“จากเพื่อน สู่เพื่อน” กระบวนการต่อยอด และขยายผลเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ เชียงราย
++++
เชียงรายเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยค่อนข้างมาก และอาชีพของคนส่วนใหญ่คือ การทำไร่ และการเกษตรอื่น ๆ
เมื่อการค้าขายดี เศรษฐกิจดี ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ส่งเข้ามาขายในเมือง ในกรุงเทพ บางส่วนส่งไปขายเพื่อนบ้าน อย่างพม่า และ ลาว ชาวบ้านก็มีความเป็นอยู่ที่ดี
กระทั่งเปิด “เขตการค้าเสรี” ผลผลิตทางการเกษตรทะลักเข้ามาทางท่าเรือเชียงแสน ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ชาวบ้านปลูกสู้ไม่ไหว เพราะแพงกว่าของนำเข้า หลายรายเลิกปลูกผัก เลิกทำไร่ ลงมาค้าขายในเมือง และไม่นานจากนั้น “การท่องเทียวชุมชน” ได้รับความนิยม ชุมชนชาวเขาหลายแห่งได้รับการสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น ม้ง อ่าข่า เมี่ยน ลาหู่ (มูเซอ) เย้า ฯลฯ การท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ที่ดินที่เคยทิ้งร้างกลับมาเขียวขจีด้วยพืชอาหารสำหรับรองรับนักท่องเที่ยว การทอผ้า จักสาน กิจกรรมต่าง ๆ การละเล่นที่เป็นวัฒนธรรมและประเพณีของแต่ละชนเผ่าถูกรื้อฟื้นและกลับมาคึกคัก ชาวบ้านเริ่มสวมเครื่องแต่งกายของชนเผ่า เพราะมั่นใจมากขึ้น และจะเป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยว
กระทั่งปลายปี 2562 เกิดโรคระบาดร้ายแรง ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทุกอย่างหยุดนิ่ง ผู้คนไม่เดินทางเพราะกลัวโรคระบาด แน่นอนว่า ผลกระทบก็ขึ้นเกิดกลุ่มชาติพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ที่มาจากการท่องเที่ยวหายไป ที่ร้ายแรงกว่านั้นคือกลุ่มที่อยู่ในเมืองก็ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ เพราะกิจการหลายแห่งล้วนปิดกิจการ ต่างก็มากันมุ่งหน้ากลับบ้าน เมื่อบวกกับคนในชุมชนไม่สามารถออกไปทำงานได้ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างหนักในชุมชน
ภายใต้โรคระบาด “อาทู่” ไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก ในฐานะแกนนำเครือข่ายชนเผ่าอ่าขา ในนาม “มหาวิทยาลัยชาติพันธุ์อ่าขา” พยายามหาวิธีการคลี่คลายปัญหาเพื่อให้กลุ่มชาติพันธุ์อ่าขาสามารถประคองชีวิตผ่านไปให้ได้ในช่วงวิกฤติโรคร้ายนี้ ด้วยการชวนกลุ่มชาติพันธุ์อ่าขาเขียนข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เป้าหมายคือ หา “รูปแบบ” การประกอบอาชีพใหม่ให้กลุ่มชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหา
ประเด็นที่เริ่มงานคือยกระดับทักษะการทอผ้าของชาวบ้าน การเปลี่ยนวิธีคิดจากการผลิตเพื่อใช้เอง เหลือจึงมาเป็น “ผลิตเพื่อขาย” เหตุผลเพราะ “ต้องการยกระดับฝีมือของชาวบ้านทั้งในเรื่องของการทอผ้าและจักสาน”
ซึ่งจากการดำเนินงานในปีแรก “มหาวิทยาลัยชาติพันธุ์อ่าขา” ประสบผลสำเร็จหลายเรื่อง เช่นมีการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอ มีการคิดค้นลายใหม่ ๆ การนำความรู้ด้านการแพทย์ชนเผ่ามาบริการนักท่องเที่ยวในช่วงที่รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการ นอกจากยังได้เปิด “ตลาดกลาง” หรือ “ลานแดข่อง” เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญา และเป็นเสมือนสถานที่จัดแสดงสินค้าของชาติพันธุ์อ่าขา
เมื่อประสบความสำเร็จในแง่ของการพัฒนาทักษะอาชีพ อ่าขาหลายชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาการขายผ้าทอ งานจักสาน และเกิดกลุ่มคณะทำงานที่เป็นชาติพันธุ์อ่าข่าในหลาย ๆ หมู่บ้าน ที่สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ด้วยตัวเอง
จากผลที่เกิดขึ้น คณะทำงานที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์อ่าขาตระหนักว่า ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มอ่าข่าเท่านั้น หากยังมีชาติพันธุ์อื่น ๆ อาศัยอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่ อาทิ ม้ง เมี่ยน เย้า ฯลฯ กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกัน
“เมื่อเราพอจะลืมตาอ้าปากได้ เพื่อน ๆ ของเราก็ต้องได้รับโอกาสแบบนี้เช่นกัน” อาทู่ให้เหตุผล
ส่งต่อโอกาสให้เพื่อน
ในปีที่สอง “อาทู่” เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ อย่าง เจนณรงค์ ศรีสองสม เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินโครงการ ซึ่งอยู่ในหมวดของโครงการ “ต่อยอด”
“ผมเข้ามาตอนใกล้ ๆ จบโครงการในปีแรก ตอนนั้นเรามีโปรดักส์ หรือผลิตภัณฑ์ แต่มันไม่มีตลาดที่จะขายได้ ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี เลยเสนอตั้งเป็นตลาดชาติพันธุ์ขึ้นมา แต่เป้าหมายตลาดของเราในช่วงแรก มุ่งเป้าไปที่การขายผลิตภัณฑ์ของพี่น้องอาข่าอย่างเดียว” เจนณรงค์ให้เหตุผลว่า เพราะจังหวัดเชียงรายมีกลุ่มพันธุ์อื่นอยู่ด้วย หากชวนเพื่อน ๆ คนอื่น ๆ เอาของมาขาย บรรยากาศน่าจะคึกคึก
แต่เมื่อมีการประสานไปยังกลุ่มชนเผ่าอื่น ๆ ก็พบความจริงที่ว่า ผลิตภัณฑ์หลายชนิดยังไม่ผ่าน QC. ซึ่งต้องมีการพัฒนาและยกระดับทั้งฝีมือและทักษะ นี่จึงเป็นแนวคิด และที่มาของการต่อยอดโครงการในปีที่สอง เป้าหมายคือการพัฒนาทักษะ และยกระดับผลิตภัณฑ์ของชนเผ่าเครือข่าย อาทิ อ่าข่า ลีซู ลาหู่ เมี่ยน ปกาเกอะญอ และไท-ยวน มีกระบวนการทำงาน คล้าย ๆ กับโครงการในปีแรก คือให้ผู้นำชุมชนแต่ละชนเผ่าไปค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส จากนั้นคณะทำงานลงพื้นไปพูดคุยทำความเข้าใจเป้าหมายของโครงการ
“เพื่อให้เขาเข้าใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำยังไงไม่หลุดออกไปจากกรอบของโครงการ เมื่อเข้าใจร่วมกัน คณะทำงานก็ให้โจทย์ไปว่า ถ้าอยากจะพัฒนาอาชีพ หรือองค์ความรู้ของชาติพันธุ์ อยากจะพัฒนาเรื่องอะไร”
กระบวนการปล่อยโจทย์ ทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะคือ ให้ความรู้วิธีการเก็บ และบันทึกข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนแผนการดำเนินงาน และการใช้งบประมาณ โดยเจนณรงค์ให้เหตุผลว่า เพราะในกระบวนการทำงานต้องมีการเก็บข้อมูล ที่ต้องใช้ในการวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการยกระดับ หรือ พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ของชุมชน
“ต้องเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อน ก่อนที่เราจะเขียนโครงการแล้วไปทำเพราะว่าเราเคยเจอว่าเราเขียนไปแล้วเราไปพัฒนาบางครั้งมันก็ไม่ตอบโจทย์”
สินค้าต้องเป็นที่ต้องการในตลาด
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะบางกรณีความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก็ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด บางครั้งไม่สอดคล้องกับระยะเวลา และงบประมาณ การให้เครื่องมือเก็บข้อมูล คิด และวิเคราะห์จะช่วยเสริมให้กลุ่มเป้าหมายทำงานอย่างมีทิศทาง
อีกประเด็นที่ช่วยให้การทำงานยกระดับภูมิปัญหาด้านผลิตภัณฑ์ คือการใส่เงื่อนเรื่องความต้องการสินค้าของตลาดให้กลุ่มเป้าหมายพิจารณาในการเลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์
“ผมใช้วิธีค้นหาใน google trend เพราะอยากรู้ว่า กลุ่มคนที่มีอายุ 20-50 ปีขึ้นไปมีความต้องสินค้าอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์ โดยใส่คำค้นว่า งานจักสาน เสื้อผ้า และอาหาร ยังมีความต้องการอยู่ ผมก็ใช้สามตัวนี้เป็นกรอบในการคัดเลือก และให้ความเห็นในการผลิตสินค้าของเครือข่ายกลุ่มเป้าหมาย”
จากนั้น ชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายก็จะกลับไปปฏิบัติการในพื้นที่ของตัวเอง ทั้งเก็บข้อมูล วิเคราะห์ เขียนเป็นข้อเสนอโครงการพร้อมแผนกิจกรรมและงบประมาณที่ใช้ และนำกลับเข้าสู่เวทีสำเสนอ หรือ พิจารณาโครงการ ต่อคณะทำงาน
“ก็ยังมีบางชุมชน อยากเลี้ยงปลาเสือ คณะกรรมการได้ให้คำแนะนำว่า การเลี้ยงปลาเสือมันก็ดี สามารถอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ได้ เอาไปขายได้ด้วย แต่ข้อจำกัดคือใช้ระยะเวลาพอสมควร และงบประมาณสูงเกินไป เกรงจะไปกระทบกับงบประมาณที่ต้องจัดสรรให้ชุมชนอื่น ๆ และคนดอยเราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ในการเลี้ยงปลา เพราะมันคนละบริบท จึงเสนอให้เขาปรับ เน้นความรู้ดั้งเดิม และทักษะหรือภูมิปัญญาเดิมที่เรามี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าใจ และยอมปรับ”
เมื่อโครงการผ่านมติและความเห็นชอบของคณะกรรมการ ไม่ได้หมายความว่า บทบาทของคณะทำงานในฐานะพี่เลี้ยงสิ้นสุดลง มีการลงพื้นไปติดตาม การทำงานของกลุ่มเป้าหมาย และเมื่อทำงานผ่านไประยะหนึ่งมีการนัดหมายกันเพื่อมารายผลการดำเนินงาน หรือ “รายงานความก้าวหน้า” เพื่อให้เครือข่ายช่วยกันเติม และให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงาน
“เราจะให้แกนนำกลุ่มเป้าหมายเข้ามาเจอกันที่อาข่าแดข่องนี่แหละครับ แล้วก็มาเล่าว่าในพื้นที่ของตัวเองที่ดูแลมันดำเนินการไปถึงไหนแล้ว เป็นรูปเป็นร่าง หรือมีโปรดักส์อะไรหรือยัง”
ปรับกระบวนการในภาวะโรคระบาด
“ถ้าไม่ติดโควิด เราจะได้เอาของไปขายที่ตลาดในเมือง”
เจนณรงค์บอกว่า ถ้าตามแผนการทำงานที่ออกแบบกันไว้ เครือข่ายจะต้องนำสินค้าไปจัดแสดงที่ “กาดล้านเมือง” ในตัวเมืองเชียงราย ที่เปิดโอกาสให้กลุ่มชาติพันธุ์เขาสินค้าไปขาย และแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่า ซึ่งมีการประสานการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน จึงหารือกับคณะทำงานและเครือข่าย เพื่อหาแนวทางในการกระจายสินค้า
“ปรับรูปแบบเป็นตลาดชุมชน หรือ ตลาดครอบครัว โดยใช้บ้านของแกนนำกลุ่มเป้าหมายเป็นจุดขายสินค้า เพื่อให้เกิดการซื้อขายกันเองในชุมชน เพื่อให้มีการหมุนเวียนของรายได้ เงินก็ไม่ออกไปไหน จากที่ซื้อไม้กวาดจากที่อื่น ก็ลองซื้อของที่ชุมชนเป็นคนทำ”
นอกจากตลาดครอบครัว ยังมีตลาดออนไลน์ ที่กำลังพัฒนาไปควบคู่กัน โดยตลาดออนไลน์ จะทำหน้าที่ 2 อย่างคือ โปรโมท และขายสินค้า
“การโปรโมทก็คือ ช่วยประชาสัมพันธ์ว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นของชุมชนไหน ถ้าลูกค้าสนใจก็ไปอุดหนุนกันได้ในพื้นที่ก็จะซื้อได้ในราคาที่ถูกลง เพราะเราก็คาดหวังว่าจะให้ลูกค้าได้ไปสัมผัสชุมชนเจ้าของผลิตภัณฑ์ ในส่วนของการขาย ราคาก็จะสูงกว่า เพราะต้องกันรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ”
สำเร็จได้เพราะการเห็นคุณค่า
ความแข็งแรงของกลุ่มชาติพันธุ์ คือการธำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี ไม่ว่าสถานการณ์ข้างนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความเป็น “ชาติพันธุ์” จะดำรงอยู่ และใช้เป็นต้นทุนในการพัฒนาอาชีพเสมอมา แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน กระบวนการแปลงวัฒนธรรมประเพณี เพื่อเป็นรายได้ของเครือข่ายชนเผ่า จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนภายใต้โจทย์ใหม่ ๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือ ทักษะ และ ความรู้ใหม่ ๆ
สำหรับ เจนณรงค์ ในฐานะคนรุ่นใหม่ มองว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้น คือการที่คนรุ่นก่อนสร้างฐานไว้ให้ และที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเรียนรู้ และพัฒนาตนเอง
“เรื่องการพัฒนาคนก็เป็นปัจจัยสำคัญ อีกเรื่องผมคิดว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประสบความสำเร็จ คือความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ผมใช้ความเด่นของแต่ละชาติพันธุ์ทำโครงการ และเราก็อาศัยกระบวนการที่ได้จากการอบรม ค้นสิ่งที่เป็นจุดเด่น และเป็นปัจจัยในการเอาไปต่อยอดเป็นอาชีพ โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเขาคิดเอง ทำเอง และเอามาช่วยกันดู และช่วยกันปรับ วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้กลุ่มชาติพันธุ์ยังดำรงอยู่ได้”
รายฃะเอียดเพิ่มเติม https://community.eef.or.th/communities/conclusion-21/
+++++++++++++