กำพวนโมเดล-โมเดลทำดี
เสียงผ่ากระบอกไม้ไผ่ดังลั่นภายในโรงยิมเนเซียมโรงเรียนบ้านกำพวน หมู่ที่ 2 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ดังผสมไปกับเสียงสายฝนที่สาดกระหน่ำ และเสียงของกลุ่มเยาวชนที่กำลังก้มหน้าก้มตานับเหรียญที่ได้จากการผ่ากระบอกไม้ไผ่ กว่า 60 กระบอกที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคเพื่อเป็นกองทุนสำหรับเด็กกำพร้า
“ปีนี้ กระบอกไม่ไผ่เพิ่มขึ้นเป็น 60 กระบอก เงินบริจาคก็น่าจะเยอะตามไปด้วย” จ๊ะมะ .. จริยา สาลี แกนนำกลุ่ม “สตรีสัมพันธ์” แห่งบ้านกำพวน ผู้ริเริ่ม “กองทุนวันละบาท” จากกระบอกไม้ไผ่กล่าวด้วยแววตาปลื้มปิติ และไม่เพียงแต่จำนวนกระบอกไม้ไผ่เท่านั้นที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนจากทุก ๆ หมู่บ้านในกำพวนก็เข้ามาร่วมกิจกรรม “นับเหรียญ” ในค่ำคืนนี้…ก็มากกว่าครั้งไหน ๆ
ยังไม่ต้องเอ่ยถึงผู้นำศาสนาจาก 6 มัสยิดในตำบลกำพวน ครู อาจารย์ นักการเมืองท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ในตำบลที่ต่างกำลังง่วนอยู่กับการจัดซุ้มนิทรรศการก็มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้…
“เราเป็นกำพวนโมเดล…เราต้องมาร่วมกัน” เด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกขณะกำลังผ่ากระบอกไม้ไผ่กระบอกสุดท้ายก่อนกวาดเหรียญให้เพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ช่วยกันนับ
ทุกวันนี้ “กำพวนโมเดล” เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทำความดี จึงไม่แปลกหากจะได้ยินผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งที่เป็นครู อาจารย์ ผู้นำศาสนาพูดว่า “เราเป็นกำพวนโมเดล….เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลัง”
อะไรคือ “กำพวนโมเดล”
โมเดลทำดี…เริ่มที่เงิน 1 บาท
หากย้อนกลับไปในราวปี 2547 หลังสึนามิขึ้นฝั่งแล้วพรากเอาชีวิตผู้คนและทรัพย์ของพื้นที่จังหวัดชายฝั่งอันดามันไป ไม่น้อย จังหวัดระนองก็เป็น 1 ใน 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นเช่นกัน
“ระนองมีผู้ประสบภัย 1,509 ครัวเรือน เสียชีวิต 159 คน สูญหายไป 6 คน…จากนั้นก็มีองค์ต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้พ่อแม่พี่น้องได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง” อิสหาก สาลี สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองกล่าวถึงสภาพความเสียหายของพื้นที่ และการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ความช่วยเหลือที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องงบประมาณ การเข้ามาหนุนเรื่องกลุ่มอาชีพ ให้เครื่องมือทำมาหาแก่กินชาวบ้านสำหรับการใช้ดำเนินชีวิตในอนาคต บ้างนำหยูกยามาแจกจ่ายในชุมชน ซึ่งทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบได้มีกำลังใจในการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ และก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง
“แต่ตอนนั้น ปัญหาที่คนยังไม่เห็นคือเรื่องเด็กกำพร้า…เพราะเด็ก ๆ หลายคนเสียพ่อ บางคนเสียแม่ มีบางส่วนที่เสียทั้งพ่อและแม่ … เด็กกลุ่มนี้ตกหล่นจากการให้ความช่วยเหลือ เราจึงต้องหาทางให้ความช่วยพวกเขา”
ซึ่งความช่วยเหลือเบื้องแรกที่ “จ๊ะมะ” หรือ จริยา สาลี แกนนำกลุ่มสตรีสัมพันธ์พูดถึงคือการจัดตั้งกลุ่ม “สุขสำราญมัดย้อม” ขึ้นในปี 2548 เพื่อทำการผลิตเสื้อยืดย้อมสีธรรมชาติจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวจนเป็นที่นิยม
แม้คนทำจะไม่มีรายได้หรือค่าตอบแทน เพราะมาด้วยใจอยากช่วยเหลือซึ่งเป็น “กิจของมุสลิม” ที่ต้องดูแลช่วยเหลือเด็กกำพร้า จึงทำให้กิจการผ้ามัดย้อมดำเนินไปด้วยดี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ…สามารถระดมเงินเพื่อนช่วยเด็กกำพร้าได้กว่า 20 คน…
แต่เมื่อคลื่นความช่วยเหลือเริ่มเบาลง ลูกค้าผ้ามัดย้อมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติเริ่มลดลง แต่กองทุนยังต้องดำเนินต่อไป จ๊ะมะ จึงร่วมกับสตรีในชุมชนตั้งกลุ่มใหม่ในนาม “กลุ่มสตรีสัมพันธ์” ซึ่งเป็นการรวบรวมกลุ่มอาชีพที่กระจัดกระจายในชุมชนมาผลิตสินค้าและขายร่วมกัน
รวมกลุ่มเพื่อที่จะเพิ่มโอกาสในการขายสินค้า เพราะถ้าต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย ก็จะขายไม่ได้ และทีสำคัญกลุ่มสตรีสัมพันธ์มีประสบการณ์จากการขายผ้ามัดย้อม และกลุ่มลูกค้าเดิมอยู่บ้างแล้ว…ซึ่งรายได้จากการขายสินค้า จะหักส่วนหนึ่งมาจัดตั้งเป็นกองทุนสวัสดิการเพื่อเด็ก
“ทุก ๆ เดือนเราก็จะส่งคนไปเก็บตามบ้าน แต่พอเก็บไปเรื่อย ๆ บางคนยังไม่พร้อม ก็ยังไม่มีให้ ระยะหลังคนเก็บก็ไม่กล้าไปเก็บ จึงมาหารือกันในกลุ่ม ก็มีสมาชิกคนหนึ่งพูดขึ้นว่าน่าจะทำเป็นกระบอกไม้ไผ่ ไปแขวนไว้แล้วให้หยอดวันละบาท ถึงสิ้นเดือนเราก็ไปเก็บกระบอกไม้ไผ่กลับมา…ซึ่งวิธีนี้ได้ผล เพราะไม่ทำให้คนถูกเก็บเสียหน้า คนไปเก็บก็อยากไป…ที่สำคัญคือ กระบอกไม้ไผ่ยังกระจายตัวไปตามร้านอาหารหรือที่อื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก…เราก็ได้เงินกองทุนเพิ่มขึ้น”
จากเงินคนละบาท สะสมไปเรื่อย ๆ จนครบปี เมื่อนำมาผ่าออกก็ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ สามารถจัดสรรปันส่วนแจกจ่ายเป็นเงินกองทุนเพื่อการศึกษาแก่เด็กกำพร้าในชุมชนได้อย่างทั่วถึงไม่ตกหล่น
จาก “มือล่าง” ถูกเปลี่ยนเป็น “มือบน”
สำหรับกระบอกไม้ไผ่ ไม่ใช่แค่วัตถุชนิดหนึ่งที่แขวนไว้ตามบ้าน หรือร้านอาหารสำหรับรวบรวบเศษสตางค์ของคนที่บ้านกำพวน….แต่มันคือสัญลักษณ์ของความร่วมไม้ร่วมมือในการที่จะดูและซึ่งกันและกัน เป็นตัวแทนของการทำความดีแบบง่าย ๆ ของทุกคนที่ไม่ยุ่งยาก
เพียงแค่มี “เหรียญ” ทุกคนก็จะกลายเป็น “มือบน” เปลี่ยนสถานะจาก “ผู้รับ” เป็น “ผู้ให้” ได้อย่างไม่ยากเย็น
“หลังเกิดสึนามิ เราเป็นมือล่างมาโดยตลอด คือรอรับเพียงอย่างเดียว แต่พอมือบนค่อย ๆ หดกลับไป พวกเราเองนั้นแหละที่จะเป็นทั้งมือบน และมือล่างให้แก่กันและกัน” จ๊ะมะ กล่าว
แต่การที่จะพลิกกลับจาก “มือล่าง” เป็น “มือบน” ได้นั้นต้องผ่านแรงเสียดทานมากมาย
หนึ่งในแรงเสียดทานคือ “ความเชื่อมั่น”
“แต่ก่อนเราไม่ใช่คนที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ เราเป็นแค่ผู้หญิงหลังบ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ทำงานบ้าน ดูแลสามี และทำหน้าที่สอนศาสนาในโรงเรียนสอนศาสนา ถึงเวลาก็กลับไปหน้าที่แม่บ้านเหมือนผู้หญิงทั่วไป พอเรามองเห็นคนอื่นเข้ามาช่วยเหลือชุมชนเรากันมาก เราก็คิดว่าต้องมาทำงานชุมชน เพราะถ้ามองตามหลักการศาสนา หลังภัยพิบัติโลกจะมีลาภมาอย่างมากมาย และเป็นอย่างนั้นจริง ๆ แต่ในขณะที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาช่วยเหลือ บางทีก็ช่วยจนของเริ่มเยอะเริ่มเหลือจนทำให้บางบ้านเอาข้าวสารไปทิ้งที่กองขยะ เพราะกินไม่หมด”
จ๊ะมะ จึงชักชวน ไรหรอ สาลี , และ “จ๊ะสาว” รูวัยยะ มาโนชน์ จัดตั้งกลุ่ม กระทั่งเติบโตเป็นกลุ่มสตรีสัมพันธ์หาเงินทุนเพื่อเด็กกำพร้า
“เราต้องเป็นมือบน…ต้องเป็นผู้ให้บ้าง ก็เลยเกิดกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้น”
หาแนวร่วมจากคนใกล้ตัว
แม้จะทำงานหนักนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ทั้งการเดินออกจากครัวไปดูสถานการณ์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เก็บข้อมูล รวบรวมผู้คน รวมถึงระดมเงินด้วยกระบอกไม้ไผ่กระทั่งกลายเป็นกองทุนในที่สุด บทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมาสอนจ๊ะมะและทีมไว้มากพอสมควร โดยเฉพาะประเด็น “ความเชื่อมั่น” ของคนในชุมชน
“รู้ว่าหลายคนยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ คงคิดว่าทำไม่นานเดี๋ยวก็เลิก แต่เราก็ฮึดสู้ เพราะตอนนี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแล้ว แต่ทำเพื่อเด็ก ๆ ทำเพื่อคนด้อยโอกาส ที่สำคัญคือ เรากำลังเดินตามคำสอนของศาสนาที่บอกว่าต้องดูแลคนด้อยโอกาส…แต่พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่เราน่าจะเข้าไปช่วยกันแก้ไขจัดการ และก็คิดว่า ลำพังทำกันเพียงสามคนคงไม่พอ คิดว่าต้องหาแนวร่วม หาทีมสนับสนุน…” จ๊ะมะกล่าว
การหาแนวร่วม จ๊ะมะมองไปที่คนใกล้ตัว หนึ่งในนั้นคือ สจ.อิสหาก สาลี ในฐานะประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนองผู้เป็นสามี
“เพราะถ้าเราเริ่มจากคนใกล้ตัวเราจะคุยง่าย อธิบายไม่นานก็เข้าใจ…อีกอย่างคือเขาก็เห็นว่าเราทำมานาน และเราเองก็ตั้งใจทำ”
“ตอนแรกก็ค่อนข้างกังวล” สจ.อิสหาก สาลี หรือ “บังหาก” กล่าวถึงวันแรก ๆ ที่เห็นจ๊ะมะเริ่มต้นออกไปทำงานนอกบ้าน ซึ่งในวิถีมุสลิม “ผู้หญิง” ยังต้องทำหน้าที่แม่บ้าน ไม่ใช้การออกไปเคลื่อนไหว
“ผมเอง..ช่วงแรก ๆ ยังไม่มั่นใจ พูดง่าย ๆ คือเราก็คิดว่าคงทำไม่นานเดี่ยวก็เลิก แต่เราก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร ก็ให้กำลังใจอยู่ห่าง ๆ เตือนสติบ้างว่า…เราเป็นนักการเมืองท้องถิ่นทำงานการเมืองมากว่า 30 ปี ไม่อยากให้เสียชื่อเสียง โดยเฉพาะเข้าไปทำงานเรื่องเงินด้วยแล้ว…ยิ่งต้องเตือนสติ..แต่หลัง ๆ เห็นความตั้งใจ อีกอย่างแกใช้หลักศาสนามาทำงาน ไม่โกง ซื่อสัตย์ ไม่เบียดเบียนเพื่อน ใช้หลักนี้จนเราเห็นว่าเขาเอาจริงไม่ได้ทำเล่น ๆ ”
แม้จะค่อนข้างกังวล แต่ในฐานะประธานองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อเห็นว่ากิจกรรมที่กลุ่มสตรีสัมพันธ์ดำเนินงานอยู่นั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม สจ.อิสหากจึงช่วยเหลือในเรื่องของการประสานงานบุคคลระดับผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น
“สำหรับกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ตอนประสานงานแรก ๆ หลายคนมาด้วยความเกรงใจนะ…มาประชุมเพราะเป็นกิจกรรมของภรรยา สจ. แต่พอเข้าประชุมบ่อย ๆ มาร่วมกิจกรรมเรื่อย ๆ ก็เห็นว่าเป็นประโยชน์ เห็นถึงความตั้งใจ หลัง ๆ ก็มาประจำ…”
ในส่วนของผู้นำศาสนา สจ.อิสหากมองว่า การทำงานพัฒนาชุมชน ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ เนื่องจากผู้นำศาสนา เป็นเสมือนหัวหน้าครอบครัว เป็นครู อาจารย์ที่ทำหน้าที่อบรบสั่งสอนทุกคนในชุมชน เพราะหากผู้นำยอมรับ การดำเนินงานเรื่องอื่น ก็จะง่ายขึ้น แต่ก่อนจะถึงจุดที่ผู้นำในหลาย ๆ ภาคส่วนจะให้การยอมรับ คณะทำงานของกลุ่มสตรีสัมพันธ์ของมุ่งมั่น และสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
“เราต้องให้ผู้นำยอมรับให้ได้ก่อน การเคลื่อนไหว หรือการทำงานจึงจะมีประสิทธิภาพ พูดง่าย ๆ คือ เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน โต๊ะอิหม่ามก็เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเราต้องเคารพ มุสลิมเคารพและศรัทธาผู้นำ”
เชื่อมร้อยคนด้วยหลักศาสนา
ความพยายาม บวกกับผลการทำงานเชิงประจักษ์คือกองทุนสวัสดิการเพื่อเด็กกำพร้าในชุมชนจนประสบความสำเร็จ ทำให้การประสานความร่วมมือกับกลุ่มผู้นำศาสนาสัมฤทธิ์ผล มีผู้นำจาก 6 มัสยิดประกอบด้วย 1.มัสยิดอัตเตาฟีกีย๊ะห์ หมู่ 3 บ้านกำพวน 2.มัสยิดกามารุดดีน หมู่ 3 บ้านเหนือ, 3.มัสยิดนูรุลบะฮ์รี หมู่ 4 บ้านภูเขาทอง (ท่ากลาง), 4.มัสยิดมิสบาฮุดดิน หมู่ 4 บ้านภูเขาทอง, 5.มัสยิดราฎอตุลยัณนะฮ์ หมู่ 5 บ้านสุขสำราญ และ 6.มัสยืดนูรลฮีดาน๊ะห์ หมู่ 7 บ้านหาดทรายขาว เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายการทำงาน
“ผู้นำแต่ละมัสยิดได้กรุณาประชาสัมพันธ์กองทุนฯ โดยเชื่อมโยงถึงหลักการทางศาสนา จนเกิดความสนใจและบอกต่อในเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการได้ประชุมทำความเข้าใจกับผู้นำศาสนาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ก็ทำให้เกิดการทำงานร่วมกันเช่น มัสยิสอัตเตาฟีกีย๊ะห์ และมัสยิดเราฎอตุลยัณนะอ์ ได้กำหนดให้มีการเรียนการสอนหลักธรรมศาสนาให้กับกลุ่มสตรีมุสลิม โดยมีคณะทำงานกองทุนวันละบาทเข้าร่วมเรียนรู้ ถ่ายทอด ซึ่งเป็นมิติที่บทบาทของสตรีมุสลิมที่มีจิตอาสาทำงานเพื่อชุมชนด้วยหลักศาสนาจนเกิดการยอมรับในวงกว้าง” จ๊ะม๊ะเล่าถึงการทำงานของกลุ่มฯ ได้รับการยอมรับ
เมื่อได้รับการยอมรับมากขึ้น ยามถึงวาระการมอบทุนประจำปีของกองทุนฯ จึงเป็นโอกาสที่ได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก ทั้งปลัดอำเภอซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอสุขสำราญให้เป็นตัวแทนเข้าร่วม ผู้นำศาสนาระดับจังหวัด ซึ่งส่งผลต่อกำลังใจของทีมงานเป็นอันมากเสมือนน้ำมันหล่อลื่น ที่ทำให้ทุกฝ่ายมีเวทีที่จะเข้ามามีส่วนร่วม อีกด้านหนึ่ง ในส่วนของคนทำงานก็ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกไปเยี่ยมเยือนกลุ่มเป้าหมาย เพราะในการทำงานของกองทุนฯ ไม่ใช่การให้ทุนแล้วจบเลย หากแต่มีการออกไปเยี่ยมบ้านของเด็กกำพร้าและเด็กผู้ยากไร้เพื่อดูแลให้ความอบอุ่นด้านจิตวิญญาณ ให้กำลังใจ ดูแลความเป็นอยู่ สุขภาพร่างกาย เป็นการเกื้อกูลความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสติดตามเก็บกระบอกไม้ไผ่เพื่อรวบรวมเงินบริจาคในแต่ละเดือนไปพร้อมกับการเก็บข้อมูลสภาพปัญหาของชุมชนด้วย
และสิ่งที่เป็นความก้าวหน้าที่สุดของการทำงานคือ การจัดทำทะเบียนเด็กกำพร้าและเด็กผู้ยากไร้อย่างเป็นระบบ
“เมื่อก่อนข้อมูลสะเปะสะปะ ไม่เป็นระเบียบอะไรอยู่ตรงไหนไม่รู้ พอเราทำโครงการมีการจัดระบบข้อมูลให้เป็นระเบียบมากขึ้น เรื่องบัญชีการเงิน ข้อมูลเด็ก ข้อมูลการมอบทุนการศึกษามีกี่ประเภท เมื่อก่อนเราไม่เคร่งครัดขนาดไม่มีคนทำได้เงินมาคนมาลงชื่อรับเงินก็เสร็จ รับจ่ายอยู่ที่เดียวกัน ทะเบียนเด็ก อยู่ที่เดียวกันหมด พอเรามีกิจกรรมมันต้องแยกนะ อะไรอยู่ตรงไหน ข้อดีที่เรามีกฎบังคับของโครงการทำให้เรามีตรงนี้ขึ้นมาได้ แล้วพอมีแล้วหลังๆ มันก็เป็นระบบมากขึ้น” เมื่อเกิดการยอมรับและเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จึงทำให้จำนวนยอดของกระบอกค่อยขยายขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่ทำกันในวงแคบ จากปีแรกเริ่มต้นที่ 20 กระบอกก็ค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบค่อย ๆ ขยับเป็นหลักร้อย และขยายไปหมู่บ้านใกล้เคียง
จากระดับหมู่บ้าน….ขยายไประดับจังหวัด
“กองทุนวันละบาท” จากกระบอกไม้ไผ่ ชี้ชัดว่าการเข้ามามีส่วนร่วมในทุก ๆ ภาคส่วนของชุมชนสามารถแก้ไขปัญหาหนักหน่วงและเรื้อรังมานานนับสิบปีได้ ขอเพียงมี “คนเริ่ม” และ “คนสนับสนุน” ให้การยอมรับ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมทั้ง มีกระบวนการทำงานที่โปร่งใส่ ตรวจสอบได้…
รวมถึงการเข้ามาเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนการงาน ของ ทรงศักดิ์ หมานจิต ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดระนองถือเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญของการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กกำพร้าและความเหลื่อมลำของคนกำพวน เพราะสะท้อนให้เห็นว่า ผู้นำศาสนา “ระดับบน” ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“ในฐานะที่ผมดูแลกิจการสตรีมุสลิมจังหวัดระนองเห็นว่า ในอำเภอสุขสำราญมีที่เดียวคือของคุณจริยาที่ทำเรื่องกองทุนกระบอกไม้ไผ่ ผมก็เอาแนวคิดนี้ไประดมทุนจากคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยจังหวัดระนองที่มีทั้งหมด 21 คน คนละ 1000 บาท และกรรมการระดับล่าง ๆ คนละ 500 บาท ก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง เราก็ใช้หลักการเดียวกันคือเอาเงินจำนวนนี้ไปใช้จ่ายในกิจกรรมดูแลเด็กกำพร้า ให้กับผู้พิการ และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละมัสยิดจะเข้าไปดำเนินงาน”
และแนวทางดังกล่าว ก็มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในเกือบ ๆ ทุกมัสยิดในพื้นที่ตำบลกำพวน
“ตอนนี้ทางผู้เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของโครงการนี้มากขึ้น ได้รับการสนับสนุนจากนายกเทศมนตรี ผู้นำศาสนามีการเชื่อมโยงระหว่างมัสยิด ทุกวันศุกร์จะมีการอบรมถึงความสำคัญของโครงการ อธิบายความสำคัญ ปลูกฝังให้คนมีจิตอาสาและยังขยายผลนำหลักการเข้าไปใช้ในโรงเรียนของชุมชน เพื่อพัฒนาให้เด็กมีจิตอาสา สามารถเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับได้ โดยมีอาจารย์คอยควบคุมดูแลช่วยเหลือโครงการอีกระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันได้จัดทำสื่อเผยแพร่ เช่น แผ่นพับ ป้ายประกาศติดตามมัสยิดต่างๆ ทำให้มีผู้สนใจทั้งบริษัทและกลุ่มคน เข้ามาให้ความสนใจและร่วมบริจาคเพิ่มมากขึ้น”
แต่โจทย์ใหม่ไม่ใช่เรื่องการขยายแนวคิดเรื่อง “กองทุนสวัสดิการ” เพราะเมื่อแกนนำในชุมชนกวาดสานตามมองไปรอบ ๆ ก็จะพบว่า ปัญหาเรื้องรังของชุมชนมิได้มีแค่เรื่องของ “เด็กกำพร้า” หรือ “ผู้ป่วยเอดส์” แต่เรื่องการศึกษาของเด็ก ๆ และสตรีมุสลิม การเดินไปตามครรลองมุสลิมของคนรุ่นใหม่ หรือ แม้กระทั่งโรคภัยไข้เจ็บของสมาชิกในชุมชน เหล่านี้ต้องการการเข้ามาแก้ไขจัดการแทบทั้งสิ้น
“เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วนมากชุมชนมักปล่อยให้เป็นเรื่องของหน่วยงานหรือ กลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง แต่จริง ๆ แล้วทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้…แต่การจะดึงคนเข้ามาทำงานร่วมกันมันต้องมีกระบวนการทำงาน…”
เพราะหากมองย้อนกลับไป , จะพบว่า จุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า “กำพวนโมเดล” นั้น เริ่มก่อตัวขึ้นมาจากกลุ่มผู้หญิงเพียง 3 คน คือ จ๊ะมะ , ไรหรอ และ จ๊ะสาว จากนั้นมีกองหนุนเพิ่มขึ้นมาอีก 2 คนคือ สจ.อิสหาก และ บังฮาดีย์ ที่ทำหน้าที่ช่วยประสานงานแกนนำกลุ่มอื่น ๆ
และในระหว่างทาง มีคนใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา อาทิ กลุ่มผู้นำมัสยิดทั้ง 6 แห่ง กลุ่มสมาชิกเทศบาลตำบลกำพวน ที่ในช่วงแรก ๆ เข้ามาเป็นเพียง “แขกรับเชิญ” ในฝากการศึกษา มี ผอ.ฮาดีย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจริยศาสตร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนปอเนาะในตำบลกำพวน ที่เข้ามาช่วยผ่ากระบอกไม้ผ่านับเงิน และนำเด็กกำพร้ามารับเงินสวัสดิการ
ทั้งหมด ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นจากความมุ่งมั่น ตั้งใจ โดยมี “การทำความดี” เป็นแรงขับ มีความกินดีอยู่ดี เด็ก ๆ มีการศึกษาดี และ ความสามัคคีของชาวบ้านกำพวนเป็นเป้าหมายสำคัญ
เมื่อระบบสวัสดิการ “ดี” ซึ่ง “ดี” ในที่นี้หมายถึง ความคลายกังวลในเรื่องของที่มาของเงินทุน เพราะระบบการระดมเงินออมจากกระบอกไม้ไผ่จะค่อย ๆ ขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ตามความพร้อมและกลไกของพื้นที่ขยายผล ขณะที่เด็กกำพร้าที่จะเข้ามารับสวัสดิการก็มีระบบคัดกรองเพื่อให้ได้เด็กกำพร้าตัวจริง เสียงจริง ซึ่งจะเกิดจากความมือจากผู้นำชุมชน เครือข่าย 6 มัสยิด และครูในโรงเรียนร่วมกันคัดกรอง ก่อนเสนอชื่อเข้ามาที่คณะกรรมการเพื่อลงไปตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง
ทั้งหมดดำเนินงานภายใต้ “กลไก” การทำงานที่ประกอบด้วย ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น สจ. สมาชิกสภาเทศบาล อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้ง ตัวแทนภาคประชาชน หัวหน้าหน่วยราชการในพื้นที่ภายใต้ชื่อ “กำพวนโมเดล” ซึ่งจะมีวาระการประชุม พบปะ และแลกเปลี่ยนกันในทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือน ภายในห้องประชุมของมัสยิดอัตเตาฟิกียะห์ บ้านกำพวน
และการประชุม ถกเถียง ก็นำไปสู่การกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนชุมชนภายใต้นโยบาย 3 ดี
สวัสดิการดี…การศึกษาดี…สุขภาพดี
เป้าหมายของการทำ 3 ดี นอกจากเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงประเด็น คือเรื่องสุขภาพ การศึกษา และ สวัสดิการ ที่หลายคนพูดตรงกันว่าเป็นปัญหา “อันดับต้น ๆ” ที่คนกำพวนจะต้องมาร่วมกันหารูปแบบ และแนวทางแก้ไข
ขณะเดียวกัน ยังใช้เป้าหมายเชิงประเด็นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคนทำงาน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความสม่ำเสมอของการทำงาน
“แนวคิดนี้ต้องของคุณพี่เลี้ยงคือคุณณัฐกานณ์ ไท้สุวรรณ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.ระนอง ที่เข้ามาชวนคิด ตั้งคำถามและชี้ให้เห็นว่า จากความสำเร็จของการจัดการกองทุนสวัสดิการ และก็เริ่มเห็นคณะทำงานที่เซ็ตตัวกันเป็นระบบมากขึ้นแล้วนั้น ชุมชนควรมองเรื่องอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ใช้โอกาสที่เรารวมตัวกันได้ ไปร่วมกันทำเรื่องอื่น ที่ชุมชนเห็นว่ามีปัญหา และรอการจัดการ” จ๊ะมะ กล่าว
เมื่อคณะทำงานเห็นดีเห็นงาม ภายใต้การหนุนเสริมและการสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล บ้านกำพวนจึงเริ่มต้นทำโครงการชุมชนบริหารจัดการตนเองในระยะที่ 2..ด้วยการทำ socail mapping เพื่อค้นหาว่า ใคร ทำเรื่องอะไร อยู่ตรงไหน
“ที่เห็นกำลังขับเคลื่อนกันชัด ๆ และมุ่งมั่นตั้งใจ มีแกนนำในการขับเคลื่อนคือกลุ่มปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพ กลุ่มเตะฟุตบอล โดยทั้งกลุ่มมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาด”
“ผมสนใจเรื่องฟุตบอลมานานมากแล้ว จากประสบการณ์ของตัวเอง กีฬาจะทำให้เรามีระเบียบ มีวินัย จึงร่วมกับเพื่อน ๆ ทำทีมฟุต บอล โดยเอาเด็ก ๆ ในชุมชนเข้ามาร่วมเล่น ตอนนี้สมาชิกในทีม 60 คน แต่ของเราจะแทรกหลักศาสนาเข้าไปด้วย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ทั้งสองอย่างคือ กีฬา และศาสนา ” ฮาดีย์ เปิดประเด็นเรื่องการชักชวนกลุ่มเด็ก ๆ เข้ามาเล่นฟุตบอล
“แต่เดิมผู้ปกครองบางคนไม่ค่อยเห็นด้วย ผู้นำศาสนาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย เวลาที่เด็กเล่นกีฬาฟุตบอล เพราะผิดมารยาท และกติกา บางคนเล่นแล้วเกิดการทะเลาะวิวาท แต่งกายไม่ถูกหลักของศาสนา ทำให้ผู้ปกครองและผู้นำศาสนาไม่ค่อยสนับสนุน แต่เมื่อเราเข้ามาอยู่ในกำพวนโมเดล พวกเราก็มาช่วยกันคิดหาแนวทาง เรามีการนำเอาประเด็นต่าง ๆ ที่เราเจอมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวงประชุมทุก ๆ วันที่ 15 ของทุกเดือนเพื่อร่วมกันหาทางออกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป้าหมายของกิจกรรมฟุตบอลคือทำอย่างไรไม่ให้เด็กทะเลาะวิวาท และให้เขาอยู่ในหลักของศาสนา จนท้ายที่สุดเราพยามหาแรงจูงใจให้เขา พาเขาไปเรียนรู้เทคนิคการเล่นฟุตบอล พานักฟุตบอลระดับจังหวัดมาให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ เวลาเล่นเมื่อถึงเวลาละหมาดเราก็จะหยุดให้เขาไปละหมาด บางครั้งเราก็ดึงผู้นำทางศาสนามาให้ความรู้กับเขาไปด้วย ทุกคนต้องอยู่ในกฏเกณฑ์ที่ให้ เรื่องของการแต่งกายก็ต้องแต่งกายให้ถูกหลักศาสนากางเกงเลยเข่า หลัง ๆ มาเขาเริ่มใส่กางเกงขายาวมา ผู้นำศาสนา ผู้ปกครองเริ่มเห็นว่าการเล่นฟุตบอลก็สามารถอยู่ในร่องในรอยของหลักศาสนาได้ก็เริ่มไว้ใจ เชื่อมั่น ส่งลูกส่งหลานให้มาเข้าร่วมกลุ่มกับเรา” สมเกียรติเล่าถึงวิธีการสร้างการยอมรับให้กับผู้นำศาสนาให้ฟัง
ซึ่งจากเคยเล่นแบบสะเปะสะปะ เมื่อการทำงานเริ่มเป็นระบบ กิจกรรมการเล่นฟุตบอลและการฝึกซ้อมถูกนำเข้าไปหารือในที่ประชุมทุก ๆ วันที่ 15 ของเดือนทำให้ สท.ฮาดีย์ ได้แนวคิดใหม่ ๆ ในการทำทีมฟุตบอล โดยเฉพาะกาแทรกหลักศาสนาในทุก ๆ กิจกรรมการฝึกนักฟุตบอล
“ของเราก่อนเล่นต้องละหมาด การแต่งกายก็ต้องเป็นไปตามหลักศาสนา บางทีเราก็ดึงผู้นำมาให้ความรู้ด้านศาสนา ตรงนี้คือข้อดีของการทำงานทีเรียกว่ากำพวนโมเดล….พูดง่าย ๆเมื่อก่อนเราก็ทำกันเองเพียงไม่กี่คน แต่พอเราเข้าไปร่วมกันเป็นเครือข่าย ก็มีคนร่วมคิด ร่วมกันแสดงความเห็น และมาร่วมกันทำงาน….”
ระบบและวิธีการดังที่ สท.ฮาดีย์ อธิบายก็นำไปใช้ในกิจกรรมปั่นจักรยานของกลุ่ม “คนรักถีบ” ที่บ้านกำพวนเช่นกันซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 คน
ขณะที่งานการศึกษา แม้จะไม่เห็นว่ามีคณะทำงานที่ทำเรื่องนี้อยู่ในชุมชน แต่เมื่อพินิจถึงสภาพปัญหาดังที่ มูฮำหมัดฮาดีย์ กำพวน ผู้อำนวยการโรงเรียนดำรงศาสตร์วิทยา อธิบายในท่ามกลางที่ประชุมของคณะกรรมการขับเคลื่อนว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่ปรากฏอยู่คือ เด็ก ๆ อ่านอัลกูรอ่านไม่คล่อง บางครั้งอ่านผิด ๆ ถูก ๆ ประเด็นนี้จึงถูกหยิบขึ้นมาดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “การศึกษาดี” ซึ่ง ผอ.จะทำหน้าที่เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน
“เรื่องเด็กและการศึกษาเรามองว่า มันต้องมาจากครอบครัวที่ดี ครอบครัวที่ดีมาจากจากพื้นฐานการศึกษาที่ดี มันเชื่อมกันอยู่ ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหาก็จะเป็นปัญหาต่อ ๆ กันไป เพราะถ้าคนมีการศึกษาไม่ดี พอออกไปครองเรือน ก็ปกครอง ให้การศึกษาที่ดีแก่บุตรหลานไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้ ทีนี้…เรามองว่าการศึกษาที่ดีต้องศึกษาตลอดชีวิตของเรา”
รูปแบบการจัดการการศึกษาตลอดชีวิต ที่ ผอ.ฮาดีย์อธิบายคือการฝึกให้เด็กอ่านคัมภรีร์อัลกุรอ่านให้ถูกต้อง โดยมีผู้รู้ หรือ ผู้นำศาสนาแต่ละมัสยิดร่วมฝึกสอนและให้คำแนะนำ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ใช้การสื่อสารผ่านมัสยิดไปยังผู้ปกครองว่าให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างศึกษาให้กับบุตรหลานของตัวเอง
“ผลที่ออกมาดีขึ้น หลังจากที่มัสยิดเชิญชวนผู้ปกครองให้มาร่วมกัน ช่วยเด็กทำการบ้าน ฝึกเด็ก สนทนาระหว่างการฝึกอ่านกุรอ่าน พ่อแม่จะต้องช่วยเมือเห็นเด็กอ่านผิด…ตรงนี้นอกจากช่วยให้เด็กอ่านถูกหลักการ ยังช่วยในเรื่องของความสัมพันธ์ในครอบครัว…”
กำพวนโมเดล…โมเดลทำดี
เสียงผ่ากระบอกไม้ไผ่ดังลั่นภายในโรงยิมเนเซียมโรงเรียนบ้านกำพวน หมู่ที่ 2 ตำบลกำพวน อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ดังผสมไปกับเสียงสายฝนที่สาดกระหน่ำ และเสียงของกลุ่มเยาวชนที่กำลังก้มหน้าก้มตานับเหรียญที่ได้จากการผ่ากระบอกไม้ไผ่ กว่า 60 กระบอกที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคเพื่อเป็นกองทุนสำหรับเด็กกำพร้า
“เราเป็นกำพวนโมเดล…เราต้องมาร่วมกัน” เด็กนักเรียนคนหนึ่งบอกขณะกำลังผ่ากระบอกไม้ไผ่กระบอกสุดท้ายก่อนกวาดเหรียญให้เพื่อนที่นั่งข้าง ๆ ช่วยกันนับ
ทุกวันนี้ “กำพวนโมเดล” เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการทำความดี จึงไม่แปลกหากจะได้ยินผู้ใหญ่หลายท่าน ทั้งที่เป็นครู อาจารย์ ผู้นำศาสนาพูดว่า “เราเป็นกำพวนโมเดล….เราต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลัง”
อะไรคือ “กำพวนโมเดล”
สำหรับ “กำพวนโมเดล” หากเดินไปถามใครก็ได้ในชุมชนกำพวน จ.ระนอง ทุกคนจะพูดตรงกันคือ “โมเดลในการทำความดี” ซึ่งชาวบ้านและแกนนำที่บ้านกำพวนใช้เวลากว่า 10 ปีในการค้นพบและดำเนินงาน
จากกลุ่มผู้หญิง 3 คนที่เป็น “ผู้เริ่ม” เห็นปัญหา และ “พยามยาม” เอาตัวเองไปเรียนรู้ และหาคำตอบเพื่อมาแก้ไขจัดการ
เรื่องไหนทีทำได้ก็จะลงมือทำด้วยตัวเอง เช่นการรวมรวมกลุ่มสตรี การระดมเงินออมคนละบาทที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ให้ แต่สร้างคุณค่าใหญ่หลวงแก่ผู้รับ
เรื่องไหนที่ยังขาดความรู้และทักษะ ก็พยามยามเติมเต็มด้วยการเข้าไปฝึกอบรม และเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาสังคมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และสร้างเครือขายการทำงาน ขณะเดียวกันภารกิจไหนที่ต้องการ “ทักษะพิเศษ” เช่นการประสานกับกลุ่มคนระดับผู้นำศาสนา คณะทำงานก็หาแนวร่วมเพื่อที่ทำให้งานเดินหน้าและสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์
และเมื่องานบรรลุเป้าหมาย ก็พยามยามทำเรื่องอื่น ๆ ที่ยกระดับขึ้น โดยมีเป้าหมายเดียวที่ยึดกุมมาตั้งแต่เริ่มต้นทำงานคือ “ชุมชนเข้มแข็ง”
จ๊ะมะ และ ทีมกลไกการทำงานเล่าว่า…ในช่วงการเริ่มต้นแนวคิด “กำพวนโมเดล” คนที่จะเข้ามาต้อง “เปิดใจ” ต้องมองคนอื่นเป็นพี่น้อง มองด้วยความรัก พร้อมที่จะสละเพื่อส่วนรวม
จากนั้นก็หาแนวร่วมที่ “คิดเหมือนกัน”
“ซึ่งคนแบบนี่อาจจะหายาก…แต่เราต้องเชื่อว่ามีอยู่จริง” สท..ฮาดีย์เสริม
เมื่อได้คนที่มีใจเหมือนกัน…พอถึงช่วงทำกิจกรรม ก็ต้องชัดเจน มีระบบ เอาจริงเอาจัง เมื่อคนเห็นว่ามีความมุ่งมั่นชัดเจน….ก็อยากจะเข้ามาร่วมในกิจกรรม
และประการสำคัญคือ…ใช้หลักศาสนาในการขับเคลื่อน
“การใช้หลักศาสนาจะทำให้เรามีหลักยึดว่าเราจะทำงานไปทำไม และเพื่อใคร ในวิถีมุสลิมสอนให้เราทำดี ไมว่าจะเพื่อใครก็ตาม”
+++++++++++