การจัดการน้ำ

ความขัดแย้งและการคลี่คลายปัญหา“น้ำ” ของชุมชนแพรกหนามแดง

แม้จังหวัดสมุทรสงครามจะเป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในประเทศ แต่ที่นี่กลับมีลำคลองน้อยใหญ่มากถึง 300 ลำคลองที่เชื่อมโยงกับทางน้ำขนาดเล็กประดุจเส้นเลือด เช่น แพรก ลำราง ลำประโดง อีกนับพันสาย  อันเป็นลักษณะจำเพาะของพื้นที่ซึ่งมีระบบนิเวศน์แบบ 3 น้ำคือ น้ำจืด  น้ำเค็ม และน้ำกร่อย 

ซึ่งวิถีชีวิต และการทำมาหากินของคนที่นี่ล้วนดำเนินไปอย่างสอดคล้องและสัมพันธ์กันกับระบบน้ำและลม

กระทั่งเมื่อถนนสายธนบุรีปากท่อตัดผ่านเข้าไปในพื้นที่ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมภวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในปี พ.ศ. 2516  พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์จึงถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง…

ฝั่งทางตอนใต้ซึ่งอยู่ติดทะเลซึ่งมักประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็มรุกอยู่แล้วก่อนหน้านั้น   กลับประสบปัญหาหนักขึ้นเมื่อถนนกลายสภาพไม่ต่างไปจาก “เขื่อน”  ที่มาขวางกั้นการไหลของน้ำจืดจากแพรกหนามแดงด้านเหนือเพื่อไหลลงมาดันน้ำเค็มลงสู่ทะเล

ที่นาหลายร้อยไร่ “ล่ม” และเริ่มรกร้าง  เนื่องเพราะ “ดิน” ไม่เหมาะกับต้นไม่ทุกชนิด แม้กระทั่งต้นหญ้า หรือต้นมะพร้าวที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน ก็ล้มลง และเมื่อ “ดิน” ไม่เหมาะสำหรับการเกษตรอีกต่อไป  ผู้คนจึงพากันอพยพไปอยู่ถิ่นอื่น…คนที่เหลือจึงพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อให้อยู่รอดในสภาพดังกล่าว

ชาวบ้านหลายคนเริ่มนั่งมองที่ดินรกร้าง และเริ่มเรียนรู้….บ่อปลา บ่อกุ้งถูกขุด…อาชีพเลี้ยงกุ้งและปลาคือวิถีการทำมาหากินรูปแบบใหม่ที่ชาวแพรกหนามแดงด้านใต้อาศัยการเรียนรู้จนค้นพบ

และจากตำบลที่เคยเงียบเหงาก็เริ่มคึกคัก เนื่องจากมีกลุ่มชาวบ้านจากจังหวัดอื่นเดินทางเข้ามาตามข่าวความหนาแน่นของทรัพยากร…

ปี พ.ศ. 2519 เกิดภาวะฝนแล้งอย่างหนัก และทวีความรุนแรงขึ้นในระหว่าง 2522 – 2523 เนื่องจากน้ำเค็มหนุนเข้ามาในลำคลองในตำบลแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงครามไปจนถึงจังหวัดราชบุรี  เหล่านี้คือผลกระทบโดยตรงจากการสร้างเขื่อน

            ปี 2524 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่   และน้ำท่วมขังอยู่ประมาณ 2 เดือนชาวบ้านฝั่งน้ำจืดทนความเดือนร้อนไม่ไหว  จึงระดมกันออกมา “พัง” ทำนบดินที่กันน้ำเค็มเอาไว้เพื่อให้น้ำจืดที่ท่วมขังได้ระบายออกสู่ทะเล 

ในระหว่างนั้นกรมชลประทานเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านทั้งสองฝั่งน้ำด้วยการสร้างประตูระบายน้ำบนคลอง 19 แห่งตลอดแนวจากเหนือจรดใต้เพื่อ  “ปิด” เวลาน้ำเค็มหนุน และจะ “เปิด” เพื่อระบายน้ำจืดเมื่อถึงช่วงฤดูน้ำหลาก  แต่การเปิดและปิดประตูไม่สอดรับกับความต้องการของชาวบานทั้งสองฝั่งน้ำ  โดยเฉพาะบางครั้งในฤดูน้ำหลากชาวบ้านฝั่งน้ำจืดต้องยกขบวนกันมาเพื่อเปิดประตูน้ำด้วยตนเองซึ่งเป็นการละเมิดของตกลงที่วางไว้ร่วมกันระหว่างคนสองฝั่งน้ำ 

ฝนตกหนัก…น้ำท่วมที่นา…เกษตรกรฝั่งน้ำจืดยกพลกันมาเปิดประตูระบายน้ำ…เมื่อกระแสน้ำจากฝั่งน้ำจืดที่ปนเปื้อนไปด้วยสารเคมีจากนาข้าว และแปลงผัก คือ ”น้ำ”  ที่ชาวบ้านฝั่งนำเค็มยังไม่ต้องการทะลักล้นอย่างรวดเร็วหลังการเปิดประตู…สารพิษที่ปนเปื้อนมากับกระแสน้ำก็ทำร้าย และทำลายกุ้งและปลาอันเป็นที่มาของรายได้อันมหาศาลของคนฝั่งน้ำเค็ม

ทุกครั้งของการเปิดประตูระบายน้ำ หมายถึงความขัดแย้งต้องตามมา…หลายครั้งที่ชาวบ้านต้องลากอาวุธออกมาเพื่อห้ำหั่นกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เป็นวงจรที่ชาวบ้านต้องแบกรับมาอย่างยาวนานต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี

 ——————

“คนฝังน้ำจืดต้องปล่อยน้ำออกจากนา เมื่อต้นข้าวโต เพราะถ้าไม่ปล่อย ข้าวก็จะตายหมด  และพอเปิดประตูเพื่อระบายน้ำ ความเร็วของน้ำก็จะพัดพาตะกอนเลนที่มีสารพิษตกสะสมอยู่ปนออกมาด้วย …ทำให้กุ้งและปลาในบ่อตายหมด”  ปัญญา โตกทอง  เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ต้องอาศัยและพึ่งพิงน้ำเค็ม แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการ “น้ำจืด”  ที่เขาพยายามย้ำว่าไม่ใช่ “น้ำเสีย”  มาเจือจางน้ำเค็มเพื่อให้เป็นน้ำกร่อยอธิบายปัญหาที่ทำให้คนทั้งสองฝั่งน้ำ  ขัดแย้งและกระทบกระทั้งมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี

“เวลาเปิดประตู….ก็จะยกขึ้นทั้งบาน”  ปัญญาอธิบายพร้อมกับชี้ให้ดูประตูระบายน้ำ      

“และเวลายกขึ้น…พวกตะกอน เลน ที่สะสมมาตลอดทั้งปีจะทะลักออกมาตามความแรงของน้ำ…น้ำจะไหลเข้าบ่อกุ้ง  พวก กุ้ง ปลา พอมันโดนน้ำเสีย..ก็พากันกระโดด….บางทีก็ตาย เรื่องนี้ชาวบ้านทุกคนก็รู้ แต่เราไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร” ปัญญาทิ้งท้าย

แต่ท่ามกลางความขัดแย้ง ชาวบ้านแพรกหนามแดงไม่ได้อยู่นิ่งเฉย มีความพยายามหารือกันเองเพื่อหาทางยุติปัญหามาโดยตลอด และความพยายามอีกทางหนึ่งก็คือการทำวิจัยเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้งในต้นปี 2545 โดยทีมวิจัยชาวบ้านฝั่งน้ำจืด และน้ำเค็ม 8 คน…

แต่การทำงานในช่วงเริ่มต้นมิได้ราบรื่น…ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อเดิมว่า  “แก้ไม่ได้หรอก ราชการเขาแก้มายี่สิบกว่าปียังแก้ไม่ได้เลย”

            ทีมวิจัยชาวบ้านจึงเลือกใช้การเปิดเวทีเล็ก ๆ พูดคุยกันทีละหมู่บ้าน  เพื่อสร้างความใจถึงวัตถุประสงค์ในการวิจัย รวมทั้งเก็บข้อมูล และหาแนวร่วม  แรก ๆ มีคนร่วมแค่ 10 กว่าคน …บางครั้งไม่มีเลย…

แม้คนจะน้อย แต่ทีมงานยังคงเดินหน้าต่อ โดยยึดหลักที่ว่า ถึงคนน้อยแต่มีใจ ก็จะทำให้งานค่อย ๆ ขยายไปได้ และด้วยฐานคิดเช่นนี้เอง หลังจากทำเวทีได้ได้ 2-3 ครั้ง ก็มีผู้สมัครใจเข้าร่วมเป็นทีมทำงานหลักอีก 2 คน…

การจัดเวทีชาวบ้านเป็นระยะ ๆ ทำให้ชาวบ้านเกิดความเข้าใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ให้ข้อเสนอแนะ เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“ข้อมูลจากเวทีมีประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของเราอย่างมาก มีการทบทวนถึงการจัดการน้ำในอดีตทำให้รู้ว่า แพรกหนามแดงมีการทำประตูกั้นน้ำจืดน้ำเค็มมากว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งทำให้เราฉุกคิดว่า แล้วทำไมเมื่อก่อนมันไม่มีปัญหา ก็คุยกันลงไปในรายละเอียด ก็พบว่าประตูน้ำของชาวบ้านเมื่อก่อนเป็นไม้ใส่ลงไปทีละชิ้น ๆ เวลาเปิดก็เปิดจากข้างบน มันไม่ได้เปิดจากก้น จึงเกิดความคิดต่อว่า ถ้าเราจะทำแบบนี้ทำได้ไหม? ถ้าทำประตูที่ไม่สร้างปัญหาควรเป็นยังไง?”  หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงกระบวนการหลอมรวมพลังของชุมชน

———-

ประตูที่ไม่สร้างปัญหาควรเป็นอย่างไร

จากคำถามนี้ นำไปสู่การคิดออกแบบประตูระบายน้ำแบบใหม่ โดยอาศัยภูมิปัญญาการทำประตูของคนบ่อกุ้งมาประยุกต์ คุณอุมา ศิลาวงศ์ ทีมวิจัยซึ่งมีฝีมือในทางขีดเขียนอยู่บ้างจึงรับอาสาคิด  พร้อมทั้งออกแบบประตูระบายน้ำแบบใหม่โดยอาศัยข้อมูลที่ทีมวิจัยค้นพบเป็นฐาน

“ที่ออกแบบมาใหม่เป็นประตูระบายน้ำแบบสวิงซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง…โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ…เมื่อน้ำขึ้น…แรงดันน้ำจะดันให้บานประตูส่วนบนเปิดออก…การถ่ายน้ำจึงเป็นไปตามธรรมชาติ ขณะที่ตะกอนดินที่สะสมอยู่หลังประตูจะไม่ไหลปะปนไปกับกระแสน้ำ” อุมา ศิลาวงศ์  หรือ น้ามะโหนก”   ศิลปินพื้นบ้านถ่ายทอดแนวคิดและระบบการทำงานของประตูแบบใหม่ ก่อนขยายความเพิ่มเติมว่า

“ด้านล่างของประตูเป็นบานทึบ โดยบานประตูจะเปิดออกเมื่อปริมาณน้ำจืดสูงเกินระดับที่ชาวบ้านต้องการ แต่เมื่อน้ำทะเลขึ้นระดับสูงกว่าน้ำจืดบานประตูจะปิดลงโดยอัตโนมัติ”

 ชาวบ้านและทีมวิจัยเชื่อว่า ประตูระบายน้ำแบบใหม่นี้ จะทำให้น้ำได้ไหลเวียนไม่เน่าเสีย อีกทั้งน้ำจืดที่ระบายออกไปจากผิวบนไม่มีตะกอนปะปน ทำให้คนฝั่งน้ำเค็ม ได้น้ำจืดไปผสมกับน้ำเค็ม เป็นน้ำกร่อย ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำเติบโตดี  จึงได้นำแบบประตูไปเสนอให้ชาวบ้านช่วยกันเสนอแนะอีกครั้ง คราวนี้ผู้มาร่วมเวทีมีจำนวนมากขึ้น และต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า “ดี”

 “บานหับ-เผย”  จากเทคโนฯ ชาวบ้าน สู่ “แบบมาตรฐาน” กรมชลฯ   

 “บานหับ-เผย” เป็นแบบประตูระบายน้ำ ที่ชาวบ้านคิดค้นขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในการ ปิด-เปิด ประตูระบายน้ำ มีลักษณะเป็นประตูทีมี บานสวิง เปิดเองอัตโนมัติเมื่อน้ำสูงเกินกว่าระดับ และปิดเองเมื่อน้ำเค็มขึ้นสูง มีบานเลื่อน ปรับระดับความสูงต่ำ ของระดับน้ำในฝั่งน้ำจืด และมีบานทึบ อยู่ด้านล่างเพื่อกักตะกอนของเสียก้นคลอง

เมื่อได้แบบประตูระบายน้ำในฝัน ชาวบ้านนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ รวมทั้งขอให้มีการสร้างประตูตามแบบจำลองที่พวกเขาคิดขึ้น ซึ่งก็มีการเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณ จัดทำประตูแนวคิดของชาวบ้าน พร้อมทำการทดลองติดตั้งเพื่อติดตามประเมินผลในเบื้องต้น 2 ประตู ซึ่งแม้ว่า ในเชิงเทคนิคอาจจะมีจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอยู่บ้าน แต่ในส่วนของกลไกการทำงานของประตูน้ำสามารถแก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้พื้นที่ได้จริง และไม่เพียงลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนน้ำจืด และน้ำเค็มลงได้เท่านั้น หากแต่ยังช่วยฟื้นฟูให้ระบบนิเวศในคลองอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกด้วย

จาก “บานหับ-เผย” ของชุมชนแพรกหนามแดง อันคิดค้นจากภูมิรู้ของชาวบ้านผู้ซึ่งเข้าใจปัญหาและรู้จักสภาพในพื้นที่ต้องการของตนเองเป็นอย่างดี หากได้รับการยกระดับต่อยอดด้วยความรู้ทางวิชาการของวิศวกรผู้เชี่ยวชาญย่อมทำให้ได้ประตูระบายน้ำซึ่งมีกลไกการทำงานอันมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาให้กับชาวบ้านได้อย่างแท้จริง

นี่คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแนวใหม่ อันเป็นการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่น และการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐซึ่งพร้อมรับฟัง-พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจ และช่วยคลี่คลายปัญหาร่วมกับชุมชนอย่างเป็นมิตรนั่นเอง

++++++++++