artical

กระบวนการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ภายใต้กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น

 “วิกฤติ” กลับมาอีกครั้ง แต่รอบนี้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจดังเช่นปี 2540 หากเป็นวิกฤติที่เรียกว่า Disruptive ที่ใครปรับตัวได้ก่อนย่อมอยู่รอดในโลกยุคใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการปรับตัวภายใต้วิกฤติก็ถูกเร่งให้เร็วขึ้นด้วยเกิดโรคระบาดอย่าง Covid – 19 ที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัว เกิดการเลิกจ้างงานโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มบริการ เช่นเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งมีการคาดการว่า ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

ภาพที่เห็นคือการเกิดขึ้นของอาชีพที่หลากหลาย มีการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากผู้ที่เคยทำหน้าที่ผลิตอย่างเดียวต้องปรับตัวเป็นผู้ขาย ผู้ประกอบการหลายรายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่อยู่ได้ พูดตรงกันคือ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ล้วนมีผลมาจากการสำรวจดูต้นทุนของตนเอง ทั้งเรื่องความถนัด ความรู้ และการสนับสนุนของหน่วยที่เกี่ยวข้อง

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมองลงไปในชุมชน ยังปรากฏกลุ่มคนที่ขาดโอกาส และการเข้าถึงความรู้เพื่อการปรับตัวในโลกใหม่ คำถามคือจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี่ได้มีโอกาสเข้าถึงทุน และความรู้

           ปี 2562 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา ปัญหาจากความยากจน ความด้อยโอกาส เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาอาชีพ  จึงได้สนับสนุนทุนพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ภายใต้โครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส  เป้าหมายสำคัญคือ “จัดทำระบบสนับสนุนและพัฒนาแรงงาน”  ที่นำไปสู่การสร้างชีพ ให้แก่กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนยากคนจน กลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

          ทั้งนี้ เพราะ จากการวิเคราะห์กระบวนการและระบบสนับสนุนงานสร้างอาชีพที่ผ่าน ๆ มาพบว่า หลายวิธีการเน้นเรื่องการอบรมการผลิต หรือการแปรรูป สนับสนุนให้มีร้านค้าชุมชน โดยคาดหวังว่าชุมชนท้องถิ่นจะมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชนนำไปจำหน่าย และในจำนวนเหล่านี้ พบว่ามากกว่าครึ่งไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากขาดการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง กระบวนการสร้างอาชีพก็ไม่ได้อยู่บนฐานความต้องการชุมชนซี่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย

          คำถามคือ “ทำอย่างไร” ให้กระบวนการพัฒนาอาชีพไม่ตกร่องเดิม นั่นคือ “อบรมแล้วจบไป” 

          และเมื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงานพัฒนาที่ผ่านมา พบว่า แนวทางที่เรียกว่า “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นกระบวนทำงานที่ตอบโจทย์ และตอบคำถาม การพัฒนาอาชีพแนวใหม่ เพราะเป็นกระบวนการที่สร้างเงื่อนไขให้ผู้ที่ประสบปัญหาลุกขึ้นมาตั้งคำถาม วิเคราะห์หาเหตุ มีการค้นหาข้อมูลความรู้ นำมาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หลายโครงการในหลายชุมชนสามารถใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ในชุมชนมาต่อยอดเป็นอาชีพเป็นการใช้ “ชุมชนเป็นฐาน” ในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้  

          อย่างไรก็ตาม “กระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” มิได้ดำเนินงานผ่านองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ดำเนินงานในรูปของเครือข่าย กล่าวคือ มีองค์กรสนับสนุนงบประมาณให้ภาคีที่เกี่ยวข้องและมีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับชุมชน  โดยมีกระบวนการสร้างเงื่อนไขให้ชุมชนได้มีโอกาสศึกษาหาความรู้ที่มีอยู่ในชุมชนเป็นฐานในการสร้างงานสร้างอาชีพ เรียกว่า “กระบวนการวิจัย” อันประกอบด้วย  การเก็บและบันทึกข้อมูล กระบวนการคิดวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปออกแบบแผนปฏิบัติการที่เรียกว่า Action Research อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า Active Learning

          แต่กระบวนการทั้งหมด เน้นการทำงานภายในชุมชน โดยคนในชุมชนเองที่เป็นผู้ประสบปัญหา และรวมกันหาทางแก้ไขปัญหา และเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ใช้ชุมชนเป็นฐานทั้งในแง่ของกลุ่มคน ความรู้ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และผลที่เกิดขึ้น นอกจากปัญหาจะคลี่คลาย คนหรือทีมวิจัยเกิดการเรียนรู้พร้อม ๆ กับมีทักษะวิจัยติดตัว สามารถใช้วิธีการดังกล่าวไปจัดการปัญหาอื่น ๆ ได้อนาคต และขณะเดียวกัน ในระหว่างการทำงานวิจัยเกิดการเชื่อมร้อยเครือข่ายทั้งในและนอกชุมชน เพื่อใช้เป็นกลไก แก้แก้ไขปัญหาโดยใช้ฐานที่มีอยู่ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ คน และภาคีเครือข่าย

          ดังนั้น รูปแบบการพัฒนาอาชีพแนวใหม่จึงใช้ชื่อว่า “การพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน” 

กระบวนการทำงาน

            กระบวนการทำงานในช่วงเริ่มต้น เป็นช่วงของการ ออกแบบระบบ โดยโครงการนี้ใช้ “ระบบสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ซึ่งแยกเป็น

  1. ระบบสนับสนุนงบประมาณ
  2. ระบบสนับสนุนกระบวนการทำงาน
  3. ระบบสนับสนุนการพัฒนาชีพ

1.ระบบสนับสนุนงบประมาณ

            ในที่นี่คือ กสศ. ซึ่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อการสร้างอาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มคนด้อยโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์โดยสนับสนุนในสองลักษณะคือ

  • งบประมาณในการพัฒนากลไก หรือ ระบบทดลอง
  • งบประมาณในการทำโครงการพัฒนาชีพให้กับกลุ่มเป้าหมาย

2.ระบบสนับสนุนการทำงาน

            สำหรับโครงการทุนพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน แบ่งการทำงานของระบบสนับสนุนการทำงานออกเป็น 2 ระดับคือ

2.1 กลไกกลาง

          เนื่องจากโครงการนี้ใช้ “กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นแม่แบบในการทำงาน ดังนั้น ในกระบวนการทำงาน จำเป็นต้องมี “กลไกกลาง” หรือ “ทีมกลาง” ทำหน้าที่ประสานงาน และพัฒนาศักยภาพคนทำงานตามความต้องการและความจำเป็นของสถานการณ์ในช่วงนั้น รวมทั้งลงพื้นที่ร่วมเรียนรู้  ติดตาม หนุนเสริม ให้กำลังใจ เพื่อเก็บข้อมูลกลับมาออกแบบระบบสนับสนุนในระยะต่อ ๆ ไปเพื่อให้การดำเนินงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดโดยมีขั้นตอนและวิธีการดำเนินงานดังนี้

  • ประชุมคณะทำงานเพื่อออกแบบการติดตามและการเสริมพลังหน่วยพัฒนาในระดับภาค รวมทั้งออกแบบออกแบบกิจกรรมเพื่อการติดตามและการเสริมพลังหน่วยพัฒนาในระดับภาค ทั้ง 4 ภาค
  • การออกแบบจัดทำเครื่องมือการจัดการความรู้ และการติดตามประเมินผลต่อหน่วยพัฒนาอาชีพที่มีความสอดคล้องกับการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนเพื่อให้โครงการของหน่วยพัฒนาสามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายของโครงการต่อกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส
  • การพัฒนาชุดความรู้ และกระบวนการเสริมพลังในการติดตามในพื้นที่ของหน่วยพัฒนาอาชีพเพื่อให้หน่วยพัฒนาอาชีพสามารถมีแรงบันดาลใจ ความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการให้มีความต่อเนื่องและตรงกับความต้องการของกลุ่มแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส และพื้นที่ชุมชน
  • วางแผนการติดตามประเมินผล และการเสริมพลังของหน่วยพัฒนาอาชีพโดยเพิ่มบทบาทขององค์กร หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษา ข้อแนะนำต่อโครงการที่หน่วยพัฒนาอาชีพได้ดำเนินการในพื้นที่
  • การติดตามและสรุปผลการติดตามภาพรวม  การทำงานของทีมภาค รวมทั้งจัดประชุมคณะทำงานกลางเพื่อการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ

  • บทบาทหน้าที่ทีมกลาง
  1. บริหารทีมงาน และการจัดการทรัพยากรโครงการ โดยการออกแบบกลไกการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิมีความคล่องตัวและการขับเคลื่อนทีมงานแบบองค์กรที่มีชีวิต ซึ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของทีมงานในการจัดกระบวนการสร้างการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความสัมพันธ์ให้เหมาะสมกับการพัฒนาหน่วยอาชีพและกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงออกแบบกระบวนการที่สอดคล้องกับความเชียวชาญของทีมงานให้เหมาะสมกับการจัดกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจในพื้นที่เป้าหมายหรือชุมชน โดยการสร้างอัตลักษณ์และความไว้วางใจของต่อการพัฒนาและการติดตาม ประสานงานในพื้นที่เป้าหมายหรือชุมชน (การเป็นพี่เลี้ยงในพื้นที่เป้าหมาย) ทั้งนี้การจัดสรรทรัพยากรเน้นความเหมาะสม สอดคล้องในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของโครงการ และการดำเนินงานโครงการมีความโปร่งใส่ตรวจสอบได้ เน้นการสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมที่ดีในการดำเนินงานเพื่อการสร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมของการจัดสรรการใช้ประโยชน์และทรัพยากรของโครงการฯ
  2. การสนับสนุนและพัฒนากลไกการเรียนรู้ให้กับหน่วยพัฒนาอาชีพ : การวางเงื่อนไขการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องและเอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับหน่วยพัฒนาอาชีพอย่างเหมาะสมต่อการเรียนรู้ที่มีความแตกต่าง และหลากหลายของบริบทพื้นที่ชุมชน โดยเน้นการออกแบบแผนงานและแผนปฏิบัติงานในการจัดการความรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานของหน่วยพัฒนาอาชีพต่อกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เพื่อพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส ทั้งนี้จำเป็นต้องพัฒนากลไกการจัดการความรู้อย่างเหมาะ โดยมีผู้ประสานงานในระดับภาคเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงกระบวนการและการหนุนเสริมหน่วยพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง และให้เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการฯ
  3. การออกแบบการเรียนรู้ การเพิ่มพูนทักษะ และการสร้างกระบวนทัศน์ต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่: การออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมแก่หน่วยพัฒนาอาชีพที่มีความหลากหลาย และมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยคณะทำงานกลางได้กำหนดเป็น “หลักสูตรแกนกลางของการทำงานในโครงการ” ได้แก่

  1. การพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

  2. การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21

  3. การพัฒนาทักษะเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน

  4.การวิเคราะห์ชุมชนและการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย

  5.การกำหนดบันไดผลลัพธ์

  6.การบริหารจัดการโครงการ

ทั้งนี้ภายในหลักสูตรแกนกลางจะดำเนินงานเป็นกรอบกว้างๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาหลักสูตรหรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหน่วยพัฒนาอาชีพหรือบริบทพื้นที่แต่ละชุมชน โดยเน้นการเติมกระบวนการ ทักษะความรู้ และการพัฒนาจิตใจของหน่วยพัฒนาอาชีพ เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ อีกทั้งยังมีกระบวนการเติมวิธีการทำงานใหม่ให้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพ เพื่อให้หน่วยพัฒนาอาชีพสามารถนำกระบวนการที่ได้เรียนรู้ไปขยายผล สร้างกระบวนการเรียนรู้แก่กลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสในพื้นที่ชุมชน หรือพื้นที่การเรียนรู้ของตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ

4) การประเมินผล การถอดบทเรียน และการจัดการความรู้ : การจัดรวบรวมข้อมูล สารสนเทศ และการวิเคราะห์การดำเนินงานภาครวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นระดับภาพรวมของโครงการ การดำเนินงานระดับภาค หรือการดำเนินงานของหน่วยพัฒนาอาชีพ โดยการประเมินผลเน้นกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) และกระบวนการเสริมพลัง (Empowerment Evaluation) การทบทวนบทเรียน การถอดบทเรียน การแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วม (ทั้งหน่วยพัฒนาอาชีพ และกลุ่มเป้าหมาย) องค์ความรู้ที่เกิดขึ้น นวัตกรรม กระบวนการขั้นตอน และการสะท้อนผละกระทบของโครงการ ทั้งนี้ประกอบการใช้เครื่องมือการวิจัยเชิงการประเมินผลเข้ามาร่วมเป็นรูปแบบของการประเมินผลเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างถูกต้อง และเป็นข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อแหล่งทุน และกลุ่มเป้าหมาย

2.1 กลไกระดับภาค

          เนื่องจากการทำงานในกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น กลไกสำคัญในการดำเนินงานวิจัยของชาวบ้านคือ คือ โหนด (NODE) หรือ “ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ดังนั้น เมื่อกำหนดบทบาทและภารกิจ “ทีมกลาง” จะดำเนินงานสรรหา และ จัดตั้งคณะทำงานหรือ “กลไกการทำงานระดับภาค”  เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการทำงานพัฒนาอาชีพให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดคือ  ซึ่งในศูนย์ประสานงานจะมี ผู้ประสานงานและผู้ช่วยผู้ประสานงาน ทำหน้าที่ประสานงานระหว่าง “ทีมกลาง”  และหน่วยพัฒนาอาชีพ (Provider)  โดยศูนย์ประสานงานจะประกอบด้วยศูนย์ประสานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรือ NODE จาก 4 คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้  ทำหน้าที่ หนุนเสริมและกระตุ้นการทำงานแก่หน่วยพัฒนาอาชีพที่ ซึ่งทีมกลไกภาคก็จะเป็นผู้วิเคราะห์คุณลักษณะของ provider  พร้อมกับร่วมกันกำหนดและออกแบบกระบวนการหนุนเสริมเพื่อให้การดำเนินงานบรรลุตามเป้าประสงค์

                        คุณสมบัติของโหนด หรือศูนย์ประสานงาน

  • เป็นบุคคลที่มีความรู้ทัศนคติและทักษะที่จำเป็นในการสนับสนุนงานในพื้นที่
  • เป็นบุคคลที่มีจิตสาธารณะ มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีจุดยืนศรัทธาและเชื่อมั่นในการทำงานกับคน
  • เป็นบุคคลที่ทำงานกับผู้อื่นได้ดี มีทักษะในกระบวนการวิจัยและการพัฒนาด้วยเครื่องมือในการทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วม
  • เป็นนักประสานที่ต้องประสานทั้งชาวบ้าน ภาคีภายนอก หรือการประสานผู้รู้มาเพื่อช่วยเติมความรู้กับให้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพ และกลุ่มเป้าหมาย
  • สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ในพื้นที่กับประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ สามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสถานการณ์ปัญหาใหม่ ๆ ที่ชุมชนสังคมเผชิญอยู่เพื่อเพิ่มเติมแนวคิดและให้มุมมองใหม่ ๆ นำไปสู่ความเท่าทันและจัดการกับปัญหาใหม่ ๆ ได้ ทำให้โครงการวิจัยได้ทำงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
  • เป็นนักจัดกระบวนการ เป็นผู้กระตุ้นให้กำลังใจ

บทบาทของโหนด หรือ ศูนย์ประสานงานฯ

            1) การจัดระบบคิดและกระบวนทัศน์ในพื้นที่ระดับภาค : บทบาทสำคัญของทีมภาคที่ต้องดำเนินงานการจัดกระบวนการทางความคิดของการจัดกระบวนการเรียนรู้ และการติดตามหนุนเสริมหน่วยพัฒนาอาชีพในพื้นที่ เพื่อสร้างวิธีคิดการมองเชิงระบบ การจัดการองค์ความรู้ กระบวนการออกแบบการเรียนรู้เชิงพื้นที่ให้เกิดวิธีคิดแบบองค์รวม เชื่อมโยงของกระบวนทัศน์ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส รวมถึงการสร้างระบบการดำเนินงานให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนาองค์ความรู้และการส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมาย และสามารถกระจายกระบวนทัศน์สู่หน่วยงาน องค์กร หรือพื้นที่ชุมชนเพื่อยกระดับการเรียนรู้ ขยายผลสู่การปฏิบัติในการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ในชุมชนและสังคมต่อไป

          2. จัดกระบวนการเสริมทักษะเชิงการบริหาร และเสริมองค์ความรู้การดำเนินงานของหน่วยพัฒนาอาชีพในพื้นที่ระดับภาค : บทบาทของคณะทำงานระดับภาคในฐานะที่มีความรู้ความเข้าใจในบริบทของแต่ละภูมิภาค และประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ภูมิภาคนั้นอย่างยาวนาน โดยเน้นการจัดกระบวนการเสริมทักษะ องค์ความรู้ และการสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสังคมของการดำเนินโครงการของหน่วยพัฒนาอาชีพ โดยเน้นการวิเคราะห์กลุ่มหน่วยงานหรือองค์กรที่ดำเนินงานโครงการในพื้นที่ และการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของหน่วยพัฒนาอาชีพเพื่อการออกแบบการพัฒนาเสริมกระบวนการเรียนรู้ ทักษะของหน่วยพัฒนาอาชีพให้ดำเนินงานเป็นไปตามเป้าประสงค์ของโครงการ และดึงศักยภาพของหน่วยพัฒนาอาชีพในเกิดประโยชน์สูงสุดกับกลุ่มเป้าหมายที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

          3) การประเมินสถานการณ์ภาพรวมของหน่วยพัฒนาอาชีพ และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ : ทีมภาคต้องดำเนินงานประเมินสถานการณ์การดำเนินงานในพื้นที่ ความเคลื่อนไหวของหน่วยพัฒนาอาชีพต่อการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส เพื่อการนำข้อเสนอเชิงการบริหาร หรือผลกระทบต่อกลุ่มเป้าหมาย ปัญหาอุปสรรค หรือความต้องการในการสนับสนุนของหน่วยพัฒนาอาชีพในพื้นที่แต่ละภาค รวมถึงประเมินความเป็นไปได้ของความเสี่ยง หรือความสำเร็จของโครงการที่สามารถเป็นต้นแบบ หรือไม่มีความก้าวหน้าของการพัฒนาในพื้นที่ โดยทีมภาคต้องรายงานการประเมินสถานการณ์ภาพรวมของหน่วยพัฒนาอาชีพ และกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้กับทีมกลางเพื่อประเมินสถานการณ์ภาพรวมในระดับประเทศ

          4) การสร้างเครือข่ายและการประสานงานกับหน่วยพัฒนาอาชีพและองค์กรที่เกี่ยวข้อง : การขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ระดับภาคให้เกิดความเชื่อมโยงและการดำเนินงานมีประสิทธิภาพในหนุนเสริมหน่วยพัฒนาอาชีพในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง มีแรงกระตุ้นในการดำเนินงานในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เรียนรู้ การที่ผู้ประสานงานระดับภาคสามารถเป็นกลไกในการเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายของหน่วยพัฒนาอาชีพในแต่ละภาค รวมถึงเป็นกลไกในการประสานงานระหว่างหน่วยพัฒนาอาชีพในพื้นกับคณะทำงานกลางในการสนับสนุนหรือหนุนเสริมได้อย่างตรงจุดหรือความต้องการของหน่วยพัฒนาอาชีพ ทั้งนี้ยังเป็นกลไกหนุนเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างเงื่อนไขการพัฒนาเชิงพื้นที่ร่วมกับบุคคล กลุ่ม องค์กร หน่วยงานทุก ๆ ภาคที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส โดยเน้นเป้าหมายด้านมิติกระบวนการเรียนรู้ มิติด้านการทำงานร่วม มิติด้านการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาสู่การจัดการความรู้ร่วม เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ทั้งเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติงานในพื้นที่ หรือการยกระดับสู่การพัฒนานโยบายระดับท้องถิ่น โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ทั้งรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

          5) การสนับสนุนและติดตามพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่การเรียนรู้ของหน่วยพัฒนาอาชีพ : การหนุนเสริมกระบวนการเรียนรู้ การสร้างความคุ้นเคย การสร้างกำลังใจ และการให้คำแนะนำปรึกษาของหน่วยพัฒนาอาชีพที่มีความต้อง หรือความจำเป็นในหนุนเสริมที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการเรียนรู้ ทักษะการบริหาร หรือความกังวลของการพัฒนาเชิงพื้นที่ การติดตามเป็นการประเมินสถานการณ์รายหน่วยงาน และภาครวมของโครงการที่ได้รับการสนับสนุนในแต่ละภาคเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการ และเป้าประสงค์ของหน่วยพัฒนาอาชีพที่ได้รับการสนับสนุนทุนการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส

3.ระบบสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ

            ในที่นี่คือ หน่วยพัฒนาอาชีพ (Provider) ทั้งที่เป็นหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุน และสร้างอาชีพให้กลับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ด้อยโอกาส ขาดทุนทรัพย์ในพื้นที่ที่รับผิดชอบตามบทบาทและภารกิจ และ หน่วยพัฒนาอาชีพเป็นกลุ่มองค์กรชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่

กระบวนการทำงานเพื่อพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

เนื่องจากเป็นโครงการที่ดำเนินในปีแรก  การดำเนินโครงการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคำว่า “ชุมชนเป็นฐาน” และเนื่องจากสองคำนี้ มีความหมายแตกต่างกัน แต่เมื่อรวมกันแล้วเกิดคำใหม่ เกิดความหมายใหม่

สำหรับคำว่า  “ชุมชน” อาจเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ ผ่านกระบวนการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการดูแลกันและ ซึ่งในที่นี้หมายถึง “การร่วมกัน” หรือ “การพูดคุยกัน” เพื่อจะนำไปสู่การดำเนินงานอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมหรือต่อชุมชน ขณะที่คำว่า  “เป็นฐาน” หมายถึง หมายถึงฐานเดิมของชุมชน  ซึ่งจะประกอบไปด้วย ฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา ฯลฯ

สำหรับ “ฐานชุมชน” ที่นำมาเป็นประเด็นในการทำพัฒนาอาชีพ ประกอบด้วย

  • ฐานความรู้จัก การเป็นเครือญาติ ความเป็นพี่เป็นน้อง และที่สำคัญคือการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันของสมาชิกในชุมชน  อาจร่วมถึงภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน
  • ฐานความต้องการ ในแง่นี้หมายถึง ความต้องการ หรือ  “ความอยาก” ที่จะประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งของสมาชิก (กลุ่มเป้าหมาย) ในชุมชน
  • ฐานความทุกข์ หรือปัญหา อาทิ สุขภาพ ความเจ็บป่วย ขาดคนดูแล ขาดความเชื่อมั่น การไม่มีรายได้ หรือมีรายได้และไม่เพียงพอ ขาดโอกาสและการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ จนเงิน จนสุขภาพ นำไปสู่การ จนใจในที่สุด
  • ฐานที่สำคัญอีกอันคือการฐานที่เอาการเรียนรู้เป็นตัวนำ หรือ ที่เรียกว่า Active  Learning การเรียนรู้ผ่านการทำของคนที่เป็นเจ้าของปัญหา

และจากฐานชุมชนข้างต้น อาจแบ่งออกเป็น 2 ระดับคือระดับปัจเจก และระดับชุมชน โดยระดับชุมชนหมายถึงชุมชนมีฐานความรู้จักหรือเครือข่ายหรือความสัมพันธ์กับใคร หน่วยงานใด และในชุมชนเองมีความต้องการในการประกอบอาชีพด้านไหน รวมไปถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นในชุมชนคือเรื่องอะไร ฯลฯ

          ซึ่งการดำเนินงานโครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ฐาน

ชุมชนข้างตนเป็นสำคัญ โดยกระบวนการวิเคราะห์ต้องให้เห็นว่า ชุมชนมีฐานหรือต้นทุนสำหรับการพัฒนางานด้านอาชีพในเรื่องใด  

กล่าวโดยสรุป คำว่าในชุมชนในทีนี่บางคนอาจะมีปัญหาร่วม แต่อยู่กันกระจัดกระจายในชุมชน ไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยหารือกัน หรือเกิดการเชื่อมโยง อาจเป็นเพราะไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่ให้ได้ไปมาหาสู่ หรือรู้จักกันดังนั้น ในกระบวนการและขั้นตอนของการทำงานจึงเป็นการสร้างโอกาส ขึ้นมาบนเงื่อนไขของการทำงานรวมกัน กระบวนการในลักษณะนี้ เป็นการเกิดของสิ่งใหม่ หรือองค์กรชุมชนที่จะทำหน้าที่พัฒนาและขับเคลื่อนการทำงานด้านอาชีพของคนในอนาคต

การออกแบบโครงสร้างการทำงาน

โดยแนวคิดของการออกแบบโครงสร้างการทำงานคือต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของโครงการคือกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมในโครงการต้องมีอาชีพ และมีรายได้ ภาคีเครือข่ายการทำงานของชุมชนเกิดทักษะการทำงานใหม่ และในแง่ของการเรียนรู้คือการปรับเปลี่ยนจาก Passive Learning   เป็น Active Learning รวมไปถึงการเกิดกลไก หรือ ระบบบริหารจัดการใหม่ขึ้นในชุมชน

          ดังที่กล่าวไปข้างต้น โครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานดำเนินงานภายใต้รูปแบบการบริหารงาน แบบ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” กล่าวคือ ประกอบด้วย  กลไกกลาง ทำหน้าที่สนับสนุนงบประมาณ ความรู้ และ ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานด้านพัฒนาอาชีพให้กับภาคีเครือข่ายหรือศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น  “พี่เลี้ยงหรือ NODE” หรือ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยแต่ละศูนย์ประสานงานฯ (ต่อไปนี้จะเรียกว่า NODE) ก็จะมีภาคีเครือข่ายการทำงานในแต่ละพื้นที่ มีชุมชนเป้าหมาย อีกทั้งมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน  และกลุ่ม NODE ก็จะดำเนินงานผ่าน “หน่วยพัฒนาอาชีพ”  เช่น มหาวิทยาลัย องค์กรพัฒนาเอกชน   หน่วยงานที่ทำงานด้านการพัฒนาอาชีพเช่น ศูนย์การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) วิทยาลัยชุมชน (วชช.) หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดย NODE จะทำหน้าที่ สร้างกระบวนการเพื่อกระตุ้น และยกระดับการทำงานที่หนุน หรือ เสริมพลังให้กับหน่วยพัฒนาอาชีพในแต่ละภาค ให้ลงไปทำงานกับ “ชาวบ้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส มีรายได้น้อย 

           ซึ่ง เป้าหมายของการออกแบบโครงสร้างการทำงานนอกจากจะทำให้เกิดการทำงานร่วมกันของทีมกลาง ศูนย์ประสานงานฯ หรือ NODE หน่วยพัฒนาอาชีพหรือ Provider  และชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย  คือการหนุนหน่วยพัฒนาอาชีพให้เกิดการเรียนรู้ โดยเครื่องมือเดียวกันคือการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย รวมเรียกว่า “ระบบสนับสนุน” หรือ “ระบบนิเวศน์ทางปัญญา” โดยมี ทีมกลางคอย support  สร้างเงื่อนไขให้ทีมภาค สนับสนุนการเรียนรู้ ประสานการทำงาน ประสานงบประมาณเพื่อให้เกิดการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และหน่วยพัฒนาอาชีพก็จะทำงานร่วมกับพี่เลี้ยง ในเชิงพื้นที่ในแต่ละภาค

กระบวนการหนุนหน่วยพัฒนาอาชีพ

เมื่อเข้าใจบทบาท ภารกิจ และเป้าหมายตรงกัน ศูนย์ประสานงานฯ ในแต่ละภาค จะเข้าไปดำเนินงานทำความเข้าใจกับหน่วยพัฒนาอาชีพ ทั้งในแง่ของเป้าหมายโครงการ  รวมทั้งเข้าไปกระตุ้นให้เกิดการลงไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพของชุมชนกลุ่มเป้าหมาย

การทำงานร่วมกับหน่วยพัฒนาอาชีพคือการเน้นกระบวนการทำงานทางความคิด ด้วยการเข้าไปปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงาน เพื่อให้เกิดการทำงานในรูปใหม่ที่มีการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ความต้องการด้านอาชีพของกลุ่มเป้าหมาย ประสานงานกับหน่วยงานภาคีเพื่อให้เกิดการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งกระบวนการเปลี่ยน Mind  set จะใช้หลัก active learning กล่าวคือ  เปิดโอกาสและสร้างเงื่อนไขให้หน่วยพัฒนาอาชีพได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการปฏิบัติงานจริงร่วมไปกับกลุ่มเป้าหมาย โดยกิจกรรมของการปรับเปลี่ยนมีทั้งการเล่นเกม  การวางเงื่อนไข การใช้บทบาทสมมติ นำเอากรณีศึกษาจากชุมชนที่ประสบความสำเร็จในด้านการทำงานพัฒนาอาชีพ  เชิญผู้รู้หรือ ปราชญ์ชาวบ้าน ที่ทำงานประสบความสำเร็จมาพูดให้ความรู้ ให้แนวคิด เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงาน

          และเมื่อถึงช่วงของการปฏิบัติการ (Action)  ทีมพี่เลี้ยงตามไปหนุนในระหว่างทำงาน ชวนคิด ชวนคุย สรุปบทเรียนการทำงาน อีกทั้งช่วยเติมเต็มกระบวนการ รวมทั้งให้เครื่องมือในการทำงานแก่หน่วยพัฒนาอาชีพ 

          และเช่นเดียวกัน “ทีมกลาง” ก็มีระบบติดตาม และหนุนเสริมการทำงานแก่กลุ่มพี่เลี้ยง เป็นระยะ ๆ ไม่ว่าจะเป็นฐานคิดเรื่องการทำงานกับชุมชน  การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย เทคนิคการจัดกระบวนการ การบริหารจัดการโครงการ ซึ่งทั้งหมดเป็นชุดความรู้และเครื่องมือที่สำคัญต่อการทำงานพัฒนาทักษะอาชีพ

โดยวิธีการทำงานระหว่าง “ทีมกลาง” และ “ศูนย์ประสานงาน” เน้นการเปิดโอกาส และให้อิสระในการทำงาน ในลักษณะของ self organizer โดยทีมกลางไม่ไปแทรกแซงเรื่องการคัดเลือกคนทำงาน ทีมกลางจะทำหน้าทีเพียงชี้แจงเป้าหมาย บทบาท และภารกิจ จากนั้นเปิดโอกาสให้คณะทำงานไปสรรหาผู้ร่วมงานด้วยตนเอง

          ในส่วนของ “ทีมกลไกภาค” คือการสร้างการเรียนรู้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพ และกลุ่มเป้าหมาย เพื่อนำกระบวนการเรียนรู้ไปต่อยอด รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงของชีวิตและครอบครัวในระยะยาวในฐานะผู้ประกอบการบนฐานเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ร่วมในการดำเนินโครงการมีความหลายหลาย มีการออกแบบกระบวนการที่สอดคล้องกับการสร้างการเรียนรู้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพและกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ โดยยึดแนวคิดของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ ประกอบด้วย

          1) การพัฒนาความรู้/ประเด็น (Knowledge)

          2) การพัฒนาทัศนคติ/มุมมอง (Attitude)

          3) การพัฒนาทักษะ/กระบวนการ (Skill)

          4) ความรู้สึกร่วม (Feeling)

          5) ความสัมพันธ์ (Relationship)         

          6) กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning Process)

          7) การใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community Based Approach)

          ซึ่งการดำเนินโครงการในภาพรวมนั้นจะมีการเติมกระบวนการให้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพตามความเหมาะสม และตามความต้องการของหน่วยพัฒนาอาชีพเฉพาะพื้นที่ โดยกระบวนการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมของโครงการ สามารถแบ่งกระบวนการออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  • สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมแก่หน่วยพัฒนาในระดับประเทศ

          เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมในระดับประเทศเป็นการมุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ที่เชื่อมโยงการสร้างความเข้าใจต่อฐานคิดในการดำเนินโครงการ บนฐานการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน และการมองภาพร่วมของหน่วยพัฒนาอาชีพ

  • สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมระดับภาค

          เป็นบทบาทของทีมกลไกภาค ซึ่งจะเป็นการเติมกระบวนการเรียนรู้แก่หน่วยพัฒนาอาชีพในระดับพื้นที่ที่แยกตามภูมิภาค บนฐานการทำงานที่เน้นการเข้าใจบริบท วัฒนธรรม วิถีการทำงานเชิงพื้นที่ขององค์กร เพื่อเอื้อต่อการสร้างการเรียนรู้ โดยแบ่งการสร้างกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น 4 ภาค อาทิ

  • การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) ซึ่งเป้าหมายคือสร้างการเรียนรู้ และสร้างความชัดเจนในโครงการของตนเอง โดยใช้เครื่องมือวิเคราะห์ GAP ของตนเอง นอกจากนั้นยังมีการชวนทบทวนเป้าหมาย  วิเคราะห์ความเสี่ยง ความฝัน ความหวัง แรงบันดาลใจ เพื่อให้หน่วยพัฒนาอาชีพ เกิดเป้าหมายร่วมกันเพื่อที่จะขับเคลื่อนให้โครงการประสบผลสำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
  • การออกแบกระบวนการเรียนรู้และเติมความรู้เรื่องทักษะแรงงานในศตวรรษที่ 21 โดยใช้ชุดเครื่องมือในการจัดกิจกรรม ได้แก่ 1. เครื่องมือการสร้างการมีส่วนร่วม 2. กระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพในศตวรรษที่ 21 3. การวิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์บทบาท และการวิเคราะห์การวัด Change 8 ด้าน การติดตามหนุนเสริมหน่วยพัฒนาอาชีพ
  • การติดตามหนุนเสริมหน่วยพัฒนาอาชีพ มีวัตถุประสงค์เพื่อ หนุนเสริมเติมพลังการทำงานแก่หน่วยพัฒนาอาชีพ พร้อมทั้งการเสริมความรู้กระบวนการที่จำเป็นในการดำเนินโครงการแก่หน่วยพัฒนาอาชีพ โดยใช้เครื่องมือ ได้แก่ 1.เครื่องมือการสร้างการมีส่วนร่วม 2.กระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อสร้างแรงงานคุณภาพในศตวรรษที่ 21 3.กิจกรรมการสรุปบทเรียนหลังการเรียนรู้ (After Action Review : AAR) )  รวมทั้งให้แนวคิด ห่วงโซ่อุปสงค์/อุปทานในการมองการทำผลิตภัณฑ์ทั้งระบบ

                    นอกจากนั้นในระหว่างทางการดำเนินงาน ทางคณะทำงานเพื่อพัฒนาหน่วยพัฒนาอาชีพ ยังมีการให้แนวคิด ความรู้ และเครื่องมือในการทำงาน เช่น

  • ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือนเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับครัวเรือนของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายรู้จักการจัดการทางการเงินในระดับครัวเรือน การวางแผนทางการเงินระดับครัวเรือน โดยมีเนื้อหาประกอบด้วย การทำบัญชีครัวเรือน การออม การจัดการรายรับรายจ่าย และการจัดการทางการเงินระดับครัวเรือน เป็นต้น เพื่อทำให้หน่วยพัฒนาอาชีพในความรู้ที่ได้ส่งต่อให้แก่กลุ่มเป้าหมายในการยกระดับความรู้ทางการบริหารจัดการเงินในระดับครัวเรือน และยกระดับคุณภาพชีวิตแก่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ
  • เทคนิคการวิเคราะห์ชุมชน จะช่วยให้หน่วยพัฒนาอาชีพเข้าใจความเป็นชุมชนทั้งที่เป็นชุมชนทางกายภาพ และชุมชนที่เป็นไม่เป็นทางการ ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ดำเนินโครงการของหน่วยพัฒนาอาชีพ
  • การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย – กระบวนการเพื่อค้นหากลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของหน่วยพัฒนาอาชีพในการดำเนินโครงการในพื้นที่ โดยมีกระบวนการวิเคราะห์ที่เน้นความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมาย ศักยภาพ ข้อจำกัด ความต้องการ และสิ่งที่จะพัฒนาแก่กลุ่มเป้าหมาย บนฐานคิดการพัฒนาความรู้ ทักษะอาชีพที่ไม่ใช่เป็นอาชีพและความรู้ที่มาจากความต้องการของหน่วยพัฒนาอาชีพ ที่ต้องการพัฒนาอาชีพแก่กลุ่มเป้าหมายเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องเป็นความรู้ ทักษะอาชีพที่มาจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงและสอดคล้องกับบริบท ความต้องการแรงงานของชุมชนนั้น ๆ
  • การกำหนดบันไดผลลัพธ์ – คือการพัฒนากระบวนการคิดแก่หน่วยพัฒนาอาชีพในการกำหนดเป้าหมายที่จะทำให้บรรลุในอนาคตให้เกิดความชัดเจน เพื่อทำให้เข้าใจการดำเนินโครงการในภาพรวมและมีแนวทางในการติดตามความก้าวหน้าหรือการปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับบันไดผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ โดยการวิเคราะห์บันได้ผลลัพธ์จะทำการวิเคราะห์บันไดผลลัพธ์ของหน่วยพัฒนาอาชีพ และบันไดผลลัพธ์ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ตัวชี้วัดในการดำเนินงานของหน่วยพัฒนาอาชีพที่จะดำเนินงานกับกลุ่มเป้าหมาย

อาชีพ ทักษะ และความสัมพันธ์ใหม่

            แม้เป้าหมายไกล ๆ ของโครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน คือการที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนด้อยโอกาส และขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีอาชีพ และมีรายได้ สร้างระบบเศรษฐกิจครัวเรือน แต่ในระหว่างทางของกระบวนการทำงาน ยังก่อให้เกิดผลอีกหลาย ๆ  ประการ อาทิ

  • เกิดทักษะใหม่ ซึ่งเป็นทักษะที่เกิดขึ้นตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละทีมทำงาน โดยเฉพาะทักษะการทำงานเพื่อสร้างอาชีพ ที่มุ่งเป้าไปที่การทำงานด้านการพัฒนากลไกการทำงานที่จะทำให้เกิดการหนุนอาชีพให้กับกลุ่ม หรือ หน่วยพัฒนาอาชีพที่มาทั้งจากหน่วยงานราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ
    • ทีมกลาง เกิดการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันระหว่างทีมกลไก (NODE) หน่วยพัฒนาอาชีพ และ ชุมชน
    • ทีมกลไก (NODE) ทักษะในการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายคือหน่วยพัฒนาอาชีพ ทักษะการจัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาทักษะหน่วยพัฒนาอาชีพ
    • หน่วยพัฒนาอาชีพ ได้ทักษะการทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ทักษะการคิดวิเคราะห์และกระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงทักษะการประสานงานร่วมกับภาคีเครือยข่าย
    • ชุมชนเป้าหมาย เกิดทักษะด้านอาชีพ ทักษะเรื่องการคิด วิเคราะห์ เกิดการปรับเปลี่ยนการเรียนจาก passive Learning ไปสู่การเรียนรู้แบบ Active Learning ซึ่งวัดได้จากรายได้ที่เพิ่มขึ้น และอาชีพใหม่  ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
  • เกิดความสัมพันธ์ใหม่ 
    • ความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างการทำงาน ระหว่างหน่วยงานที่เป็นแหล่งทุนสนับสนุน ทีมกลาง เครือยข่ายศูนย์ประสานงาน และ หน่วยพัฒนาอาชีพ และชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยความสัมพันธ์ดังกล่าวจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การยกระดับการพัฒนากลไกสร้างอาชีพของชุมชน
    • ความสัมพันธ์ในระดับชุมชน และภาคีเครือข่าย เกิดการเข้ามามีส่วนในการดูแล การสร้างอาชีพ สร้างการเรียนรู้ ชาวบ้านมีเพื่อน มีกัลยาณมิตร ที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น
    • เกิดอาชีพใหม่  ที่นอกเหนือจากการเกษตร หรืออาชีพดั้งเดิมของชุมชน อาทิ การค้าขายออนไลน์ ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป กระบวนการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเป็นวิธี “สร้างอาชีพ” ที่ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนเป้าหมายโดยตรง แต่เป็นการเข้าไปพัฒนาและยกระดับการทำงานของภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องการสร้างอาชีพ อาทิ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กระทั้ง ก่อให้เกิดเป็นกลไกการทำงานที่มีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นระบบ มีแบบแผน มีเป้าหมาย โดยในปีแรกของการดำเนินงาน ผลการดำเนินงานในเรื่องการเกิดอาชีพและรายได้ของกลุ่มเป้าหมายอาจจะยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน ดุจการปลูกต้นไม้ ที่ต้องบำรุงดิน บำรุงรากทั้งที่เป็นรากแก้วและรากฝอยให้แข็งแรง ก่อนผลิดอกออกผลในระยะยาว

ดังนั้น งบประมาณที่เติมลงไปเป็นเสมือนการบำรุงดินและราก ที่ประกอบด้วยเครือข่ายและกลไกการทำงานที่สนับสนุนงานด้านอาชีพของชุมชน เป็นการพัฒนาทักษะ ยกระดับ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และวิธีการทำงานโดยมุ้งเป้าไปที่การสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาสอย่างแท้จริง 

อีกทั้งโครงการนี้ได้สร้างจุดยืนให้คนที่ไม่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภาวะว่างงาน ชราภาพ หรือขาดแคลนโอกาสในด้านต่าง ๆ ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ผ่านการฝึกอาชีพ และยังสร้างรายได้ให้คนชุมชน เมื่อชุมชนเข้มแข็ง ไม่ว่าเขาจะเจอภาวะวิกฤตใด ๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันและก้าวผ่านปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ด้วยดี