artical

การจัดการเมล็ดพันธุ์ : ชะตากรรมในมือชาวนา (เกษตรกร)

ภาพมุมสูงจากหน้าต่างของเครื่องบินเมื่อเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆของภาคอีสาน หากนำสายตาของท่านมองมาที่ผืนดินด้านล่างในช่วงฤดูของการทำการผลิต ท่านจะพบกับภาพทุ่งนาสีเขียวสลับกันไปดังภาพสนามฟุตบอลขนาดใหญ่จดสุดลูกหูลูกตาดั่งมหาสมุทรสีเขียวขจีบนพื้นราบ ท้องทุ่งนาเหล่านี้เปรียบเสมือนสายธารหล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรผู้ซึ่งเป็นดั่งเจ้าของประเทศในการผลิตข้าวให้กับผู้คนในชาติ “อีสาน” ถือได้ว่าเป็นภูมิภาคที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยและภูมิภาคนี้ยึดถืออาชีพเกษตรกรเป็นหลักโดยเฉพาะการทำนาข้าว

การผลิตของชาวนาอีสานแต่เดิมนั้นยังคงมุ่งที่การผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน การทำนาของชาวนาอีสานแต่เดิมเน้นการปลูกข้าวเพื่อกินเอง มีการปลูกข้าวที่หลากหลายพันธุ์ตามลักษณะพื้นที่  การใช้ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ พันธุ์ข้าว ที่ดิน แรงงาน ยังคงอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งตนเอง และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในชุมชน โดยเฉพาะในเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกนั้นชาวนาอีสานทุกครัวเรือนจะต้องคัดพันธุ์ข้าวปลูก คือเลือกคัดรวงข้าวที่มีลักษณะดีตามสายพันธุ์เดิมไว้ และเก็บพันธุ์ข้าวปลูกไว้ให้เพียงพอสำหรับฤดูการปลูกในปีถัดไป ชาวนาในแต่ละพื้นที่ได้คัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลาย เหมาะกับพื้นที่และวิถีการผลิตของชุมชน ลักษณะของเทคโนโลยีการเกษตรในเวลานั้น ยังคงเป็นอิสระจากการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร เป็นเทคโนโลยีการเกษตรแบบดั้งเดิมที่อาศัยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ

จนเมื่อลุเข้าช่วงของการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตของชาวนาอีสานให้เข้าสู่การทำเกษตรสมัยใหม่มากยิ่งขึ้น  การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรของชาวนาคือการเปลี่ยนในเรื่องพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ในภาคอีสานการเปลี่ยนในเรื่องพันธุ์ข้าวพบว่า การทำนาของชาวนาอีสานในปัจจุบันเน้นที่การปลูกข้าวเพียงไม่กี่สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวพันธุ์ส่งเสริมของหน่วยงานราชการ ภายใต้การรุกคืบของวัฒนธรรมข้าวสมัยใหม่ การพึ่งพิงอยู่กับเทคโนโลยี และระบบการตลาดของชาวนา ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบความรู้ในเรื่องพันธุกรรมข้าวของชาวนา การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในวัฒนธรรมข้าว ในประเด็นของการใช้พันธุกรรมข้าวมีนัยยะที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะพันธุ์ข้าวนั้นถือได้ว่าเป็นหัวใจการผลิตของชาวนาและชาว

เสียงเล่าขานจากปากของหญิงสูงวัยชาวอีสานที่ยึดอาชีพทำนามาเกือบทั้งชีวิต แม้ในปัจจุบันร่างกายอาจขาดเรี่ยวแรงเปลี่ยนไปตามความทรุดโทรมของร่างกายแต่ความรู้เรื่องการทำนาในความทรงจำมิได้หย่อนยานไปตามร่างกายอันสูงวัยแต่อย่างใด ได้เล่าให้เห็นภาพของชาวนาเมื่อครั้งระบบของการทำนาที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตแบบพึ่งตนเองให้หวนคิดถึงอดีตว่า  “แต่ก่อนสมัยพ่อแม่ ตายาใช้ความไถนา เฮ็ดนาดำ ใช้ขี้วัวขี้ควายใส่นา บ่อได้ใช้ปุ๋ยเคมี บ่อได้ใช้ยาแต่ข้าวก็บ่อหลาย อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ บางปีกะแล้งบางปีกะน้ำท่วม เฮ็ดไปตามบุญตามกรรม เฮ็ดนาแล้วก็มาเฮ็ดสวน เลี้ยงไหมต่ำสาด ต่ำหูกเฮ็ดเอาเองทุกอย่าง บ่อมีแนวได้ซื้อ พ่อแม่กะมีลูกหลายคน ผู้เอื้อยผู้อ้ายกะสิได้เลี้ยงน้อง ลำยากก่อหมู่ แต่กะอยู่กันได้ กะมีความสุขดีอยู่ เกี่ยวข้าวแล้ว กะเอาข้าวมากองไว้ลานที่เฮ็ดจากขี้ควาย เฮ็ดล้อมข้าวงามๆยามมื้อเช้ากะตื่นไปตีข้าวแต่ดึก ตีข้าวแล้วกะเอาข้าวขึ้นเล้า นำฟางข้าวไปเก็บไว้ให้วัวควายกินเขาเอิ้นว่าลอมฟาง เด็กน้อยก็แล่นเล่นนำกองฟางอย่างสนุกสนาน กะกินของนำป่าจังเห็ด หน่อไม้ ไข่มดแดง หลายแนวอยู่ น้ำกะกินตามหนองตามบ่อนำฮอยควายกะกินได้บ่อได้ย่านสารเคมีสุมื้อนี้”  วิถีการผลิตข้าวจากเรื่องราวที่ผู้เฒ่าได้เล่าให้ฟังทำให้เราเห็นภาพของชาวนาอีสานที่เฮ็ดไร่เฮ็ดนาด้วยมือของตนเอง วิถีการดำเนินชีวิตที่พึ่งพิงกับธรรมชาติพร้อมๆกับระบบการผลิตแบบยังชีพที่ใช้ภูมิปัญญาของตนเองในการทำกิน

ภาพวันวานของระบบการผลิตข้าวได้ปรับเปลี่ยนไปพร้อมๆกับการเข้ามาของระบบอุตสาหกรรมที่ข้าวมิได้เป็นแค่อาหารที่ทำการบริโภคเพื่อเลี้ยงชีวิตของเจ้าของผู้เฮ็ดนา แต่ข้าวได้กลายมาเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดรายได้แก่เจ้าของนา ผืนนาก็เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเสมือนโรงงานที่ผลิตวัตถุดิบในการดำรงชีพ หล่อเลี้ยงชีวิตผู้เป็นชาวนามาตั้งแต่อดีตด้วยฮีตของภูมิปัญญาที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน ด้วยวิถีการผิตที่อยู่ในกำมือของผู้ผลิตนาที่รู้จักใช้องค์ความรู้ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่จะปลูกในระบบนิเวศน์ โคก ทาม ทุ่ง เพื่อให้ได้ข้าวกินโดยไม่ต้องซื้อ ระบบการผลิตได้ผลิกผันไปตามระบบทุนนิยม เศรษฐกิจกระแสหลักที่เปลี่ยนการปลูกเพื่อกินกลายมาเป็นปลูกเพื่อเป็นสินค้านำมาซื้อรายได้ที่ต้องการผลผลิตจำนวนมากจากผืนนาผืนเดิม ผืนนาของผู้อื่น การพึ่งตนเองที่เคยดำรงอยู่หันมาพึ่งพาระบบภายนอกที่มีต้นทุนการผลิตตั้งแต่การปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยว“มีคลองชลประทานเข้ามา เฮ็ดให้พ่อแม่ได้เปลี่ยนวิธีการเฮ็ดนา เริ่มมีปุ๋ยเข้ามาขายในหมู่บ้าน มีพ่อค้าเอามาขาย ว่ามันเฮ็ดให้ข้าวงามได้ข้าวหลาย นากะเฮ็ดได้สองเทื่อคือนาปีกับนาปรัง เปลี่ยนการดำนามาเป็นนาหว่าน กะมีหญ้าเกิดกะเริ่มได้ใช้ยาฆ่าหญ้า ต่อมากะมีรถไถนาควายเหล็ก คนกะบ่อใช้ควายไถ่นาอีกเพราะมันช้า แดไปเฮ็ดมาข้าวปลูกกะได้ซื้อ มีแนวได้ซื้อ ต้นทุนแอ็ดนากะสูงขึ้น คนกะเริ่มเป็นหนี้ ธกส. เป็นหนี้สหกรณ์โดยบ่ฮู้ตัว จนสุมื้อนี้มีหนี้มากมาย สารเคมีกะใช้หลายขึ้น ปุ๋ยเคมีกะใช้หลายขึ้น ปูปลา ผักในนากะสูญพันธุ์ หากินลำบาก ต้องซื้อกินอย่างเดียว ความอุดมสมบูรณ์ก็หมดไปนำ” จากถ้อยคำที่แม่รอง หนองภัคดี ผู้ซึ่งอยู่กับนามาตั้งแต่เด็กจนโตได้ให้ภาพของการเปลี่ยนผ่านของการเฮ็ดนาได้เป็นอย่างดีเคยมีความรู้อยู่อย่างหลากหลายในการจัดการเรื่องพันธุ์ข้าว

ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยได้สนับสนุนงานวิจัยระดับชุมชนโดยมีชาวบ้านเป็นเจ้าของปัญหาที่ตื่นรู้จากปัญหาและต้องการหาทางแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสร้างการเรียนรู้ นำเอาองค์ความรู้จากการวิจัยไปแก้ปัญหาของเจ้าของเอง การศึกษาพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านเพื่อการขยายผลผลิตข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนพื้นที่บ้านกุดหิน บ้านกำแมด บ้านโนยาง ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เป็นตัวอย่างหนึ่งของานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสานที่แสดงให้เห็นถึงความตระหนักของพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่กำลังจะศูนย์หายไปจากผืนนาของชาวบ้าน  เนื่องมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่หันไปนิยมใช้เมล็ดพันธุ์ส่งเสริมจากภาครัฐและกลุ่มธุรกิจเกษตรกรโดยเฉพาะพันธุ์ข้าว เช่น ข้าว กข.6 กข.15 ข้าวหอมมะลิ 105 เกษตรกรกว่าร้อยละ 18 ต้องซื้อพันธุ์ข้าวจากร้านค้า โดยมีความเชื่อว่า “พันธุ์เราดี ไม่เท่าของเขา” จึงไม่เก็บพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองหันหน้าไปซื้อพันธุ์ข้าวมาปลูกทั้งที่เป็นผู้ผลิตส่งผลต่อการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ก่อให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น  ผลของงานวิจัยได้ให้คำตอบกับชุมชนว่า ชาวบ้านได้พัฒนาตนเองเป็นศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว มีผู้ผลิตคัดพันธุ์ข้าวเพื่อขยายเป็นพันธุ์หลัก 10 ครอบครัว มีคนที่ปลูกข้าวพื้นบ้านเพื่อตำหน่ายโดยมีมาตรฐาน 40 ครอบครัว โดยมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เป็นที่ต้องการของตลาด 15 พันธุ์ คือ กข 6 มะลิแดง ก่ำน้อย ก่ำเปลือกขาว มะลิ 105 แสนสบาย เล้าแตก เจ้าแดง ดอฮี ป้องแอ้ว นางนวล มะลินิล หอมนิล เขี้ยวงู เหนียวแดง การผลิตพันธุ์ข้าวพื้นบ้านเพื่อใช้เองเนื่องจากข้าวที่กล่าวมานั้นเป็นพันธุ์ข้าวที่ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคให้ผลผลิตสม่ำเสมอ รดชาติดี ตลาดต้องการ เป็นการพึ่งพาตนเองของชุมชนไม่ต้องอยู่ภายใต้การค้าเมล็ดพันธุ์ของบริษัท ภายใต้คำที่ว่า “พันธุกรรมเป็นหัวใจของความมั่นคงทางอาหาร ชาวบ้านต้องเป็นเจ้าของพันธุ์”