dafgadfgdf
artical

การเตรียมคนฐานรากเพื่อเข้าสู่เมืองไทย 4.0

บัญชร  แก้วส่อง : อดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น

การวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นการวิจัยที่ดำเนินการโดยชาวบ้าน  มีเป้าหมายเพื่อการสร้างคน  สร้างความรู้  และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับท้องถิ่น

การสร้างคนในมุมมองการวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือการสร้างนักวิจัยที่เป็นพุทธะ  เป็นผู้ตื่น  เป็นผู้รู้  เป็นผู้เบิกบาน  นั่นคือนักวิจัยที่มีประมาณ 20-30 คน  ต่อประเด็นนั้น  ต้องลงมือทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัญหาของชุมชนเอง  ทำความเข้าใจในเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ และลงมือปฏิบัติการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้องการ  ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นผู้มีสติ  ตื่น รู้ ในเรื่องราวที่ตนเองวิจัย  และเนื่องจากงานวิจัยชาวบ้านเป็นการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาของชาวบ้านเอง  เมื่อเกิดการแก้ปัญหาได้ ก็จะเกิดการเบิกบานโดยทั่วหน้ากัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลจากการวิจัยในวงกว้าง

การสร้างความรู้ท้องถิ่นอาจจะเรียกว่าเป็นการสร้างธรรมะ  เป็นความรู้ที่อิงอาศัยกับฐานชีวิตด้านต่าง ๆ ของชุมชนที่มีฐานจากระบบนิเวศน์วัฒนธรรมที่ดำรงอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ   ซึ่งในเบื้องต้นมักเป็นความรู้บนฐานประสบการณ์และภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่น   แต่ในหลายครั้ง ๆ เรามักจะพบว่าประสบการณ์และภูมิปัญญาเดิมที่มีนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการตอบปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น  จึงต้องมีการศึกษาดูงานหาความรู้ใหม่มาประยุกต์หรือปรับใช้  หรือบางครั้งก็ใช้ความรู้สมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้เดิม  ช่วยให้ได้วิธีการแก้ปัญหาใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ใหม่

การสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับท้องถิ่นที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของชุมชนหรืออาจจะเรียกว่าการสร้างสังฆะ  ที่ก่อให้เกิดกลไกของชุมชนลุกขึ้นมาร่วมกันจัดการปัญหานั้น ๆ  เกิดพลังกลุ่มที่ร่วมกันทำงานที่เข้มแข็งโดยมุ่งต่อการจัดการกับปัญหาที่เผชิญอยู่ในหลายพื้นที่พลังที่เกิดขึ้นเป็นพลังของเครือข่ายเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น  ในหลายพื้นที่หรืออาจจะพูดได้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่การเคลื่อนไหวทางสังคมดังกล่าวยังเป็นพลังที่ต่อเนื่องถึงแม้ว่าโครงการวิจัยจะสิ้นสุดไปแล้วก็ตาม

จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเมื่อมองเชิงลึกต่อไปพบว่า  คุณลักษณะของนักวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการวิจัยนั้นมีทักษะพื้นฐานในด้านการคิด  การวิเคราะห์บนฐานข้อมูล มีทักษะการเก็บรวบรวมข้อมูล   บางคนมีทักษะในการจัดการโครงการ  การจัดการการเงิน  บางคนเกิดทักษะทางภาษาโดยเฉพาะการเขียนเพิ่มขึ้น    ในกลุ่มนักวิจัยหลายคนเกิดทักษะและการเรียนรู้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์มาช่วยในการจัดการรายงานการวิจัย  เหล่านี้เป็นทักษะในเชิงเทคนิคที่เกิดขึ้นกับนักวิจัย   แต่ทักษะที่น่าสนใจคือทักษะทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น  การทำงานร่วมกันกับคนอื่น  การประสานความร่วมมือกับนักวิชาการหรือคนภายนอก  การประสานติดต่อหน่วยงาน  การเจรจาต่อรองกับหน่วยงานบนฐานความรู้  เป็นต้น  และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นเราพบว่า คนเหล่านี้เป็นคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะและแสดงออกในการเป็นคนที่มีจิตสำนึกสาธารณะที่ชัดเจนมากขึ้น  เช่น  การทำงานสาธารณะที่มากขึ้น  การคิดถึงผลประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว  การแสดงออกถึงความสุขจากการที่ได้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ฯลฯ

ในยุค 4.0 เราต้องการคนแบบไหน  คนที่มีความเก่งทางด้านเทคโนโลยี  สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับตนเองและประเทศชาติอย่างมหาศาล  เราจะมีคนแบบนั้นได้กี่คน  แล้วคนอื่น ๆ จะอยู่ที่ไหนกันจะมีพื้นที่ไหนให้เขายืนอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าเหมือนกับคนเหล่านั้น 

ในยุค 4.0 เราต้องการความรู้แบบไหน  ถ้ามุ่งความรู้ไปในเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียุคใหม่โดยไม่สนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นบ้าน  แล้วชาวบ้านทั่วไปจะมีโอกาสสร้างความรู้หรือหาความรู้ที่เหมาะสมมาจัดการกับชีวิตของตนเองได้อย่างไร  ชีวิตก็ต้องพึ่งพาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายนอกทั้งหมดกระนั้นหรือ  แน่นอนว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและล้ำสมัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก้าวต่อไปข้างหน้า  แต่ก็ไม่ควรทอดทิ้งความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบพื้นบ้านที่ประกอบเป็นฐานชีวิตของคนส่วนใหญ่  เพื่อให้เขาได้มีโอกาสใช้ความรู้แบบนั้นยกระดับชีวิตและเศรษฐกิจของตนเองได้   ถึงแม้จะไม่ล้ำหน้าช่วยให้ประเทศพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (คำของใครก็ไม่รู้) ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศก็ตาม  แต่ถ้าจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังต้องให้โอกาสความรู้เหล่านี้ได้มีที่อยู่ที่ยืนเป็นทางเลือกทางออกของคนกลุ่มใหญ่ด้วย  นี่คือหนทางของการไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

การสร้างคนในมุมมองการวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือการสร้างนักวิจัยที่เป็นพุทธะ  เป็นผู้ตื่น  เป็นผู้รู้  เป็นผู้เบิกบาน  นั่นคือนักวิจัยที่มีประมาณ 20-30 คน  ต่อประเด็นนั้น  ต้องลงมือทำความเข้าใจกับสถานการณ์ปัญหาของชุมชนเอง  ทำความเข้าใจในเหตุแห่งปัญหานั้น ๆ และลงมือปฏิบัติการร่วมกันเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต้องการ  ดังนั้นนักวิจัยจึงเป็นผู้มีสติ  ตื่น รู้ ในเรื่องราวที่ตนเองวิจัย  และเนื่องจากงานวิจัยชาวบ้านเป็นการค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาของชาวบ้านเอง  เมื่อเกิดการแก้ปัญหาได้ ก็จะเกิดการเบิกบานโดยทั่วหน้ากัน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ได้รับผลจากการวิจัยในวงกว้าง

ทุกวันนี้รัฐเห็นความสำคัญของการพัฒนาจากฐานราก  จึงได้ทุ่มเทงบประมาณเพื่อการพัฒนาลงไปที่พื้นที่โดยตรง  แต่ด้วยการทุ่มเงินลงไปผิดที่ผิดทางผิดเวลา  จึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของคนฐานรากดังที่ต้องการ  น่าจะถึงเวลาหรือยังที่รัฐจะปรับทิศทางและวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงของฐานรากใหม่    โดยผลักดันให้มีนโยบายการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้และนวัตกรรมที่มาจากคนฐานราก  การดำเนินการดังกล่าวต้องการนโยบายการสร้างคน  สร้างความรู้  และสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก  ผ่านวิธีการระบบการขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน  โดยการสร้างหนึ่งตำบล/ชุมชน หนึ่งงานวิจัย  แต่การดำเนินการดังกล่าวต้องการการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์มิเช่นนั้นก็เป็นผลาญเงินของชาติโดยใช่เหตุและอาจจะเป็นการทำลายชุมชนไปในตัวด้วย

++++++++++