กระบวนการ“หนุน”และ “สร้าง” นักวิจัยชาวบ้าน
หากมองย้อนไปการทำงานชุมชน การพัฒนาท้องถิ่น ทั้งส่วนราชการ องค์กรพัฒนาเอกชนซึ่งมีเทคนิค วิธีการที่หลากหลาย แล้วแต่องค์กรไหนจะใช้เครื่องมือชนิดไหนในการทำงาน ล้วนแล้วมีเป้าหมายในการพัฒนาคือ “การเพิ่มขีดความสามารถของคนในชุมชนให้เขาได้ริเริ่ม ได้ตัดสินใจด้วยตัวของเขาเอง”
งานวิจัยท้องถิ่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ตอบเป้าหมายนั้น เป็นการสร้างโอกาสให้ชาวบ้านได้ใช้เครื่องมือวิจัยทำงานชุมชน นำไปสู่การแก้ปัญหา สร้างการเปลี่ยนแปลง ตามความต้องการของคนท้องถิ่น
ดังนั้น…การที่จะสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการทำงานวิจัยจึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายมากนัก แต่ก็ไม่ถึงกับยากจนเกินไป ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเข้ามาเรียนรู้งานวิจัยท้องถิ่น จากพี่เลี้ยง จากการบอกเล่าประสบการณ์ของคนทำงานจริง(ทีมวิจัย) ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจเบื้องต้นในงานวิจัยท้องถิ่น
เมื่อเริ่มเห็นช่องทางการนำไปใช้ประโยชน์มาสู่กระบวนการพัฒนาโจทย์วิจัย และการพัฒนาโครงการเป็นช่วงที่ชาวบ้านได้เริ่มเรียนรู้จริงในวิธีการวิจัย ที่ไม่ต้องไปเรียนในห้องเรียน ในระยะแรกความมั่นใจของชาวบ้านเริ่มลดลง อยู่ในช่วงการวางกรอบการดำเนินงาน วิธีการทุกอย่าง และต้องสอดคล้องเชื่อมโยง มีการตรวจสอบในสิ่งที่คิดจนละเอียด ถามไป ถามมา ถามซ้ำหลายครั้ง แต่เมื่อโครงการวิจัยมีความชัดเจนมาก ความมั่นใจก็กลับมาอีกครั้ง
ผ่านขั้นตอนการพัฒนาโครงการวิจัย ความฝัน ความสำเร็จของวิจัยเป็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ยังมองไม่เห็นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นจริงอย่างไร แค่ไหน ความมั่นใจของทีมวิจัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีอยู่ เป็นบทบาทของพี่เลี้ยงต้องคิดกระบวนการหนุนสร้างนักวิจัย ….ให้มีความมั่นใจในการทำงานวิจัยต่อไป จากประสบการณ์ที่ผมได้คลุกคลีมาพอจะบอกกล่าว ดังนี้
การลงติดตาม สม่ำเสมอ เป็นเพื่อนคู่คิดในทุกๆงาน
ทีมวิจัยโดยส่วนใหญ่ไม่มั่นใจกับตัวเองในการใช้เครื่องมือวิจัยในการทำงานในชุมชนของตัวเอง คิดว่าเป็นสิ่งที่ยากเกินความสามารถตัวเอง โดยวิถีตัวเองแล้วการจดบันทึก การเก็บข้อมูลไม่ค่อยมีให้เห็นในชีวิตประจำวัน เรื่องใหม่ๆแบบงานวิจัยเป็นสิ่งที่น่ากลัว และท้าทายสำหรับเขาในเวลาเดียวกัน แต่หัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเป้าหมาย และความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะอย่างไรเสียก็ต้องเดินต่อ
การทำกิจกรรมของพี่น้องนักวิจัยมีความกลัวปะปนอยู่ด้วยตลอด เช่น กลัวชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ กลัวในการพูด นำเสนอไม่ถูก กลัวจะจดบันทึกไม่เป็น และสุดท้ายกลัวว่าสิ่งที่ได้นำมาสรุปไม่ถูก จะทำอย่างไรต่อกับข้อมูลเหล่านั้น ความกลัวเหล่านี้จำเป็นต้องผ่อนคลาย ด้วยการ เตรียมทีม(บทบาท ภาระ) เตรียมงาน(ประเด็น) เพื่อลดความกลัวให้น้อยที่สุด ในช่วงเวลานี้นักวิจัย และพี่เลี้ยง ใช้วิธีการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ปรึกษา หารือในระหว่างการทำงานอยู่เรื่อย ๆ และถ้าหากทีมวิจัยมีการพูดคุยแบบนี้มากเท่าไหร่จะส่งผลให้ทีมมั่นใจในการทำงานมากขึ้นเช่นกัน
การฝึกทักษะการประสานงานการนำเสนอและทดลองทำจริง
ทุกครั้งที่มีการเตรียมงาน ทีมวิจัยจะต้องมีการเตรียมประเด็นในการพูดคุยนำสิ่งที่คาดหวังตามแผนงานมาวิเคราะห์ ถ้าให้ได้ผลตามแผนจะทำอย่างไร เนื่องจากงานวิจัยท้องถิ่น ทีมวิจัยเป็นผู้มีบทบาทสูงสุดในการทำงาน ทักษะต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงาน จึงมีการเรียนรู้ไปด้วย เช่น การนำเสนอในที่ประชุม ความถนัดเดิมการประชุมของชาวบ้านจะไม่มีเครื่องมือในการนำเสนอ ใช้การพูดปากเปล่า เอกสารไม่มีแจก พี่เลี้ยงชวนวิเคราะห์…ตัวช่วยสร้างความเข้าใจได้ดี ต้องมีสื่อ ใช้เวลาไม่มาก และทุกคนสามารถทำได้ เมื่อทุกคนสรุปร่วมกัน จึงมีการนำเนื้อหามาจัดทำสื่อด้วยตนเอง ของใคร ของมัน ตามความรับผิดชอบ และนำกลับมาดูร่วมกันทดลองนำเสนอกันดู และปรุงแต่งเพิ่มเติม
การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากบทเรียนในฐานะพี่เลี้ยงจะชวนคุยเตรียมกันก่อนในการเข้าพบ หรือติดต่อประสานงาน คือ ความต้องการ (ไปหาเขาเราต้องการอะไร) หรือประเด็นในการพูดคุย คนที่จะไป จะไปกันอย่างไร ใครมีหน้าที่พูดคุย ใครช่วยเสริมเพิ่มเติม ต้องมีอะไรที่ติดไม้ติดมือไป เช่น เอกสารที่เกี่ยวกับงานวิจัย ของฝาก(ถ้ามี) โดยพี่เลี้ยงจะไปด้วยในครั้งแรก เพื่อช่วยเสริมในการพูดคุย และเพิ่มความมั่นใจของทีม เมื่อมีครั้งต่อไปทีมจะมีการเตรียมกันเองโดยใช้วิธีการเดิม พี่เลี้ยงเข้าร่วมประชุมในการพูดคุยเตรียมงาน
เมื่อเสร็จสิ้นการทำกิจกรรมแต่ละครั้ง จะมีการพูดร่วมกัน ระหว่างทีมวิจัย แกนนำ และพี่เลี้ยงปรึกษา หารือ สิ่งที่ได้จากกิจกรรม เช่น ความคาดหวังในกิจกรรม เห็นพัฒนาการของทีมอย่างไร เกิดความมั่นใจในการทำงานขึ้นบ้างไหม มีปัญหาอุปสรรค และแก้ปัญหาอย่างไร แต่ละคนต้องช่วยมองกันและกัน สิ่งที่สำคัญที่สุดทำอย่างไรให้เกิดความมั่นใจในการทำงาน(พัฒนาการ)ครั้งต่อไปให้มากกว่าครั้งนี้
การสร้างแนวคิดการทำงานร่วมกันในรูปแบบกลุ่มองค์กรทีม
การเรียนรู้ที่ทีมวิจัยจำเป็นต้องรู้ในลำดับแรก คือ เรียนรู้กันเองในทีมวิจัย ถามว่าคนในบ้านเดียวกันไม่รู้จักกันหรือ ทุกคนตอบว่ารู้จัก แต่หลายคนที่รู้จักกันแต่ไม่เคยทำงานร่วมกัน การเรียนรู้การทำงานด้วยกันเริ่มตั้งแต่การพัฒนาโครงการวิจัย ทีมเข้าร่วมจะมีการเปลี่ยนหน้าอยู่ตลอด และจะมีส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมตลอด การพัฒนาโครงการเป็นช่วงของการพิสูจน์ทีมทำงาน ความจริงใจ การเสียสละ อดทนฯลฯ ซึ่งกว่าจะผ่านจุดนั้นมาได้ถือว่าทีมวิจัยมีเหมือนกันทุกคน แต่เมื่อมาถึงช่วงของการดำเนินงานความต่างที่มีไม่เหมือนกัน คือ ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ที่มี การพูดการเขียน การนำเสนอ ความรับผิดชอบในครอบครัว(ลูกยังเล็กแถมมีหลายคน ค่าใช้จ่ายในครอบครัวสูงกว่า) ความเข้าใจของครอบครัวในงานที่ทำ การประกอบอาชีพถึงแม้จะเหมือนกัน เช่น ทำประมงแต่เครื่องมือต่างกัน เวลาในการทำงานจึงไม่เหมือนกัน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของทีมวิจัย ที่ทุกคนต้องรู้ซึ่งกันและกันให้มากยิ่งกว่าเดิม การประชุม นัดรวมตัวแต่ละครั้งต้องให้โอกาสแต่ละคนมาร่วมคิด เมื่อจำเป็นต้องมีการตัดสินใจจะทำเรื่องใดก็ตามพยายามให้ทีมวิจัยมีมากที่สุด ปรึกษาหารือกันก่อน ซึ่งเป็นการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการ ถ้าหากมีคนใดขาดไปไม่ใช่ความผิด ต้องมีการสื่อสารทำความเข้าใจอยู่ตลอด
พี่เลี้ยงต้องช่วยพูดคุย ให้ทีมมีความเข้าใจ งานวิจัยที่ทำไม่ใช่อาชีพหลัก แต่ทุกคนอาสาช่วยกัน ไม่ควรรีบทำเพื่อให้กิจกรรมเสร็จ แต่จะทำอย่างละเอียด รอบคอบ และมีเป้าหมาย สร้างโอกาสให้ทุกคนเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมเป็นหลักในการทำงาน ใช้ความเก่ง ความสามารถ ตามความถนัด ที่มีของแต่ละคนในทีมออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้
จากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ผมได้ลงสัมผัสงานวิจัยท้องถิ่นกับชุมชน บางสิ่งบางอย่างอาจจะนำมาเล่าได้ไม่หมด แต่ที่สำคัญเราต้องคำนึงอยู่เสมอว่า เป้าหมายคือการนำเครื่องมืองานวิจัยมาพัฒนาศักยภาพของคน ชุมชน ให้เข้มแข็ง ดังนั้นการเข้าถึงคน ชุมชน เป็นสิ่งสำคัญ นึกอยู่เสมอว่าเรากำลังพัฒนาชุมชนของตัวเองอยู่ มีความจริงใจทุกเวลา พร้อมที่จะเป็นเพื่อนร่วมทางกับเขาทุกเมื่อ