KNOWLEGE

ท่องเที่ยวชาวนา

ท่องเที่ยว…วิถีชาวนา

แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก  แต่สภาวะเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวเกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรที่ทำนาข้าวกลับตกต่ำจนต้องดิ้นรนหารายได้เสริมโดยการรับจ้าง หรืออพยพไปทำงานต่างถิ่น หรือหันเหออกจากอาชีพเกษตรกรรมโดยสิ้นเชิง    อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่เสี่ยงและขาดหลักประกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมของทรัพยากรธรรมชาติทั้งดินและน้ำ  ความปลอดภัยจากวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งรวมถึงการใช้เคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตร และเมื่อเก็บเกี่ยวแล้วยังต้องเสี่ยงกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำและผันผวน    ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นเนื่องจากการพึ่งพาเครื่องจักรกลมากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์เร่งผลผลิต/กำจัดศัตรูพืช 

ในปัจจุบันเกษตรกรไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิอากาศ ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง  ระบบการค้าข้าวที่ผูกขาดและผันแปร นอกจากนี้  ทัศนคติและค่านิยมทางสังคมที่มองงานของเกษตรกรว่าเป็นงานหนัก ต้องใช้แรงงานตรากตรำ ไม่มีความก้าวหน้าหรือเจริญขึ้นในแง่อาชีพการงาน ก็มีส่วนทำให้เกษตรกรมีมุมมองด้านลบต่องานนี้และไม่ส่งเสริมให้ลูกหลานทำอาชีพเกษตรกรรม  ทั้งๆ ที่รากฐานวัฒนธรรมของไทยส่วนใหญ่ ทั้งที่เป็นขนบประเพณี ดนตรี ศิลปะ และวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม เช่น ภูมิปัญญาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หัตถกรรม นิทาน ดนตรี เพลงร้อง ฯลฯ ได้พัฒนามาจากวิถีชีวิตและสังคมเกษตรกรรม

IMG_4955

งานวิจัยเชิงปฏิบัติการว่าด้วยเรื่อง “การท่องเที่ยววิถีชาวนา”  ต้องการการรื้อฟื้นคุณค่าของวิถีเกษตรกรรมไทยและหาแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการสร้างสรรค์สร้างกิจกรรมและการสื่อความหมายเพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรกรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยววิถีเกษตรเชิงสร้างสรรค์  ทำให้วิถีวัฒนธรรมเกษตรกรรมได้รับการยกระดับในแง่ของสิ่งที่มีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการหวนกลับไปใช้วิธีการทำเกษตรกรรมแบบไม่มุ่งเน้นที่เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือการเร่งรัดผลผลิตอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน การดำรงความสัมพันธ์ทางสังคมภายในชุมชนโดยมีฐานบนวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น โดยมีผลพลอยได้คือรายได้เสริมโดยที่ไม่ต้องอพยพไปทำงานในแหล่งอื่น  การท่องเที่ยวในลักษณะนี้จึงจะเป็นการยกระดับวิถีเกษตรกรรมอันส่งผลต่อสุขภาวะและเศรษฐกิจของชุมชน

การท่องเที่ยววิถีเกษตรหรือวิถีชาวนานี้ ยังใช้แนวคิดของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (community- based tourism หรือ CBT)  ซึ่งมีองค์ประกอบหลักของการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน (สถาบันการท่องเที่ยวโดยชุมชน, 2559) อันประกอบด้วย 4 ด้าน คือ

1) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ชุมชนมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีวิถีการผลิตที่พึ่งพาและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตลอดจนชุมชนมีประเพณี วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

2) องค์กรชุมชน ชุมชนมีระบบสังคมที่เข้าใจกัน มีผู้มีความรู้ ทักษะในเรื่องต่างๆ ชุมชนรู้สึกเป็นเจ้าของและเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

3) การจัดการ ชุมชนมีกฎ กติกาในการจัดการสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว มีการกระจายผลประโยชน์ที่เป็นธรรม มีกองทุนที่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน และ

4) การเรียนรู้ ลักษณะของกิจกรรมการท่องเที่ยวสามารถสร้างการรับรู้ และความเข้าใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีระบบการจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ระหว่างชาวบ้านกับผู้มาเยือน ตลอดจนสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในส่วนของชาวบ้านและผู้มาเยือน

ส่วนผู้ที่ไปท่องเที่ยวนั้น นอกจากได้ใช้เวลาพักผ่อนและเรียนรู้แล้ว ยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การได้พบเจอสภาวะแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่มิได้จัดแต่ง ทำให้ผ่อนคลายจากความตึงเครียดที่ได้พบเจอในสภาวะความเป็นเมืองหรือสภาวะการทำงานที่เร่งรีบและแข่งขัน รวมทั้งชวนให้เคารพวิถีที่แตกต่าง การได้เห็นเกษตรกรรมในแหล่งผลิตที่ยังมิได้กลายเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างเต็มรูป ยังชักพาให้มองทะลุกรอบของเศรษฐกิจทุนนิยมที่แบ่งการผลิตและการบริโภคให้ขาดออกจากกัน แล้วสัมผัสความกลมกลืนกับธรรมชาติด้วยความรู้สึกที่ลึกซึ้งIMG_0378

หน่วยงานภาครัฐเองก็มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีเกษตร  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการจัดตั้งกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน ภายในกองส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เกิดการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน            รวมทั้งเพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงเกษตร  มีการพัฒนาระบบประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แนวทางปฏิบัติในการประเมินมาตรฐานฯ   มีการแต่งตั้งคณะทำงานความร่วมมือการท่องเที่ยววิถีเกษตร

การท่องเที่ยววิถีเกษตรจึงเป็นโอกาสและความหวังหนึ่งในการปรับตัวของเกษตรกรในชนบทไทยให้พออยู่ได้ มีรายได้ อีกทั้งยังจะช่วยให้มีการรักษาวิถีวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีการให้ความสำคัญกับเกษตรไม่ใช่ในฐานะผู้ผลิตข้าวหรือพืชอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผู้ดูแลผืนนา ผืนไร่ ที่ดิน พืชพันธุ์ไม้ ปศุสัตว์ และเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมและจิตวิญญาณของไร่นา  อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรรมให้คงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม  รวมทั้งเป็นการสร้างแหล่งพักผ่อนและเรียนรู้ให้กับบุคคลภายนอก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวอีกด้วย    การท่องเที่ยววิถีเกษตรที่จะศึกษาและพัฒนาขึ้นนั้นเป็น “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” คือเน้นปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การร่วมกิจกรรมระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าบ้าน/ชาวบ้านในชุมชนเพื่อการสร้างความเข้าใจทางวัฒนธรรม  และการสร้างโอกาสพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ของทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในชุมชน

++++++++