จาก “ความรู้” สู่หมู่บ้านท่องเที่ยว
บ้านแม่กำปองตั้งอยู่บนภูเขาสูง ผืนป่ารอบหมู่บ้านป่าเขตร้อน มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติ อันได้แก่ น้ำตก แม่กำปอง น้ำตกธารทอง ตลอดจนสวนเมี่ยงที่ปลูกลดหลั่นไว้ตามไหล่เขา
และความสมบูรณ์ของธรรมชาตินั้นเอง ทำให้นักท่องเที่ยวพากันเข้ามาพักผ่อน ชมธรรมชาติของหมู่บ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านแม่กำปองเปิดหมู่บ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ซึ่งจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ต้นไม้ต้นพืชถูกทำลายจากการเหยียบย่ำ และการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกอาจทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป
ชาวบ้านแม่กำปองจึงตระหนักว่า หากไม่มีรูปแบบในการจัดการท่องเที่ยว หรือ มีกฏเกณฑ์ให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาได้ปฎิบัติแล้ว ทรัพยากรของหมู่บ้าน รวมทั้งสังคม วัฒนธรรมของคนในหมู่บ้านจะต้องเปลี่ยนไป จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการเพื่อนำไปสู่การจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ
หาความรู้…
หาเงื่อนไขสำคัญของชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว
ในขั้นต้น ชาวบ้านแม่กำปองใช้กิจกรรมการวิจัยในหัวข้อ “รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบยั่งยืน บ้านแม่กำปอง” เป็นเครื่องมือในการจัดการ เพื่อให้มีการประชุมระดมความคิดของชาวบ้านที่ตั้งชุมชนกระจายอยู่เป็นกลุ่ม ๆ นำไปสู่การร่วมมือกันของชาวบ้านในหมู่บ้านทั้ง ๖ ป๊อก หรือปาง
จากนั้นมีการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เรื่องการวิจัยโดยชุมชนมีส่วนร่วม ชี้แจงวัตถุประสงค์และวิธีการดำเนินงานวิจัยต่อที่ประชุมในปางต่าง ๆ ทั้ง ๖ แห่ง โดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้คณะผู้วิจัยช่วยกันรับผิดชอบ และจัดประชุมชาวบ้านในวันพระซึ่งชาวบ้านว่างจากการงาน แล้วคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละปางร่วมเป็นคณะกรรมการท่องเที่ยวของหมู่บ้านอีก ๓๔ คน เข้าร่วมทำงานกับคณะผู้วิจัยและวางแผนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของหมู่บ้าน พร้อมกันนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในหมู่บ้านเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และร่วมกันออกกฎระเบียบ ข้อกำหนด สำหรับให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวยึดเป็นแนวปฏิบัติ อีกทั้งยังได้ช่วยกันคิดหาแนวทางเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวเข้าใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ โดยใช้สื่อสาธารณะต่าง ๆ ทั้งแผ่นพับ แผ่นป้าย วารสาร และเสียงตามสาย
ชุมชนแม่กำปองใช้ “กระบวนการวิจัย” ค้นหาความรู้ที่ซุกซ่อนอยู่ในชุมชน ซึ่งจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนทั้งชุมชน และชาวบ้านแม่กำปองก็พบว่ามีความรู้มากมายก่ายกองที่คนทั้งชุมชนจะนำออกมาใช้ …เช่น
· ความรู้ด้านบริการท่องเที่ยว
ชาวบ้านแม่กำปองได้ร่วมกันพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานในชุมชน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ด้วยการพัฒนาเส้นทางขึ้นไปยังน้ำตก ต่อเติมขั้นบันไดขึ้นไปจนถึงน้ำตกชั้นบนสุด จัดทำแอ่งเล่นน้ำในน้ำตกชั้นต่าง ๆ ปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณน้ำตก ปลูกไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิด จัดทำลานจอดรถ นำถังขยะมาตั้งในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว และปรับปรุงห้องน้ำให้มิดชิดและสะอาด รวมทั้งร่วมมือร่วมใจกันรักษาคุณภาพน้ำตกและลำธารให้ใสสะอาด
- ความรู้ด้านตลาดการท่องเที่ยว
ชุมชนพื้นที่วิจัยบ้านแม่กำปองมีความต้องการที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้เสริมให้ชุมชน ควบคู่ไปกับรายได้จากการทำสวนเมี่ยงและกาแฟ แต่ว่าในเชิงปฏิบัติ ชุมชนยังไม่มีการจัดการด้านการตลาดที่มีคุณภาพ แต่มีความพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ทั้งในลักษณะของการเดินทางมาเที่ยวแบบไป – กลับในวันเดียว และการเข้ามาตั้งเต๊นท์บนดอย รวมทั้งในรูปแบบของการเข้ามาพักกับชาวบ้านแบบโฮมสเตย์
- ด้านความสามารถในการรองรับของธรรมชาติด้านกายภาพ
พื้นที่บ้านแม่กำปองเป็นชุมชนในเขตป่าสงวนแห่งชาติ มีบ้านเรือนตั้งเป็นกลุ่มริมน้ำแม่กำปอง ร้อยละ ๙๘ ของพื้นที่รอบหมู่บ้านเป็นภูเขาและเนินเขา เชื่อมต่อกับผืนป่าเขตอุทยานแห่งชาติ มีความสูงประมาณ ๑,๓๐๐ เมตรรทก. (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) พื้นที่ป่าเขารอบชุมชนเป็นแหล่งปลูกเมี่ยง มีอากาศดี ทัศนียภาพสวยงาม และเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษมลภาวะ ส่งผลให้ปัจจุบันมีนักธุรกิจและคนต่างถิ่น เข้าไปซื้อที่ดินปลูกสร้างอาคารบ้านเรือนแบบรีสอร์ทเพิ่มมากขึ้น และมีนักธุรกิจบางรายเข้าไปกว้านซื้อที่ดินเพื่อทำไร่หรือสวนเกษตร ในอนาคตอาจส่งผลให้มีการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพิ่มมากขึ้น และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมชาวบ้านแม่กำปองได้มีมติ ขอร้องมิให้ชาวบ้านขายที่ดินของตนอีก
- ความสามารถที่จะรองรับได้ทางนิเวศ
ตลอดช่วงที่ผ่านมา ชาวบ้านแม่กำปองดำรงชีวิตแบบชาวสวนเมี่ยง และดำรงไว้ซึ่งวิถีวัฒนธรรมการผลิตเมี่ยง คือ เก็บใบเมี่ยงมาหมัก แล้วจำหน่ายไปยังชุมชนโดยรอบ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในหมู่บ้านเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากฐานรากอย่างแท้จริง นั่นคือ สอดคล้องเหมาะสมกับระบบนิเวศย่อย และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้าม กลับจะยิ่งก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในการรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ อยู่กับป่าได้อย่างมีดุลยภาพ
บทเรียนที่ได้จากการดำเนินโครงการวิจัย
- กระบวนการเรียนรู้ ชาวบ้านแม่กำปองใช้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน คือ ป่าเมี่ยง และวัฒนธรรม
ธรรมชุมชนที่มีการสืบทอดภูมิปัญญาการผลิตเมี่ยงมาเป็นปัจจัยหลักของการท่องเที่ยว ได้นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันในเรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน อันเป็นการต่อยอดการพัฒนาจากฐานความรู้ที่มีอยู่เดิม
การที่ระบบนิเวศย่อยของพื้นที่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางนับพันเมตร เหมาะสมกับการปลูกเมี่ยงและกาแฟ การนำเอาป่าเมี่ยงและไร่กาแฟซึ่งเป็นฐานทรัพยากรที่มีอยู่ มาพัฒนาให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน เป็นการดำเนินความพยายามของชาวบ้านแม่กำปอง ที่จะเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ในเรื่องการท่องเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศ และปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ โดยร่วมมือกับหน่วยงาน / องค์กรต่างของรัฐในพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้บังเกิดผลในเชิงปฏิบัติ
- กระบวนการมีส่วนร่วม ในกระบวนการพัฒนาชุมชนบ้านแม่กำปองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิง
นิเวศ คณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้านได้ร่วมมือกันตั้งเป็นคณะวิจัย โดยมีผู้ใหญ่บ้านแม่กำปองเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และมีนักวิจัยในหมู่บ้านอีก ๘ คน อันได้แก่ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ๓ คน และชาวบ้านแม่กำปองอีก ๒ คน นอกนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแม่กำปอง สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประธานประชาคมหมู่บ้านแม่กำปอง
สรุป
- พื้นที่ตั้งชุมชนมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ๑,๓๐๐ เมตร มีความหลาก
หลายทางชีวภาพสูง มีพืชสมุนไพรหลากหลายชนิด และเป็นแหล่งปลูกเมี่ยงและกาแฟที่สำคัญ แห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ชาวบ้านแม่กำปองมองเห็นประโยชน์ของฐานทรัพยากรที่มีอยู่ จึงนำเอาป่าเมี่ยงและไร่กาแฟมาพัฒนาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของชุมชน
- ชาวบ้านแม่กำปองดำเนินความพยายามที่จะนำเอาองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องการท่องเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศ มาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ของชุมชน ซึ่งเป็นป่าเขามีอากาศหนาวเย็น เป็นแหล่งปลูกเมี่ยงและกาแฟที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เป็นการสร้างรายได้ต่อชุมชน
- การที่ชาวบ้านแม่กำปองทั้ง ๖ ปาง ได้เข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างจริง
จัง เป็นการพัฒนาศักยภาพชาวบ้าน ให้เข้าถึงองค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศย่อยและวัฒนธรรม ชุมชนของหมู่บ้านป่าเมี่ยง เพื่อรองรับการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็น “มัคคุเทศก์ท้องถิ่น” ต่อไปในอนาคต สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในวัฒนธรรมชุมชนป่าเมี่ยง กับบรรดานักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวได้เป็นอย่างดี นอกเหนือจากการนำทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติในท้องถิ่น
- ชาวบ้านแม่กำปองมีความคิดเห็นว่าเยาวชนมีความสำคัญ ในการปลูกสร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้บังเกิดผลในเชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง ควรมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เพื่อให้เยาวชนได้ศึกษาค้นคว้าเรียนรู้ และให้ชาวบ้าน ครู และนักเรียนได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
- ชาวบ้านแม่กำปองมีความตั้งใจที่จะใช้กระบวนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกกฎระเบียบและแนวทางการใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ เอื้อต่อการเสริมสร้างความเข้าใจ และร่วมมือกันของคนในชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาดุลยภาพของระบบนิเวศ อันเป็นต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่เดิมให้มีความมั่นคง และพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
++++++