KNOWLEGE

ความมั่นคงด้านอาหาร…เริ่มต้นที่ … ?

ทุกวันนี้…การที่เรายังมีอาหารกินครบทุกมื้อไม่ได้หมายความว่า “แหล่งผลิตอาหาร” ของประเทศกำลังรอดพ้นจากภัยคุกคาม เพราะสิ่งบ่งชี้หลาย ๆ ด้านได้ระบุชัดแล้วว่า “แหล่งผลิตอาหาร”  ของไทย และของโลกกำลังถูกคุกคาม อาทิภาวะโลกร้อน , ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ระบบการเกษตรที่ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกการตลาดของโลก  การถูกกำหนดราคาของพืชผลการเกษตรจากกลุ่มพ่อค้า  และยังมิพักต้องเอ่ยถึง “การกิน” ซึ่งก็มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของคนเราเช่นเดียวกัน

และแม้จะมีการออกมาพูดเรื่อง “ความมั่นคงด้านอาหาร”  ด้วยการสร้างกระแส  “เกษตรอินทรีย์”  หรือ กระแส “เกษตรปลอดภัย” มาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานก็ตาม  แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทาน “เกษตรกระแสหลัก” ที่มุ่งมั่นส่งเสริม และเชิญชวน ผสมกับจูงใจให้กลุ่มเกษตรกรหันไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่เน้นปริมาณมากว่าคุณภาพ

โดยลืมไปว่า  “ความมั่นคงด้านอาหาร”  จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีปัจจัยการผลิต ซึ่งก็คือฐานทรัพยากร  “ดิน น้ำ ป่า” ที่สมบูรณ์ อีกทั้งเกษตรกรในฐานะผู้ผลิตก็ต้องร่วมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เหล่านี้ด้วยเช่นกัน  เพราะปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ล้วนมีสภาพไม่ต่างไปจาก “คนงาน” รับจ้างปลูกผักและเลี้ยงปลา โดยมิได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่แท้จริง       

ที่ผ่านมา แนวทางที่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้พยายามทำ และทำมาตลอดก็คือ การสนับสนุนทุนโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงทางอาหาร” ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม  

ทางตรงคือ การสนับสนุนชุดประเด็นเกษตรกรรมยั่งยืน  เพื่อให้กลุ่มนักวิจัยได้ทำการวิจัยเพื่อหาแนวทาง หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  หรือหาแนวทางและระบบการตลาดที่เหมาะสมกับกลุ่มเกษตรกรในยุคที่ทุนใหญ่กำลังยึดกุมตลาด และกลุ่มเกษตรกรไม่ได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตโดยตรง

 ขณะที่การดำเนินงานในทางอ้อม  โดยเฉพาะในส่วนของชุดประเด็นการจัดการทรัพยากร แม้เป้าหมายหลักคือการปกปักรักษาฐานทรัพยากรซึ่งเป็นฐานชีวิตของชุมชนท้องถิ่น  แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังงานวิจัยคือ การรักษา “แหล่งอาหาร” ของชุมชนไม่ให้สูญหายไปก่อนเวลาอันสมควร

แหล่งอาหาร เริ่มต้นง่าย ๆ ที่สวนหลังบ้าน

ไม่จำเป็นต้องมีที่ดินเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องลงทุนสูง และดูแลไม่ต้องมาก แค่นี้ก็ทำให้ชุมชนผู้ไทแห่งบ้านม่วงไข่ จังหวัดกาฬสินธุ์มีผักพื้นบ้านปลอดสารล้านเปอร์เซ็นต์กินกันตลอดทั้งปี , เพราะหลังจากทำวิจัยเพื่อ “ถอดบทเรียน” ในชุมชนม่วงไข่ก็พบว่า ลักษณะเด่นของวิถีผู้ไทคือการพึ่งพาอาศัยกัน และการพึ่งพาอาศัยนี้ก็มิได้มีให้เฉพาะแก่คนในชุมชนเท่านั้น ยังเผื่อแผ่แบ่งปันไปถึงต้นไม้ในป่า ริมทาง และหลังบ้านของตนเอง

สิ่งที่คนผู้ไท พบ และต้องการจะคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตอันงดงามคือ ทำอย่างไรจะทำให้รูปแบบการปลูกผักแบบ “สวนหลังบ้าน” ได้ขยายเพิ่มพูนไปยังบ้านอื่น ๆ  นั่นจึงทำให้ กนกนาถ  โพธิ์สัย จัดทำโครงการวิจัย “สวนหลังบ้าน”  วิถีการพึ่งพาตนเองของคนผู้ไท จ.กาฬสินธิ์  เพื่อค้นหาองค์ความรู้ในด้านการจัดการสวนหลังบ้านไปหารูปแบบและขยายผลในลำดับต่อไป

โครงการส่วนหลังบ้าน…เป็นตัวอย่างที่ดีในการเริ่มต้นที่จะหันมามองถึงการผลิตอาหารไว้กินเองในครัวเรือน เพียงแค่มี “เวลา”  ก็สามารถปลูกพืชอาหารไว้สำหรับครอบครัวโดยไม่ต้องไปซื้อหาจากตลาด ส่วนเมล็ดพันธ์ หรือวิธีการปลูกก็สามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกันระหว่างครัวเรือน

แค่นี้,แต่ละครัวเรือนก็มีผักพื้นบ้านปลอดสารล้านเปอร์เซ็นต์กินกันตลอดทั้งปี

หยุดตัดป่าเพื่อรักษาแหล่งอาหาร

            แต่เดิม คนบ้านปางจำปี ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นนักตัดไม้ตัวยง หากทว่า , วันหนึ่งป่าเริ่มหมด และน้ำเริ่มน้อยลง การทำมาหากินเริ่มฝืดเคือง ชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนวิถีทำกิน จากเคยหาของในป่ามาเป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ , และสัตว์ชนิดแรกที่คิดจะเริ่มทดลองเลี้ยงคือ “กุ้ง”

            ปัญหาคือ—เมื่อพี่เลี้ยงจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้าไปร่วมพูดคุยและตั้งคำถามว่า

            “ไม่มีน้ำ…จะเลี้ยงกุ้งได้อย่างไร”

            นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย “การมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองบ้านปางจำปีและบ้านป๊อก ตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ที่มี สวัสดิ์ ขัตติยะ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย

            จากคิดจะเลี้ยงกุ้ง มาศึกษาแหล่งน้ำ , ศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนที่สัมพันธ์กับลำน้ำแม่ลายน้อยในอดีตและปัจจุบัน ศึกษากระบวนการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำแม่ลายน้อยของชุมชนที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นก็ยังศึกษาสภาพลำน้ำแม่ลายน้อยและลำน้ำสาขาในอดีต เพื่อหารูปแบบการอนุรักษ์ลำน้ำทั้งสาย

            ผลการดำเนินงาน ชาวบ้านปางจำปีหยุดคิดเรื่องการเลี้ยงกุ้ง และหันมาฟื้นฟูแหล่งน้ำ ลดการตัดป่า และจัดทำวังปลาเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ  พร้อมกันนั้นก็กันบางพื้นที่ของป่าเป็นแหล่งอนุรักษ์ และเริ่มต้นขยายแนวคิด “อนุรักษ์” ไปยังชุมชนรอบ ๆ ด้วยการปวรณาชุมชนปางจำปีให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากร

            เพียงแค่นี้—ชาวบ้านที่อาศัยลำน้ำแม่ลายน้อยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และ ปลายน้ำ ก็ได้อาหารกลับมา

มีป่า = มีอาหาร

            ที่บ้านแม่ยางส้าน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ , ชุมชนปกาเกอะญอเล็ก ๆ ที่นั่นเคยประสบปัญหา “ป่าหาย  น้ำแห้ง

            จากเคยทำมาหากินในป่าหลังชุมชน ชาวบ้านเริ่มรู้จักการเกษตรแนวใหม่พร้อม ๆ  กับการเริ่มต้นปลูกข้าวโพดโดยใช้เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย จากบริษัท และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็ส่งขายให้แก่บริษัทเจ้าของเมล็ดพันธ์เช่นเดียวกัน  

ครั้นต้องเริ่มต้นปลูกใหม่ ก็เอาเมล็ดพันธุ์และปุ๋ยจากบริษัท วงจรการทำกินของคนแม่ยางส้านดำเนินในลักษณะแบบนี้เรื่อยมาโดยที่ชาวบ้านเองก็ไม่รู้ตัวว่า กำลังรุกคืบผืนป่าไปทีละนิด ๆ  เพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด

จนกระทั่งวันหนึ่ง น้ำในลำห้วยเริ่มแห้ง กบ “เดบือ” ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็น “ผีน้ำ” เริ่มหายไปพร้อม ๆ กับ “คีเบาะ” หรือ หนอนไม้ไผ่

            ไกรศรี กล้าณรงค์ขวัญ หัวหน้าโครงการวิจัย การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดการหนอนไม้ไผ่ (คีเบาะ) และกบ (เดบือ) ให้มีความยั่งยืน บ้านแม่ยางส้าน อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มหาอาหารอย่างแร้นแค้น จากที่ไม่เคยซื้อหาอาหารจากนอกชุมชนก็ต้องไปซื้อ จึงลองชวนชาวบ้านมาทำวิจัยร่วมกัน เพื่อหาสาเหตุการหายไปของกบ และ หนอน ศึกษาวงจรชีวิตของสัตว์ทั้งสองชนิดเพื่อหาแนวทางอนุรักษ์

หนอนไม้ไผ่ ผลจากการดูแล รักษาป่าไผ่

            “สาเหตุคือเราไม่ค่อยได้สนใจ ปล่อยให้คนนอกชุมชนมาตัดไผ่เก็บหนอน บางคนตัดไม่ถูกวิธีเพราะต้นที่ไม่มีหนอนก็ต้องถูกตัดทั้งไปด้วย…พวกเราจึ่งออกกฎห้ามตัดไผ่ในช่วงฤดูผีเสื้อวางไข่     และแบ่งป่าออกเป็นสองส่วน คือป่าใช้สอยและป่าอนุรักษ์…ไม่กี่ปีป่าก็เริ่มฟื้น มีป่า มีน้ำ มีหนอน และผีน้ำก็กลับมา”

            สำคัญกว่านั้น , ชาวบ้านก็มีอาหารกินอย่างอุดมสมบูรณ์ดังในอดีต

เครือข่ายพิทักษ์แหล่งอาหาร

            ภายหลังที่ ประสิทธิ์ เชื้อเอี่ยม ผู้ที่ได้รับฉายา “คนบ้าแห่งอ่าวบ้านดอน” ทำวิจัยโครงการ การศึกษาแนวทางการจัดการป่าชายเลนเพื่อเพิ่มปริมาณปูเปี้ยวอย่างยั่งยืน ป่าชายเลนท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เสร็จสิ้นลง ก็พบว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรอ่าวบ้านดอนให้เกิดความยั่งยืนจะทำเพียงชุมชนเดียวไม่ได้,

            “เพราะเราทำโครงการเดียวยังสามารถฟื้นฟูป่าชายเลน และทำให้ปูเปี้ยวที่เคยเกือบหมดไปกลับมาอีกครั้ง ก็แสดงว่าถ้าเราทำโครงการวิจัยพร้อม ๆ กันรอบอ่าว เราน่าจะช่วยกันอนุรักษ์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติรอบ ๆ อ่าวบ้านดอนทั้งจังหวัดได้”

และเมื่อเห็นว่า แนวทางที่ผ่านมาสามารถรักษาป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทางธรรมชาติไว้ได้ จึงนำรูปแบบขยายผลไปยังพื้นที่และชุมชนอื่น ๆ เนื่องจาก “ป่าและทะเล” มิได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น เพื่อความยั่งยืนของพื้นที่อ่าวบ้านดอน จึงเกิดเป็นโครงการวิจัย ขึ้นรอบอ่าวบ้านดอนอีก  8 โครงการ ,แม้แต่ละโครงการจะมีกิจกรรมการทำงานที่แตกต่างกันออกไป หากแต่วัตถุประสงค์ หรือ “ธง” ที่ชาวบ้านทุก ๆ  ชุมชนปักไว้ร่วมกันคือ  “ความอุดมสมบูรณ์” ของอ่าวบ้านดอน

ใช้วิจัย แก้วิกฤติอาหาร

            แนวทางแบบ “สวนหลังบ้าน” อธิบายว่าการปลูกผักเพื่อกินไม่เน้นขาย เหลือจึงแบ่งปัน ไม่ได้เรียกร้ององค์ประกอบได ๆ ทั้งสิ้นนอกจากการลงมือทำ ขณะที่ “หนอน-กบ” เมื่อปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นจากการต้องลงมือทำอย่างจิงจังและเข้มข้นคือการใช้ “ความรู้”  ที่ชุมชนร่วมกันค้นหา และนำมาบอกเล่าเพื่อตัดสินใจร่วมกันว่า “จะทำอย่างไร” กับทรัพยากรของชุมชน , ซึ่งก็เช่นเดียวกับคนบ้านปางจำปีทีท้ายที่สุดก็พบว่ายังมี “แนวทางอื่น” ให้เลือกหากคนทั้งชุมชนหันมาคิดร่วมกัน

            สำหรับสิ่งที่ยากที่สุดดังกรณีอ่าวบ้านดอน , ภัยคุกคามความมั่นคงทางอาหารมิได้มีเฉพาะภาวะโลกร้อนที่ทำให้สิ่งมีค่าในทะเลบางอย่างหายไป หากยังมีกลุ่มนายทุนที่เข้ามาครอบครองพื้นที่ในทะเลเพื่อผลิตอาหาร “ป้อนโลก”  แข่งกับคนในชุมชน

            ซึ่งกระบวนการวิจัยแบบ “ชาวบ้าน” ก็พิสูจน์ชัดแล้วเช่นกันว่า การร่วมกันเป็นเครือข่าย หมายถึงพละกำลังอันแข็งแรงที่จะต่อกรกับวิกฤติทั้งหลายทั้งปวง

            ไม่เว้นแม้แต่วิกฤติอาหาร… 

******************************************