งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นกับ “การปฎิรูปการศึกษา”
งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ชุดประเด็นการศึกษา ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาของ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เกิดข้อค้นพบหลายด้าน อาทิ เรื่องพัฒนาการของเด็ก การปรับรูปแบบการเรียนการสอนของครู หลักสูตรการเรียนการสอน ส่งผลให้เกิดทักษะในด้านการคิดวิเคราะห์ ที่เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติการจริง ทั้งตัวครูผู้สอนและเด็กผู้เรียนผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน นอกจากนี้ในกระบวนการของการวิจัยเองก็ทำให้ชุมชนได้ความรู้ใหม่ที่ได้จากระบบการปฏิบัติการวิจัยที่ดำเนินการกันเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วิถีเกษตรกรรมยั่งยืน ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญา และภูมิปัญญาประยุกต์ ความรู้ในการบริหารจัดการชุมชน ความรู้ในวิธีวิทยา และความรู้ในวิธีการแก้ปัญหาหรือการพัฒนา ที่มีคุณูปการต่อชุมชนท้องถิ่นโดยตรง ที่ถือเป็นกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่เกิดขึ้นจริงกับตัวผู้เกี่ยวข้องทุกระดับของชุมชนท้องถิ่นกระบวนการทำงานด้านการศึกษาทั้งหมดดังที่กล่าวมาแม้จะมีความต่างในบริบทระดับช่วงชั้นการเรียนการสอน ความต่างในบริบทของพื้นที่ ความต่างในบริบทของกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งในระบบและนอกระบบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้สร้างการเรียนรู้ให้กับกลุ่มผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นของการรับรู้(Reception) ขั้นของการทำความเข้าใจ(Comprehension) และสุดท้ายเกิดการปรับเปลี่ยน(Transformation) เกิดขึ้นได้จริงกับตัวคน
งานวิจัยการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้นการศึกษา ของ กลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ข้อมูลเบื้องต้นกลุ่มงานวิจัยชุดประเด็นการศึกษา ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ระดับชั้นเรียน | โครงการวิจัย |
ก่อนวัยเรียน | โครงการวิจัยด้านการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียนที่จังหวัดยโสธร ภายใต้โครงการวิจัย “ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง” โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากข้อมูลทางวิชาการที่ระบุว่า ช่วงวัยของเด็กก่อน 6 ขวบ มีพัฒนาการทางสมองที่ดี จัดเป็น “เวลาทอง” ของการพัฒนาการทางด้านสมอง , จากข้อมูลดังกล่าว นักวิจัยจึงพยายามใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมโดยชักชวนกลุ่มผู้ปกครอง โดยเริ่มตั้งแต่พ่อแม่ ปู ย่า ตา ยาย หรือ ใครก็ตามที่อ่านหนังสือออก มาเป็นผู้อ่านหนังสือให้เด็กฟัง , ผลจากการฟังทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการรับรู้ มีสมาธิในการฟัง และรักการอ่าน – ชุดโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอหางดง จ.เชียงใหม่ งานวิจัยได้ดึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน และชุมชนในเขตพื้นที่ ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เข้ามาร่วมพัฒนาเด็กนักเรียนในศูนย์เด็กเล็ก หรือเด็กก่อนวันเรียนเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเด็ก ๆ ก่อนเข้าสู่โรงเรียน ผลที่เกิดขึ้น พัฒนาการของเด็ก /ความร่วมมือจากชุมชนที่เป็นผู้ร่วมออกแบบการเรียนการสอน/ อบต.ในพื้นที่มีแผนส่งเสริมและสนับสนุนระบบการศึกษาปฐมวัยในพื้นที่อย่างถูกต้อง |
ประถม | ในระดับประถมศึกษา งานวิจัยที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นให้การสนับสนุนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 นั้นเริ่มต้นจากกระบวนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งจุดเริ่มต้นอยู่ที่ภาคเหนือ กระบวนการวิจัยทำให้เกิดข้อค้นพบ โดยเฉพาะรูปแบบการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้ง 3 ส่วน คือ เด็ก ชุมชน และ โรงเรียน ชุมชนกำหนดตัวหลักสูตร พร้อมกับเข้ามามีส่วนในการช่วยสอนในฐานะครูภูมิปัญญาโรงเรียนนำเอาหลักสูตรที่ได้ไปจัดทำเป็นแผนการเรียนการสอนเด็กในฐานะผู้เรียน สามารถเลือกเรียนหลักสูตรได้ตามที่ตัวเองชอบ ผลจากการดำเนินงาน รูปการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นซึ่งเป็นนโยบาย การปฎิรูปการศึกษารอบแรก ได้ขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั่วภาคเหนือ ครู ชุมชน และ เด็กสามารถเข้ามาร่วมกันวางหลักสูตรเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน พัฒนาการที่เกิดขึ้นนอกจากเด็กจะเข้ามาเรียนหลักสูตร ที่ตัวเองต้องการเรียนรู้ ขณะที่ผู้ใหญ่ พึงพอใจกับตัวหลักสูตรท้องถิ่นที่ร่วมคิด ร่วมวางแผน และทำให้เด็ก ๆ ไม่ลืมเรื่องราวของท้องถิ่น เป็นการเรียนรู้จากเรืองราวใกล้ตัวได้เป็นอย่างดี โรงเรียนตะโล๊ะใส ในพื้นที่จังหวัดสตูล ใช้ “กระบวนการวิจัย” ไปพัฒนาการเรียนการสอน สำหรับชั้นประถมต้น , กระบวนการดังกล่าวทำให้เด็กสามารถตั้งคำถามกับเรื่องราวใกล้ ๆ ตัวของเด็ก เช่น ที่มาของปลากัด , การทำงานของไซดักปลา ,ครีมทาหน้าขาว , เมื่อเด็กสงสัย เด็กก็ใช้ “กระบวนการวิจัย” เก็บข้อมูลในเรื่องราวที่เขาอยากเรียนรู้ อาทิ ครีมหน้าขาว คำถามจากเด็กคือ ทำไมทาครีมแล้วหน้าขาว กลุ่มเด็กที่ทำโครงการวิจัยชิ้นนี้ก็ไปเก็บข้อมูลจากเภสัชกรตำบล , ผู้ใช้ ตลอดจนข้อมูลด้านอนามัยและข้อดีของเสียของการใช้ครีมหน้าขาว ทั้งนี้งานวิจัยในชั้นเรียนของเด็กระดับประถมส่วนใหญ่ นอกจากจะทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องราวของชุมชนแล้วนั้น เด็กยังเรียนรู้เรื่องของการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์แหล่งข้อมูล และรู้ว่าจะไปเก็บข้อมูลได้จากแหล่งใด โรงเรียนบ้านคูเมือง จ.อุบลราชธานี , งานวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลด้านการเรียนของเด็ก ๆ ในโรงเรียนคูเมืองและพบว่า เด็กแต่ละคนมีระดับการรับรู้ที่แตกต่างกัน จึงได้ทำการแยกเด็กออกเป็น 3 กลุ่มและจัดทำหลักสูตรใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการรับรู้ หรือ ความต้องการของนักเรียน อาทิ เด็กเก่ง สมองดี อาจจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากเด็กที่ชอบเรียนวิชาอื่นที่ไม่เน้นหนักไปในเชิงสาระการเรียนรู้ เช่น เด็กไม่เก่ง อาจสนับสนุนให้เรียนวิชาเกษตร พละศึกษา หรือ วิชาศิลปะ เป็นต้น |
มัธยม | โครงการ : การจัดทำสาระการเรียนรู้ท้องถิ่นโดยครูและชุมชน : กรณีโรงเรียนบ้านเม็กดำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคามในช่วงของการปฏิรูปการศึกษารอบแรก หลาย ๆ โรงเรียนทั่วประเทศ ต่างพยายามหาแนวทางเพื่อสร้าง “หลักสูตรท้องถิ่น” ของตนเอง ซึ่งในกระบวนการสร้าง นอกจากได้รูปแบบจากส่วนกลางคือ หลักสูตรต้องมาจากท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่มีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด และสอน โรงเรียนเม็กดำ ถือเป็น โรงเรียนแรก ๆ ในภาคอีสานที่ใช้กระบวนการวิจัยในการค้นหาหลักสูตร เพราะคำว่า “การมีส่วนรวม” เป็นคำกว้าง ๆ ความยากอยู่ตรงที่ “ทำอย่างไร” จะทำให้ ชุมชน โรงเรียน และเด็ก เข้ามาคิดและช่วยกันวางหลักสูตรร่วมกัน หลังงานวิจัยสิ้นสุดลง – นอกจากจะได้หลักสูตร ที่กำหนดให้มีครูภูมิปัญญามาเป็นแนครูช่วยสอนแล้วนั้น ในด้านการขยายผล จาก 1 โครงการที่ รร.เม็กดำ ก็ได้พัฒนาต่อไปยัง รร.อื่น ๆ ในภาคอีสานได้นำเอารูปแบบการเรียนการสอนในลักษณะของการร่วมกันจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นระหว่าง รร.- ชุมชน และเด็ก รูปแบบการเรียนการสอนเกี่ยวกับ เรื่อง “ภายใน” หรือ การเรียนรู้เรื่องราวที่ลงลึกไปในเรื่องของระดับจิตวิญญาณ ซึ่งที่โรงเรียนยโสธรพิทยาคม ซึ่งประสบปัญหาเด็กหนีเรียน มาสาย ทะเลาะวิวาท และพบว่าวิชาศีลธรรม จริยธรรมที่เปิดสอนกันในโรงเรียน หรือการจัดกิจกรรมเอาเด็กไปเข้าวัดฟังเทศน์อาจไม่เพียงพอที่จะสร้างสำนึกให้เด็ก ๆ และค้นพบจากงานวิจัยพบว่า ต้องเติมกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กสามารถเรียนรู้แบบลงลึกเข้าไปในระดับจิตวิญญาณ หรือปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้ชีวิตอย่างถูกต้องและทันสมัยตามแนวทางของพระพุทธศาสนาด้วยการฝึกให้เด็ก ๆ ได้นั่งวิปัสสนาตามแนวสติปัฐฐานสี่ ซึ่งผลที่เกิดจากการไปอบรมอย่างต่อเนื่องนั้น เด็กหลายคนเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินชีวิต ตั้งใจเรียน รักพ่อแม่ และใส่ใจเรื่องราวรอบตัวมากกว่าการเที่ยวเล่นไปวัน ๆ |
อาชีวศึกษา | แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมเกษตรกรรม แต่ข้อมูลที่น่าตกใจคือ ตลอดช่วง 14-15 ปีที่ผ่านมาผู้สนใจเรียนในวิทยาลัยการเกษตรลงลง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่จบการเกษตร มักไม่ค่อยทำการเกษตรตรงกับสาขาที่จบมา ส่วนมากทำงานบริษัท โรงงานอุตสาหกรรม ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้โดยการทดลองทำจริง โดยครูให้การสนับสนุนและให้คำปรึกษา บูรณาการวิชาเรียนตามวงจรการผลิต เน้นย้ำให้เด็กนักเรียนแสวงหาความรู้เพื่อใช้ประกอบอาชีพตนเอง ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ทำงานกับชุมชนเพื่อให้นักเรียนสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการเรียนการสอน ที่อาศัยกระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือทำให้นักวิจัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอาชีวะสามารถค้นหาความชัดเจนอันเป็นเป้าหมายของชีวิต เห็นคุณค่าและความสำคัญของวิชาเกษตรกรรม และส่วนใหญ่วางเป้าหมายว่าจะกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรเมื่อจบการศึกษาออกไป |
ปริญญาตรี – โท | ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้เริ่มลงมือสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยแก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโทราวปี 2548 ทั้งนี้เนื่องจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นคือ นศ.ทิ้งถิ่นหลังจบการศึกษา หรือเมื่อจบการศึกษาก็ไม่สามารถกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้ จึงสนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มนักศึกษาได้ใช้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ ซึ่งเงื่อนไขที่ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้กำหนดไว้คือ โจทย์ต้องมาจากชุมชน ชุมชนต้องมีส่วนร่วม และต้องมีการปฏิบัติการ ซึ่งกระบวนการ ก็คือ นักศึกษาต้องหาพื้นที่ เพื่อดำเนินการวิจัย ร่วมกับชาวบ้าน หรือ ชุมชนค้นหาปัญหาและพัฒนาเป็นโครงการวิจัย และดำเนินการวิจัยตามแนวทาง หรือกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ทั้งนี้ต้องทำร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา ผลที่เกิดขึ้น นักศึกษาสามารถวิเคราะห์ปัญหา หาแนวทางการแก้ไขปัญหา เกิดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย ขณะที่บางโครงการ นักศึกษาสามารถนำเอาความรู้ความสามารถจากจากรั่วมหาวิทยาลัยไปช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน |
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ | ในพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะเกิดสถานการณ์ปัญหาความไม่สงบอย่างต่อเนื่องแต่ก็ไม่ทำให้การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนต้องหยุดชะงักลงไป ทั้งนี้ผลจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ทำให้ชั่วโมงเรียนของเด็ก ๆ ต้องลดลง เพราะมีการปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัย ทีมวิจัยซึ่งเป็นนักจัดการศึกษามองว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ Home school น่าจะเป็นทางออกทีดีอีกทางหนึ่งคือ เอาเด็กมาเรียนที่บ้าน ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นหรือในกรณีที่มีการปิดโรงเรียนชั่วคราว ขณะเดียวกันในระบบการเรียนการสอนปกติ โรงงเรียนเทศบาล /การศึกษาทางศาสนา ตาดีกา/การสอนการอ่านอัลกุรอานแบบกีรออาตี ใช้กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าไปช่วยจัดกระบวนการเรียนการสอนให้มีสิทธิภาพ ตอบสนองตามความต้องการของชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ |
ทวิภาษา | โครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอน โดยใช้ภาษาท้องถิ่น และภาษาไทยเป็นสื่อ กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ปัญหาการอ่าน (ภาษาไทย) ไม่ออก เขียน (ภาษาไทย) ไม่ได้ของเด็ก ๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ผลการศึกษาต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีสาเหตุจากความ แตกต่างของระบบการเรียนการสอนในโรงเรียนที่มีข้อกำหนดโดยส่วนกลางให้จัดการศึกษาภาคบังคับเป็นภาษาไทยเพียงภาษาเดียวนั้น ถูกคลี่คลายด้วยงานวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาท้องถิ่นและภาษาไทยเป็นสื่อ : กรณีการจัดการศึกษาแบบทวิภาษา เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่(ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ในโรงเรียนเขตพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้” การเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) เต็มรูปแบบที่ใช้ในโครงการนี้ เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้และการพัฒนาสมองเด็กโดยใช้ภาษามลายูถิ่น (ภาษาแม่) ควบคู่ไปกับภาษาไทยในช่วงแรกของการเริ่มเรียน โดยพัฒนาทักษะทั้ง 4 ด้าน ฟัง พูด อ่าน และเขียน เพื่อสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ (อ่านออกเขียนได้) ในภาษาท้องถิ่นก่อน แล้วเชื่อมโยงไปสู่ภาษาไทยอย่างเป็นลำดับคล้ายขั้นบันได ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากใช้อักษรไทยเป็นสื่อในการเขียนภาษามลายูถิ่น เช่น คำว่า “วิทยุ” ในภาษามลายูถิ่น เขียนด้วยอักษรไทยที่ถูกออกแบบให้พ้องเสียงในภาษามลายู ได้เป็นคำว่า “รอดียู” กล่าวคือ ในกระบวนการในการเรียนการสอนระบบนี้ คือในอนุบาล 1 เด็ก ๆ จะฟังและพูดด้วยภาษามลายูถิ่นในชั้นเรียน และภาษาไทยจะเข้ามาในอนุบาล 1 ภาคเรียนที่ 2 วันละ 6 คำ ด้วยกลวิธีการสอนภาษาที่ 2 (นอกจากภาษาแม่) ที่เรียกว่า TPR (Total Physical Response) หรือการใช้การตอบสนองคำสั่งด้วยการปฏิบัติ เด็กจึงได้เรียนรู้อย่างเข้าใจและพร้อมจะพูดภาษาไทย พอเข้าอนุบาล 2 เด็กจะเข้าใจคำภาษาไทยและเริ่มพูดตั้งคำถามเป็นภาษาไทยเองได้ ในวิชาภาษาไทย แต่วิชาอื่น ๆ ยังเป็นภาษามลายูอยู่ กระทั่ง ป.1 จะมีขั้นตอนการเรียนการสอนภาษาไทยควบคู่ภาษามลายูถิ่นในทุกสาระวิชา |
บทเรียนสำคัญที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การใช้เครื่องมือ”งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ได้เกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงในแวดวงการศึกษาในทุกๆระดับ ผ่านกลไกชุมชนท้องถิ่น สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้สะท้อนให้เห็นว่าสามารถจัดการศึกษาที่ตอบสนองการพัฒนาผู้เรียนให้คิดเป็น แก้ปัญหาได้ และเป็นแบบอย่างสู่การขยายผลในการยกระดับการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วนของสังคม ดังตัวอย่างรูปธรรมที่เกิดขึ้น ถือเป็นรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงในทุกภูมิภาคของประเทศ อันจะเป็นฐานความรู้สำคัญที่สามารถใช้เป็นกลไกการปฏิรูปการศึกษาและการปฏิรูปประเทศไทยต่อไป
กรณีตัวอย่าง
การบริหารสถานศึกษา
- โครงสร้างเวลาเรียน โครงสร้างเวลาเรียนเดิมจัดตารางการเรียนรู้กลุ่มสาระ 8 กลุ่ม เป็นรายชั่วโมง ปรับเปลี่ยนเป็นจัดการเรียนรู้บูรณาการโดยใช้กระบวนการวิจัย แต่ละครั้ง 2-3 ชั่วโมง จากที่เคยเรียนกระบวนการวิจัยในช่วงบ่ายวันจันทร์และ วันอังคารใช้เวลาทั้งหมด 5 ชั่วโมง ในหนึ่งสัปดาห์ ก็มาเพิ่มเวลาเรียนตั้งแต่วันจันทร์-วันพฤหัสบดี เป็นช่วงกระบวนวิจัย และวันศุกร์ก็เป็นการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ การอ่าน
2. กระบวนการเรียนรู้ควบคู่สาระ หลังจากงานวิจัยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเน้นกระบวนการเรียนรู้ 10 กระบวนการเป็นฐานแล้วเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกระบวนการและมาตรฐานการเรียนรู้เริ่มต้นจากผู้เรียนเลือกเรื่องราวที่สนใจ เกี่ยวข้องกับชุมชน ท้องถิ่น เชื่อมโยงกับกระบวนการวิจัย 10 ขั้นตอน รวมทั้งสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระต่างๆตามหลักสูตรสำหรับสาระที่ไม่สามารถบูรณาการได้ก็จะมาสอนเพิ่มเติม
3. บทบาททีมครู ซึ่งเห็นว่าการจัดกระบวนการวิจัยเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเป็นทั้งวิทยากรกระบวนการ เป็นคนบันทึก ในเวลาเดียวกัน ฉะนั้นในการปรับเปลี่ยนก็เปลี่ยนให้สอนเป็นทีม ที่มาช่วยกันดู ช่วยกันเติมเต็ม สุมหัวกันมากขึ้นแบบที่ว่าสรุปกันวันต่อวัน เน้นการทำงานเป็นทีม ประกอบด้วย ทีมชั้น 3-5 คน โดยแบ่งเป็นทีมช่วงชั้น 1 และ 2 ต้องมีการวางแผนการ การจัดการเรียนรู้ร่วมกัน มีการประชุมครูเพื่อวางแผนการจัดการเรียนรู้และสรุปผลการดำเนินงาน ทีมช่วงชั้นที่ 2 2 ครั้ง/สัปดาห์ ทีมช่วงชั้นที่ 1 1 ครั้ง/สัปดาห์ ประชุมครูทุกคน 1 ครั้ง/สัปดาห์
เกี่ยวกับครู
- ด้านวิธีคิด จากที่ไม่เห็นด้วยในตอนเริ่มต้นกลับมาเป็นผู้สนับสนุน และอยากจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัยแก่ผู้เรียนทำให้ครูเปลี่ยนบทบาทจากผู้ให้ความรู้หรือผู้สอนเป็นผู้จัดการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเรียนรู้ตามความต้องการและตามสนใจของผู้เรียนมากขึ้น
- รู้จักการวางแผนการจัดการเรียนรู้อย่างประณีตและมีความรอบคอบมากขึ้น หลายคนเคยมีความคิดที่คับแคบก่อนมีงานวิจัย ไม่อาจยอมรับข้อเสนอแนะหรือวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นได้ แต่เมื่อผ่านงานวิจัยทำให้คิดอย่างมีเหตุมีผล และยอมรับข้อชี้แนะของผู้อื่นได้
- ฝึกตนเอง เกี่ยวกับวิธีการพูด สนทนา พูดจูงใจ พูดกระตุ้น พูดให้ข้อคิด แนวคิด ครูต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องเป็นนักวางแผนที่ดี ต้องศึกษาค้นคว้าอยู่เสมอ ต้องเป็นผู้ประสานงานที่ดี ต้องมีความ อดทน ต้องแบกรับภาระงานที่มากขึ้น แต่มีความสุขที่ได้เห็นการ เปลี่ยนแปลงของนักเรียน
- รู้จักนักเรียนมากขึ้น รู้ว่า.เด็กชายอิริฟาน พูดเก่ง นำเสนอเก่ง และวาดรูปเก่งอีกด้วย รู้ว่าเด็กชายนัสรอน พูดคุยด้วยความสุขุมรอบคอบ ใจเย็น รู้ว่า.เด็กชายชยุตย์ ไม่ชอบเรียนในห้อง ถ้าออกไปข้างนอกจะมีความสุขมากร้องเพลงด้วยความเบิกบานใจ บางคนเขียนเก่งเรียนดีแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้านำเสนอ เช่น ด.ช.ฟาริส ด.ญ.ทิตสยา ด.ญ.วิลาสินี ด.ญ.กนกนิภา ชอบขาดเรียน แต่ถ้าครูบอกว่าจะไปศึกษานอกสถานที่จะมาทันที และมีความสุขกับการได้พูดคุยซักถามตลอด
- จากที่เคยเห็นเด็กเพียงด้านเดียวแต่เมื่อมาร่วมกิจกรรมการเรียนรู้แบบใหม่ได้เห็นอีกด้านของเด็กที่ไม่รู้ ไม่คิดว่าจะมี อย่างเช่นกิจกรรมไปเก็บข้อมูลในชุมชนเกิด เหตุการณ์คุณครูตติยา ชอสกุล เป็นลมตอนขากลับ เด็กที่มาช่วยพากลับโรงเรียน คอยถามไถ่ คือเด็กที่ครูคนนี้เห็นว่าในห้องเรียนเป็นเด็กที่ไม่มีความรับผิดชอบ เกเร
- ได้รู้จักอุปนิสัย ความตั้งใจ และความสามารถที่หลากหลายของนักเรียนในเชิงลึก ซึ่งจะไม่รู้จักนักเรียนในเวลาเรียนปกติ เช่น เด็กหญิงรุวัยดา อาหมัน เวลาเรียนปกติเรียนไม่เก่ง และเรียนเรื่อยๆ แต่เมื่อผ่านงานวิจัยทำให้ครูเห็นความสามารถของเด็กหญิงรุวัยดา อาหมัน ชัดเจนในด้านความรับผิดชอบ ความสนใจและความสามารถด้านศิลปะ เป็นต้น
- ความอดทน ครูมีความอดทนในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้อื่น รวมทั้งรับฟังความต้องการของนักเรียนมากขึ้นในการทำงานแต่ละขั้นตอนของงานวิจัย ก่อนทำงานวิจัยครูส่วนใหญ่มักเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง กรอบความคิดแคบ ไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับฟังความคิดของอื่นหรือรับฟังความต้องการของนักเรียน
- เมื่อก่อนครู-นักเรียนมีความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงสั่งการจากครูสู่นักเรียน นักเรียนไม่กล้าพูด คุยกับครู แต่เมื่อทำงานวิจัยบทบาทของครูไม่เพียงแต่สอน แต่เป็นผู้คอยชี้แนะ ให้คำปรึกษาและเป็นเพื่อน ความสัมพันธ์อยู่ในลักษณะแนวราบทำให้ครูและนักเรียนมีความสัมพันธ์ที่ยืดหยุ่นมากขึ้น
- ก่อนทำงานวิจัยครูไม่ค่อยมีโอกาสเยี่ยมเยียน หรือพูดคุยกับ ผู้ปกครองมากนัก เมื่อทำงานวิจัยได้มีโอกาสประชุม เยี่ยมเยียน เก็บข้อมูลพร้อมกับนักเรียน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีมากกว่าเดิม
- จากที่เคยคิดและทำงานคนเดียวตลอด ไม่ว่าด้านการสอนหรืองานอื่น และไม่มั่นใจในทีม เพราะความคิดเห็นต่างๆไม่ลงรอยกัน แต่เมื่อมาทำงานวิจัย การทำงานต้องช่วยกันทำตลอด ทำคนเดียวทำไม่ได้ คิดไม่ออก ต้องนั่งสุมหัว จึงเกิดการปรึกษาหารือและ ประชุมบ่อยมากทั้งเป็นทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้เปลี่ยนวิธีการคิดว่า การทำงานวิจัยหรืองานที่ละเอียดต้องทำเป็นทีม มีสมาชิกในทีมช่วยทำให้งานที่ยาก ง่ายขึ้น
- การใช้สื่อและแหล่งเรียนรู้ ครูให้ความสำคัญกับหนังสือเรียน หนังสือในห้องสมุด ห้องปฏิบัติการที่มีอยู่โรงเรียนและการค้นหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งนานๆ ครูเองทำได้สักครั้งหนึ่ง หากจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็แสดงว่าต้องเป็นเรื่องหรือเนื้อหาเก่าๆ หลังจากผ่านงานวิจัย ทำให้ครูมองสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่กว้างและทำได้ไม่ยาก นั่นคือการใช้สื่อหรือแหล่งเรียนรู้ที่รอบตัวนักเรียน ที่มีอยู่ในชุมชน ซึ่งมีคุณค่ามากมายและราคาไม่แพงหาได้ง่าย พร้อมกับสามารถใช้จัดการเรียนการสอนในชีวิตจริงของนักเรียนได้อย่างดี
- เดิมครูมีความเป็นตัวตนสูงมามีกรอบความคิดที่แคบ ไม่ค่อยเปิดรับความคิดของคนอื่น แต่หลังจัดการเรียนการโดยใช้กระบวนการวิจัย ทำให้เรียนรู้อะไรมากมายจากรุ่นน้อง รุ่นพี่ และนักวิจัย พบว่า ตัวเองมีจุดอ่อนในวิธีคิดมาก และเปิดใจกว้างยอมรับในวิธีการ แนวคิดที่นำเสนอจากเวทีต่างๆ และเรียนรู้ในงานวิจัยที่ทำไปพร้อมกัน
ในอีกมุมหนึ่งของเด็กซึ่งถ้าหากไม่มีกระบวนการที่สร้างสรรค์แบบนี้คงไม่มีโอกาสรู้เลยเพราะการจัดการเรียนการสอนแต่เดิมมักจะจัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆสถานการณ์การเรียนรู้ไม่หลากหลาย
เด็กจะรู้จักชุมชนมากขึ้น ครูรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในชุมชนเด็กน่าจะรู้จัก แต่จริงๆแล้วเด็กไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นมาก่อนก็ได้ เพราะฉะนั้นการให้ประสบการณ์ตรงกับนักเรียนเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาป่าชายเลน และสัมภาษณ์สอบถามภูมิปัญญา ทำให้นักเรียนค้นพบความรู้ใหม่ จากสิ่งที่ไม่เคยรู้ เช่น พื้นที่ป่าชายเลน ชนิดของต้นไม้ ชนิดของสัตว์บก สัตว์น้ำที่มีในป่าชายเลน สาเหตุที่ทำให้ป่าชายเลนลดน้อยลง รู้วิธีการคำนวณจำนวนต้นไม้ ทำให้รู้จักประโยชน์ของต้นจากการนำส่วนต่าง ๆ ของจากมาใช้ประโยชน์ หรือวิถีชีวิตของคนในสมัยก่อนที่เกี่ยวข้องกับต้นจาก
เกิดวิธีคิดใหม่ ๆขึ้น จากเมื่อก่อนเด็กคอยแต่จะฟังคำสั่งครู ว่าครูสั่งให้ทำอะไร ก็ทำแบบนั้น แต่เมื่อเด็กกลับมาจากสำรวจป่าวันแรกกลับมาถึงโรงเรียนและได้เวลากลับบ้าน ได้พูดกับครูว่า “คุณครูขาวันนี้พวกหนูจะไปรวมกันที่บ้านจริยา เพื่อสรุปประเด็นที่ได้จากการสำรวจวันนี้ แล้วพรุ่งนี้หนูจะเอามาส่งนะคะ” ซึ่งจริง ๆแล้วความคิดของครูคิดว่าจะให้เด็กกลับมาสรุปกันในวันรุ่งขึ้น เมื่อได้ฟังครูรู้สึกดีใจมาก และคิดว่านี่เป็นผลพวงจากการที่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่อยากเรียน และสิ่งที่เลือกเอง ไม่ใช่สิ่งที่ครูยัดเยียดให้อย่างที่แล้วมา เด็กกล้าที่จะซักถาม พูดคุยกับครูมากขึ้น จากเมื่อก่อน บรรยากาศในห้องเรียนจะรู้สึกว่ามีความตึงเครียด เด็กไม่ค่อยกล้าซักถาม ไม่ค่อยกล้าโต้แย้ง แต่เมื่อได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการวิจัย เด็กมีความกล้าที่จะคุยกับครูมากขึ้น บรรยากาศในขั้นเรียนผ่อนคลายลง ช่องว่างระหว่างครูและเด็กลดน้อยลงเมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทำให้เด็กกล้าที่จะเสนอความคิดเห็น
เดิมเด็กจะทำอะไร จะทำเป็นรายบุคคล ทำอะไรเสร็จแล้วไม่ต้องให้เพื่อนดู หลังจากเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย นักเรียนต้องทำเป็นกลุ่ม/ทีมตลอด ถ้าทำคนเดียว ทำงานให้เสร็จยาก เช่น การเก็บข้อมูล ต้องใช้เวลา ต้องรู้จักบ้านของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน และต้องใช้กลุ่มช่วยให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์และครบถ้วน รวดเร็ว จึงต้องอาศัยเพื่อนในกลุ่มช่วย จากกระบวนการวิจัย ทำให้นักเรียนเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมมากขึ้น
ความเอื้อเฟื้อกันและกัน นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เช่นการค้นข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต นักเรียนที่มีความรู้ด้านอินเตอร์เน็ต ด.ช.ริฟฮาน สอแอหลี สามารถสอน ด.ช. นุตดี ยาหมาย ให้เปิดอินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลได้รู้จักการตั้งคำถาม การเรียนรู้ค้นหาข้อมูลด้วยตนเอง
กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ นักเรียนบางคนพยายามเขียนเพื่อบันทึกเรื่องราว คำบอกเล่าจากภูมิปัญญา ถ้าเขียนไม่ถูกก็จะถามเพื่อน ถามครู แล้วพยายามฝึกสะกดคำแล้วนำไปเขียน หรือบางคนเขียนไม่เก่งแต่เมื่อเพื่อนมอบหมายให้ก็พยายามเขียนโดยให้เพื่อนช่วยบอกและสะกดให้ฟัง จนเขียนได้เก่งขึ้น เขียนคำได้หลากหลาย เขียนเรื่องราว เพื่อสื่อความได้ กรณีเด็กหญิงฟิรดาว เป็นเด็กพิเศษที่อ่านหนังสือไม่คล่อง แต่สามารถเขียนได้ โดยการที่นำข้อมูลมาจากอินเตอร์เน็ตมาลอกลงสมุดแต่ละคำจนเป็นข้อความมาส่งให้เพื่อน เพื่อให้งานมีเหมือนกับเพื่อนคนอื่นๆ
กับชุมชน
เดิมทีชุมชนเข้าใจว่า การจัดการเรียนรู้เป็นเรื่องของครูหรือโรงเรียน ชุมชนไม่มีความรู้อะไรที่สามารถจะถ่ายทอดหรือสอนแก่นักเรียนได้ นอกจากเรื่องเก่าๆ โบราณ แต่จากผ่านกระบวนการวิจัย พบว่ามีความรู้มากมายที่อยู่ในชุมชน เช่น สมาชิกกองทุนหมู่บ้านย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกองทุนหรือปัญหาของกองทุนดีกว่าคนอื่น มีอาชีพประมงก็ต้องรู้เรื่องของทะเลมากกว่าคนขายของ และสามารถบอกเล่าข้อมูลเรื่องนี้ให้แก่คนอื่นๆได้ดี คนที่อยู่ใกล้ป่าชายเลนก็ต้องรู้ว่ามีทรัพยากรอะไรบ้างในป่าชายเลน
การลงศึกษาข้อมูล ในช่วงแรกชุมชนให้ความสำคัญกับครู แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกับนักเรียน เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก แต่เมื่อนักเรียนได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษา เช่น ปัญหาการไม่คืนเงินกองทุนหมู่บ้าน พร้อมนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญ และความตั้งใจของนักเรียนที่จะช่วยแก้ปัญหากองทุนหมู่บ้านซึ่งเป็นเรื่องของผู้ใหญ่
สมาชิกมีความกังวลว่า เมื่อนักเรียนศึกษา เก็บข้อมูลในเรื่องปัญหาของกองทุน แล้วจะนำข้อมูลไปแฉแก่คนอื่น ซึ่งต้องทำให้ต้องอับอายและเสียชื่อเสียง แต่หลังจากที่นักเรียนได้สรุปข้อมูลเสร็จแล้ว จัดประชุมเพื่อตรวจสอบข้อมูลและจัดทำแผนแก้ปัญหากองทุนหมู่หมู่บ้าน เมื่อได้รับทราบข้อมูลและเข้าใจสิ่งที่นักเรียนทำ ทำให้เปลี่ยนความคิดและให้ความร่วมมือ พร้อมกับแสดงความชื่นชมต่อสิ่งที่นักเรียนได้ทำ และให้ความร่วมมือมากขึ้น
ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจ ที่ชุมชนหยิบยื่นให้คงบรรยายไม่หมด จากการที่ลงสืบค้น ศึกษาข้อมูล เห็นเลยว่าบรรยากาศในการต้อนรับเป็นกันเองมากและบ่งบอกถึงความเมตตาที่มีต่อผู้มาเยือน เจ้าของบ้านต้อนรับเต็มที่โดยการจัดหาน้ำ ขนมหวาน มาให้เด็กๆ ทุกครัวเรือนจะเป็นแบบนี้หมด หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานจะพารถมารับ-ส่ง เด็กนักเรียน เพื่อไปสอบถามข้อมูลจากหน่วยงานของตน ภาพนี้คงจะหาดูได้ยากหากไม่ได้ทำกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ ความประทับใจแบบนี้จะติดตราทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์อย่างไม่มีวันเลือน
ภูมิปัญญา ความรู้ที่มีอยู่ชุมชนเป็นสิ่งใกล้ตัวนักเรียน เป็นคลังแห่งความรู้ที่มีคุณค่า จำเป็นต้องฟื้นฟูและสืบสานแก่ลูกหลาน โดยผ่านกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม และควรอนุรักษ์ไว้ให้ประโยชน์อย่างยั่งยืนนอกจากนั้น บทเรียนที่เกิดจากงานวิจัยที่ผ่านนักเรียน เป็นพลังสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหา พัฒนาชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และผลจากการเรียนรู้ของผู้เรียนส่งผลต่อความรู้สึกที่ดีของชุมชนที่เด็กเป็นพลังของชุมชนช่วยเกื้อหนุนชุมชนในเชิงสร้างสรรค์และพัฒนา
ผลที่เกิดขึ้นชุมชนมีความใกล้ชิดและมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษากับโรงเรียนมากขึ้น ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีในชุมชนได้รับการฟื้นฟูและได้ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานในชุมชน ส่งผลให้หลายเรื่องราวจากการค้นพบของนักเรียนมีส่วนในการสะท้อน ปลุกจิตสำนึก ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน เรื่องราวที่ศึกษาของผู้เรียนสร้างความภาคภูมิใจร่วมกันแก่ลูกหลานและคนในชุมชนก่อเกิดความมี “กัลยาณมิตร” บนเส้นทางของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม อันนำไปสู่การเริ่มสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ในอนาคต
การขยายผลต่อส่วนรวม
เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับโรงเรียนและหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาเรียนรู้กระบวนการการจัดการเรียนการสอนที่เป็นทางเลือกใหม่ เพราะมีบทพิสูจน์หนึ่งที่ว่ากระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนสนุก ไม่เบื่อ ลืมเวลา และไม่เครียด สุดท้ายอยากเรียน และหนังสือใช่จะเป็นแหล่งข้อมูลในการจัดการเรียนรู้แต่เพียงอย่างเดียวอย่างที่เข้าใจผิดมาตลอด สรรพสิ่งรอบๆตัวก็เป็นแหล่งเรียนรู้ได้เช่นกันเพียงแต่ว่าจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ ให้ถูกจังหวะ ถูกที่ ถูกทางได้อย่างไร
****************************