จากทำเนียบหมอเมือง สู่ วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก
การก้าวเข้ามายึดพื้นที่ของแพทย์แผนปัจจุบันทำให้บทบาทในด้านการรักษาโรคของหมอเมืองถูกลดลง หมอเมืองที่เคยเป็น “ผู้รู้” กลับไม่ได้รับการยอมรับด้วยกฏหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การระบุอย่างชัดเจนว่า “การรักษาโรคต้องมีใบประกอบโรคศิลป์” ทำให้กลุ่ม “หมอเมือง” ที่บางคนยังคงทำการรักษาผู้ป่วยอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ต้องตกอยู่ในสภาพ “หมอเถื่อน” ไปโดยปริยาย
ปี พ.ศ.2542 หมอเมืองเกิดการร่วมตัวกันอีกครั้งเมื่อ โครงการวิจัย “การสังคายนาองค์ความรู้หมอเมือง” โดย ผศ.ดร. ยิ่งยง เทาประเสริฐ ได้เชิญกลุ่มหมอเมืองมาร่วมกันระดมสมอง และได้ทำการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองร่วมกับเครือข่ายหมอเมือง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จนเกิดเป็นชุด “โครงการวิจัยองค์ความรู้หมอเมืองขึ้นในภาคเหนือตอนบน” เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้หมอเมืองและจัดทำตำราอ้างอิงกลางของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา จากนั้น ได้นำความรู้การแพทย์ล้านนามาขยายผลการพัฒนาวิทยฐานะของหมอเมืองใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมทั้งได้ทำการวิจัยและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรของชนเผ่าต่าง ๆ ในภาคเหนือตอนบน จนนำไปสู่การพัฒนาเป็นเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขงร่วมกับไทสิบสองปันนาและไทจ้วงจากจีนตอนใต้ แขวงบ่อแก้วและหลวงน้ำทาจากลาวตอนเหนือ และรัฐฉานจากพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551-2552
ปี พ.ศ.2545 วิทยาลัยฯ จึงร่วมกับคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย พัฒนาหลักสูตรการแพทย์แผนไทยระดับปริญญาตรี 4 ปี รวม 4 ประเภท ได้แก่ เภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย การนวดไทย และผดุงครรภ์ไทย นอกจากนั้นยังพัฒนาหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยและพัฒนาเภสัชกรรมไทย โดยได้รับการรับรองหลักสูตรทั้งสองจากคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 ตาม พ.ร.บ. การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 มาตรา 33 (1) (ข) ทำให้วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกมีสถานะเป็น “สถาบันการศึกษาการแพทย์แผนไทย” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว นั่นคือ เมื่อเรียนจบหลักสูตรแล้ว มีสิทธิ์สอบขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย ประเภท ข เพื่อรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนไทยได้ทั้ง 4 สาขาดังกล่าว โดยเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกตั้งแต่ปีการศึกษา 2546 แต่ในระดับบัณฑิตศึกษาคือ ประกาศนียบัตรบัณฑิตเภสัชกรรมไทยนั้นได้เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 ส่วนปริญญาโทการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิตและปริญญาเอกการแพทย์แผนไทยดุษฎีบัณฑิต ได้เริ่มเปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2548
ปัจจุบัน วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก ได้เปิดสอนและรับนักศึกษาใหม่ทุกปี ในหลักสูตรปริญญาตรีวิชาชีพการแพทย์แผนไทยบัณฑิต สาขาวิชาการแพทย์แผนไทย ซึ่งต้องเรียน 12 ภาคเรียนในระยะเวลา 4 ปี (เทียบเท่า 6 ปี) จบแล้วสามารถสอบขึ้นทะเบียนรับใบประกอบโรคศิลปะ 4 สาขา ได้แก่ เภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทย การนวดไทย และผดุงครรภ์ไทย โดยมีประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางให้เลือกเรียนต่อยอด (Top-up) ได้อีก 4 สาขา ได้แก่ (1) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางสาขาวิชาการดูแลรักษาผู้ป่วยใน (IPD) ซึ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการรักษาโรคและการดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย (2) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางสาขาวิชาการดูแลสุขภาพผู้สูงวัย (Geriatric Medicine) ซึ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพทางกายและสุขภาพจิตของผู้สูงวัย (3) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางสาขาวิชาการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก ซึ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาสุขภาพช่วงตั้งครรภ์ ช่วงคลอด หลังคลอด และเด็กทารก และ (4) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะทางสาขาวิชาการผลิตยาสมุนไพรเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการผลิตยาเชิงอุตสาหกรรม ตลอดจนการบริหารจัดการและการประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมยาไทย
ส่วนระดับปริญญาโทเปิดสอนปริญญาโทการแพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต (พท.ม.) ซึ่งมี 3 ประเภทคือ (1) เรียนแบบทำวิจัยอย่างเดียว (Research degree) ใช้เวลาเรียน 2 ปี (2) เรียนแบบมีรายวิชา (Coursework degree) ที่ทำวิทยานิพนธ์ ใช้เวลาเรียน 2 ปี และ (3) เรียนแบบมีรายวิชา (Coursework degree) ที่เป็นวิชาชีพและไม่ทำวิทยานิพนธ์ ใช้เวลาเรียน 2+1 ปี ซึ่งครอบคลุมวิชาชีพการแพทย์แผนไทย 3 สาขา คือเภสัชกรรมไทย เวชกรรมไทยและการนวดรักษาแผนไทย และมีสิทธิ์สอบโรคศิลปะแต่ละสาขาในประเภทมอบตัวเป็นศิษย์
ส่วนระดับปริญญาเอกเปิดสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยดุษฎีบัณฑิต (พท.ด.) ซึ่งมี 2 ประเภท คือเรียนแบบทำวิจัยอย่างเดียว (Research degree) ไม่มีรายวิชา ใช้เวลาทำดุษฎีนิพนธ์ (Dissertation) ประมาณ 3 ปี และเรียนแบบมีรายวิชา (Coursework degree) ที่มีรายวิชาและทำดุษฎีนิพนธ์ ในเวลาประมาณ 3 ปี
จะเห็นได้ว่า การฟื้นภูมิปัญญาหมอเมืองให้กลับมาอีกครั้ง ไม่เพียงนำ “คุณค่า” เดิมคืนมา หากแต่เป็นการฟื้นคืนมาของหลักประกันสุขภาพของคนล้านนากลับมาอีกครั้ง เครือข่ายหมอเมืองที่กลับมาเข้มแข็งขึ้น ความรู้หมอเมืองที่ถูกบันทึกสืบทอดอย่างเป็นระบบ
++++++++