การจัดการน้ำ

บริหารจัดการน้ำคลองหลา เพื่อแก้ไขน้ำแล้ง

ปรีชา อ่องแก้ว

คลองหลาเป็นสายคลองหลัก หนึ่งในลุ่มน้ำคลองหอยโข่ง มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาป่าวังพา ไหลผ่านหมู่บ้านตามลักษณะความลาดชันของพื้นที่ ได้แก่ หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 7 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 1 ไปบรรจบกับคลองหอยโข่ง และบรรจบกับคลองจำไหรที่หมู่ 7 ตำบลโคกม่วง ก่อนไหลลงสู่คลองอู่ตะเภา คลองหลาจึงเป็นแหล่งน้ำหลักของคนตำบลคลองหลาสำหรับการดำรงชีวิตและการทำเกษตรทั้ง 7 หมู่บ้าน

พื้นที่ตำบลคลองหลามีปัญหาที่สั่งสมมายาวนานคือปัญหาน้ำแล้ง โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้ง จะเกิดปัญหาน้ำไม่เพียงพอสำหรับคนในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมทั้ง 7 หมู่บ้าน  1,943 ครัวเรือน จำนวน 5,127 คน พื้นที่ที่ส่งผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่หมู่ 5 ต้นน้ำอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำคลองหลา  ซึ่งแต่เดิมเด็ก ๆ จะสามารถลงไปอาบน้ำในอ่างเก็บน้ำก่อนไปโรงเรียน แต่ช่วงหลัง น้ำในอ่างลดลงมากจนไม่สามารถอาบได้ ชาวบ้านต้องขอน้ำใช้จากอบต.คลองหลาทุกปี  นอกจากนั้นยังมีพื้นที่หมู่ที่ 3 ที่ไม่มีอ่างเก็บน้ำ ต้องใช้น้ำบ่อในการอุปโภคบริโภคมาตลอดเกิดความแห้งแล้งด้วย  และพื้นที่หมู่ที่ 7 หมู่ 6  เป็นพื้นที่ทำสวนผสมผสาน ก็ขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง และพื้นที่หมู่ที่ 5 บางส่วน หมู่4 หมู่ 3 – 2  และ หมู่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ในการทำนาก็ไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการทำนาจนเกิดเห็นนาร้าง

ฟื้นชีวิตคลองหลา

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้นำหมู่บ้านในตำบลคลองหลา  จึงได้รวมตัวกันเป็นทีมวิจัย จัดทำโครงการแนวทางการพัฒนากลไกขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำคลองหลาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง มีคำถามวิจัยหลักสองข้อ คือ สภาพปัญหาน้ำแล้งของคลองหลาเป็นอย่างไร และจะมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร

งานวิจัยเริ่มต้นที่การจัดเวทีประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ทีมวิจัยชุมชน เตรียมความพร้อมในการทำงานวิจัย และบทบาทของนักวิจัย และสร้างความเข้าใจต่อองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลา

จากนั้น แบ่งการศึกษาข้อมูลออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกเป็นการ ศึกษาสภาพปัญหา และสาเหตุ ด้วยการเดินสำรวจเส้นทางน้ำ สังเกตพืชพันธุ์และการทำเกษตรของชาวบ้าน มีการสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ การตั้งวงคุยกับผู้รู้  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน  

การลงพื้นทีสำรวจของทีมวิจัย ชาวบ้าน และผู้เกี่ยวข้อง ทำให้พบว่า พื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ และลำห้วยที่เป็นต้นน้ำของคลองหลาไม่มีน้ำในหน้าแล้ง ไม่มีน้ำซึมเหมือนในอดีต สำหรับพื้นที่ตอนกลาง  แม้จะถูกเปลี่ยนสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ แต่ก็มีน้ำในปริมาณน้อยมาก จนเกิดเป็นเกาะในอ่างในช่วงหน้าแล้ง เพราะป่าไม่เก็บน้ำและฝนตกน้อย นอกจากนี้  มีตะกอนดินไหลลงสู่อ่างจำนวนมากทำให้อ่างเก็บน้ำมีความตื้นเขิน สำหรับพื้นที่ปลายน้ำ มีปริมาณน้ำแห้งขอดสลับกับมีน้ำในบางจุด มีวัชพืชขึ้นในคลองที่น้ำน้อย  เนื่องจากอ่างเก็บน้ำาไม่ปล่อยน้ำลงสู่คลองหลา  ชาวบ้านริมคลองที่อยู่ใต้อ่างปลูกยางริมคลอง ใช้รถไถดันไม้ริมตลิ่งลงคลองแล้วปลูกยาง ทำให้คลองแคบและตื้นเขิน อีกทั้งในพื้นที่หมู่ที่ 2 ถูกขุดลอกเพื่อเป็นคลองระบายน้ำท่วม ทำให้น้ำไหลเร็ว แรง และหมดไปจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว

เมื่อรวมกับการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันของ กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน ที่ปรึกษาของ อบต. พบว่า ประเด็นสำคัญที่เป็นเงื่อนไขของการบริหารการจัดการน้ำคลองหลา คือการขาดผู้รับผิดชอบงานโดยตรงและขาดแผนบริหารจัดการน้ำที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องที่จะสามารถดูแลและรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของลำคลองให้มีความอุดมสมบูรณ์ และลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้  ทั้งๆ ที่ ในแต่ละหมู่บ้านมีแกนนำซึ่งมีจิตอาสา เช่น  ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน กลุ่มอนุรักษ์ฯ กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มออมทรัพย์ ฯลฯ ปัจจุบันต่างคนต่างอยู่ ที่สำคัญขาดข้อมูลในการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

ตัดป่า…ต้นเหตุน้ำแล้ง

ข้อค้นพบจากการลงพื้นที่สำรวจบริเวณอ่างเก็บน้ำคลองหลาในระยะแรก พบว่า จากเดิมที่เคยเป็นป่าสมบูรณ์ เปลี่ยนเป็นสวนยางพาราเกือบทั้งหมด และยังพบอีกว่า มีการทับถมของตะกอนทำให้อ่างเก็บน้ำตื้นเขิน ซึ่งจากที่เคยมีความจุที่ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลือเพียง 4.730 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังมีการ “ตัดตอน” การใช้น้ำของผู้ที่อยู่เหนือน้ำ ด้วยการเปิดประตูน้ำเข้าสวนของตนเอง อีกทั้งการบริหารน้ำ เพื่อส่งไปยังผู้ใช้น้ำของสำนักงานชลประทาน ไม่ทั่วถึง ไม่เกิดความสมดุลกัน ทำให้พืชผลทางการเกตรของชาวบ้านได้รับความเสียหาย ขณะที่ หมู่ 1 และหมู่ 4 ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเหมาะสมกับการทำนาเป็นแหล่งผลิตอาหารของชาวบ้านมายาวนาน  ก็มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาด้วยเช่นเดียวกัน

จากข้อมูลข้างต้น นำไปสู่การออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหา อาทิ ขุดลอกคลองเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง  บวชป่าบริเวณอ่างเก็บน้ำเพื่อรักษาป่าไม้ที่เหลือไว้ในอ่างและเป็นการสร้างความตระหนักให้กับคนตำบลคลองหลา  มีการซ่อมบำรุงฝาย  เกิดโครงการส่งเสริมการประหยัดน้ำ  กันเขตพื้นที่ริมคลองและฟื้นฟูป่าริมคลอง  มีการทำบุญและปล่อยปลาในบริเวณหน้าฝายให้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านรวมทั้งกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการทำนาและประปา

นอกจากนั้น  มีการหารือเรื่องการพัฒนาศักยภาพของทีมงานร่วมกันโดยใช้หลักสูตรจิตตปัญญาศึกษา จนนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการน้ำของตำบลคลองหลาขึ้นมาโดยคำสั่งแต่งตั้งของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหลา  จึงเกิดทีมงานที่เป็นกลไกเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของตำบลคลองหลาขึ้นมา

ฝายมีชีวิต : ลดปัญหาระยะยาว

ในแง่ของการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง มีแนวคิดจัดทำ ฝายมีชีวิต โดยเริ่มจากการไปดูงานรูปแบบการสร้างฝายที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ชาวบ้านได้เห็นแนวคิด และเห็นรูปแบบฝายมีชีวิต เห็นการใช้ประโยชน์รวมทั้งวิธีการก่อสร้าง จากนั้นจึงสร้างกระบวนการให้ความรู้เรื่องฝายกับชาวบ้าน และร่วมกันออกแบบฝายมีชีวิตที่เหมาะสม ทำให้ชาวบ้านมีความรู้และทักษะการทำฝาย ได้แบบของฝายที่ต้องการ ได้ฝายที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ จากนั้นมีพิธีเปิดฝาย ทำบุญและปล่อยปลา ทำให้เกิดเพิ่มความเชื่อมั่นให้ชาวบ้าน และเมื่อเข้าสู่ฤดูน้ำหลากช่วงพฤศจิกายน ฝายสามารถรับน้ำเพิ่มขึ้น และส่งผลให้ปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มขึ้นอีกด้วย

            จากความสำเร็จของฝายตัวแรก มีการขยายผลการสร้างฝายมีชีวิตในหมู่บ้านอื่นๆ เริ่มจากการสร้างฝายในพื้นที่หมู่ที่ 1 โดยใช้วิธีเดียวกันกับฝายลูกแรก เมื่อฝายเก็บน้ำได้ ทำให้บ่อน้ำตื้นมีน้ำเพิ่มขึ้น ชาวบ้านมีการปลูกผักริมคลองมากขึ้น มีน้ำหล่อเลี้ยงลำคลอง ได้น้ำเพื่อการทำนา และเกิดเป็นทีมงานสร้างฝายคลองหลา ชื่อ “คนสร้างฝายคลองหลา” มีการสื่อสารและประชาสัมพันธุ์ผ่าน Line group จากนั้นจึงได้ขยายผลไปยังหมู่บ้านที่เหลือ ลูกที่ 3 4 5 และ 6 ในพื้นที่หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7 ตามลำดับ

            จากนั้น อบต. ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยให้งบประมาณสร้างฝายมีชีวิต (ตามต้นแบบฝายมีชีวิตคลองหลา) และสระเก็บน้ำ โดยใช้งบตำบล 5 ล้าน และงบสะสม อบต. ทำให้ได้ฝายเพิ่มขึ้นอีก 5 ลูก (หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 7) และได้สระเก็บน้ำ 4 สระ (หมู่ที่ 4 จำนวน 2 สระ หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 5 หมู่ละ 1 สระ)

อย่างไรก็ตาม ผลจากงานวิจัยในครั้งนี้ นอกจากจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง ยังเกิดกลไกการอนุรักษ์ในพื้นที่ตำบลคลองหลาอย่างต่อเนื่องคือ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลคลองหลา  เกิดการต่อยอดจากโครงการ ได้แก่ การร่วมงานกับโครงการวิจัยน้ำท่วมน้ำแล้งอำเภอคลองหอยโข่ง โดยทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และการเกิดกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตำบลคลองหลา ทำโครงการธนาคารพันธุ์ไม้ โดยทุนวิจัย ม.อ.หาดใหญ่

นอกจากนั้น ยังมีการยกระดับการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำจากหมู่บ้านเป็นระดับอำเภอ และโครงการธนาคารพันธุ์ไม้ริมคลอง รวมถึงขณะนี้ยังเป็นพื้นที่ที่ศึกษาวิจัยเรื่องความสุขของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

+++++