คืนโรงเรียนให้ชุมชน
ปลายปี 2543 สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ทำการศึกษาข้อมูลท้องถิ่นของแต่ละชุมชนในอำเภอเชียงดาว และอำเภอใกล้เคียง นำมาศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางในการจัดการ “การศึกษา” ของแต่ละโรงเรียนในพื้นที่รับผิดชอบ
และประเด็นที่ทำการศึกษา ได้ถูกแยกย่อยออกมาเป็นประเด็นหลัก ๆ คือ โรงเรียนที่เป็นของรัฐ นักเรียนซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียน ครูกับการมองทิศทางการพัฒนา
สิ่งที่พบก็คือ คณะครูที่บริหารจัดการในโรงเรียนเป็นข้าราชการที่ยังมีแนาวคิดแยกโรงเรียนออกจากชุมชน ขณะที่นักเรียนซึ่งเป็นผลผลิตของโรงเรียนก็มีความรู้สึกแปลกแยกจากชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่ ห่างเหินจากชุมชน เครือญาติ ธรรมชาติที่แวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงขาดการสานต่อองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชุมชนอ่อนแอ
สำหรับครูผู้สอน ซึ่งคุ้นเคยกับรูปแบบการศึกษาแบบเก่า พยายามทำให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของทุกอย่างในพื้นที่ ตอกย้ำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการศึกษาเพียงอย่างเดียว ขาดการเชื่อมโยงปัญหาทั้งหลายในชุมชนซึ่งเป็นวิถีชีวิตเข้าสู่ระบบการเรียนการสอน
จากปัญหาข้างต้นจึงนำมาสู่แนวคิดที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะคืนโรงเรียนให้ชุมชน”
แนวคิดดังกล่าวถูกร่างขึ้นเมื่อปี 2544 พร้อมทั้งจัดทำเป็นโครงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ทุกโรงเรียนจัดการเรียนการสอนเรื่องราวเกี่ยวกับท้องถิ่นที่ตัวเองอาศัยอยู่ตั้งแต่ชั้นป.3 – ป.6 หรือ ชั้น ม.3 สัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างน้อย
โดยมีหลักการอยู่ที่ให้โรงเรียน ชุมชน กำหนดเนื้อหาสาระ ตลอดจนกิจกรรมและวิธีการต่าง ๆ ร่วมกัน สำหรับสถานที่เรียนคือทุกพื้นที่ในอำเภอเชียงดาวซึ่งจะต้องสอดคล้องกับเรื่องราวที่จะเรียนรู้ร่วมกัน และเรื่องที่จะเรียนรู้นั่น ต้องเป็นไปตามความสนใจของนักเรียนและชุมชนสามารถตอบสนองได้
หลักสูตรท้องถิ่น เพื่อความยั่งยืนของท้องถิ่น
แต่ละประเด็นปัญหา ที่นำมากำหนดเป็นหลักสูตรการศึกษา ส่วนมากได้จากการประชุมปรึกษาหารือกับคณะกรรมการโรงเรียน ผู้ปกครอง องค์กรชาวบ้าน และสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษา ซึ่งก่อนหน้านั้นได้เผยแพร่แนวคิด “การศึกษากับการพัฒนาท้องถิ่น : บทบาทของโรงเรียนประถมศึกษา ให้กับคนในชุมชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยแสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อการพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการใช้กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนร่วมกับครู และนักเรียน
และประเด็นหลักของการทำหลักสูตรท้องถิ่นก็คือ ไม่ใช่การหาครูใหม่มาสอน แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่สร้างและปรับบทบาทของครูในพื้นที พัฒนาจากรูปแบบการเรียนการสอนแบบเก่าไปใช้ในลักษณะกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน เพราะเรื่องราวท้องถิ่น ปัญหาท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาสาขาต่าง ๆ ในชุมชน ครูชาวบ้าน ทุกอย่างต่อเรียนรู้ร่วมกัน ความรู้บางอย่างต้องต่อยอด บางอย่างต้องแก้ไข ลักษณะเช่นนี้จึงจะเป็นการให้ยาที่ตรงกับการเจ็บป่วยของคนไข้ สร้างคนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมชุมชน
ภายใต้กรอบหลักการข้างต้น ทำให้เกิดโครงการ “การพัฒนาหลักสูตรเพื่อท้องถิ่นระดับโรงเรียน” ซึ่งมีนายไพรัช ใหม่ชมภู หัวหน้าสำนักงานการประถมศึกษา (ขณะนั้น) อำเภอเชียงดาวเป็นหัวหน้าทีมวิจัย โดยกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ที่ เน้นสร้างกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อท้องถิ่นของโรงเรียนในชุมชนขาวเขา และโรงเรียนในชุมชนเมือง โดยการหารูปแบบ เงื่อนไข และปัจจัยที่จะทำให้โรงเรียนและชุมชนร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่การสร้างความเข็มแข็งให้โรงเรียนและชุมชนในการบริหารจัดการร่วมกัน กิจกรรมต่าง ๆ จึงกำหนดออกมาในรูปแบบของการเปิดเวทีระดมความคิด ระดมปัญหา พร้อมทั้งสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงาน
“ผลที่ได้จากการจัดเวทีซึ่งก็คือปัญหาที่จะต้องแก้ไข บางอย่างอาจนำมากำหนดลงในหลักสูตร จัดเป็นสาระวิชาที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ ซึ่งต่อไปก็จะเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียนนั้น ๆ ต่อไป” นักวิจัยอธิบายก่อนเล่าต่อว่า
“เมื่อได้เนื้อหาการเรียนรู้จากการเปิดเวที ก็จะจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะสอน จากนั้นก็ให้ชาวบ้านร่วมกันคิด พร้อมทั้งสรรหาบุคคลที่เห็นว่าเหมาะสม เชี่ยวชาญ และมีความรู้ในแต่ละเรื่อง ซึ่งต่อไปจะถูกเรียกว่า “ครูชาวบ้าน” ให้เข้ามาถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นให้กับนักเรียน โดยเราจะเข้าไปช่วยในเรื่องของขั้นตอนการแบ่งเนื้อหา วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ รวมถึงสถานที่เรียน”
ส่วนวิธีการสอน นักวิจัยเล่าว่า ครูชาวบ้านจะถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ ให้กับนักเรียน โดยเน้นการปฏิบัติจริง และใช้สถานที่จริงซึ่งแต่ละสถานที่ต่างก็มีความพร้อมสำหรับใช้เป็นสื่อการสอนซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาสาระของวิชาที่จะเรียน โดยมีครูซึ่งจะต้องมีบทบาทในการบันทึกองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อจะนำมาสังเคราะห์ จัดทำเป็นรูปเล่ม และในขั้นตอนดังกล่าวชสาวบ้านสามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้
136 รายวิชา 136 ภูมิปัญญาชาวบ้าน
“บางเรื่องซึ่งเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม ที่ถูกละเลยในอดีต เมื่อได้นำกลับมาถ่ายทอดอีกครั้งทำให้ชาวบ้านเกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัวกันขึ้นมามากกว่าแต่ก่อน”
“และเวทีชาวบ้านจำเป็นต้องทำหลาย ๆ ครั้ง เพราะสิ่งที่จะได้รับการเวทีคือ จะช่วยพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และในส่วนของชุมเองก็จะเกิดกระแสการทำงานร่วมกัน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาแบบองค์รวม”
————-
อย่างไรก็ตาม หลักสูตรเพื่อท้องถิ่นเชียงดาว แตกต่างจากหลักสูตรท้องถิ่นที่โรงเรียนอื่น ๆ จัดขึ้น เนื่องจากแนวคิดในการจัดทำหลักสูตรล้วนพัฒนามากจากการก่อตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาของตัวเองโดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเวทีระดมความคิด และระดมปัญหาที่เกิดขั้นภายในหมู่บ้าน รวมถึงเกิดจากการรวบรวมข้อมูลสภาพของอำเภอเชียงดาวและปัญหาต่าง ๆ ในทุกด้านเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อ—โดยเฉพาะเนื้อหาของหลักสูตรที่จำกำหนดให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในอนาคต