KNOWLEGE

ชุมชนจัดการตนเอง : ประสบการณ์บ้าน “บ้านบุโบย” จังหวัดสตูล

ชุมชนเล็ก ๆ อย่างบุโบย ตำบลแหลมสน  อำเภอละงู จังหวัดสตูล เป็นชุมชนดำเนินชีวิตอย่างสงบ เงียบ หาปู หาปลา ในท้องทะเลตามกำลังและศักยภาพของแต่ละคนในชุมชน  แต่ก็มีบ้างที่ถูกอวนลาก อวนรุน จากพื้นที่อื่นเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรสัตว์น้ำจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา 

            แต่ภายใต้การนำของ มะอ๊ะ-หารีอ๊ะ ติ่งสง่า แม่ค้าชาวบ้านที่ไม่มีทักษะใด ๆ ติดตัวนอกจาก “ความมุ่งมั่น” และ “ใฝ่รู้” ทำให้ชุมชนทีไม่เคยมีใครกล่าวถึงทั้งในช่วงเวลาก่อน และหลังเกิดสึนามิ ถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ  ของจังหวัดสตูลทั้งในเรื่องของสถานที่เรียนรู้ดูงาน “ชุมชนจัดการตนเอง”  เป็นที่ศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และการจัดการด้านการท่องเที่ยวของชุมชน  รวมทั้งเป็นสถานที่จัดประชุมของหลาย ๆ หน่วยงานออกไปจัดประชุมนอกสถานที่

            บุโบยมีดีอะไร…

            บุโบยมีแกนนำซึ่งเป็นสุภาพสตรีร่างท้วม ที่ยิ้มแย้มทักทายผู้คนตลอดเวลา มีเครือข่ายการดูแลทรัพยากรของชุมชนที่เข็มแข็ง  อีกทั้งยังมีกลุ่มเยาวชนที่แข็งขัน (และมั่นใจว่าจะแข็งแกร่งในอนาคต)  ที่มีจิตอาสามาช่วยงานผู้ใหญ่ 

             แต่กว่าจะเดินทางมาถึงวันนี้ , วันที่ “คนบุโบย” ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อเป้าหมายเดียวคือการทำให้ชุมชนเล็ก ๆ แห่งนี้ดำรงไว้ซึ่งความแข็งแกร่ง สามารถดูแล ปกป้อง รักษา  และบริหารทรัพยากรของชุมชนและส่งต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้นั้น พวกเขาผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก  กระทั้งเกือบล้มเลิกความตั้งใจแล้วหลายครั้งหลายหน

            จากนี้คือเรื่องราวของบุโบย… 

เรื่องเริ่มตอนเกิดสึนามิ

 “ตอนนั้นเป็นช่วงใกล้ถึงฮารีราญอ ตั้งใจว่าถ้าขายปลาในกระชังรอบนี้คงได้เงินมาซื้อเสื้อใหม่ใส่ในงานฉลอง แต่พอสึนามิมา กระชังปลาพังไม่มีเหลือเลย ทุกคนขวัญเสียหมด แต่ก็ยังดีกว่าอีกหลายชุมชน เพราะเราโดนไม่เยอะ ไม่มีคนเสียชีวิต ยังมีน้ำ มีข้าวกินอยู่บ้าง”  มะอ๊ะ-หารีอ๊ะ ติ่งสง่า  แกนนำบ้านบุโบย เล่าย้อนถึงความเดือดร้อนในการดำรงชีวิตที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปี พ.ศ. 2547

มะอ๊ะเล่าว่า หลังคลื่นกวาดเอาทุกสิ่งรวมทั้งเครื่องมือหาปลา…จากชุมชนที่เคย “ต่างคนต่างอยู่” และต่างทำมาหากิน ก็ถูกทำให้ห่างกว้างขึ้นไปอีก เพราะทุกคนต้องทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ในสภาวะวิกฤติ ขณะที่ความช่วยเหลือจาก “ข้องนอก” หาได้ทำให้ความสัมพันธ์ของของชุมชนแน่นแฟ้นขึ้น  ซ้ำทำให้ชาวบ้านเริ่มขัดแย้งกัน

“เมื่อมีความช่วยเหลือมาก ๆ ต่างคนก็ต่างอยากได้ เพราะเดือดร้อนกันหมด ทุกคนก็เริ่มคิดถึงแต่ตัวเอง” ม๊ะอ๊ะย้ำให้เห็นถึงความขัดแย้งที่เกิดในชุมชน

ด้วยสภาพจิตใจและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ จึงไม่แปลกที่คนในชุมชนไม่คิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร จนถึงปี 2550 ปู ปลา ลดจำนวนลดลงอย่างมาก  คนในชุมชนเริ่มเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ทุกคนรู้ว่ามีปัญหาแต่ก็ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดูแลทรัพยากรของชุมชน

สิ่งเหล่านี้อยู่ในสายตาของม๊ะอ๊ะ แม้จะปัจจุบันจะเป็น “แม่ค้าขายชา” ที่ตลาด แต่วัยเด็กของม๊ะคือ “ชาวประมง” ทีออกเรื่อหาปลาตั้งแต่อายุ 14 ปี ที่รู้สึกรักและผูกพันกับทะเล

กระทั่งปี พ.ศ. 2552  มะอ๊ะและคนในชุมชนมีโอกาสได้รับฟังแนวคิด “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”  และเห็นว่า งานวิจัย ทำให้ ชุมชนอย่าง “บ้านบ่อเจ็ดลูก”  ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศใกล้เคียงกับบุโบย สามารถยกระดับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลได้  เมื่อบวกกับการชักชวนให้ร่วมทดลองทำงานวิจัยของ สมพงษ์ หลีเคราะห์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล  มะอ๊ะจึงรวบรวมคณะทำงานคือกลุ่มสตรีกว่า 10 คน ก้าวเข้าสู่เส้นทางงานวิจัยอย่างเต็มตัว ภายใต้โครงการ “รูปแบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนมีส่วนร่วม บ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล”  เพื่อหาแนวทางการดูแลทรัพยากรของชุมชนที่มองเห็นว่าเริ่มจะร่อยหรอไปทุกวัน

และการลงมือทำวิจัยในครั้งนั้นเองทำให้มะอ๊ะและทีมวิจัยค้นพบ “ทุนทรัพยากร”  ของบ้านบุโบย  อาทิ รู้แหล่งสัตว์น้ำ รู้ปริมาณเครื่องมือประมง และวิธีการใช้  รู้ช่วงเวลาในการจับสัตว์ รวมทั้งรู้ว่าสัตว์ชนิดใดลดลง  และข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกนำเสนอให้คนในชุมชนได้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

            และงานวิจัยไม่ได้ทำให้ได้เฉพาะข้อมูลเท่านั้น  แต่นักวิจัยอย่างม๊ะอ๊ะและทีม ยังได้ทักษะด้านการประสานงาน   ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ทักษะการวางแผนการทำงาน รวมทั้ง ทักษะด้านการสื่อสาร ซึ่งเป็นเสมือน “ทักษะตั้งต้น”  ที่ทำให้ม๊ะอ๊ะและทีมงานใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาชุมชนในช่วงต่อ ๆ มา

            แต่ “งานวิจัย” ทำได้เพียงพัฒนาคน  ได้ชุดข้อมูลรวมทั้ง “ความรู้”  หากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมนั้นต้องมีการนำ “ความรู้” ไปขยายผล หรือ “ต่อยอด”  กระทั้งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

            “ตรงนี้แหละคือข้อจำกัด”  สมพงษ์ หลีเคราะห์  เปิดประเด็นก่อนอธิบายว่า.

            “งานวิจัยจะไม่มีประโยชน์หากไม่เอาไปขับเคลื่อนต่อ…เวลาชาวบ้านทำวิจัย ผลวิจัยที่อยากเห็นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชน ฉะนั้นบทบาทของพี่เลี้ยงคือต้องทำต่อคือ หาแนวทางให้เกิดการขับเคลื่อน ภาษาเราเรียก Action”

            ดังนั้น ภายใต้โครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตัวเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ ระยะที่ 1 “บังพงษ์”  ในฐานะผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงชวนกลุ่มสตรีที่เคยร่วมทำงานวิจัยทำโครงการอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่วงพูดคุยภายในชุมชนเพื่อหาโจทย์โครงการที่ทำแล้วบ้านบุโบยต้องเข้มแข็งสามารถบริหารจัดกรตนเองได้

            ““ตอนนั้นชุมชนลังเลว่าอยากจะทำเรื่องท่องเที่ยว  เราก็ถามกลับว่า  ถ้าไม่มีแหล่งเรียนรู้ให้นักท่องเที่ยวดู จะเล่าอะไรให้เขาฟัง”

ธนาคารปูม้า : โจทย์ทดลองความร่วมมือของชุมชน

มะอ๊ะกลับไปประชุมทีมแกนนำ ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยเดิมคือทรัพยากรของชุมชน เป็นจุดตั้งต้นของการหารือ ไม่ว่าเป็นเรื่องบริบทชุมชน ทะเล ชายหาด รวมถึงคลองต่างๆ เพื่อวิเคราะห์โจทย์ปัญหาที่แท้จริงของชุมชน พบว่าคนในชุมชนกำลังประสบปัญหาเรื่อง “ปูม้า” เนื่องจาก “ปูม้า”  เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้สำคัญของคนในชุมชนกำลังลดจำนวนลง

“ปูม้าเป็นรายได้หลักของชาวบ้าน เพราะถ้าปูม้าหายาก และเลิกจับจะกระทบไปถึงกลุ่มคนทำไซปูก็จะขาดรายได้เหมือนกัน ถ้าคิดไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นว่าเมื่อพ่อแม่ขาดรายได้ ลูก ๆ หลาน ๆ ก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย” ม๊ะอ๊ะฉายภาพความสำคัญของปูม้า  

 “ที่ผ่านมาบ้านบุโบยเคยทำธนาคารปูม้า  พอมาถูกคลื่นสึนามิ ก็เลิกกันไป  หากธนาคารปูสามารถทำได้ต่อเนื่อง คนบ้านบุโบยก็จะได้หาอยู่หากินได้ตลอดไป”  นี่คือฝันทีทำให้คนบุโบยลุกขึ้นมาจัดทำธนาคารปูม้าอีกรอบ ใน “โครงการการทำธนาคารปูม้าสู่แนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้าบ้านบุโบย ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล”  ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มทรัพยากรปูม้าและจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการอนุรักษ์ปูม้าแก่เยาวชน

ถึงกระนั้นก็ตาม  แม้ทุกคนจะเห็นด้วยกับโครงการจัดทำธนาคารปูม้า แต่กลุ่มคนที่เห็นดีเห็นงามก็เป็นเพียง “ผู้เข้าร่วม” หาใช้ “ผู้ลงมือ” อย่างแท้จริง 

“ยังไม่ถึงขั้นลงมาช่วยกันทำงานมากกว่า เพราะในช่วงแรกที่เราเริ่มต้นเก็บข้อมูลปูม้า ส่วนใหญ่ก็ปฏิเสธให้ข้อมูล”  “มะอ๊ะ” ในฐานะแกนนำที่มีใจในการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรของชุมชน แต่มะอ๊ะไม่มีความรู้เรื่องปูม้า ดังนั้นการจัดทำธนาคารปูม้าจึงยังไม่บรรลุเป้าหมายในช่วงแรก นั่นคือการรวบรวมสมาชิกเพื่อเข้ามาให้ข้อมูลเรื่องแหล่งจับปู และปริมาณ และขนาดของปูที่จับได้ในแต่ละวัน

            “เพราะข้อมูลสำคัญมากในการจะนำมาจัดทำเป็นธนาคารปูม้า เพราะเราจะรู้ว่ามีการจับปูได้ที่ไหน ขนาดเล็กหรือใหญ่ และจับได้มากน้อยแค่ไหน…แต่พอไปคุยกับชาวบ้านเขาก็ถามกลับมาว่า….เราก็รู้อยู่แล้วจะมาถามทำไมอีก” ม๊ะอ๊ะบอกพร้อม ๆ กับชี้ให้เห็นว่าแม้คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าการทำธนาคารปูม้าเป็นเรื่องดี แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ให้ความร่วมมือ

            มะอ๊ะ ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับครูในโรงเรียนละงูพิทยาคม ที่ทราบมาว่าที่โรงเรียนมีกลุ่ม“มหิงสาสายสืบ” ซึ่งเด็ก ๆ  มีประสบการณ์การสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเกิดแนวคิดที่จะดึงเด็ก ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

การชวนเด็กๆ เข้ามาร่วมเก็บข้อมูลให้กับโครงการ นอกจากจะทำให้ทีมงานได้ข้อมูลแล้ว ยังเป็นเครื่องมือปลูกฝังให้เด็กรู้จักรักและหวงแหนในทรัพยากรของแผ่นดินถิ่นเกิดแล้ว เด็กๆ เหล่านี้ยังกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการดูแลทรัพยากรของชุมชนต่อไปในอนาคตอีกด้วย

และเด็ก ๆ ก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน แบ่งงานกันลงพื้นที่ เก็บข้อมูลจากกลุ่มคนหาปูจำนวน 35 คน ซึ่งข้อมูลนี่ทำให้เรารู้ว่าปูหายากและตัวเล็กลง

น้ำหอม-กัสตูรี บรรดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนละงูพิทยาคมหนึ่งในแกนนำเยาวชนบอกว่า

“ดีใจที่ผู้ใหญ่เห็นคุณค่าของเรา และเปิดโอกาสให้เรามาทำงาน ซึ่งการมาร่วมเก็บข้อมูลทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้  ตื่นเต้นที่ได้รู้จักอาชีพการทำไซปูของพ่อแม่ว่าทำอย่างไร ออกเรืออย่างไร ต่อไปถ้าคนมาถามว่า พ่อแม่ทำอะไร เราก็ตอบได้อย่างไม่อาย นอกจากนี้ยังทำให้หนูกล้าแสดงออก รู้จักการคิดวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้กับการเรียนได้”

บทเรียนที่กลุ่มเยาวชนมองว่าล้ำค่าที่สุดคือ การได้รู้ว่าเงินที่พ่อแม่ส่งตัวเองเรียนล้วนมาจากท้องทะเล หากทรัพยากรในทะเลลดลง ก็ทำให้พ่อแม่ต้องเหนื่อยมากขึ้น จนเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการใช้จ่ายเงินน้อยลง ตั้งใจเรียนมากขึ้น เพื่อให้คุ้มกับหยาดเหงื่อที่พ่อแม่ลงทุน แต่ที่ดียิ่งกว่าคือกลุ่มเยาวชนทุกคนเกิดความคิดที่อยากจะอนุรักษ์ทรัพยากรในทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง เพราะทรัพยากรทางทะเลคือสิ่งหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนบุโบย

แต่ไม่ใช่เด็กเท่านั้นที่เปลี่ยน ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่เป็นผู้ปกครอง เมื่อเห็นเด็กๆ ขยันและตั้งใจทำงาน จึงทยอยเข้ามาร่วมมือ

โต๊ะอิหม่ามสนาน สันนก  แกนนำมัสยิด สะท้อนความรู้สึกที่ได้เห็นการแสดงออกของลูกหลานว่า “ผมนั่งฟังเด็กๆ นำเสนอแล้วรู้สึกปลื้มใจที่เห็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรในบ้านเรา อาสาเข้าไปสอบถามข้อมูลจากผู้ใหญ่จนได้ฐานข้อมูลทรัพยากรปูม้าของชุมชนบุโบย”

ผลการทำงานในโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ระยะที่ 1 นอกจากจะทำให้ทีมงานบ้านบุโบยได้ข้อมูลเกี่ยวกับไซปูม้า ยังสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เข้ามาช่วยกันคลี่คลายปัญหาปูม้าที่ลดจำนวนลง ผ่านการจัดทำ “ธนาคารปู” ได้แล้ว ยังเกิดกลุ่มคนทำงานนอกจากแกนนำแถว 1 คือ มะอ๊ะ มะหญิง และแกนนำแถว 2 คือเยาวชนที่ทุ่มเทเรียนรู้เรื่องราวของปูม้า จนสามารถชักนำกลุ่มคนทำไซปู ซึ่งเป็นพ่อแม่ของเด็กๆ ให้เข้ามาแกนนำช่วยขับเคลื่อนงานธนาคารปูต่อไป

            แต่การทำธนาคารปูม้าเรื่องเดี่ยวอาจไม่ตอบโจทย์ของชุมชนคือเรื่อง “การจัดการทรัพยากร”  ดังนั้น เมื่อต้องสานต่อโครงการในระยะที่ 2 ก็มีโจทย์ท้าทายให้ทีมงานบ้านบุโบยคิดต่อ คือ การทำโครงการต้องมี “หลายเรื่อง หลายคน และต้องเกิดกลไก”  ที่มะอ๊ะ บอกว่า รู้สึกหนักใจมากที่ ต้องรวมคนหลายคนมาช่วยกันคิด ขณะเดียวกันยังต้องมีหลายประเด็น และที่สำคัญคือต้องเกิดกลไกในการทำงาน

หลายเรื่อง หลายคน = ชุมชนเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม กรณีบุโบย สิ่งที่ม๊ะอ๊ะหนักใจ คือ “การรวมคน”  เพราะเป็นสิ่งทีมะอ๊ะไม่ถนัด  แต่ด้วยความช่วยเหลือของทีมพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล คือการเข้าไปช่วยในเรื่องของการทำ Social Mapping   รวมทั้งผลสำเร็จจากการทำงานในเฟสแรกคือ การสร้างความเข้าใจให้กลุ่มคนบุโบยให้หันกลับมาให้เห็นความสำคัญของการดูแลทรัพยากร คือ  “ปูม้า” และกลุ่มท่องเที่ยวที่สามารถยกระดับจากการเป็นเพียงพนักงานดูแลนักท่องเที่ยวอย่างเดียวมาเป็น “การบริหารจัดการท่องเทียวทั้งระบบ”  และที่ทำการกลุ่มท่องเที่ยว ก็ยังกลายเป็นศูนย์รวมของคนในและนอกชุมชน   นั่นยังไม่รวมถึงสายสัมพันธ์อันดีระหว่างม๊ะอ๊ะ และเครือข่ายต่าง ๆ จากภายนอกที่มาเยี่ยมชมชุมชนเพื่อศึกษาเรียนรู้กระบวนการ เหล่านี้นี่คือ “เครดิต” ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับม๊ะอ๊ะได้เป็นอย่างดี 

เมื่อเป้าหมายโครงการในระยะที่ 2 คือ “สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน”  ด้วยการ “พัฒนา” คนทำงาน  และปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนได้รับการคลี่คลาย อีกทั้งต้องมีกลไกการบริหารจัดการ ด้วยการเปลี่ยนโจทย์การทำงานใหม่จาก “โจทย์เดียว”  (Project Base) เป็น “โจทย์เชิงพื้นที่”  (Area Base) และต้องมีคนหลายกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

จากต้นทุนและจุดเด่นดังกล่าว เมื่อใช้เครื่องมือ Social Mapping  สืบค้นในสองสามเรื่อง อาทิ ในชุมชนมีใครทำอะไรอยู่บ้างในเรื่องการดูแลทรัพยากร  มีหน่วยงานใดบ้างที่มีบทบาทหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมชาวบ้านในเรื่องเดียวกัน  ซึ่งก็พบว่า แท้ที่จริงแล้ว ในชุมชนก็มีทั้งคนที่สนใจ “อยากทำ” และมีกลุ่มคนที่ “ทำแล้ว” ในหลาย ๆ เรื่องหลายประเด็น  อาทิ กลุ่มเพาะเลี้ยงปูดำ  กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มท่องเที่ยว  เครือข่ายศาสนาที่ขับเคลื่อนเรื่องปลูกฝังหลักศาสนาให้แก่เยาวชน   รวมทั้งกลุ่มกลุ่มเยาวชนมหิงสาสายสืบที่เข้ามาช่วยงานของผู้ใหญ่มาตั้งแต่งานระยะที่ 1  

หลังทำ Social Mapping  ทำให้เรารู้ว่าหลาย ๆ เรื่องมีคนทำอยู่ เช่นการทำธนาคารปูม้า นั้น จริง ๆ มีชาวบ้านเขาทำอยู่ อย่าง บังหวี-เจ๊ะหวี คำศรี ที่เป็นผู้รู้เรื่องการทำไซปู และจับปู  แต่ที่ผ่านมา บังหวีทำเองที่บ้าน ไม่ได้ร่วมกลุ่มกับคนอื่น

“เราก็ทำมานาน ส่วนมากก็เวลาจับได้ปูไข่ ก็เอามาเพาะเลี้ยง และปล่อยลงทะเล…ทำเองสบายใจกว่า ไม่อยากรวมกลุ่มกับคนอื่น พอรวมกันแล้วมันมากเรื่อง รวมก็เลิก เป็นแบบนี้หลายครั้ง สู้เราทำของเราเองไม่ได้”  บังหวี อธิบายเหตุผล

แม้บังหวีจะไม่เห็นด้วย กับการรวมกลุ่มกันทำงาน แต่การชักชวนของม๊ะอ๊ะที่บอกว่า “ลองไปฟังดูก่อน…ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นไร”  ทำให้บังหวียอมไปนั่งฟังการอธิบายแนวคือ “มากคน มากเรื่อง”   

 “เท่าที่จำได้ คำว่า “หลายเรื่อง”  ไม่ได้หมายความว่า ทำหมดทุกเรื่อง แต่ทำเท่าที่พอทำได้ มีกำลังคน มีแกนนำในการทำงาน  มีการรวบรวมคนหลายคนมาทำงานร่วมกัน  กำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกัน คิดเป้าหมายร่วมกันว่าบุโบยจะเดินไปทางไหน เช่น เรื่องเยาวชนเป็นอย่างไร กองทุนจะเอาอย่างไร เรื่องทรัพยากรเราจะจัดการกันอย่างไร ถ้าต่างคนต่างทำมันจะไม่เห็นผล ถ้าคนในชุมชนมาร่วมกันทำงาน ก็จะเกิดผลเร็วขึ้น”  บังหวี  ย้อนความทรงจำในวันที่ไปนั่งฟังการอธิยายแนวคิด “หลายคน หลายเรื่อง” ของบังพงษ์ – ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล

 “ตอนแรกทางมะอ๊ะบอกให้ลองแวะมาฟังแนวทางการทำงานดูก่อน  จึงชวนคนในกลุ่ม 3-4 คนมาฟังด้วย หลังจากฟังครั้งแรกแล้ว ก็ยังมาฟังอีกหลายครั้ง เพราะอยากรู้ให้แน่ชัดว่าทำอย่างไร จนมาสะดุดใจที่บอกว่า กลไกนี้คือการนำกลุ่มคนที่ต่างมีภารกิจของตัวเอง มาบูรณาการการทำงานร่วมกัน ช่วยกันทำงาน ผมเห็นว่าแนวคิดแบบนี้น่าจะเป็นไปได้”

หลังจากมั่นใจว่า แนวทางดังกล่าวมีความ “เป็นไปได้” เพราะเราเป็นคนกำหนดเอง ทำกันเอง และที่ดียิ่งขึ้นไปคือมี “คนช่วยทำ”

บังหวีจึงรวมกลุ่มคนทำไซปูจำนวน 35 คน จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ไซปูม้า และเริ่มต้นระดมเงินทุนจากสมาชิก 

            ทั้งนี้…การเข้ามาของบังหวี และกลุ่มสหกรณ์ไซปู  ทำให้การประสานกับกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองง่ายขึ้น เพราะทั้ง 2 กลุ่มมีความเกี่ยวพันกันอยู่  ดังเช่น สูนนท์-วัฒนา โกบเม็ง ประธานกลุ่มกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และเป็นสมาชิกกลุ่มสหกรณ์ไซปูม้าด้วยเช่นกัน ส่วน กลุ่ม อสม. ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับรู้กระบวนการทำงาน แล้วสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเอง

จัดการตนเอง…สไตล์บุโบย

            “หลายเรื่อง…หลายคน…มีกลไกการทำงาน” คือ คาถาสำคัญที่คนบุโบยต้องท่องให้ขึ้นใจ  ทั้งนี้เพราะระหว่างการดำเนินงาน แกนนำระดับ “ประเด็น”  เช่นแกนนำทีทำเรื่องปูม้า  แกนนำที่ขับเคลื่อนเรื่องท่องเที่ยว  หรือแม้แต่แกนเยาวชนต้องนำมาข้อมูลมานำเสนอต่อ “ที่ประชุม” กรณีต้องการความเห็น  หรือ ต้องการการสนับสนุน

            แต่ถึงแม้จะออกแบบวิธีการทำงานไว้ชัดเจน ทีมงานบุโบยก็พบปัญหาตั้งแต่กลไกยังไม่เริ่มขยับ เพราะมีบางกลุ่มขอถอนตัวเพราะติดภารกิจที่แน่นขนัด จนไม่สามารถแบ่งเวลามาร่วมได้  แต่ก็ไม่ได้บั่นทอนความตั้งใจของทีมงานแต่อย่างใด แต่ละกลุ่มต่างค่อยๆ กระชับเข้าหากลไกด้วยการหยิบยกภารกิจเข้ามาหารือผ่านกลไกการทำงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามกลุ่มคนทำงานขับเคลื่อน คือ 1. กลุ่มขับเคลื่อนกลไกกลาง ซึ่งเป็น “วงกลางในการพูดคุย” ที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มบุโบยร่วมใจ” โดยการขับเคลื่อนงานของกลุ่มบุโบยร่วมใจจะเน้นหลัก “อำนวยความสะดวก” แก่สมาชิก เพราะให้ความสำคัญกับทุกความคิดเห็นของทุกคน ใช้ทุกวันศุกร์ที่ 2 ของเดือนเป็นวงประชุม แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์จริงด้วย หากมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขก็จัดประชุมทันที ส่วนสถานที่ประชุมไม่มีระบุตายตัวว่าจะใช้ที่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เป็นหลัก

 “เวลาใครมาประชุมไม่ได้ พวกเราจะไปประชุมที่บ้านคนนั้น เพื่อให้เขาสามารถจัดการธุระที่บ้านไปพร้อมรับฟังเรื่องที่ประชุมกันได้ แต่ถ้าสถานที่ที่บ้านของเขาไม่เอื้ออำนวย ก็จะไปประชุมบ้านคนอื่นในกลุ่มที่อยู่ใกล้คนที่ไม่ค่อยสะดวกมาประชุม เพื่อให้เขาวิ่งมาฟังแล้วกลับไปจัดการงานตัวเองต่อได้ หรือไม่ก็เลือกว่าบ้านไหนเป็นศูนย์กลางที่ทุกคนเดินทางมาง่ายที่สุด คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น มะกับคนอื่นที่ขี่เป็นจะไปรับที่บ้าน แล้วมาประชุมด้วยกัน”มะอ๊ะ เล่า

มะอ๊ะยังบอกอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการรับฟังทุก ๆ   ความคิดเห็นจากทุก ๆ คน

“ทุกครั้งที่มีการประชุม ไม่เฉพาะแกนนำเท่านั้นที่มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับทีมกลไก ทุกคนสามารถเข้ามาประชุมหรือแจ้งข่าวได้ อย่างล่าสุด คนหาหอยท้ายเพาก็เอาปัญหามาเล่าว่าหอยหายากและตัวเล็กลง เราก็หารือในทีประชุม และทุกคนก็ออกกติการ่วมคือต่อไปนี้ให้เก็บเฉพาะหอยตัวโตที่ได้ขนาด…และกติกานี้ก็ถูกประกาศออกไปโดยผู้นำชุมชน ทุกคนก็ปฏิบัติตาม ผลประโยชน์ก็ตกอยู่กับชาวบ้าน”

อีกประการที่ทำให้การประชุมในทุก ๆ วันศุกร์ที่ 2 ของเดือนหรือ การประชุม “รายสะดวก” สามารถเกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ เพราะมะอ๊ะบอกกับทุกคนว่า… “แม้เราจะไม่มีเบี้ยประชุมเป็นเงิน…แต่เบี้ยประชุมที่เราได้คือผลประโยชน์ที่เราจะได้ร่วมกัน คือ ปู ปลา หอย และทรัพยากรของชุมชน”     

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ “กลไก” สามารถขับเคลื่อนการทำงานได้จริง กลุ่ม “ร่วมใจคนบุโบย” จึงวางเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ไว้ 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อใช้เป็นแนวในการทำงาน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการทรัพยากรทั้งระบบ ผ่านการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อยในการผลักดันยุทธศาสตร์นี้ ได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุ รักษ์บ้านเกิด ที่ดำเนินโครงการ “บ้านปูดำ” 2. โครงการสหกรณ์ไซปูม้าเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น 3. โครงการศึกษารูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของบ้านบุโบย ยุทธศาสตร์ที่ 2 การจัดการสุขภาพของคนในชุมชนผ่านความรู้แพทย์แผนปัจจุบัน และภูมิปัญญาชุมชน ซึ่งมีโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์นี้คือ โครงการสุขภาพดีที่บุโบย

            ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมด้านศาสนา และวัฒนธรรมชุมชน โดยมีกลุ่มศาสนาเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวผลักดัน ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาศักยภาพแกนนำ เน้นการพัฒนาแกนนำองค์กรในชุมชนเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการตัวเอง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มร่วมใจคนบุโบย และโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนบ้านบุโบย ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการกองทุนและกลุ่มอาชีพเสริมชุมชน ขับเคลื่อนผ่านโครงการ หนุนเสริมกระบวนการทำงานในแบบกองทุนหมู่บ้าน บ้านบุโบย

           จะเห็นได้ว่าการวางกรอบยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านของทีมงาน ล้วนสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบุโบยทั้งสิ้น  ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร สุขภาพ ศาสนา ทรัพยากรมนุษย์ และสวัสดิการหรืออาชีพ ซึ่งการขับเคลื่อนงานของกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ระดับกลุ่มกลไกการทำงาน กลุ่มปฏิบัติ และกลุ่มภาคี ที่ขับเคลื่อนงานผ่านกิจกรรมที่ทำร่วมกัน และแยกกันทำภายใต้โครงการย่อยๆ เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ  รวมไปถึงการใช้กิจกรรมนำไปสู่การเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายของแต่ละกลุ่มแต่ละโครงการของตนเอง

ก้าวต่อไปของ “บุโบยร่วมใจ”

ความหวังที่จะมี “กลไกจัดการชุมชน”  ด้วยตนเองในวันนี้ของคนบ้านบุโบย เริ่มก่อรูปขึ้นให้เห็นบ้างแล้ว จากผลสำเร็จของโครงการธนาคารปูม้าที่ช่วยเพิ่มประชากรปูในทะเลได้จริงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

 “กลุ่มคนทำไซปู เขาสังเกตเห็นว่า หลังจากธนาคารปูม้าปล่อยปูคืนสู่ทะเล ประมาณ 3 เดือน ปูที่จับได้มีจำนวนมากขึ้นกว่าปีก่อน พอคิดทบทวนก็คาดว่าน่าจะเป็นผลจากการปล่อยปู แล้วหลายคนก็เห็นว่าแถวธนาคารจะมีปูตัวเล็กๆ ไต่อยู่ตามขอนไม้ จากเมื่อก่อนไม่เคยมี” มะอ๊ะ เล่า

ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็กระชับความสัมพันธ์เข้าหากันมากขึ้น เนื่องจากมีการเชื่อมโยงภารกิจของแต่ละกลุ่มเข้าด้วยกันภายใต้งานของกลุ่มท่องเที่ยว ที่มีเป้าหมายจะพัฒนาบ้านบุโบยสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism-CBT)  ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน โดยมีธนาคารปูม้า และบ้านปูดำเป็นแหล่งเรียนรู้ทางทรัพยากร กลุ่มศาสนาให้ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมของหมู่บ้าน ส่วนกลุ่มเยาวชนก็ช่วยหยิบจับงานของกลุ่มอื่นๆ

วันนี้สิ่งที่กลไกบุโบยร่วมใจยังต้องเติมคือ การเพิ่มความเข้มแข็งในตัวคนทำงาน เนื่องจากคนที่เข้าใจกระบวนการอย่างลึกซึ้งมีเพียงแกนนำจากแต่ละกลุ่มเท่านั้น ทำให้งานในกลุ่มขยับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น แผนการทำงานขั้นต่อไปของแกนนำจึงเป็นการมุ่งทำความเข้าใจแก่ทีมงานแต่ละกลุ่ม พร้อมๆ กับสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพัฒนาชุมชนด้วย “กลไกบุโบยร่วมใจ”  แก่ชาวบ้านกลุ่มอื่นที่เริ่มให้ความสนใจการทำงาน เพราะกลุ่มกองทุนหมู่บ้านซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากความไว้วางใจของชาวบ้านส่วนใหญ่ เข้ามาร่วมทีมด้วย และการที่ฝ่ายสาธารณสุขประจำตำบลมาขอใช้ศูนย์เรียนรู้ของกลุ่มเพื่อจัดประชุม ยิ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจให้คนในชุมชนบุโบยได้เป็นอย่างดี

แม้ต้องเพิ่มละเอียดการทำงานให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดแล้วใน “กลไกบุโบยร่วมใจ” คือหัวใจแกร่งของเหล่าผู้ใหญ่ทีมบุโบยและกลุ่มเยาวชนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการทำงานโครงการ จนเป็น “พลังใจ” ที่จะร่วมกันขับเคลื่อน “กลไกบุโบยร่วมใจ” ให้สามารถคลี่คลายหลายปัญหาในชุมชน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้นั่นคือ ชุมชนบุโบยร่วมใจได้อย่างแท้จริง

            ไม่เฉพาะความสามารถในการจัดการตนเอง จัดการฐานทรัพยากรอันเป็นทรัพย์สมบัติของชุมชน หากยังเกิดการเข้าไปจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ของชุมชน  เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียกว่า “เรียนรู้ข้ามเรื่อง”  หมายถึง คนทำเรื่องธนาคารปูม้า ก็สามารถลงไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำไซปู หรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ  ที่ตนเองสนใจ การเรียนรู้ดังกล่าวไม่ทำให้เกิดการ “คิดแยกส่วน”  เพราะคนทั้งชุมชนจะเห็นว่า “ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน”  คือเรื่องของคนบุโบย

             เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน สิ่งที่เปลี่ยนตามคือ วิธีการทำงาน ทุกวันนี้คนบุโบยสามารถ คิดเชื่อมโยงเรื่องราวของตนเองกับสิ่งที่อยู่ภายนอก อาทิ ธนาคารปูม้าไม่ใช่เรื่องอาหารการกิน แต่มันเป็นการปกป้องดูแลทรัพยากร หรือแม้แต่เรื่องท่องเที่ยว ชาวบ้านเองก็ตระหนักว่า ต้องทำอย่างไรเพื่อให้การท่องเที่ยวไม่มาสร้างผลกระทบกับชุมชน

            ทั้งหมดคือ “การจัดการตนเอง” ให้ตัวเองเกิดการเรียนรู้ มีทักษะ มีประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำงาน  เมื่อคนเก่งขึ้น มองผลประโยชน์ของส่วนร่วมเป็นหลักก็เกิดการ “หลอมรวม” เป็นหนึ่งเดียว

            เป็น “บุโบยรวมใจ” เพื่อคนบุโบย

+++++++++++