น้ำห้วยสงสัย ชุมชนต้นแบบการจัดการน้ำตามศาสตร์พระราชา
อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 84 พื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงฤดูแล้งชาวบ้านเดือนร้อนมากเพราะไม่มีน้ำใช้ และทำการเกษตร เนื่องจากสภาพพื้นที่ในตำบลเขากระปุก เป็นพื้นที่เนินและมีสภาพดินเป็นดินเหนียวปนทราย พื้นที่แห้งแล้งมากพอหน้าฝนน้ำก็ไหลลงสู่ทะเลหมดเพราะไม่มีแหล่งน้ำเก็บกัก
ในหลวง ร.๙ จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการ และก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยขึ้น ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2536 เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกจำนวน 4,050 ไร่ มีผู้ใช้น้ำร่วมกัน 5 หมู่บ้าน 782 ครัวเรือน 2,413 คน
ทว่าหลังจากมี “น้ำ” แทนที่ชุมชนจะมีความสุขกลับเป็นทุกข์ มีปัญหาขัดแย้งกันเกิดการแย่งชิงน้ำใช้ในพื้นที่ ต่างคนต่างแย่งน้ำเข้าพื้นที่สวนไร่นาของตัวเอง เห็นแก่ตัว ไม่มีการแบ่งปัน รุนแรงถึงขั้นยิงปืนขู่ โยนหินอุดท่อ เอาเหล็กกั้นไม่ให้น้ำไหล คนในชุมชนไม่มองหน้ากัน สุดท้ายพังกันทั้งชุมชนเพราะน้ำหมดอ่างจนเดือนร้อนไม่มีน้ำใช้
นายเฉลิมพล ช้างเผือก เจ้าหน้าที่ประจำอ่าง ตำแหน่งช่างฝีมือสนามชั้น 2 สังกัดชลประทาน จังหวัดเพชรบุรี เล่าว่า หลังปี 2536 เมื่อมีน้ำไหลเข้าพื้นที่ แต่ชาวบ้านและเกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจถึงการใช้น้ำทำให้มีการใช้น้ำกันอย่างอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่ประหยัด ไม่รู้ว่าจะต้องเก็บน้ำในอ่างอย่างไร รู้แต่เพียงว่า มีน้ำก็ใช้เปิดใช้กันตลอดเวลา
ปัญหาที่ตามมาคือ คนต้นน้ำหรือคนที่อยู่เหนืออ่าง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสียสละพื้นที่ทำกินเพื่อให้ชลประทานสร้างอ่างกลับไม่มีน้ำใช้ลำบากกว่าคนที่อยู่ด้านล่างอ่างที่มีน้ำใช้สบายแต่กลับใช้น้ำแบบไม่ประหยัดเห็นแก่ตัวไม่เผื่อแผ่แบ่งปัน นอกจากนี้หลังจากมีอ่างเก็บน้ำแล้วทำให้ไปปิดกั้นลำห้วยทำให้คนที่ใช้น้ำจากลำห้วยเดิมได้รับผลกระทบไม่มีน้ำใช้ ปัญหาที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจให้กับคนเหนืออ่าง และคนใช้น้ำตามลำห้วยเดิมเรื่อยมา
จนกระทั่งปี 2552 ปัญหาความขัดแย้งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างหนัก มีการโยนหิน ปิดท่อไม่ให้ใช้น้ำ ยิงปืนขู่ เพื่อแย่งชิงน้ำใช้กัน เพราะมีการขยายพื้นที่การเกษตรเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำก็เพิ่มมากขึ้น เมื่อน้ำหมดน้ำไม่พอใช้ ก็นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งของผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่ม รวมถึงการที่ไม่สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเป็นระบบ เพราะขาดความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำและขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน
การมีส่วนร่วมของชุมชน ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ในการร่วมกันบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย
ช่วงปลายปี 2553 สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ได้เข้ามาแนะนำและชักชวนให้ชุมชนร่วมกันจัดทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภายใต้โครงการแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กรมชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ถือเป็นการทำงานพัฒนาที่บูรณาการการทำงานด้วยกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น หลังการดำเนินโครงการช่วยลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแย่งชิงน้ำในพื้นที่ลงได้
นอกจากนี้การดำเนินงานวิจัยยังก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำหรือคนในชุมชน ผู้จัดการน้ำหรือเจ้าหน้าที่ชลประทาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เกิดกระบวนการทำงานใหม่ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ คือ การวางแผน และการจัดเก็บข้อมูล มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ความต้องการใช้น้ำ ปริมาณน้ำในอ่าง ปริมาณน้ำฝน นำมาจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแผนที่ชุมชน เพื่อดูเส้นทางน้ำและการเพาะปลูกพืช นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติของชุมชนร่วมกัน และจัดให้มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน
นายสมนึก เทศอ้น นักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่า พี่เลี้ยงจาก สกว. เข้ามาช่วย มาแนะนำชักชวนชาวบ้านให้ค้นปัญหา เห็นภาพรวมของปัญหาในพื้นที่นำข้อมูลมาหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยทาง สกว. จัดส่งพี่เลี้ยงมาคอยให้คำแนะนำและให้เครื่องมือสนับสนุนในช่วงที่กำลังทำงานวิจัย
“ยอมรับว่า โครงการวิจัยนี้เป็นกระบวนการการทำงาน ที่สร้างการมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล สรุปวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทาน ชาวบ้านและท้องถิ่นที่ดีมาก เมื่อชาวบ้านเกิดการเรียนรู้การทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ชลประทานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ สามารถเปลี่ยนความคิดของชุมชนจากผู้ใช้ลุกขึ้นมาเป็นผู้จัดการน้ำและแก้ปัญหาของตนเองได้”
นายสมนึกกล่าวอีกว่าสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในกรณีอื่นๆ ได้ด้วย เช่น เมื่อเกิดปัญหาระบบท่อส่งน้ำ ชุมชนก็จะมาช่วยกันคิดแก้ปัญหาไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเพียงอย่างเดียว เป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้ เพราะชาวบ้านเกิดความรู้ ความเข้าใจ เกิดความตระหนักในการใช้น้ำร่วมกันอย่างรู้คุณค่า มีการแบ่งปันน้ำกันใช้ ทำให้สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งการแย่งชิงน้ำใช้ในพื้นที่หมดไป
ด้านนายเฉลิมพลกล่าวเสริมว่า เมื่อชุมชนมาทำงานวิจัยร่วมกัน ทุกคนต่างก็ได้รับสิ่งดีๆ ชาวบ้านกล้าแสดงออก เพราะเป็นกระบวนการวิจัยที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชุมชนเกิดความพอใจ ด้านเจ้าหน้าที่ชลประทานเองก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนจากเดิมที่ดูแลระดับน้ำเท่านั้นได้ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ด้านการบริหารจัดการน้ำ
“ผลจากการทำงานวิจัยที่เห็นชัดเจนอีกประเด็นหนึ่งคืองานวิจัยสอนให้เราได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญของการทำงานจะต้องทำงานบนฐานข้อมูล ปัจจุบันชาวบ้านในชุมชนทำงานด้วยการอาศัยข้อมูลแทนการใช้เหตุผลส่วนตัว สิ่งเหล่านี้คือประโยชน์ของงานวิจัยที่ทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมขึ้นในชุมชน”
นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่าหลังจากมีงานวิจัยเข้ามาชาวบ้านเปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนความคิดจากที่เคยเห็นแก่ตัวเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองก็หันมาให้ความสำคัญในการดูแลรักษาไม่มองว่าเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เกิดการมีส่วนร่วมอย่างชัดเจนมาก และเมื่อเกิดปัญหาหรือคิดจะทำอะไรก็จะพูดคุยกันด้วยข้อมูล ชุมชนก็จะมาร่วมกันวางแผนการใช้น้ำ รวมถึงการเพาะปลูกพืชให้เข้ากับสถานการณ์ของน้ำในช่วงนั้นๆ
ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยเป็นพื้นที่ต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ตั้งแต่ปี 2554 มีหลายหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานทั้งจากพื้นที่ใกล้เคียงและจากพื้นที่อื่นๆ และเตรียมขยายเครือข่ายออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงโดยการนำองค์ความรู้ออกไปถ่ายทอดให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ในตำบลเขากระปุก เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทและปัญหาของแต่ละพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ แกนนำชุมชนและนักวิจัยชาวบ้านกำลังดำเนินการส่งต่อกระบวนการวิจัยให้กับเด็กและเยาวชนเข้ามาช่วยดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำต่อไปให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป
จุดเด่นของงานวิจัยนี้ว่า เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินงานตามแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ที่ไปเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากร ดิน น้ำ และป่า โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านเห็นคุณค่าของ “การวิจัย” และใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเครือข่ายผู้ใช้น้ำ เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
“อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้แก่พื้นที่ที่มีปัญหาการแย่งชิงน้ำและต้องการลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ และงานวิจัยชิ้นนี้ได้เข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน ให้หันกลับมาดูแลรักษาป่า เกิดพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น ปัจจุบันพื้นที่บริเวณเหนืออ่างและรอบอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย ถูกจัดเป็นพื้นที่ปลูกป่าร่วมกับเอกชนประมาณ 2,000 ไร่ ผ่านกิจกรรมปลูกป่า บวชป่า และดูแลป่า งานวิจัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งคือ การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคนให้เห็นความสำคัญและความสัมพันธ์ของ “ดิน-น้ำ-ป่า”
+++++
ที่มา : https://mgronline.com/science/detail/9600000104311