึงพื้นที่แล้วบางทีมันไม่สามารถช่วยแก้ไขให้กับพื้นที่ได้ เพราะมันไม่มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่…” สาธิต มณีผาย เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลประทาน ซึ่งเดินทางลงมาดูสภาพปัญหาของประตูระบายน้ำในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง กล่าวยอมรับชาวบ้านอย่างตรงไปตรงมา ก่อนที่จะแสดงความชื่นชมในความพยายามช่วยกันคิดช่วยกันแก้ไขปัญหาชุมชนด้วยตัวเอง พร้อมรับปากว่า จะนำแนวคิดการออกแบบ “บานหับ-เผย” ของชาวบ้านแพรกหนามแดง ไปปรับปรุงพัฒนาให้เป็น แบบประตูระบายน้ำมาตรฐาน อย่างเร่งด่วนและนำเสนอให้อธิบดีลงนามเพื่อประกาศให้เป็นแบบประตูระบายน้ำมาตรฐานสำหรับพื้นที่ต่อไป
“รูปแบบบานประตูระบายน้ำที่สร้างใหม่มีแนวคิดที่ตรงกับชาวบ้านแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ ขนาดบานประตูระบายน้ำไม่สอดคล้องกับสภาพคลอง การใช้วัสดุไม่เหมาะสม รวมทั้งกลไกการทำงานของประตูไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งการออกแบบประตูระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้จริง จำเป็นต้องมีความเข้าใจสภาพพื้นที่ และมีข้อมูลที่ครบถ้วนมากพอสมควร เช่น ระดับน้ำในคลองทั้งในฤดูแล้ง ฤดูฝน ปริมาณการใช้ของชาวบ้านแต่ละฝั่ง เป็นต้น” สาธิต ชี้แจงอย่างละเอียด พร้อมกับแสดงความคิดเพิ่มเติมว่า…
ในการจัดทำแบบประตูระบายน้ำมาตรฐานซึ่งจะดำเนินการต่อจากนี้จะต้องมีลักษณะตรงกับความต้องการของพื้นที่ ประการแรก ต้องปิด-เปิด เองได้ ประการที่สอง บานประตูต้องสามารถปรับระดับสูง-ต่ำได้ ประการที่สาม คือ การเลือกใช้วัสดุที่สามารถแช่อยู่ในเค็มและน้ำจืดได้เป็นเวลานาน อีกทั้งในส่วนของกลไกการทำงานของประตูต้องคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยของชาวบ้านผู้ดูแล และใช้ประโยชน์จากประตู เป็นสำคัญ
“…แม้ว่าแบบประตูระบายน้ำมาตรฐานจะมีราคาสูงก็ต้องยอม เพราะปัจจุบันประตูแต่ละแห่งใช้งบประมาณจำนวนมาก หากสร้างแล้วแก้ปัญหาไม่ได้ก็เท่ากับสูญเปล่า…” เลขานุการคณะกรรมการพิจารณาแบบมาตรฐาน กรมชลประทานเน้นย้ำอย่างชัดถ้อยชัดคำ
จาก “บานหับ-เผย” ของชุมชนแพรกหนามแดง อันคิดค้นจากภูมิรู้ของชาวบ้านผู้ซึ่งเข้าใจปัญหาและรู้จักสภาพในพื้นที่ต้องการของตนเองเป็นอย่างดี หากได้รับการยกระดับต่อยอดด้วยความรู้ทางวิชาการของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญย่อมทำให้ได้ประตูระบายน้ำซึ่งมีกลไกการทำงานอันมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านได้อย่างแท้จริง
อาจกล่าวได้ว่า นี่คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวใหม่ อันเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่น และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งพร้อมรับฟัง-พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ และช่วยคลี่คลายปัญหาร่วมกับชุมชนอย่างเป็นมิตรนั่นเอง