“นางเลิ้ง” แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนในย่านเมืองเก่า
ชุมชนนางเลิ้ง แขวงโสมนัส เขตป้อมปราบ กรุงเทพมหานคร มีวัฒนธรรมเก่าแก่มาอย่างยาวนาน ไปจนถึงมีความเจริญอย่างมากในอดีต มีความโดดเด่นคือ เป็นชุมชนเก่าแก่ในเมืองกรุง ที่มีความครึกครื้นของการค้า ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิต อีกทั้งมีการอนุรักษ์ศิลปะการแสดงละครชาตรี ชุดโขนละคร ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลาดนางเลิ้ง เป็นชุมชนและตลาดที่ตั้งอยู่ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และนับเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี
ปัญหาของย่านนางเลิ้ง
กว่าทศวรรษ ที่ชุมชนนางเลิ้ง ต้องเผชิญหน้ากับความเจริญซึ่งคืบคลานเข้ามาเป็นระรอก เนื่องจากมีแนวคิดจะนำพื้นที่บางส่วนของชุมชนไปพัฒนาเป็นย่านการค้า นั้นหมายความว่า หากโครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ชุมชนนางเลิ้งก็คงมีสภาพไม่ต่างจากชุมชนป้อมมหากาฬ คือเหลือเพียงชื่อ และความทรงจำ
แต่ชุมชนยังคงยืดหยัดตั้งรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มแข็ง “การฟื้นฟูย่านนางเลิ้งด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน” เป็นโครงการหนึ่งที่ช่วยให้คนในชุมชน ได้สืบค้นหารากเหง้าและภูมิปัญญาของตนเองจากร่องรอยที่ปรากฏอยู่ ส่วนหนึ่งเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความภาคภูมิใจให้กับคนในชุมชนเอง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ อีกส่วนหนึ่งเพื่อนำเสนอตัวตนความเป็นชุมชนนางเลิ้งสู่สายตาผู้คนภายนอก จนเป็นที่รู้จักและสร้างการรับรู้ในวงกว้างขึ้นมาอีกครั้ง
กระบวนการทำงาน
- เปิดเวทีทำความเข้าใจกับคนในชุมชนเพื่อดำเนินโครงการร่วมกัน
- ยกประเด็นปัญหา ทางแก้ไขและชี้แจงวัตถุประสงค์ของโครงการ
- วิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหากดำเนินโครงการ วิเคราะห์ผลกระทบ ส่วนได้ส่วนเสียที่ชุมชนจะได้รับจากโครงการพัฒนาต่างๆ
- เก็บข้อมูลภาคสนาม มีการสืบค้นข้อมูลพื้นฐานของชุมชนในมิติต่างๆ เน้นประเด็นสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น 2.ศิลปวัฒนธรรม และ 3.อาหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จัดการโดยชุมชน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เกิดระบบการจัดการท่องเที่ยวที่สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่าย
- ชำระประวัติศาสตร์ เปิดเวทีนำเสนอข้อค้นพบ และรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากชาวบ้าน รวมถึงนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง
- เปิดตัวสู่ภายนอก ด้วยการนำเสนอของดีที่มีคุณค่าในชุมชน เช่นการจัดงานอีเวนท์เปิดบ้าน/ เปิดชุมชน เชิญสื่อมวลชนเข้ามาทำข่าวนำเสนอข้อมูลข่าวสารเส้นทาง แหล่งเรียนรู้ในชุมชน เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ เข้ามาร่วมมาเป็นประธานในพิธีเปิดและมาร่วมงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม
- เข้าร่วมและจัดการเสวนาเพื่อต่อรองกับหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ ยกตัวอย่าง กรณีที่มีนโยบายรื้อโรงภาพยนตร์ในพื้นที่ ชาวบ้านจัดเวทีเสวนาหน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมธานี นำเสนอความเป็นย่านบันเทิงนางเลิ้ง และถกเถียงเพื่อหาจุดร่วมในการแก้ปัญหา เป็นต้น
- ดึงคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เข้ามาร่วมกิจกรรม สร้างความเข้าใจ จนทำให้เกิดความรักความหวงแหนชุมชน
- ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในชุมชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ที่มีพันธะกิจในการดูแลช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
กลไกการทำงาน
ชุมชนนางเลิ้งเน้นสร้างความเข้มแข็งจากคนในชุมชนเองก่อน มีสมาชิกเป็นทีมนักวิจัยชุมชนและผู้ปฏิบัติงาน 12 คน ดึงผู้รู้/ ผู้หลักผู้ใหญ่ในชุมชนซึ่งเป็นที่เคารพและได้รับการยอมรับเข้ามามีส่วนร่วม (ชุมชนนางเลิ้งไม่เน้นดึงผู้นำชุมชนที่เป็นทางการเข้ามามีส่วนร่วม) หลังจากนั้นจึงดึงเครือข่ายองค์กรชุมชนย่านเก่าอื่นๆ เช่น ชุมชนป้อมมหากาฬ และองค์กรอาสาสมัครเอกชน (เอ็นจีโอ) มาเป็นภาคี นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้มีบทบาทในการจัดกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับผู้ใหญ่
+++++